สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
พระนาถกเถระ
ภิกษุผู้บำเพ็ญโมเนยยปฏิปทา
อดีตชาติ
สมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระพระองค์นั้น นาลกะนี้ได้เห็นภิกษุสาวกรูปหนึ่งประพฤติปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นภิกษุผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาบ้างในอนาคต นับแต่นั้นท่านก็ได้บำเพ็ญบารมีนานแสนกัป
ชาติสุดท้ายเป็นหลานอสิตดาบส
สมัยพระพุทธเจ้าโคตมะของพวกเรา พระเถระนี้เกิดในสกุลพราหมณ์เมืองกบิลพัสดุ เป็นหลานชายของท่านอสิตพราหมณ์ (อสิตฤษี หรือกาฬเทวิลดาบส) ผู้เป็นปุโรหิตสมัยพระเจ้าสีหหนุ (พระชนกของพระเจ้าสุทโธทนะ) และเป็นอาจารย์สอนศิลปะให้พระเจ้าสุทโธทนะตั้งแต่ยังไม่ได้รับอภิเษก
ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงได้รับอภิเษกเป็นพระราชาแล้ว อสิตดาบสก็ยังเป็นปุโรหิต เข้าออก
ราชสำนักทั้งเช้าและเย็น แต่พระราชามิได้ทรงทำความเคารพพราหมณ์เหมือนครั้งที่ยังไม่ได้รับอภิเษก ทรงกระทำเพียงยกพระหัตถ์ประนมขึ้นเท่านั้น นัยว่าเป็นธรรมดาของพวกเจ้าศากยะที่ได้รับอภิเษกแล้ว (คือถือตัวจัด ถือตัวว่ามีเชื้อชาติสูง)
อลิตปุโรหิตรู้สึกเบื่อหน่ายการรับราชการ จึงกราบทูลลาออก ทูลว่าจะบรรพชาเป็นดาบส (ฤษี) พระราชาขอให้อาจารย์อยู่ในอุทยานของพระองค์ เพื่อจะได้เสด็จเยี่ยมสะดวก
พราหมณ์ออกบวชเป็นดาบสเจริญสมาธิในกสิณ สามารถทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่นั้นดาบสก็เข้าไปฉันในราชตระกูล แล้วไปพักกลางวันที่ป่าหิมพานต์ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาบ้าง และบางครั้งก็ไปพักที่นาคพิภพเป็นต้นบ้าง
พระโพธิสัตว์ประสูติ เทวดาเฉลิมฉลอง ดาบสจึงรู้
ครั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระนางสิริมหามายา ราชเทวีของพระเจ้าสุทโธทนะให้การประสูติ พระโพธิสัตว์ (เจ้าชายสิทธัตถะ) ที่ลุมพินีวันของพวกเจ้าศากยะ
วันนั้น อสิตฤษีไปพักผ่อนในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เข้าพักในรัตนวิมานนั่งบนทิพยรัตนบัลลังก์ เสวยสุขในสมาธิ ออกจากสมาธิตอนเย็น ยืนอยู่ที่ประตูวิมานมองไปทางโน้นทางนี้
ก็ได้เห็นเหล่าเทวดา มีท้าวสักกะเป็นประมุข โบกผ้าทิพย์ในท้องถนนใหญ่ ๖๐ โยชน์ หมู่เทพมีใจเบิกบาน มากด้วยปีติโสมนัส ส่งเสียงชมเชย ขับร้อง ประโคม ปรบมือและฟ้อนรำกันอยู่ จึงได้สอบถามเหล่าเทวดาว่าทำไมจึงพากันรื่นรมย์กันนัก ทำไมจึงรื่นเริงมากกว่าตอนชนะพวกอสูร
“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงช่วยขจัดความสงสัยของเราโดยเร็วเกิด"
พวกเทวดาจึงกล่าวตอบว่า บัดนี้ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบ ได้เกิดแล้วในโลกมนุษย์ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ที่ลุมพินีวัน ในชานชนบทของพวกเจ้าศากยะ ด้วย เหตุนี้ พวกเราจึงพากันยินดี เบิกบานอย่างเหลือเกิน
“พระโพธิสัตว์นั้น เป็นอัครบุคคลผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เป็นผู้องอาจกว่านรชน สูงสุดกว่าหมู่สัตว์ทั้งมวล เหมือนสีหะผู้มีกำลัง สามารถครอบงำหมู่เนื้อบันลืออยู่ จะทรงประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนะ"
ดูพระลักษณะแล้ว ทำนายว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่
อสิตฤษีทราบความแล้ว รีบกลับไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะถึงที่ประทับ แล้วทูลถามพวกเจ้าศากยะว่า “พระกุมารประทับอยู่ที่ไหน อาตมาประสงค์จะเฝ้า?"
