สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ลักษณะของบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตร
วิสุทธิมรรคยกเอาคาถาจาก องฺ.สตฺตก ๒๓/๓๘ มาอ้างอิง ดังนี้
คำว่า กัลยาณมิตร ได้แก่ มิตรที่ดี อันตั้งอยู่ในฝักฝ่ายของความเจริญ แสวงหา แต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว ถึงพร้อมด้วยคุณอย่างนี้ คือ
ปิโย ครุภาวนีโย วตฺตา จ วจนกฺขโม
คมฺภีรญฺจ กถํ กตุตา โน จฏฺฐาเน นิโยชเย
แปลว่า น่ารัก ๑, น่าเคารพ น่ายกย่อง ๑, เป็นผู้ว่ากล่าว ๑, อดทนต่อการว่ากล่าว ๑, แต่งกถาที่ลึกซึ้งได้ ๑, และไม่ยังสัตว์ทั้งหลายให้ประกอบในฐานะที่ไม่ควร ๑ ดังนี้ เป็นต้น
มหาฎีกาขยายความเพิ่ม ดังนี้
บทว่า เอวมาทิคุณสมนฺนาคตํ ความว่า ถึงพร้อมด้วยคุณทั้งหลาย มีความเป็นคนน่ารัก เป็นต้น จริงอยู่ ชื่อว่า กัลยาณมิตร ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา, ถึงพร้อม ด้วยศีล, ถึงพร้อมด้วยสุตะ, ถึงพร้อมด้วยจาคะ ถึงพร้อมด้วยวิริยะ, ถึงพร้อมด้วยสติ ถึงพร้อมด้วยสมาธิ, ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ในบรรดาคุณเหล่านั้น เพราะศรัทธาสมบัติ ท่านจึงเชื่อความตรัสรู้ของตถาคต ทั้งกรรมและผลของกรรมด้วย เพราะเหตุนั้น จึงไม่สละความเป็นผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้เองโดยชอบ (ท่านกล่าวถึงกัลยาณมิตร โดยมี พระพุทธเจ้า เป็นประธาน)
เพราะศีลสมบัติ ท่านจึงเป็นคนน่ารักสำหรับสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้น่าเคารพ น่ายกย่อง, เป็นผู้โจทก์ คือ ติเตียนบาป, เป็นผู้ว่ากล่าว, อดทนต่อการว่ากล่าว
เพราะสุตสมบัติ ท่านจึงเป็นผู้แต่งกถาที่ลึกซึ้ง ที่เกี่ยวกับสัจจะและปฏิจจสมุปบาทได้
เพราะจาคสมบัติ ท่านจึงเป็นคนมักน้อย สันโดษ ชอบสงบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่
เพราะวิริยสมบัติ ท่านจึงเป็นผู้ปรารภความเพียรในการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น
เพราะสติสมบัติ ท่านจึงเป็นผู้มีสติตั้งมั่น
เพราะสมาธิสมบัติ ท่านจึงเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตตั้งมัน
เพราะปัญญาสมบัติ ท่านจึงรู้ชัดได้ ไม่ผิดพลาด
ท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้น เมื่อใช้สติแสวงหาอยู่โดยชอบซึ่งคติแห่งธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งหลาย ก็ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยปัญญา มีจิตถึงความมีอารมณ์เดียวในสิ่งที่รู้แล้วนั้น ด้วยสมาธิ, ห้ามสัตว์ทั้งหลายไว้จากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแล้ว ให้ประกอบ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ด้วยวิริยะ เพราะเหตุนั้น ท่านอาจารย์ จึงกล่าวคำว่า “ถึง พร้อมด้วยคุณ เป็นต้น อย่างนี้ คือ น่ารัก ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น” ดังนี้
วิสุทธิมรรค
อันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเอง ทรงเป็นกัลยาณมิตร ผู้ถึงพร้อมโดยอาการทั้งปวง เพราะมีพระดำรัสตรัสไว้ ว่า “มมญฺหิ อานนฺท กลยาณมิตฺตํ อาคมฺม ฯเปฯ ชาติยา ปริมุจฺจนฺติ - ดูก่อน อานนท์ เป็นความจริงว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็น ธรรมดา อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว จึงหลุดพ้นจากความเกิดได้ "(ส.ส. ๑๕/๑๒๑) ดังนี้ เป็นต้น เพราะ เหตุนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังมีอยู่ (ยังทรงพระชนม์อยู่) กรรมฐานที่ภิกษุถือเอา ในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นแหละ จัดเป็นอันถือเอาได้ดีแล้ว แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคนั้น ทรงปรินิพพานไปแล้ว พระสาวกรูปใด ในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ ดำรงอยู่ การที่เธอถือเอากรรมฐานในสำนักของท่านเหล่านั้น ย่อมควร แม้เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มี ภิกษุเป็นผู้ใคร่ถือเอากรรมฐานข้อใด เธอควรถือเอาในสำนักของพระขีณาสพ ผู้ยังฌาน ๔ ฌาณ ๕ ให้บังเกิดขึ้น ด้วยอำนาจความเป็นไปแห่งกรรมฐานข้อนั้นนั่นแหละ เจริญวิปัสสนา อันมีฌานเป็นปทัฏฐาน บรรลุถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเกิด
ถามว่า ก็พระขีณาสพจะประกาศตนว่า “เราเป็นพระขีณาสพ" หรือ ?
