บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๒)

------------------------------

ถวายสังฆทาน (๔)

------------------------------

อปโลกน์คืออะไร?

คำว่า “อปโลกน์” ก็คือที่ชาวบ้านมักออกเสียงว่า อุบ-ปะ โหฺลก ที่คุ้นกันดีก็คือ คำที่พระท่านว่าหลังจากญาติโยมกล่าวคำถวายภัตตาหารในการทำบุญวันพระ

“อปโลกน์” นั้น ชื่อเต็มคือ “อปโลกนกรรม”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อปโลกนกรรม” ไว้ดังนี้ -

..........................................................

อปโลกนกรรม : กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติ คือคำเผดียง ไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่นประกาศลงพรหมทัณฑ์ นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น.

..........................................................

“อปโลกนกรรม” เป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง ปกติสังฆกรรมจะต้องทำในเขตสีมาหรือที่เรารู้กันว่าทำในโบสถ์ เช่น อุปสมบทกรรม (บวชพระ) อุโบสถกรรม (ประชุมฟังพระปาติโมกข์) แต่อปโลกนกรรมนี้สามารถทำได้ทุกที่ เพียงแต่ต้องมีภิกษุครบองค์สงฆ์คือตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป

ในการทำบุญวันพระตามวัดทั่วไป เมื่อกล่าวคำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจะกล่าวคำอปโลกน์ คือการประกาศว่าสงฆ์จะทำอย่างไรกับภัตตาหารนั้น 

นี่คือการปฏิบัติตามหลักพระวินัยที่ว่า ของที่เป็นลหุภัณฑ์ (ภัตตาหารเป็นลหุภัณฑ์) เมื่อรับแล้วสงฆ์ต้องแบ่งแจกกันไป

บางท่านเข้าใจว่า ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ถ้าไม่อปโลกน์ก็ไม่เป็นสังฆทาน นี่เป็นความเข้าใจผิด

คำอปโลกน์แจกอาหาร หรืออปโลกน์หลังถวายสังฆทาน มีดังนี้ 

..........................................................

(ตั้งนะโมสามจบ)

อะยัง  ปะฐะมะภาโค  เถรัสสะ ปาปุณาติ,  อะวะเสสา ภาคา  อัมหากัง  ปาปุณันติ.

ทุติยัมปิ ... ฯลฯ ... อัมหากัง  ปาปุณันติ.

ตะติยัมปิ ... ฯลฯ ... อัมหากัง  ปาปุณันติ.

ความหมายในคำอปโลกน์นั้นมีอยู่ว่า - สิ่งของส่วนแรกนี้ยกให้แก่พระเถระ (คือพระภิกษุที่เป็นประธานอยู่ในที่ประชุมนั้น) ส่วนที่เหลือตกเป็นของพวกเราคือพระสงฆ์สามเณรทั้งหลาย

..........................................................

บางแห่งมีคำอปโลกน์เป็นภาษาไทยด้วย มีสำนวนน่าฟังดี ขอยกมาสู่กันฟังดังนี้ -

..........................................................

ยัคเฆ  ภันเต   สังโฆ  ชานาตุ  ขอพระสงฆ์ทั้งปวงจงฟังคำข้าพเจ้า

บัดนี้ ทายกทายิกาผู้มีจิตศรัทธาได้น้อมนำมาซึ่งภัตตาหารมาถวายเป็นสังฆทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันว่าสังฆทานนี้ย่อมมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ สมเด็จพระพุทธองค์จะได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นของภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็หามิได้ เพราะเป็นของได้แก่สงฆ์ทั่วสังฆมณฑล พระพุทธองค์ตรัสว่าให้แจกกันตามบรรดาที่มาถึง

ฉะนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าจะสมมติตนเป็นผู้แจกของสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งปวงจะเห็นสมควรหรือไม่เห็นสมควร ถ้าเห็นว่าไม่เป็นการสมควรแล้วไซร้ ขอจงได้ทักท้วงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์อย่าได้เกรงใจ ถ้าเห็นว่าเป็นสมควรแล้วก็จงเป็นผู้นิ่งอยู่ (หยุดนิดหนึ่ง) บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าจักรู้ได้ว่าเป็นการสมควรแล้ว จะได้ทำการแจกของสงฆ์ต่อไป ณ กาลบัดนี้

อะยัง  ปะฐะมะภาโค  มะหาเถรัสสะ  ปาปุณาติ  ส่วนที่ ๑ ย่อมถึงแก่พระเถระผู้ใหญ่ผู้อยู่เหนือข้าพเจ้า

อะวะเสสา  ภาคา  อัมหากัง  ปาปุณนฺติ  ส่วนที่เหลือจากพระเถระผู้ใหญ่แล้วย่อมถึงแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตามบรรดาที่มาถึงพร้อมกันทุกๆ รูป (ตลอดถึงสามเณรด้วย) เทอญ

..........................................................

