สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


จิตและเจตสิกธรรมที่จัดเป็นคู่ ๆ มีกายปัสสัทธิ-จิตตปัสสัทธิเป็นต้น

       เหตุไรพระพุทธองค์จึงทรงตรัสจิตและเจตสิกธรรมเป็นคู่ๆ มีคู่กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ เป็นต้น ซึ่งเป็นนามขันธ์ 4 โดยจัดวิญญาณขันธ์ เป็นหมวดจิต คู่กับนามขันธ์ 3 ที่เหลือ คือ เวทนาขันธ์ ส้ญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ รวมเป็นหมวดเจตสิกธรรม  เรียกว่า กาย(ในความหมายว่าเป็นหมวดเจตสิก) ซึ่งมีทั้งหมด 6 คู่ เพื่อนสหธรรมิกจะได้ประโยชน์จากการนี้อย่างไร ? 1

   ในส่วนรูปขันธ์ เมื่อทรงจัดนามขันธ์ 4 เป็น ธรรม 6 คู่ แล้ว เพื่อนสหธรรมิกจะเห็นประโยชน์ที่เนื่องกันอย่างไร ?

     1)ประเด็นข้อที่หนึ่ง

   คู่ที่หนึ่ง คือ กายปัสสัทธิ, จิตตปัสสัทธิ มีวจนัตถะว่า

กายสฺส ปสฺสมฺภนํ กายปสฺสทฺธิ, จิตฺตสส ปสฺสมฺภนํ จิตฺตปสฺสทฺธิ. แปลว่า ความสงบแห่งกาย ชื่อว่ากายปัสสัทธิ, ความสงบแห่งจิต ชื่อว่าจิตตปัสสัทธิ. ชื่อว่าความสงบในที่นี้ได้แก่ สภาวะไม่สัดส่าย ไม่ดิ้นรน  ที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจ คือ ความฟุ้งซ่าน และสภาวะไม่กระวนกระวายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุกกุจจะ คือ ความรำคาญนั่นเอง ปัสสัทธินี้ เมื่อมีกำลังย่อมเป็นปัจจัยแก่สุข(โสมนัส) สมาธิเมื่อได้สุขเป็นปัจจัยก็ย่อมตั้งมั่นในอารมณ์ได้ดี สมจริงดังที่ทรงตรัสไว้ว่า " ปสฺสทฺธิ สุขตฺถาย, สุขํ สมาธตฺถาย - ปัสสัทธิเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สุข  สุขเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ."(วิ.ป.8/344) เมื่อสาธิตั้งมั่นในอารมณ์ดีแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะ ก็ตั้งอยู่ในฐานะที่ห่างไกลยิ่ง จึงกล่าวได้ว่า ปัสสัทธิทั้ง 2 นี้ เป็นฝักฝ่ายแห่งสมาธิ พึงทราบว่า ปัสสัทธิทั้ง 2 นี้ เมื่อถึงความเป็นโพชฌงค์ ก็เรียกว่า " ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั่นแล

   คู่ที่สอง คือ กายลหุตา, จิตตลหุตา มีวจนัตถะว่า กายสฺส ลหุภาโว กายลหุตา, ตถา จิตฺตลหุตา. แปลว่าความเบาแห่งกายชื่อว่า กายลหุตา อย่างนั้นเหมือนกัน ความเบาแห่งจิตก็ชื่อว่า จิตตลหุตา กายลหุตา และจิตตลหุตานั้น  มีการระงับความหนักแห่งกายและจิตเป็นลักษณะ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนและมิทธะซึ่งสร้างความหนักแก่กายและจิต เป็นความจริงว่า เมื่อบุคคลถูกถีนมิทธะครอบงำ การงานที่เป็นกุศลของเขาย่อมดำเนินไปได้ยาก เหมือนบุคคลผู้แบกของหนักเดินขึ้นภูเขา ดังนั้น ถีนมิทธะจึงกล่าวได้ว่า เป็นธรรมชาติที่มีความหนัก สร้างความหนักแก่กายและจิต ลหุตาเจตสิกทั้งสองนี้ เป็นความเบาแห่งกาย(เจตสิกขันธ์ 3)และจิตจึงเป็นปฏิปักบ์ต่อถีนมิทธะ หรือต่ออกุศลนามขันธ์ทั้ง 4 ที่ยิ่งด้วยถีนมิทธนั้น

   ท้วงว่า ในที่อื่นท่านกล่าวว่า ความเพียรเป็นปฏิปักษ์ต่อถึนืทธะมิใช่หรือ แล้วเหตุไรในที่นี้ ท่านจึงกล่าวว่า ลหุตาเจตสิกทั้งคู่ คือ กายลหุตาเจตสิก กับ จิตตลหุตาเจตสิกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะเล่า ?