ตอบว่า จะต้องพูดอะไรกันเล่า ก็ท่านรู้ความเป็นการกบุคคล (ความเป็นบุคคลผู้ทำจริง) แล้วก็ย่อมประกาศ พระอัสสกุตตเถระทราบว่า “ภิกษุรูปนี้ มีกรรมฐานอันปรารภแล้ว ผู้นี้เป็นการกบุคคล” ดังนี้แล้ว จึงปูท่อนหนังในอากาศ แล้วนั่งคู่บัลลังก์บนท่อนหนังนั้น บอกกรรมฐานให้มิใช่หรือ
เพราะเหตุนั้น ถ้าหากว่า ได้พระขีณาสพแล้วไซร้ การได้อย่างนี้นี่เป็นการดี หากว่าไม่ได้ ก็ควรถือเอาในสำนักของพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ปุถุชนผู้ได้ฌาน ท่านผู้ทรง ๓ ปิฎก, ทรง ๒ ปิฎก และทรงปิฎกเดี่ยว ลดหลั่นกันไป แม้ท่านผู้ทรง ปิฎกเดียวไม่มี ก็ควรถือเอาในสำนักของท่านผู้มีแม้สังคีติเดียวคล่องแคล่ว พร้อมด้วย อรรถกถา และตัวท่านเองก็เป็นลัชชีด้วย เพราะว่า ท่านผู้เป็นเช่นนี้ จะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่ง แบบแผน เป็นผู้ตามรักษาวงศ์ รักษาประเพณี เป็นอาจารย์เป็นผู้ถือมติของอาจารย์เท่านั้น ไม่ถือเอามติของตน เพราะเหตุนั้นนั่นเอง พระเถระชาวโบราณทั้งหลาย จึงกล่าวถึง ๓ ครั้งว่า “ลัชชีจักรักษา, ลัชชีจักรักษา, ลัชชีจักรักษา” ดังนี้
มหาฏีกา
ก็ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะแสดงถึงกัลยาณมิตรผู้ถึงความสูงส่งอย่างยิ่งนั้น จึงกล่าว คำว่า อาศัยเรา (เป็นกัลยาณมิตร) ดังนี้ เป็นต้น
พระขีณาสพทราบความเป็นบุคคลผู้กระทำโยคกรรมจริง ย่อมประกาศตนเพื่อให้ (ภิกษุ) มีความอุตสาหะ และเพื่อให้มีความบันเทิง โดยการแสดงถึงความที่ข้อปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ อธิบายว่า “เพื่อเป็นการรักษาแบบแผนเอาไว้ (มิให้ขาดสาย) ก็บอกได้มิใช่ หรือ?”
