ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,813)


ศิราภรณ์

ของสูง ของสวย

อ่านว่า สิ-รา-พอน

แยกศัพท์เป็น ศิร + อาภรณ์

(๑) “ศิร”

บาลีเป็น “สิร” อ่านว่า สิ-ระ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = คบหา, ผูก) + ร ปัจจัย 

: สิ + ร = สิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องคบหา” คือใช้ก้มยอมรับกัน (2) “อวัยวะอันคอเชื่อมไว้” (3) “ส่วนอันดอกไม้ติดอยู่” 

“สิร” หมายถึง -

(1) ศีรษะหรือหัว (head) 

(2) ยอดไม้, ปลาย (tip)

ในภาษาไทย คำว่า “สิร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“สิร-, สิระ : (คำนาม) หัว, ยอด, ที่สุด. (ป.; ส. ศิรา).”

บาลี “สิร” สันสกฤตเป็น “ศิรสฺ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ศิรสฺ : (คำนาม) 'ศิรัส,' เศียร, ศิร์ษะ; ยอตไม้; อัครภาคหรือเสนามุข; อธิบดีหรือนายก; the head; the top of a tree; the van of an army; a chief."

บาลี “สิร” สันสกฤตเป็น “ศิรสฺ” ในที่นี้ใช้เป็น “ศิร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศิร-, ศิระ : (คำนาม) หัว, ยอด, ด้านหน้า. (ส. ศิรสฺ; ป. สิร).”

(๒) “อาภรณ์”

บาลีเป็น “อาภรณ” (อา-พะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ภรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ประดับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ)

: อา + ภรฺ = อาภรฺ + ยุ > อน = อาภรน > อาภรณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลทรงไว้” หรือ “สิ่งอันบุคคลประดับไว้” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภรณ” ตามศัพท์ว่า “that which is taken up or put on” (สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาหรือสวมใส่)

“อาภรณ” หมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, เครื่องเพชรพลอย (ornament, decoration, trinkets)

“อาภรณ” ในภาษาไทย ใส่การันต์ที่ ณ เป็น “อาภรณ์” อ่านว่า อา-พอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อาภรณ์ : (คำนาม) เครื่องประดับ, บางทีก็ใช้เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พัสตราภรณ์ = เครื่องประดับคือเสื้อผ้า สิราภรณ์ = เครื่องประดับศีรษะ คชาภรณ์ = เครื่องประดับช้าง พิมพาภรณ์ = เครื่องประดับร่างกาย ในคําว่า ถนิมพิมพาภรณ์ ธรรมาภรณ์ = มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ. (ป., ส.).”

ศิร + อาภรณ์ = ศิราภรณ์ แปลว่า “เครื่องประดับศีรษะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ศิราภรณ์ : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) เครื่องประดับศีรษะ เช่น พระมาลา มงกุฎ กรอบหน้า ผ้าโพกหัว.”

ขยายความ :

“ศิราภรณ์” เป็นคำที่มักนำไปเรียกเครื่องสวมหัวของตัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแต่ละตัวจะมี “ศิราภรณ์” ที่มีรูปลักษณะแตกต่างกันออกไป 

การสร้างหรือการประดิษฐ์ศิราภรณ์ของตัวโขนถือว่าเป็นศิลปะเชิงช่างที่ต้องมีความรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และใช้ความสามารถและความชำนาญอย่างสูงยิ่ง นับเป็นมรดกไทยที่ทรงคุณค่าอวดโลกได้ และควรแก่การภาคภูมิใจ

..............

ดูก่อนภราดา!

: ก้มหัวด้วยสัมมาคารวะ

: คือเครื่องประดับศีรษะที่ประเสริฐ

[right-side]

ศิราภรณ์, เครื่องประดับศีรษะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.