สมาปัตติเภท (ความต่างกันแห่งสมาบัติ)

แสดงสมาปัตติเภทตามอภิธัมมัตถสังคหบาลี

     "ผลสมาปตฺติ ปเนตฺถ สพฺเพสมฺปี ยถาสกํ ผลวเสน สาธารณาว ฯ" แปลว่า ก็ในผลสมาบัติเหล่านั้น ผลสมาบัติของอริยบุคคลแม้ทั้งหมด เป็นของสาธารณะด้วยอำนาจตามที่ตนบรรลุ

สมาบัติมี ๓ ประเภท คือ

     ๑. ฌานสมาบัติ

     ๒. ผลสมาบัติ

     ๓. นิโรธสมาบัติ

สมาบัติทั้ง ๓ นั้น ฌานสมาบัติ ได้อธิบายไว้ในฌานสมาปัตติวาระแล้ว

ส่วนผลสมาบัติในวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า 

      ตตฺถ กา ผลสมาปตฺตีติ ยา อริยสฺส นิโรเธ อปฺปนา (เล่ม ๓ หน้า ๓๕๗) ฯ แปลว่า ในปัญหากรรมนั้น ปัญหาว่า ผลสมาบัติคืออะไร แก้ว่าอัปปนาในนิโรธแห่งอริยผล

      ขณะที่เข้าผลสมาบัติอยู่นั้น จิตใจของอริยบุคคลนี้ไม่มีสังขารนิมิดอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีอยู่แต่อารมณ์นิพพานอย่างเดียว ผลสมาบัติปุถุชนไม่สามารถข้าได้ เพราะปุถุชนไม่เคยมีอารมณ์นิพพานมาก่อน ส่วนอริยบุคคลทั้งหมดเข้าผลสมาบัติได้ เพราะเคยมีอารมณ์นิพพานมาแล้ว และจะเข้าได้เฉพาะผลของตน เช่นโสดาบันบุคคลเข้าได้แต่โสดาปัตติผลสมาบัติเท่านั้น ฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์ จึงกล่าวไว้ว่า สพฺเพสมฺปี ยถาสกํ ผลวเสน สาธารณาว ฯ ผลสมาบัติของอริยบุคคลทั้งหมด ย่อมเป็นธรรมสาธารณะ ด้วยอำนาจผลตามที่ตนบรรลุ

      ในที่นี้ เกจิอาจารย์ ได้กล่าวว่า การเข้าผลสมาบัติจะเข้าได้แต่พระอนาคามีแเละพระอรหันต์เท่านั้น เพราะอริยบุคคล ๒ ประเภทนี้มีสมาธิสิกขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนพระโสดาบันและพระสกทาคามีไม่สามารถข้าผลสมาบัติได้ เพราะอริยบุคคล ๒ ประเภทนี้สมาธิสิกขายังไม่บริบูรณ์

      ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค วินิจฉัยว่า แม้ในปุถุชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของตนคือโลกียฌาน ก็สามารถเข้าฌานสมาบัติของตนได้ ฉะนั้น อริยบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของตนคือผลสมาบัตินั้น เหตุใดจึงจะเข้าไม่ได้ ย่อมเข้าได้แน่นอน


อานิสงส์ของผลสมาบัติ

      วิสุทธิมรรค ยกอุปมาว่า มนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ทรัพย์สมบัติของตนนั้น ต้องการเมื่อใดก็เสวยอารมณ์ใด้ ฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมถือว่าการเข้าผลสมาบัติมีความสุขคล้ายๆ กับนิพพานชั่วคราวในชีวิตนี้ แต่มีกำหนดประมาณเท่าขณะกำลังเข้าผลสมาบัติอยู่ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น ผลชวนะหลายๆ ขณะบังเกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับกระแสน้ำไหล ฉะนั้นจึงเรียกว่า เข้าผลสมาบัติประเภทของผลสมาบัติวิถี

ผลสมาบัติวิถีนี้มี ๔ ประเภทด้วยกัน คือ

      ๑. โสดาปัตติผลวิถี

      ๒. สกทาคามิผลวิถี

      ๓. อนาคามิผลวิถี

      ๔. อรหัตตผลวิถี

แต่ละประเภทนั้นยังแบ่งออกเป็นประเภทละ ๕ อย่าง เช่นโสดาปัตติผลวิถี

      ๑. ปฐมฌานโสดาปัตติผลวิถี

      ๓. ทุติยฌานโสดาปัตติผลวิถี

      ๓. ตติยฌานโสดาปัตติผลวิถี

      ๔. จตุตถฌานโสดาปัตติผลวิถี

      ๕. ปัญจมฌานโสดาปัตติผลวิถี

      ฉะนั้น ผลทั้ง ๔ คุณด้วยฌาน ๕ ได้ ๒๐, ตั้ง ๒๐ คูณด้วย ๒ คือ ติกขปัญญา ขิปปาภิญญา และ มันทปัญญา ทันธาภิญญา ได้ ๔๐, ตั้ง ๔๐ คูณด้วยฌาน  ๓ คือ ปาทกฌาน สัมมสิตฌาน ปูคคลัชณาสยฌาน รวมเป็นจำนวนผลสมาบัติวิถี ๑๒๐ 