พวกเจ้าศากยะนำพระกุมารผู้รุ่งเรืองดุจทองคำออกมาแสดงให้ฤษีเฝ้า
อสิตฤษีเห็นพระกุมารแล้วก็เกิดความยินดี ดีใจ รับพระกุมารด้วยมือทั้งสอง ท่านฤษีเรียนจบลักษณะมนต์ได้เพ่งพิจารณาพระราชกุมารแล้วเปล่งถ้อยคำว่า “พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า”
(อรรถกถาว่า ขณะที่พวกเจ้าศากยะนำพระกุมารเข้าไปให้ไหว้ฤษี แต่พระบาททั้งสองของ พระกุมารกลับไปปรากฏอยู่บนศีรษะของฤษี ฤษีเห็นความอัศจรรย์ที่มีความยินดี รับพระกุมารไว้ ก็เห็นจักรที่ฝ่าพระบาท สำรวจยิ่งขึ้นก็พบความสมบูรณ์ของพระลักษณะทั้งหมด ก็รู้ว่าพระกุมารนี้จะ เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงกล่าวอย่างนั้น)
ร้องไห้เสียใจที่จะต้องตาย
ลำดับนั้น อสิตฤษีก็หวนระลึกถึงอรูปฌานของตนแล้วก็มีน้ำตาไหลออก พวกเจ้าศากยะทอดพระเนตรเห็นฤษีร้องไห้ จึงตรัสถามว่า
“จะมีอันตรายแก่พระราชกุมารหรือ?"
ฤษีทูลว่า "อาตมภาพมิได้เห็นกรรมหรืออันตรายว่าจะมีแก่พระราชกุมารนี้หรอก มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านจงเป็นผู้ดีพระทัยเถิด เพราะพระกุมารนี้จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จะทรงประกาศพระธรรมจักร พรหมจรรย์ (คำสอน) ของพระกุมารนี้ จักแพร่หลาย
แต่อายุของอาตมภาพจะไม่อาจอยู่ได้นานถึงกาลนั้น จะตายก่อน จะไม่ได้อยู่ฟังธรรมของพระกุมาร อาตมาจึงเร่าร้อน ความสุขหายไป ถึงความเป็นทุกข์ "
อสิตฤษีทูลทํานายทำให้พวกเจ้าศากยะเกิดความปลื้มปีติ แล้วทูลลากลับไป
อรรถกถาอธิบายว่า ฤษีเกิดน้ำตาไหลด้วยความโทมนัสเสียใจ (โทมนัสเวทนา + โทสเจตสิก) เพราะฌานที่ดาบสได้นั้นแค่ข่มกิเลสไว้มิใช่ตัดขาดด้วยมรรคภาวนา ฌานเสื่อมในขณะนั้นก็จริง แต่ด้วยความชำนาญ ท่านก็จะบรรลุฌานอันคุ้นเคยได้อีกไม่ยาก
ถามว่า ทำไมอสิตฤษีไม่น้อมใจไปในรูปภพ (พอใจอยู่แต่รูปฌานเท่านั้น) เล่า?
