ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,807)
สังฆราชี
รอยราคีแห่งสงฆ์
อ่านว่า สัง-คะ-รา-ชี
ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + ราชี
(๑) “สังฆ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า -
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า -
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ -
(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”
ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” คือชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
(๒) “ราชี”
รูปคำบาลีปกติเป็น “ราชิ” (สระ อิ) อ่านว่า รา-ชิ รากศัพท์มาจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย
: ราชฺ + อิ = ราชิ แปลตามศัพท์ว่า “แนวที่ชัดเจน” หมายถึง รอย, แนว, แถว (a streak, line, row)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ราชิ” “ราชี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า -
“ราชิ, ราชี : (คำนาม) ทาง, สาย, แถว, เช่น รุกขราชี. (ป., ส.).”
“รุกขราชี” ในพจนานุกรมฯ แปลว่า “แนวต้นไม้” คือไม้ที่ปลูกหรือขึ้นเป็นแนว
ในที่นี้ “ราชี” หมายถึง รอย และมุ่งถึง รอยร้าว คือ รอยแตกลึกเป็นทางลงไปในเนื้อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น แก้วร้าว จานร้าว ผนังร้าว
สงฺฆ + ราชิ = สงฺฆราชิ (สัง-คะ-รา-ชิ) แปลว่า “รอยร้าวแห่งสงฆ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆราชิ” ว่า dissension in the Order (การขัดกันในคณะสงฆ์)
“สงฺฆราชิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังฆราชี” (สัง-คะ-รา-ชี)
คำว่า “สังฆราชี” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “สังฆราชี” ไว้ดังนี้ -
..............
“สังฆราชี : ความร้าวรานแห่งสงฆ์ คือ จะแตกแยกกัน แต่ไม่ถึงกับแยกทำอุโบสถ ปวารณาและสังฆกรรมต่างหากกัน; เทียบ สังฆเภท, ดู สามัคคี.”
..............
ตามไปดูที่คำว่า “สามัคคี” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ตอนหนึ่ง ช่วยให้เข้าใจความหมายของ “สังฆราชี” ดีขึ้น ดังนี้ -
..............
... ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ คือ สังฆสามัคคี เป็นหลักการสำคัญยิ่งในพระวินัย ที่จะดำรงพระพุทธศาสนา จึงมีพุทธบัญญัติหลายอย่างเพื่อให้สงฆ์มีวิธีปฏิบัติในการรักษาสังฆสามัคคีนั้น ส่วนการทำให้สงฆ์แตกแยก ก็คือการทำลายสงฆ์ เรียกว่า สังฆเภท ถือว่าเป็นกรรมชั่วร้ายแรง ถึงขั้นเป็นอนันตริยกรรม (ถ้ามีการทะเลาะวิวาทบาดหมาง กีดกั้นกัน ไม่เอื้อเฟื้อกัน ไม่ร่วมมือกัน ไม่ปฏิบัติข้อวัตรต่อกัน ยังไม่ถือว่าสงฆ์แตกกัน แต่เป็นความร้าวรานแห่งสงฆ์ เรียกว่า สังฆราชี แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายแตกแยกกันถึงขั้นคุมกันเป็นคณะ แยกทำอุโบสถ แยกทำปวารณา แยกทำสังฆกรรม แยกทำกรรมใหญ่น้อยภายในสีมา เมื่อนั้นเป็นสังฆเภท); หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อให้สงฆ์มีสามัคคีเป็นแบบอย่าง ได้แก่ สาราณียธรรม ๖ ส่วนหลักธรรมสำคัญสำหรับเสริมสร้างสามัคคีในสังคมทั่วไปได้แก่ สังคหวัตถุ ๔
..............
ขยายความ :
“สังฆเภท” สงฆ์แตกกัน คือรังเกียจกัน ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน
“สังฆราชี” สงฆ์ร้าวราน คือยังทำสังฆกรรมร่วมกัน แต่ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ร่วมมือกันในกิจทั่วไป
..............
ดูก่อนภราดา!
: ไม่รักไม่ว่า
ขอเพียงอย่าเกลียดกัน
: ไม่เป็นมิตรก็ไม่ว่า
ขอเพียงอย่าเป็นศัตรูกัน
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