คำว่า ท่านผู้เป็นเช่นนี้ ได้แก่ ท่านผู้พหูสูต เป็นผู้เชี่ยวชาญ
คำว่า เป็นผู้ตามรักษาวงศ์ คือ เป็นผู้ตามรักษาวงศ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอนุพุทธเจ้า
คำว่า รักษาประเพณี คือเป็นผู้ตามรักษาการเรียนต่ออาจารย์ ตามประเพณี
คำว่า เป็นผู้ถือมติของอาจารย์ คือ เป็นผู้ประกอบในมติของอาจารย์ โดยไม่ละเลยมติของอาจารย์นั้น
ชื่อว่า ไม่ถือเอามติของตน ก็เพราะอรรถว่า ไม่ประกาศ คือไม่กล่าวมติของตน ความว่า ไม่ยกมติของตนขึ้นกล่าว
วิสุทธิมรรค
ก็ในเรื่องบอกกรรมฐานนี้ พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระขีณาสพ เป็นต้น ที่กล่าว ในตอนก่อน ย่อมบอกได้แต่ทางที่ท่านเองบรรลุเท่านั้น แต่ภิกษุผู้พหูสูต เพราะความที่เธอเข้าไปหาอาจารย์นั้นๆ แล้วชำระอุคคหะ (บาลี) และปริปุจฉา (อรรถกถา) ให้หมดจด กำหนดสูตรและการณะจากสูตรนั้น สูตรนี้แล้ว ประกอบให้เป็นสัปปายะน้อยใหญ่แล้ว จักบอกกรรมฐาน แสดงไว้เป็นทางกว้างใหญ่ เหมือนช้างใหญ่เดินไปในที่รก นักแสดง ทางกว้างใหญ่เอาไว้ ฉะนั้น
มหาฎีกา
เพื่อแสดงว่า ภิกษุผู้พหูสูต ยังดีกว่าพระขีณาสพบางท่าน ในการให้กรรมฐาน ท่านอาจารย์ จึงเริ่มคำว่า พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระขีณาสพ เป็นต้น ที่กล่าวใน ตอนก่อน ดังนี้ เป็นต้นไว้
ในคำเหล่านั้น คำว่า พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระขีณาสพ เป็นต้น ที่กล่าวในตอนก่อน ได้แก่ พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระขีณาสพ เป็นต้น ที่กล่าวไว้ด้วยคำว่า “(แม้เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มี) ภิกษุเป็นผู้ใคร่ถือเอากรรมฐานข้อใด” ดังนี้ เป็นต้น
คำว่า “เพราะความที่เธอ... แล้วชำระอุคคหะและปริปุจฉาให้หมดจด” ความ ว่า เพราะความที่เธอชำระพระบาลีอันมีอุปการะต่อกรรมฐาน ที่ได้ชื่อแล้วว่า “อุคคหะ เพราะเป็นบทที่ต้องเรียน และชำระอรรถสังวรรณา (อรรถกถา) ที่ได้ชื่อแล้วว่า “ปริปุจฉา"
เพราะเป็นเครื่องใช้สอบถามถึงความหมายแห่งพระบาลีนั้น ได้โดยวิเศษ คือ เพราะความ ที่เธอทำไม่ให้ปิดบัง ไม่ให้ยุ่งเหยิงได้ แล้วจึงถือเอา
ชื่อว่า กำหนดสูตร และการณะจากสูตรนั้นสูตรนี้ คือ เข้าไปกำหนดเป็นอย่างดีถึงบทแห่งพระสูตรที่สมควรต่อกรรมฐานนั้นๆ จากสูตรนั้นสูตรนี้ในนิกายทั้ง ๕ และยุตติ (คำอธิบายที่ชอบด้วยเหตุผล) อันคล้อยตามสูตรนั้น
คำว่า ประกอบให้เป็นสัปปายะน้อยใหญ่ ความว่า ประกอบหรือว่าถือเอา (สูตรหรือการณะนั้น) ให้เป็นเครื่องอุปการะใหญ่น้อย แก่ภิกษุที่ท่านจะบอกกรรมฐาน โดยการแสวงหาคำอธิบายที่ชอบด้วยเหตุผลให้ ความว่า ตั้งเข้าไว้ในใจโดยชอบนั่นเอง
คำว่า แสดงไว้เป็นทางกว้างใหญ่ คือ ทำกรรมฐานวิธี แสดงให้เป็นทางกว้าง ใหญ่
------------///------------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