จะเห็นได้ว่า ใจความในคำอปโลกน์ก็เป็นแต่เพียงสงฆ์ตกลงกันว่าจะแจกของกันอย่างไรเท่านั้น 

สิ่งของ (ทั้งของฉันและของใช้) เมื่อผู้ถวายตั้งเจตนาถวายให้เป็นของสงฆ์และได้มอบถวายไปเสร็จแล้ว ก็เป็น “สังฆทาน” ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าสงฆ์จะต้องทำอปโลกนกรรม (อปโลกน์) เสียก่อนจึงจะสำเร็จเป็นสังฆทาน 

อปโลกน์ จึงมิใช่พิธีกรรมเพื่อทำของสิ่งนั้นให้เป็นของสงฆ์ หรือเพื่อให้สำเร็จเป็นสังฆทาน ดังที่บางคนเข้าใจ

บางท่านไปทำบุญวันพระที่วัด ถ้าวัดไหนไม่อปโลกน์ ก็จะไม่กินข้าววัดนั้น อ้างว่ากินของสงฆ์เป็นบาป เนื่องจากสงฆ์ยังไม่ได้อนุญาตด้วยการอปโลกน์ 

เพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ต้องอปโลกน์เสียก่อนญาติโยมชาวบ้านจึงจะสามารถรับประทานอาหารหลังจากพระสงฆ์ฉันแล้วได้ บางวัดจึงเพิ่มข้อความในคำอปโลกน์ที่เป็นภาษาไทยเข้าไปอีก เช่นว่า 

.... เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว อาหารเหล่านี้ขอให้ตกเป็นของญาติโยมอุบาสกอุบาสิการับประทานกันต่อไป .... 

อะไรทำนองนี้ 

ความจริงแล้ว อาหารที่เหลือจากพระสงฆ์ฉัน ไม่ว่าจะเป็นของที่ตักฉันแล้วหรือไม่ได้ตักฉันเลยก็ตาม เป็นของที่เรียกว่า “เป็นเดน” เว้นไว้แต่ส่วนที่เก็บกันเอาไว้ฉันมื้อเพล แต่ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน เมื่อเลยเที่ยงวันไปแล้ว ภัตตาหารนั้นก็หมดสภาพที่จะเป็นของสงฆ์อีกต่อไป เพราะภัตตาหารสำหรับพระมีอายุแค่เช้าชั่วเที่ยง โดยหลักพระวินัยแล้วพระสงฆ์จำต้องสละสิทธิ์ คือต้องทิ้งไป 

เพราะฉะนั้น อาหารที่พระฉันแล้ว ๑ เลยเที่ยงวันไปแล้ว ๑ ไม่ว่าพระจะอปโลกน์หรือไม่อปโลกน์ ญาติโยมชาวบ้านก็สามารถรับประทานได้อยู่แล้ว ไม่เป็นการ “กินของสงฆ์” และมิใช่ว่าต้องอปโลกน์เสียก่อนจึงจะรับประทานได้ดังที่หลายๆ คนเข้าใจ

..................

ตรงนี้ขอแวะนิดหนึ่ง

ใครมาทำทำบุญวันพระวัดมหาธาตุราชบุรี จะเห็นว่าวัดมหาธาตุไม่อปโลกน์เหมือนวัดทั่วไป เพราะสงฆ์วัดมหาธาตุท่านใช้วิธีอปโลกน์ยืน หมายความว่าอปโลกน์มาแล้วครั้งหนึ่ง และยังคงยืนยันคำอปโลกน์เหมือนเดิม ไม่ต้องอปโลกน์กันทุกวันพระไป วันพระไหนๆ ก็ใช้หลักการเดิม นั่นคือ พระที่ลงศาลารับภัตตาหารที่โยมถวายเป็นของสงฆ์แล้ว แบ่งกันฉันรวมกันที่ศาลาทำบุญนั่นเลย ไม่ได้แยกย้ายกันไปฉันที่อื่น เพราะฉะนั้น ภาพที่แบ่งภัตตาหารเป็นของใครของมันจึงไม่เกิดขึ้น เพราะพระทุกรูปที่ลงศาลาฉันรวมกันในศาลา เรียกว่าแบ่งแล้วก็ยังคงฉันด้วยกันนั่นเอง ท่านจึงไม่อปโลกน์ย้ำทุกวันพระ