ตอบว่า เพราะฤษีไม่มีความรู้ที่จะทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นเมื่อหายโทมนัสแล้ว ท่านก็ใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยเข้าถึงฌานที่ตนคุ้นเคยอีก
(สุตฺต.๑/๖/๖๓๙-๖๔๐)
อรรถกถาอุปทานเล่าว่า พระราชาจะทรงให้พระกุมารไหว้พระดาบส แต่พระบาททั้งสองของพระ โพธิสัตว์กลับปรากฏอยู่บนชฏาของดาบส
ท่านว่าในพระชาตินี้ บุคคลที่พระโพธิสัตว์สมควรจะไหว้นั้นไม่มี ถ้ามีผู้ไม่รู้จะจับศีรษะของพระ โพธิสัตว์ลงแทบเท้าของดาบส ศีรษะของดาบสจะแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง
พระดาบสคิดว่า เราไม่ควรจะทำตัวเราให้พินาศ จึงลุกจากที่นั่งประนมอัญชลีแก่พระโพธิสัตว์ พระราชาทรงเห็นความอัศจรรย์นั้น จึงทรงไหว้พระราชบุตรบ้าง
ดาบสนี้ระลึกชาติได้ กัป คือ ระลึกไปในอดีตได้ ๔๐ กัป คำนึงไปในอนาคตได้ ๔๐ กัป เห็นลักษณะของพระโพธิสัตว์แล้วรำพึงว่า เธอจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย
ดาบสได้กระทำการแย้มยิ้มอันเป็นเหตุให้รู้ว่าพระราชบุตรนี้เป็นอัจฉริยบุรุษ จากนั้นก็ใคร่ครวญต่อไปว่า เราจะได้เห็นอัจฉริยบุรุษผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่? รู้ว่าเราจะไม่ได้ทันเห็น เราจะตายก่อน ตายแล้วจะเกิดในอรูปภพ ภพที่แม้พระพุทธเจ้าร้อยพระองค์หรือพ้นพระองค์ไม่อาจเสด็จโปรดให้ตรัสรู้ ได้ “เราจะไม่ได้เห็นอัจฉริยบุรุษเช่นนี้เป็นพระพุทธเจ้า เราจะมีความเสื่อมใหญ่มาก” จึงร้องไห้ ...
(ดู อปทาน อ.๘/๑/๑๑๔-๕)
ฤษีนี้บรรลุสมาบัติ ๘
คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เมื่ออรูปฌานไม่เสื่อมท่านตายแล้ว ย่อมเกิดเป็น พรหมไม่มีรูป คือ ไม่มีร่างกาย ไม่มีตาและหู เป็นต้น จึงไม่อาจกลับมาฟังธรรมได้อย่างพวกรูปพรหมทำได้ เช่น ท้าวสหัมบดีพรหมผู้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนั้น ก็เป็นพรหมจากชั้น รูปพรหม คือบรรลุเพียงรูปฌาน ไม่ถึงอรูปฌาน
ก่อนตาย ขอให้หลานบวชรอข่าวตรัสรู้
อสิตฤษีออกจากพระราชสำนักแล้ว คิดถึงนาลกะผู้เป็นหลานชายของตน (เป็นลูกน้องสาว) ว่า ยังมีอายุน้อยได้กระทำบุญไว้ดีแล้ว พอจะมีปัญญารู้ธรรมได้ในวันข้างหน้า
จึงไปยังบ้านน้องสาว ถามน้องสาวว่า “นาลกะไปไหน?”
นางตอบว่า “ไปเล่นอยู่ข้างนอกบ้านเจ้าค่ะ”
ฤษีสั่งให้ไปตามเข้ามาในบ้าน
นาลกมาณพเข้ามาแล้ว ฤษีให้หลานบวชเป็นดาบส แล้วให้สมาทานธรรมของพระพุทธเจ้า โดยพร่าสอนว่า ...