      วิถีทั้งหมดนี้ กามสุคติภูมิและรูปภูมิอรูปภูมิเกิดได้ทั้งหมด เว้นสุทธาวาสภูมิ เพราะโสดาปัตติผลวิถี, สกทาคามิผลวิถี เกิดไม่ได้ 


ชื่อของอนุโลม

      ในผลสมาบัติวิถีนั้น อุปจารสมาบัติชวนะนี้เรียก อนุโลมทั้งหมด เพราะในปฏิสัมภิทามรรคพระบาลีแสดงไว้ว่า โคตรภูญาณเป็นอนันตนัยคือ มีนัยต่างๆ และในปัฏฐานพระบาลีนั้นก็แสดงไว้ว่า โคตรภูญาณในที่นี้มีรูปนาม สังขารเป็นอารมณ์ ฉะนั้น จึงเรียกว่า อนุโลมญาณ และวิสุทธิมรรคได้กล่าวไว้ว่า

      โคตฺรภูติ เจตฺถ อนุโลมํ เวทิตพพํ วุตฺตํ เหตํ ปฏิชาเน อรหโต อนุโลมํ ผลสมาปตฺติยา อนนฺตรปจฺจเยน ปจฺจโยติ เสกฺขานํ อนุโลมํ ผลสมาปตฺติยา อนนฺตรปจฺจเยน ปจฺจโยติ ฯ

      ในผลสมาบัติวิถีนี้ คำว่า โคตรภู เรียกว่า อนุโลมญาณ ในคัมภีร์ปัฎฐาน พระพุทธองค์ตรัสว่า "อนุโลมญาณของพระรหันต์เป็นปัจจัยแก่ผลสมาบัติ ด้วยอำนาจอนัตตรปัจจัย, อนุโลมของพระเสกขะเป็นปัจจัยแก่ผลสมาบัติด้วยอำนาจอนันตรปัจจัย" ดังนี้

      ในผลสมาบัติวิถีนั้น อนุโลม ๔ ชวนะไม่ได้รับอารมณ์นิพพาน แต่มีรูปนามหรือสังขารเป็นอารมณ์ ต่างกับในมรรควิถีซึ่งอาวัชชนะของมรรค คือ โคตรภูจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์

      ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา กล่าวไว้ว่า ธรรมดากิจรสของพระอริยมรรดนี้ เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายโดยทำให้พ้นจากสังสารวัฏ ฉะนั้นอาวัชชนะของอริยมรรค คือโคตรภูจิตนี้จึงมีนิพพานเป็นอารมณ์ ส่วนผลสมาบัติวิถีนั้น ผลจิตนี้ไม่สามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้พ้นไปจากทุกข์ได้เพียงแต่เป็น ทิฏฐธรรมสุขวิหารี คือพระอริยบุคคลทั้งหลายถือว่ามีความสุขคล้ายๆ กับนิพพานชั่วคราวในชีวิตนี้นั่นเอง ในผลสมาบัติวิถีนั้น โคตรภูหรืออนุโลมชวนะมีอารมณ์เป็นรูปนามหรือสังขาร

      ในมรรควิถีนั้น ผลชวนะไม่เรียกว่าผลสมาบัติเพราะไม่มีบริกรรม คือผลชวนะ ๒ หรือ ๓ ครั้ง ที่เกิดจากอำนาจของอริยมรรคเป็นสภาวะที่ติดตามมาเอง ส่วนผลสมาบัตินั้นไม่เกี่ยวกับอริยมรรคเพราะมีบริกรรมโดยเฉพาะ เนื่องจากผลสมาบัติต้องอาศัยบริกรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ ผลสมาบัติก็คือผลชวนะที่เกิดติดต่อกันนั่นเอง เมื่ออริยบุคคลทั้งหลายปรารถนาจะเข้าผลสมาบัติก็ต้องกำหนดรูปนามหรือสังขารเป็นอารมณ์นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไปโดยลำดับจนถึงอนุโลมญาณ ต่อจากนั้น รูปนามหรือสังขารทั้งหมดก็ดับ จิตที่เกิดขึ้นขณะนั้น คือผลจิต ก็รับพระนิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้น ผลของอริยมรรคไม่มีบริกรรม แต่ผลสมาบัติมีแต่บริกรรมโดยเฉพาะในคัมภีร์วิสุทธิมรรด กล่าวว่า :-

      "ผลสมาปตฺตตฺถิเกน หิ อริยสาวเกน รโหคเตน ปฏิสลฺลีเนน อุทยพฺพยาทิวเสน สงฺขารา วิปสฺสิตพฺพา ตสฺส ปวตฺตานุปุพฺพวิปสฺสนสฺส สงฺขารารมฺมณํ โคตฺรภูญา ฌานนฺตรํ ผลสมาปตุติวเสน นิโรเธ จิตตํ อปฺเปติ ฯ"