ที่ใช้หลักเดียวกันอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่มาทำบุญวันพระวัดมหาธาตุ เมื่อพระฉันแล้ว คณะสงฆ์ขอเชิญรับประทานอาหารก่อนแล้วจึงค่อยกลับบ้าน เป็นคำเชิญยืน ไม่ต้องประกาศเชิญทุกวันพระ เป็นที่รู้กัน แต่นานๆ ครั้งหลวงพ่อท่านก็จะเตือน-ใครไม่มีธุระเร่งด่วน เชิญกินข้าวก่อนค่อยกลับนะ

การมอบหมายงานภายในวัดก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ งานอะไร ใครเคยทำหน้าที่อะไร เมื่อถึงเวลาก็ทำหน้าที่อย่างที่เคยทำ ไม่ต้องสั่งกันทุกครั้งหรือทุกปี 

ระบบนี้ ภาษาทหารเรียกว่า “รปจ.” (รอ-ปอ-จอ) ย่อมาจากคำว่า “ระเบียบปฏิบัติประจำ” หรือที่คำฝรั่งเรียกว่า งาน routine สั่งครั้งเดียว ถึงวงรอบก็ทำเหมือนเดิม ไม่ต้องสั่งอีก

สมาชิกถืออุโบสถศีลท่านหนึ่ง ท่านเคยไปถือศีลที่วัดอื่นมาก่อน ต่อมาก็มาทดลองถือที่วัดมหาธาตุบ้าง ท่านเอาข้าวมากินเองทุกวันพระ ท่านบอกว่าไม่กล้ากินข้าววัดมหาธาตุ “เพราะวัดนี้ไม่อปโลกน์” กินของสงฆ์เป็นบาป

อธิบาย ชี้แจงอย่างไรก็ไม่เชื่อ จนตายจากกันไป - แบบนี้ก็มี 

..................

เมื่อจับหลักได้แล้ว ทีนี้ก็ลองพิจารณาดูว่า วัดต่างๆ ที่มีมุมสังฆทาน เมื่อมีญาติโยมมาถวายสังฆทาน รับของถวายซึ่งส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นของใช้ประจำตัว หรือบางรายอาจจะมี “ของฉัน” แถมมาด้วยก็ตาม ของทั้งหมดเป็นลหุภัณฑ์ เมื่อรับเป็นของสงฆ์แล้วจะต้องแบ่งแจกตามพระวินัย 

ถามว่า พระที่ทำหน้าที่รับสังฆทานตามวัดต่างๆ ได้นำ “สังฆทาน” นั้น ไปแบ่งแจกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดหรือเปล่า?

คงมีหลายคนสงสัยว่า ต้องทำอย่างนั้นด้วยรึ ไม่เคยเห็นวัดไหนทำเลยนี่ ถวายเสร็จ รับเสร็จ อนุโมทนาเสร็จ ก็ยกไปตั้งที่เดิม รอให้ผู้มีศรัทธารายต่อไปมาเอาสตางค์ใส่ตู้เป็นค่าชุดสังฆทาน แล้วก็ยกมาทำพิธีถวายอีก หมุนเวียนอยู่ตรงนั้น ที่ไหนๆ ก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น 

ก็ตรงนี้แหละที่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมบอกว่า-เป็นความเลอะเทอะในเรื่องสังฆทาน

..................

ขอให้ย้อนไปทบทวนเจตนาในการถวายทาน ไม่ว่าจะถวายเป็นของส่วนตัว (บุคลิกทาน) หรือถวายเป็นของส่วนรวม (สังฆทาน) ไม่ว่าของที่ถวายจะเป็นของฉัน (ของกิน) หรือของใช้ เจตนาของผู้ถวายก็คือ ให้ผู้รับได้ฉันได้ใช้ของนั้น 

ของฉันก็อยากให้ถึงปาก

ของใช้ก็อยากให้ถึงมือ

แต่แล้ว ของฉันของใช้ที่ถวายเป็นของสงฆ์ก็หมุนอยู่ตรงนั้นเอง ไม่ไปถึงปากถึงมือพระสงฆ์ให้สมกับเจตนาแห่งการถวาย 

ท่านที่เชื่อว่าสังฆทานมีอานิสงส์มาก ท่านไปถวายสังฆทาน ท่านต้องการให้เป็นเช่นนี้หรือ?

ลองตรึกตรองดูเถิด

------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๑:๑๑

[right-side]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.