“ในกาลข้างหน้า หากเจ้าได้ยินเสียงอันระบือไปว่า พุทโธดังนี้แล้วไซร้ นั่นหมายความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว จะทรงเปิดเผยปรมัตถธรรม
เจ้าจงไปกราบทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเถิด"
อสิตฤษีผู้เห็นความสำคัญของนิพพานอันบริสุทธิ์ยิ่งในอนาคต จึงมีจิตเกื้อกูลสั่งสอนหลานชาย ให้สั่งสมบุญและสำรวมอินทรีย์รอคอยข่าวตรัสรู้ (อรรถกถาว่านาลกดาบสคิดว่า เราไม่ต้องการจะฟังธรรมจากใครๆ ต้องการเพียงธรรมของพระพุทธเจ้า จึงมีความคิดจะดำลงในน้ำให้แก้วหูแตกทีเดียว)
ส่วนอสิตฤษีผู้เป็นลุงดำรงชีวิตอยู่หลังจากนั้นไม่นานก็ทำกาละ (ตาย) แล้วเกิดในอรูปภพ
(ดู สุตต.อ.๑/๖/๖๓๑-๖๔๒)
เด็กชายนาลกะทิ้งทรัพย์ ๘๗ โกฏิออกบวช
อรรถกถาอุปทานเล่า อสิตดาบส่กล่าวสอนหลานชายว่า ...
“นี่แน่ะพ่อหลานชาย ตอนนี้มีพระราชบุตรประสูติในราชสกุลของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระราชบุตรนั้นเป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร อีก ๓๕ ปี จะได้เป็นพระพุทธเจ้า เจ้าจะได้ทันเห็นพระองค์ เจ้าจงบวชเสียในวันนี้เลย
(แสดงว่านาลกะมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้าอย่างน้อยก็ ๑๐ ปี ท่านบวชแล้วจึงออกไปดูแลชีวิต ตนเองอยู่ตามป่าเขาได้รอคอยข่าวตรัสรู้อีก ๓๕ ปี ท่านก็น่าจะเข้าเฝ้าฟังธรรมตอนมีอายุไม่น่าจะต่ำกว่า ๔๐ ปี)
เด็กชายนาลกะผู้เกิดในตระกูลมีทรัพย์ ๘๗ โกฏิ คิดว่า หลวงลุงจะไม่ชักชวนเราในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เขาให้คนไปหาซื้อผ้ากาสายะและบาตรดินมาจากตลาด แล้วปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสายะประนมมือมุ่งไปทางพระโพธิสัตว์ คิดว่าเราจะบวชอุทิศท่านผู้เป็นอุดมบุคคลในโลก แล้วกราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เอาบาตรใส่ถุงคล้องจะงอยบ่า เข้าป่าหิมพานต์ กระทำสมณธรรม (อปทาน.อ.๘/๑/๑๑๕-๖
เกิดโมเนยยโกลาหล
อรรถกถามงคลสูตรเล่าว่า...๗ ปีก่อนที่พระพุทธเจ้าจะแสดงโมเนยยปฏิปทาแก่นาลกดาบสนั้น พวกพรหมชั้นสุทธาวาสรู้ล่วงหน้า จึงท่องไปในถิ่นมนุษย์ แจ้งว่าอีก ๗ ปี จะมีภิกษุรูปหนี่งเข้าเฝ้าทูลถามโมเนยยปฏิปทา ท่านเรียกกาลเช่นนี้ว่า โมเนยยโกลาหล
(ขุทฺทก.อ.๑/๑๖๖-๗)
เป็นโกลาหลที่เทวดา(หมายถึงพรหม) ทั้งหลายทำการโกลาหล คือ พูดถึงข้อปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา แต่อรรถกถาสุตตนิบาตว่าเกิดก่อนแสดงโมเนยยปฏิปทา ๗ วัน (สุตฺต.อ.๑/๖/๖๔๓)
ได้ยินข่าวตรัสรู้ กราบทูลถามข้อปฏิบัติของมุนี
นาลกดาบสประพฤติพรหมจรรย์รอคอยข่าวตรัสรู้อยู่อย่างนั้นไม่นาน
วันหนึ่ง ดาบสได้ยินข่าวว่า " พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขณะนี้ทรงประกาศพระธรรมจักรอยู่ในกรุงพาราณสี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วหนอ " (ท่านว่ามีเทวดามาบอกข่าวแก่นาลกดาบส)
เข้าเฝ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
หลังปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหัตแล้ว พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า " อีก ๗ วัน นาลกจักมาหาเรา เราจะแสดงธรรมแก่เขา "