      จริงอยู่ อริยสาวกผู้ปรารถนาจะเข้าผลสมาบัติ ไปสู่ที่ลับ เร้นอยู่ พิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนามีอุทยัพพยญาณเป็นต้น ในลำคับแห่งโคตรภูญาณ อันมีสังขารเป็นอารมณ์ จิตของอริยสาวกผู้มีวิปัสสนาญาณตามลำดับที่เป็นไปแล้วนั้น ย่อมแนบแน่นในนิโรธ ด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติ


การออกจากผลสมาบัติ

      พระอริยบุคคลที่ปรารถนาจะออกจากสมาบัติได้ตามเวลาที่ต้องการ ก็ต้องอธิษฐานล่วงหน้าว่า ขอให้จิตสงบตั้งอยู่นาน ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เป็นต้น เมื่อถึงเวลาที่กำหนดผลชวนะก็หยุดลงทันที และภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นแทนที่ โดยมีสังขตธรรม รูปนามอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ ดังนี้แหละเรียกว่า ออกจากผลสมาบัติ


สัสสตวิหารีและโนสัสสตวิหารี

ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสอรรถกถา กล่าวไว้ว่า :-

      เทฺว หิ ขีณาสวา สสฺสตวิหารี โนสสฺสตวิหารี จ ฯ ตตฺถ สสฺสตวิหารี ยงฺกิญจิ กมฺมํ กตฺวาปี ผลสมาปตฺตึ สมาปชฺชิตุํ สกฺโกติ ฯ โนสสฺสตวิหารี ปน อปฺปมตฺตเกปี กิจฺเจ กิจฺจปฺปสุโต หุตฺวา ผลสมาปตฺติ อปฺเปตุํ น สกฺโกติ ฯ (ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมอุปริปัณณาสก์ แห่งคณกโมคคัลถานสุตตารรณนา หน้า ๔๗๘) 

พระขีณาสพเจ้ามี ๒ ประเภท คือ

      ๑. สัสสตวิหารีขีณาสพ คือ พระขีณาสพที่เข้าผลสมาบัติได้เสมอ

      ๒. โนสัสสตวิหารีขีณาสพ คือ พระขีณาสพที่เข้าผลสมาบัติไม่ได้เสมอ

      พระขีณาสพ ๒ ประเภทนั้น สัสสตวิหารีขีณาสพนี้แม้ขณะที่มีการงานอยู่ก็สามารถเข้าผลสมาบัติได้ (ในที่นี้ อปี ศัพท์ในบท กตฺวาปี นั้นจัดเข้าใน สัมภาวนโชตกนิปาตบท)

      แต่โนสัสสตวิหารีขีณาสพนี้ ประกอบธุระในการงานแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่อาจเข้าผลสมาบัติ (ในที่นี้ อปี ศัพท์ในบท อปฺปมตฺตเกปี นั้นจัดเข้าใน ครหาโชตกนิปาตบท)

      ได้ยินว่า พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์กับสามเณรผู้เป็นศิษย์ ทั้งสองเป็นพระอรหันตขีณาสพได้เข้าไปหาที่อาศัยเพื่อความวิเวกอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง แต่ในที่อาศัยนั้น มีพระภิกษุอื่นพักอยู่ก่อนยังเหลืออีกหนึ่งที่อาศัยได้เฉพาะแด่พระอาจารย์เท่านั้น ส่วนสามเณรนั้นไม่มีที่อาศัยจึงต้องหาที่พักเอาเอง บางคราวก็ย้ายจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปสู่ต้นอื่นๆ บ้างตามแต่อัชฌาสัย และตลอดพรรษานั้นสามเณรนั้นก็เข้าผลสมาบัติเป็นประจำอยู่เสมอ ส่วนพระอาจารย์นั้นได้ที่พักอาศัยอยู่อย่างสะดวกสบายก็จริง แต่ยังนึกถึงสามเณรผู้เป็นศิษย์อยู่ จึงไม่อาจเข้าผลสมาบัติ เมื่อออกพรรษาแล้ว สามเณรได้เข้าไปเยี่ยมพระอาจารย์ของตนแล้วถามถึงทุกข์สุขซึ่งกันและกัน พระอาจารย์ก็บอกว่าที่พักสะดวกสบายดี และถามถึงทุกข์สุขของสามณร ท่านเรียนอาจารย์ว่า ตนไม่ได้ที่อาศัยจึงต้องพักอยู่ตามใต้ต้นไม้และเข้าผลสมาบัติเป็นประจำอยู่เสมอ ได้รับความสุขทางใจอยู่ตลอดพรรษา ไม่มีความเคือดร้อนสิ่งใดเลย

จบ ผลสมาบัติ

-----------///---------

[right-side]

ปริจเฉทที่๙,วิปัสสนากรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.