สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

ความคล้ายกันและความต่างกันระหว่างศรัทธากับราคะ

   เพราะเหตุที่ศรัทธากับราคะ ต่างก็มีอาการที่คล้ายกันอยู่ออย่างหนึ่ง คือ ต่างก็ยินดีชื่นชมในอารมณ์ด้วยกัน เมื่อไม่ใส่ใจกำหนดอาการอย่างอื่นที่ต่างกันประกอบก็จะสับสนสำคัญว่า ราคะเป็นศรัทธาได้ ดังนั้นเพื่อนสหธรรมิกนอกจากจะทราบความคล้ายกันแล้ว ก็ควรทราบความต่างกันแห่งธรรมทั้งสองดังนี้ :-

   ราคะ เป็นความยินดีชื่นชม ด้วยกำลังความกำหนัด คือ ต้องการอยากได้อารมณ์ที่สำคัญผิดด้วยวิปลาสว่า งาม ว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นอัตตา อันเป็นที่ตั้งแห่งความอยากได้ เมื่อยังไม่ได้มาก็เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่สงบสุขด้วยการแสวงหา ครั้นพอได้มาแล้ว ก็ยังเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่สงบสุขด้วยการรักษาอยู่ดี เมื่อสิ่งที่รักสิ่งที่ต้องการนั้น จะเป็นบุคคลก็ตาม วัตถุก็ตาม วิบัติพลัดพรากไป ก็ย่อมเป็นทุกข์ เดือดร้อน เศร้าโศก เสียใจ แม้จะเป็นความชื่นชมในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นความชื่นชมด้วยกำลังความติดใจในพระวรกายที่งดงามน่าเจริญตานักหนาบ้าง ในพระสุรเสียงที่ไพเราะดุจเสียงพรหมน่าเจริญหูหนักหนาบ้าง เหมือนอย่างพระวักกลิที่เอาแต่จะติดตามเฝ้าชมความงดงามแห่งพระวรกายอย่างเดียว ไม่มีความคิดจะฟังธรรม จะปฏิบัติธรรมอย่างนั้นนั่นแหละ ดังนั้น ราคะจึงมีชาติเป็นอกุศล เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้จิตขุ่นมัว จึงเป็นธรรมที่ควรละ

   ศรัทธา เป็นความยินดีชื่นชมในคุณ ไม่ใช่ยินดีชื่นชมเพราะเหตุสักว่า อารมณ์นั้นบรรดาลความสุข ความเพลิดเพลินแก่ตน หากเป็นความยินดีชื่นชมในตัวบุคคล ก็เกี่ยวกับเล็งเห็นคณธรรมหรือคุณค่าที่มีอยู่ในตัวบุคคล หากเกี่ยวกับความงามพระวรกายของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่เป็นความติดใจด้วยความเพลิดเพลินเสวยสุขในภาพทีเห็นนั้นท่าเดียวเหมือนอย่างพระวักกลิ ทว่า พอเห็นภาพนี้นแล้ว ใจก็น้อมไปหาพระบุญญาธิการทั้งหลายที่ทรงบำเพ็ญมาตั้งแต่อดีต ที่เป็นเหตุให้ทรงได้พระวรกายที่งดงามเกินกว่าจะเปรียบได้อย่างนั้น แล้วก็เกิดชื่นชมในพุทธานุภาพไปพร้อมๆกันกับขณะที่เห็นพระวรกายนั้น หากฟังธรรมก็เกิดความยินดีชื่นชมขึ้น ก็มิได้เกี่ยวกับการถือสาระในพระสุรเสียงที่ไพเราะดุจเสียงพรหมนั้น เป็นประมาณ แล้วเอาแต่เพลิดเพลินอยู่ ทว่า เกี่ยวกับการเล็งเห็นคุณค่าว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข เพื่อความสวัสดีแก่ผู้ฟังเป็นประมาณ บางทีพระธรรมเทศนานั้น ไม่ได้สร้างความสุขความเพลิดเพลินในการฟังเสียด้วยซ้ำ ก็ยังยินดีชื่นชมว่า ดีแท้ มีคุณค่าน่าฟัง เช่น ธรรมเทศนาที่ว่าด้วยเรื่องภัยในอบาย เรื่องภัยในสังสารวัฏ เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องโทษของขันธ์ 5 เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สร้างความสลดสังเวชให้เกิดแก่ผู้ฟัง เป็นเรื่องทวนกระแสตัณหา ทำให้คลายความอยากได้ หายมัวเมา เกิดความคิดที่จะสลัดออกไปจากวัฏฏทุกข์ ทั้งๆที่มีผลเป็นอย่างนี้ ก็ยินดีชื่นชมในอันที่ฟังเรื่อยๆไป เห็นเป็นของน่าอัศจรรย์ หาฟังยาก ประกอบด้วยเหตุผล เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสวัสดีแก่ผู้ฟังอย่างเดียว หาโทษมิได้เลย ความยินดีชื่นชมอย่างนี้นี่แหละ เป็นความยินดีชื่นชมแห่งศรัทธาแน่นอน แม้เกี่ยวกับวัตถุที่มีคุณค่าทั้งหลายอย่างอื่นๆ ก็มีความเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ กล่าวคือ เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น ย่อมทำให้จิตให้ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ดังพรรณนานั่นแล


[right-side]

ปกิณกธรรม,ศรัทธา,ราคะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.