นาลกดาบสรู้ว่า ขณะนี้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะ จึงเดินทางมา ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์อย่างองอาจ เขาเลื่อมใสยิ่ง คิดถึงคำสั่งเสียของอสิตฤษีผู้เป็นลุงว่า " บัดนี้เราจะทำตามคำสั่งของลุง " แล้วกราบทูลถามว่า
" ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤษีโดยแท้ เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิตผู้เที่ยวไปเพื่อแสวงหาภิกษาแก่ข้าพระองค์เถิด"
พระพุทธเจ้าตรัสตอบรับที่จะแสดงข้อปฏิบัติของมุนีว่า " เราจะบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่ทำได้ยาก ซึ่งคนทั่วไปไม่ยินดี เพราะปฏิบัติได้ยาก เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน "
ข้อปฏิบัติเมื่ออยู่ในบ้าน
จากนั้นตรัสแสดงเป็นลำดับดังนี้
“ท่านจงดูแลตน จงเป็นผู้มั่นคง พึงกระทำการด่าและการกราบไหว้ในบ้านให้ เสมอกัน คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเที่ยวไป" คือ จงเพียรพยายามด้วยตนอย่าย่อท้อ มีความอดกลั้นต่อความไม่น่ายินดี เมื่อเข้าไปผูกพันกับ ญาติโยมก็อย่าปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้น, ทำจิตอย่าให้ยินดีเมื่อมีคนไหว้ และอย่ายินร้ายหากมีผู้ด่า พึงยังจิตให้สงบ ไม่ลำพอง แม้จะมีพระราชากราบไหว้ก็ตาม
ข้อปฏิบัติเมื่ออยู่ในป่า ให้สำรวมอินทรีย์
“อารมณ์ที่สูงต่ำเปรียบเหมือนเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่จักษุทวาร เป็นต้น เหล่านารีอาจประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้นอย่าพึงประเล้าประโลมท่าน คือ แม้จะอยู่ในป่าหรือในสวนก็ยังอาจพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ (อารมณ์ต่ำ) เช่น เสือโคร่ง เป็นต้น และอารมณ์ที่น่าชอบใจ (อารมณ์สูง) เช่น เห็นหญิงเก็บฟืน เป็นต้น อารมณ์สูงๆ ต่ำๆ เหล่านั้น เป็นเหมือนเปลวไฟ, จงระมัดระวังอาการต่างๆของสตรี เช่น หัวเราะร้องไห้ และแก้ผ้า เป็นต้น อย่าให้นางเข้าใกล้
ตรัสให้สํารวมในปาติโมกข์
"มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดี แล้วงดเว้นเมถุนธรรม, ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลาย ผู้สะดุ้งและมั่นคง พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า ตัวเราฉันใด สัตว์เหล่านั้นก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด ตัวเราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า" คือ มุนีนั้นนอกจากจะงดเว้นเมถุนแล้ว ยังต้องละกามคุณอื่นๆ ด้วย เช่น การดู การฟัง สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อกุศล รวมความว่าพึงเว้นจากกามคุณทั้งที่ดีและไม่ดี ไม่ควรให้เกิดความ ดำริในการฆ่าสัตว์ ทั้งสัตว์ที่แข็งแรงและอ่อนแอ พึงพิจารณาให้เห็นจริงว่าสัตว์ทั้งหลายต่างก็รักชีวิต ต้องการความมั่นคงในชีวิต ไม่อยากตายเฉกเช่นเดียวกับตัวเราที่เกลียดความตาย เกลียดความเบียดเบียน
ตรัสอาชีวปาริสุทธิ์ (ความบริสุทธิ์ของการเลี้ยงชีพ)
"มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย (๔) อย่างที่พวกปุถุชนติดอยู่ เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้ พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย"
