ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,838)


ยโว - 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

..............

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ -

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง 

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้ 

..............

“ยโว” = ข้าวเหนียว

อ่านว่า ยะ-โว รากศัพท์มาจาก ยุ (ธาตุ = เจือปน, ผสม) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ยุ > โย > ยว)

: ยุ > โย > ยว + อ = ยว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวอันเขาผสม” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ยว” ว่า ข้าวเหนียว, ข้าวบาเล่ย์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยว” ว่า corn [in general], barley [in particular] (ข้าว [โดยทั่ว ๆ ไป], ข้าวเหนียว [โดยเฉพาะ]) 

บาลี “ยว” สันสกฤตก็เป็น “ยว”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ยว : (คำนาม) ประเวฏ, กุลมาษ, หรือข้าวบาร์ลีย์; ความเร็ว, ฝีเท้า; barley; speed, velocity.”

“ยว” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ยโว”

ขยายความ :

คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559, หจก.ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์ กรุงเทพฯ น.182 (คาถา 450) แปลขยายความว่า “ยโว = ข้าวบาเลย์ (ข้าวฟ่างอินเดีย)” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่คำว่า “ธัญชาติ” บอกไว้ว่า -

“ธัญชาติ : (คำนาม) คํารวมเรียกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี, ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่ามี ๗ อย่าง คือ ๑. ข้าวไม่มีแกลบ ๒. ข้าวเปลือก ๓. หญ้ากับแก้ ๔. ข้าวละมาน ๕. ลูกเดือย ๖. ข้าวแดง ๗. ข้าวฟ่าง.” (ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ เหลือเพียง “คํารวมเรียกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี.”)

ในรายชื่อธัญชาติ 7 อย่าง ไม่มี “ข้าวเหนียว” แต่เมื่อจับคู่เปรียบเทียบกันแล้ว จะเป็นดังนี้ -

๑. ข้าวไม่มีแกลบ = (1) สาลิ = ข้าวสาลี

๒. ข้าวเปลือก = (2) วีหิ = ข้าวเจ้า

๓. หญ้ากับแก้ = (7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้ 

๔. ข้าวละมาน = (4) โคธุโม = ข้าวละมาน

๕. ลูกเดือย = (6) วรโก = ลูกเดือย

๖. ข้าวแดง = (3) ยโว = ข้าวเหนียว

๗. ข้าวฟ่าง = (5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง 

เป็นอันว่า “ข้าวแดง” ก็คือ “ข้าวเหนียว” > ยโว นั่นเอง

อาจสรุปได้ว่า พจนานุกรมทุกฉบับแปล “ยว” (ยโว) ว่า “ข้าวเหนียว” ตรงกัน และแปลเป็นอังกฤษตรงกันว่า barley

แถม :

ตามที่เข้าใจกันทั่วไป “ข้าวเหนียว” เป็นข้าวที่คู่กับ “ข้าวเจ้า” ถ้าเอาอาหารของคนภาคกลางเป็นเกณฑ์ “ข้าวเจ้า” กินอย่างของคาว “ข้าวเหนียว” กินอย่างของหวาน

“ข้าวเจ้า” และ “ข้าวเหนียว” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -

(1) ข้าวเจ้า : (คำนาม) ชื่อข้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Oryza sativa L. เนื้อเมล็ดใสใช้หุงเป็นอาหาร เมื่อหุงแล้วเมล็ดมักร่วนและสวย มีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวมันปู. (ไทใหญ่ เจ้า ว่า เปราะ, ร่วน, ไม่เหนียว; ไทขาว เจ้า ว่า หุง).

(2) ข้าวเหนียว : (คำนาม) ชื่อข้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Oryza sativa L. เนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน มีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวดํา, ข้าวเหนียวที่เอามากวนกับกะทิและนํ้าตาลทราย เรียกว่า ข้าวเหนียวแก้ว, ถ้าเอามากวนกับกะทิและนํ้าตาลหม้อมีสีแดงเป็นสีนํ้าตาลไหม้ เรียกว่า ข้าวเหนียวแดง, ถ้าเอามานึ่งใส่หน้ากะทิตัดเป็นชิ้น ๆ เรียกว่า ข้าวเหนียวตัด, ถ้าเอามาห่อแล้วนึ่งใส่หน้ากะทิ เรียกว่า ข้าวเหนียวห่อ; เรียกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่มและเหนียวอย่างข้าวเหนียว เช่น สาเกข้าวเหนียว มะตาดข้าวเหนียว.

..............

ดูก่อนภราดา!

: คนไม่ได้เลวหรือประเสริฐเพราะกินอะไร

: แต่เลวหรือประเสริฐเพราะทำอะไร

[full-post]

ภาษาธรรม,ยโว,ธัญชาติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.