   เฉลยว่า พึงทราบว่า กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาการใดอาการหนึ่งได้ทั้งสิ้น โดยอาการที่มีสภาวะตรงกันข้ามบ้าง โดยอาการที่อบรมให้มีกำลังเป็นอานุภาพแล้วจำกัดเสียได้บ้าง ลหุตาเจตสิกทั้งคู่จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ โดยอาการที่มีสภาวะเป็นตรงกันข้าม ส่วนความเพียรท่านกล่าวหมายเอาความเพียรที่เป็นกุศลเท่านั้น เมื่อบุคคลปรารภความเพียรที่เป็นกุศลดีแล้ว ย่อมเกิดกำลังมีอานุภาพขึ้น ย่อมจำกัดถีนมิทธะที่สร้างความเกียจคร้านได้เป็นอย่างดี แม้วิตกเจตสิก เมื่อมีกำลังถึงความเป็นองค์ฌาน ก็นับว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะนั้นเหมือนกัน มีอานุภาพข่มถึนมิทธะนั้น เพราะเมื่อทำจิตตุปบาทให้คอยจรดอยู่กับอารมณ์เดียวติดต่อกันไปนานๆอย่างนั้น ก็ย่อมเปิดโอกาสครอบงำถีนมิทธะได้ เพราะฉะนั้น ในการกล่าวถึงองค์ฌานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ทั้งหลาย ท่านจึงกล่าวถึงวิตกว่า มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ แม้เกี่ยวกับปัสสัทธิเจตสิกทั้งคู่,ลหุตาเจตสิกทั้งคู่ที่ได้กล่าวไปแล้ว และอีก 4 คู่ ที่จะกล่าวถึงต่อไป ก็พึงทราบว่า ก็มีนัยะเดียวกันแล

   คู่ที่สาม คือ กายมุทุตา, จิตตมุทุตา มี วจนัตถะว่า กายสฺส มุทุภาโว กายมุทุตา,

ตถา จิตฺตมุทุตา แปลว่า ความอ่อนแห่งกาย ชื่อว่า กายมุทุตา, อย่างนั้นเหมือนกัน ความอ่อนแห่งจิตก็ชื่อว่า จิตตมุทุตา

   กายมุทุตา และจิตตมุทุตานั้น มีความเข้าไประงับภาวะที่แข็งกระด้างแห่งกายและจิตเป็นลักษณะ ดังนั้นจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิและมานะที่สร้างความแข็งกระด้างแห่งกายและจิต

   จริงอย่างนั้น บุคคลชื่อว่าเป็นคนแข็งกระด้างก็เพราะถูกทิฏฐิและมานะครอบงำ คือ คนหัวดื้อ คนว่ายาก คนไม่อ่อนน้อม คนไม่ถ่อมตน เช่นเมื่อยึดมั่นความเห็นของตน ก็ย่อมปฏิเสธคำแนะนำชี้แจงของผู้อื่น ยึดมั่นความถือตัวสำคัญว่าตนนั้นดีกว่า

ก็ย่อมไม่เคารพเชื่อฟังผู้อื่น จึงมีสภาวะเป็นปฏิปักษ์ต่อมุทุตาเจตสิกทั้งคู่นั้น คือ เป็นคนอ่อนโยน ไม่หัวดื้อ ว่าง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ก็คำว่า โสวจัสสตา ที่แปลว่าความเป็นคนว่าง่ายก็ดี คำว่า โสรัจจะ ที่แปลว่า ความอ่อนน้อม ก็ดี คำว่า นิวาตะ ที่แปลว่า ความถ่อมตน ก็ดี พระองค์ทรงตรัสหมายเอากุศลนามขันธ์ทั้งหลายที่ยิ่งด้วยมุทุตานั่นเอง

   คู่ที่สี่ คือ กายกัมมัญญตา,จิตตกัมมัญญตา มีวจนัตถะว่า กมฺมนิ สาธุ กมฺมญฺญํ กมฺมญฺญเมว กมฺมญฺญตา, กายสฺส  กมฺมญฺญตา กายกมฺมญฺญตา ตถา จิตฺตกมฺมญฺญตา. แปลว่า ความสำเร็จในการงาน ชื่อว่า กัมมัญญะ กัมมัญญะนั่นแหละ เป็นกัมมัญญตา(คือความสำเร็จในการงาน) ความสำเร็จในการงานแห่งกาย ชื่อว่า กายกัมมัญญตา อย่างนั้นเหมือนกัน ความสำเร็จในการงานแห่งจิต ก็ชื่อว่า จิตตกัมมัญญตา

   การงานในที่นี้ ก็คือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ความสำเร็จ ก็คือ ความเหมาะสมที่ควรต่อบุญกิริยาวัตถุ 10 เพราะอนุโลมต่อความสงบระงับความขัดข้องในการทำบุญกิริยาวัตถุ 10 นั่นเอง