คือ มุนี้ต้องพยายามละตัณหาต้นเหตุของมิจฉาชีพ เพราะเป็นความปรารถนาเกินวิสัยอย่างที่ปุถุชนปรารถนาหนึ่งอย่าง แล้วก็ปรารถนาเรื่อยไปไม่สิ้นสุด มุนี้ต้องมีจักษุ คือ ปัญญากำจัดตัณหานั้น จึงจะข้ามนรกอันเนื่องมาจากมิจฉาชีพ
ตรัสโภชเนมัตตัญญุตา
"พึงเป็นผู้มีท้องพร่องบริโภคพอประมาณ มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความโลภ เป็นผู้หายหิว ไม่มีความปรารถนาด้วยความอยาก ดับความเร่าร้อนได้แล้วทุกเมื่อ"
คือ ให้มุนีมีความสันโดษในปัจจัย ๔ อย่าง ฉันอาหารแต่พอประมาณ ไม่ฉันน้อยไปหรือมากไป มีความปรารถนาน้อย ๔ อย่าง คือ ปรารถนาน้อยในปัจจัย ๔. ปรารถนาน้อยในธุดงค์ ได้แก่ การ ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นล่วงรู้ว่าเรารักษาธุดงค์, ปรารถนาน้อยในปริยัติ ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้จักว่าเรา เป็นพหูสูต และปรารถนาน้อยในอธิคม ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าเราบรรลุฌานหรือโสดาปัตติมรรค เป็นต้น
จงพยายามละความโลภซึ่งทำให้หิวด้วยอรหัตตมรรค
ตรัสธุดงค์ การขวนขวายในฌานและการเข้าสู่บ้าน
"มุนีนั้นได้บัณฑบาตแล้ว (บิณฑบาตเป็นวัตร) พึงเข้าไปยังชายป่า (อยู่ป่าเป็นวัตร) นั่งที่โคนต้นไม้ (อยู่โคนไม้เป็นวัตร) พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน (ทั้งโลกียฌาน และโลกุตตรฌาน) เป็นนักปราชญ์ ยินดีแล้วในป่า พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
ครั้นลวงราตรีไปแล้ว พึงเข้าไปสู่บ้าน ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ (ไม่ยินดีการนิมนต์ ให้เข้าไปฉัน) และโภชนะที่เขานำไปจากบ้าน (ไม่เข้าไปรับอาหารภายในบ้านที่เขานิมนต์ พึงบิณฑบาตไปตามลำดับเรือนโดยไม่เข้าไปภายในบ้าน )
เข้าไปสู่เขตบ้านแล้ว
ไม่ฟังเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน (ไม่เกี่ยวข้องผูกพันกับพวกเขา) ตัดถ้อยคำเสียแล้ว (ไม่กล่าววาจาอันเป็นเหตุให้ได้ปัจจัย) ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวกับการแสวงหาของกิน
มนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้นยังประโยชน์ให้สำเร็จ ถ้าเราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้วเป็นผู้คงที่(ไม่ผิดปกติ วางใจเป็นกลาง) เพราะการได้และไม่ได้ทั้งสองอย่างนั้นนั้นแล ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้ (ไม่เกิดโสมนัสและโทมนัส)
เปรียบเหมือนคนแสวงหาผลไม้ เข้าไปยังต้นไม้แล้ว แม้จะได้หรือแม้จะไม่ได้ ก็ไม่ยินดี ไม่เสียใจ วางจิตเป็นกลางกลับไป ฉะนั้น
มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ไม่เป็นใบ้ ก็สมมติว่าเป็นใบ้ ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึงดูแคลนบุคคลผู้ให้
ก็ปฏิปทาสูงต่ำ (หมายถึงมรรคปฏิปทา, หากปฏิบัติง่ายและรู้เร็ว ก็เรียกว่า ปฏิปทาสูง หากปฏิบัติยากและรู้ช้าก็เรียกว่าปฏิปทาต่ำ) พระพุทธสมณะทรงประกาศแล้ว, มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึง ๒ ครั้ง นิพพานนี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ (คือ ย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึง ๒ ครั้งด้วยมรรคเดียว เช่น โสดาปัตติมรรค เกิดขึ้นละกิเลสเพียงครั้งเดียว โสดาปัตติมรรคจะไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองอีก)
