ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,846)


วิริยสัมโพชฌงค์ - 1 ในโพชฌงค์ 7

อ่านว่า วิ-ริ-ยะ-สำ-โพด-ชง

ประกอบด้วยคำว่า วิริย + สัมโพชฌงค์

(๑) “วิริย” 

อ่านว่า วิ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก -

(1) วีร (ผู้กล้า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, รัสสะ อี ที่ วี เป็น อิ และแปลง อะ ที่ ร เป็น อิ (วีร > วิร > วิริ) 

: วีร + ณฺย = วีรณฺย > วีรย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความดีในคนกล้า” (2) “ภาวะหรือการกระทำของคนกล้า”

(2) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิธิ” = วิธี) + อิรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อะ ที่ (อิ)-รฺ เป็น อิ (อิรฺ > อิริ) 

: วิ + อิรฺ = วิรฺ + ณฺย = วิรณฺย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พึงให้เป็นไปตามวิธี” 

“วิริย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง “สถานะแห่งบุรุษที่แข็งแรง”, คือ วิริยะ, อุตสาหะ, ความเพียร, ความพยายาม (“state of a strong man”, i. e. vigour, energy, effort, exertion) 

บาลี “วิริย” สันสกฤตเป็น “วีรฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วีรฺย : (คำนาม) พล, ศักย์ (หรือพลศักย์=แรง, กำลัง); มหิมัน, สูงศักติ์หรือตำแหน่งอันสูง, ‘ยศศักติ์’ ก็ใช้ ตามมติไท; ผล; ความเพียร, ความอดทนหรือทนทาน, ความมั่นในการผะเชิญภัย; น้ำกามของบุรุษ; โศภา; ความกล้า; พืช; strength, power; dignity, elevation in rang, or right office; consequence; fortitude, mental power of endurance, firmness in meeting danger; semen virile; splendour; heroism, or valour; seed.”

บาลี “วิริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิริยะ” ตามบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“วิริยะ : (คำนาม) ความเพียร, ความบากบั่น, มักใช้เข้าคู่กับคำ อุตสาหะ เป็น วิริยอุตสาหะ; ความกล้า; วิริยภาพ ก็ใช้. (ป.; ส. วีรฺย).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “วิริยะ” ไว้ว่า -

..............

วิริยะ : ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔, ข้อ ๒ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๒ ในพละ ๕, ข้อ ๓ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๕ ในบารมี ๑๐)

..............

(๒) “สัมโพชฌงค์”

อ่านว่า สำ-โพด-ชง เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโพชฺฌงฺค” อ่านว่า สำ-โพด-ชัง-คะ แยกศัพท์เป็น สมฺโพชฺฌ + องฺค 

(ก) “สมฺโพชฺฌ” อ่านว่า สำ-โพด-ชะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + พุธฺ (ธาตุ = รู้, ตื่น, เบ่งบาน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ธ ที่ (พุ)-ธฺ กับ ย เป็น ชฺฌ, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)

: สํ + พุธฺ = สํพุธฺ + ณฺย = สํพุธณฺย > สํพุธฺย > สมฺพุธฺย > สมฺพุชฺฌ > สมฺโพชฺฌ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อม” “เครื่องรู้พร้อม” หมายถึง ปัญญาเครื่องตรัสรู้, การตรัสรู้, การบรรลุธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพชฺฌ” ว่า a matter to be known or understood, subject of knowledge or understanding (เรื่องที่จะต้องรู้หรือต้องเข้าใจ, ธรรมอันเป็นที่รู้หรือเข้าใจ)

(ข) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”

“องฺค” ในบาลีหมายถึง -

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

สมฺโพชฺฌ + องฺค = สมฺโพชฺฌงฺค > สัมโพชฌงค์ แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อม” (คือเมื่อปฏิบัติตามแล้วสามารถตรัสรู้ได้) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺโพชฺฌงฺค” ว่า constituent of Sambodhi (enlightenment), of which there are seven (องค์แห่งสัมโพธิ [การตรัสรู้พร้อม] ซึ่งมี 7 อย่าง) 

วิริย + สมฺโพชฺฌงฺค = วิริยสมฺโพชฺฌงฺค (วิ-ริ-ยะ-สำ-โพด-ชัง-คะ) > วิริยสัมโพชฌงค์ (วิ-ริ-ยะ-สำ-โพด-ชง) แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อมคือความเพียร”

ขยายความ :

คำว่า “โพชฌงค์” เมื่อนำเอาชื่อธรรมแต่ละข้อมาเรียกรวมกัน นิยมใช้เป็น “สัมโพชฌงค์” โดยมีชื่อธรรมข้อนั้นๆ นำหน้า เช่นในที่นี้คือ “วิริย” ชื่อข้อธรรมเต็มๆ ก็จะเป็น “วิริยสัมโพชฌงค์” 

“วิริยสัมโพชฌงค์” เป็นโพชฌงค์ข้อที่ 3 ในโพชฌงค์ 7

เมื่ออธิบายความหมายของธรรมหมวดนี้ คำหลักก็คือคำว่า “โพชฌงค์”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -

“โพชฌงค์ : ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ ข้อ คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“โพชฌงค์ : (คำนาม) องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ; ชื่อพระปริตรที่พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟัง เรียกว่า สวดโพชฌงค์. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [281] แสดงความหมายของ “โพชฌงค์” ไว้ดังนี้ -

(ภาษาอังกฤษในวงเล็บ [] เป็นคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบ)

..............

โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — Bojjhaŋga: enlightenment factors) [a factor or constituent of knowledge or wisdom]

..............

และแสดงความหมายของ “วิริยะ” ในโพชฌงค์ 7 ไว้ดังนี้ -

..............

3. วิริยะ (ความเพียร — Viriya: effort; energy)

..............

คำที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “วิริยะ” อีก 2 คำ คือ “วายามะ” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้พยายาม” และ “ปธาน” (บาลีอ่านว่า ปะ-ทา-นะ ภาษาไทยอ่านว่า ปะ-ทาน) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเหตุให้เริ่มต้นทำ”

“วิริยะ “วายามะ” และ “ปธาน” เรียกเป็นคำไทยว่า “ความเพียร”

จะใช้ “ความเพียร” ไปเพื่อการอันใดบ้าง ท่านวางหลักไว้ดังนี้ -

..............

1. สังวรปธาน เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น (the effort to prevent; effort to avoid)

2. ปหานปธาน เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (the effort to abandon; effort to overcome)

3. ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น (the effort to develop)

4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ (the effort to maintain)

ที่มา: อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกล่ม 21 ข้อ 69

(ภาษาไทยและภาษาอังกฤษจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [156])

..............

แถม :

การที่นิยมให้พระสงฆ์สวด “โพชฌงค์” ให้คนเจ็บหนักฟังก็เพราะโพชฌังคสูตรในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องราวไว้ว่า บางสมัย พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกบางองค์อาพาธ เมื่อได้สดับการสวดโพชฌงค์ อาพาธหรือการเจ็บป่วยนั้นก็บรรเทาหายไป จึงเกิดเป็นความนิยมให้พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟังสืบต่อมา

..............

ดูก่อนภราดา!

: ขี้เกียจทำดี เสมอตัว

: ขยันทำชั่ว ขาดทุน

[full-post]

วิริยสัมโพชฌงค์,โพธิปักขิยธรรม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.