   กายกัมมัญญตา และ จิตตกัมมัญญตา มีความระงับความไม่สำเร็จในการงานแห่งกายและจิตเป็นลักษณะ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะและวิจิกิจฉา พอบุคคลถูกกามฉันทะประเล้าประโลมก็ย่อมทำให้หลงระเริงเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม พอ ถูกวิจิกิจฉาทำให้ไม่ปักใจในทางกุศล ก็ย่อมโลเลอยู่ในทางอกุศลเพราะเพลินดี กามฉันทะและวิจิกืจฉาทำงานเกื้อกันเช่นนี้แหละ บุคคลผู้นั้นจึงกล่าวได้ว่าไม่มี กัมมัญญตาทั้งสอง ซึ่งเจตสิกทั้งคู่นี้ ท่านจึงเปรียบได้กับทองบริสุทธิที่หลอมไวดีแล้ว ก็ควรต่อการที่จะทำให้เป็นเครื่องต่างๆได้แล

   คู่ที่ห้า คือ กายปาคุญญตา, จิตตปาคุญญตา มี  จนัตถะว่า ปคุณสฺส ภาโว ปาคุญฺญํ ตเทว ปาคุญฺญตา. กายสฺส ปาคุญฺญตา กายปาคุญฺญตา.ตถา จิตฺตปาคุญฺญตา. แปลว่า ความเป็นบุคคลผู้คล่องแคล่ว ชื่อว่า ปาคุญญะ ปาคุญญะนั้นนั่นแหละ เป็นปาคุญญตา(คือ ความคล่องแคล่ว ความคล่องแคล่วแห่งกาย ก็ชื่อว่า กายปาคุญญตา. อย่างนั้นเหมือนกัน ความคล่องแคล่วแห่งจิต ก็ชื่อว่า จิตตปาคุญญตา

   กายปาคุญญตา และจิตตปาคุญญตานั้น มีการระงับความป่วยไข้แห่งกายและจิตเป็นลักษณะ ก็ที่ชื่อว่าความป่วยไข้ในที่นี้ได้แก่ ความเกิดขึ้นแห่งกิเลส มีความเป็นผู้หาศรัทธามิได้เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุสร้างความป่วยไข้แก่กายและจิต กล่าวคือ ทำกายและจิตให้ทรามกำลัง ให้อ่อนแรงโดยรอบด้าน จนไม่อาจเข้มแข็งในบุญกิริยาทั้งหลายทั้งปวง

   เปรียบเหมือนว่า เมื่อมีความป่วยไข้เกิดขึ้น บุคคลผู้ถูกความป่วยไข้ครอบงำ ย่อมเป็นบุคคลอ่อนแอทรามกำลังไป ไม่อาจเข้มแข็งในการงานของตนเหมือนในเวลาปกติเป็นฉันใด บุคคลผู้หาศรัทธามิได้ ก็ย่อมอ่อนแอทรามกำลังไปโดยรอบด้าน ไม่สามารถเข้มแข็งในบุญกิริยาทั้งหลายเหมือนในเวลาอื่น ฉันนั้น เหมือนกัน ปาคุญญตาเจตสิกทั้งคู่จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อความไม่มีศรัทธาด้วยประการฉะนี้แล

   คู่ที่หก คือ กายุชุกตา, จิตตุชุกตา มีวจนัตถะว่า กายสฺส อุชุกภาโว กายุชุกตา. ตถา จิตฺตุชุกตา แปลว่า ความฃื่อตรงแห่งกาย ชื่อว่า กายุชุกตา.อย่างนั้นเหมือนกัน ความฃื่อตรงแห่งจิตก็ชื่อว่า จิตตุชุกตา

   กายุชุกตา และจิตตุชุกตานั้น มีความซื่ิอตรงแห่งกายและจิตเป็นลักษณะ ดังนั้นจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อมายา และ สาไถยที่สร้างความคดโกงแก่กายและจิต เป็นความจริงว่า บุคคลเมี่อมีมายาและสาไถยเกิดขึ้นแล้ว ย่อมคดโกง ไม่ซื่อตรง

2)ประเด็นข้อที่สอง

   เมื่อเจตสิกธรรม 6 คู่เกิดขึ้นในจิตใด จิตนั้นย่อมทำจิตตรูปให้ตั้งขึ้น ล้วนเป็นรูปประณีตด้วยอานุภาพแห่งเจตสิกธรรมเหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปกายทั้งสิ้น ย่อมสงบระงับความความกระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย โดยการแผ่ไปแห่งจิตตชรูปอันประณีตนั่นเอง ยิ่งในฌานจิต จิตตชรูปยื่งมีกำลังอานุภาพมาก ออกจากฌาณแล้ว จิตตชรูปที่ประณีตยิ่งก็ยังแผ่ซ่านกระทบรูปกายอยู่ เป็นความสุขที่ยิ่งกว่ากามคุณ ก็ด้วยอานุภาพแห่งเจตสิกธรรม 6 คู่ดังได้กล่าวพรรณนานั่นแล(นิสสยะ อักษรปัลลวะ อักษรสิงหล)


[right-side]

ปกิณกธรรม,ยุคลธรรม,จิตเจตสิก

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.