ก็ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ตัดกระแสกิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ (กิจที่เกิดจากกิเลส) ได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน"
ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ทำได้ยากยิ่งขึ้น
“เราจักบอกข้อปฏิบัติของมุนีแก่ท่าน ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี พึงเป็นผู้มี
คมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ กดเพดานไว้ด้วยลิ้นแล้ว พึงเป็นผู้สำรวมท้อง"
คือ ไม่พึงฉันอาหารที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรม พึงข่มความอยากในรสด้วยการกดเพดานด้วยลิ้น แม้ได้อาหารมาอย่างชอบธรรมก็พึงบริโภคอย่างระมัดระวังอย่าให้กิเลสเกิดขึ้น เหมือนคนเลียน้ำผึ้งที่คมมีดโกน เขาต้องเลียอย่างระมัดระวังเพราะเกรงว่าลิ้นจะขาด
มีจิตไม่ย่อหย่อน และไม่พึงคิดมาก (เช่น วิตกถึงญาติและสภาพอากาศเป็นต้น) เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ (กิเลส) อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว (คือประพฤติพรหมจรรย์ โดยปราศจากตัณหาและทิฏฐิ) มีพรหมจรรย์ (สิกขา ๓, มรรค) เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียว และเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม (เจริญ กรรมฐานทั้งหลาย) ท่านเป็นผู้เดียวแลที่จะได้รับความอภิรมย์จากความเป็นมุนีตามที่เราบอก ที่นั้นจงประกาศไปทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ (คือหากเจริญปฏิปทาเหล่านี้ก็จะมีเกียรติ ฟุ้งไป ๑๐ ทิศ)
เมื่อท่านได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ผู้สละกามแล้ว แต่นั้น พึงกระทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็เป็นสาวกของเราได้
เป็นสมณะก็ต้องมีคุณของบัณฑิตด้วย
“ท่านจะรู้แจ่มแจ้งซึ่งคำที่กล่าวนั้นได้ด้วยการแสดงแม่น้ำทั้งหลาย (คือยก ตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เรื่องคนกับน้ำ) ทั้งในเหมืองและในหนอง สายน้ำที่ตกจากห้วยย่อมไหลดังโดยรอบ ส่วนสายน้ำใหญ่ในแม่น้ำย่อมไหลนิ่ง สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อมเงียบ"
คือ สาย ยิ่งเป็นสายเล็กๆย่อมไหลดัง ส่วนสายน้ำใหญ่จะไหลนิ่ง ผู้ไม่นับถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเรา ย่อมฟุ้งซ่านว่าเราไม่ได้บำเพ็ญปฏิปทาของมุนี สำหรับผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน มีหิริ ศรัทธา และมีจิตสงบ ดุจแม่น้ำใหญ่ไหลเงียบ
"คนพาลเปรียบด้วยหม้อน้ำที่มีนํ้าครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม สมณะ (หมายถึงตัวพระองค์) กล่าวถ้อยคำใดมาก ที่เข้าถึงประโยชน์ประกอบด้วยประโยชน์ รู้ถ้อยคำนั้นอยู่ ย่อมแสดงธรรม (ทรงต้องการให้รู้ถึงเหตุที่ทรงต้องการ แสดงธรรม)
สมณะนั้นรู้อยู่ ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน สมณะนั้นรู้สิ่งที่เป็นเหตุไม่นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้สรรพสัตว์ ดังนั้นจึงไม่พูดมาก
สมณะผู้นั้นเป็นมุนี ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นได้ถึงธรรมเครื่อง เป็นมุนีแล้ว (คืออรหัตตมรรค)
(ขุ.สุ.ข้อ ๓๘๘-๓๘๙)
ท่านมิได้เล่าว่า จบเทศนาแล้วนาลกดาบสทูลขอบวชหรือไม่? แต่ก็เข้าใจได้ว่านาลกดาบสจะต้องกราบทูลขอบวชให้สมกับความที่ได้รอคอยมานาน
ถวายบังคมลา เพียรพยายามเคร่งครัด บรรลุพระอรหัต
อรรถกถาเล่าว่า พระนาลกเถระมีจิตเลื่อมใส มีความปรารถนาน้อยในฐานะ ๓ คือ
มิได้เกิดความโลเลขึ้นในใจเลยว่า “ทำอย่างไรดีหนอ เราจึงจะได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก นี้เป็นความปรารถนาน้อยในการเห็น
ไม่เกิดความโลเลว่า “ทำอย่างไรดีหนอ เราจึงจะได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก นี้เป็นความปรารถนาน้อยในการฟัง
ไม่เกิดความโลเลว่า “ทำอย่างไรดีหนอ เราจึงจะได้ถามโมเนยยปฏิปทาอีก" เป็นความปรารถนาน้อยในการถาม ๑
ท่านถวายบังคมลาพระพุทธเจ้าแล้วไปอยู่ที่เชิงเขา และอยู่ในไพรสณฑ์แต่ละแห่งไม่เกิน ๒ วัน นั่งโคนไม้ที่เดิมเกิน ๒ วัน (ไม่นั่งที่โคนต้นไม้ต้นเดียวถึง ๒ วัน) ไม่เข้าไปบิณฑบาตหมู่บ้านเดิมเกิน ๒ วัน
พระนาลกะเที่ยวจากป่านี้สู่ป่าโน้น จากต้นไม้นี้สู่ต้นไม้โน้น ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์
ปรินิพพาน
ท่านว่า หากภิกษุผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างสูงสุด (อย่างอุกฤษฎ์) ก็จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน หากปฏิบัติอย่างปานกลางจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี หากปฏิบัติอย่างอ่อนจะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี ท่านพระนาลกเถระปฏิบัติอย่างสูงสุด ท่านจึงมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน
ในวันที่ท่านปรินิพพานนั้น ท่านสรงน้ำ นุ่งผ้า คาดผ้าพันกาย ห่มผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น หันหน้าไป ทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วประนมมือยืนพิงภูเขาหิงคุละ ปรินิพพานอย่างสงบด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วได้เสด็จไปยังภูเขานั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ตรัสให้ทำฌาปนกิจแล้ว ให้เก็บอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ แล้วเสด็จกลับ
(สุตฺต.อ.๑/๖/๖๓๑-๖๖๑, อุปทาน.อ.๘/๑/๑๑๖)
ข้อปฏิบัติของมุนี (โมเนยยปฏิปทา) ที่พระเถระนี้ปฏิบัติ ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่เคร่งครัดออกไปทางทำตนเอง ให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) แต่ก็ไม่ใช่เพราะท่านปฏิบัติด้วยปัญญาไม่เกี่ยข้องกับมิจฉาทิฏฐิ ทรงอนุญาตให้ ปฏิบัติได้ตามกำลังบุญญาธิการ ในสมัยของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะมีเพียงหนึ่งท่านเท่านั้นที่ปฏิบัติได้ถึงข้้นอุกฤษฎ์ เป็นอสีติมหาสาวก ไม่จัดเป็นเอตทัคคะทั้งที่มีองค์เดียว(ดูเหตุผลพระสาวก ๓ ประเภทประกอบด้วยครับ)
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