อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อสัทธรรมปกาสินี ในขุททกนิกาย (ตอนที่ ๔/๗)
๑๔. อรรถกถาปัจจเวกขณญาณุทเทส
ว่าด้วยปัจจเวกขณญาณ
คำว่า ตทา สมุทาคเต ธมฺเม ปสฺสเน ปญฺญา แปลว่า ปัญญาในการพิจารณาเห็นธรรมที่เข้ามาประชุมในขณะนั้น.
ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องเห็นเพ่งรู้ในธรรมคือมรรคและผลกับทั้งในธรรมคือสัจจะ ๔ ที่เกิดขึ้นในมรรคขณะและผลขณะ คือมาพร้อมแล้ว ถึงพร้อมแล้ว ประชุมกันในกาลนั้น ด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะและด้วยสามารถแห่งการแทงตลอด.
คำว่า ปจฺจเวกฺขเณ ญาณํ - ปัจจเวกขณญาณ ความว่า ญาณเป็นเครื่องหมุนกลับมาเห็นรู้แจ่มแจ้ง.
ก็ปัจจเวกขณญาณ ท่านกล่าวไว้ด้วยญาณทั้ง ๒ นี้.
ก็ในที่สุดแห่งโสดาปัตติผลในมรรควิถี จิตของพระโสดาบันก็ลงภวังค์, ต่อแต่นั้นก็ตัดภวังค์ขาด มโนทวาราวัชชนะก็เกิดขึ้นเพื่อพิจารณามรรค, ครั้นมโนทวาราวัชชนะนั้นดับลงแล้ว ชวนจิตพิจารณามรรคก็เกิดขึ้น ๗ ขณะโดยลำดับฉะนี้แล.
ครั้นแล้วก็ลงสู่ภวังค์อีก อาวัชชนจิตเป็นต้นก็เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาธรรมทั้งหลายมีผลเป็นต้นโดยนัยนั้นเอง. เพราะความเกิดแห่งธรรมเหล่าใดมีผลเป็นต้น พระโสดาบันนั้นก็พิจารณามรรค, ผล, กิเลสที่ละแล้ว, กิเลสที่ยังเหลือ และพระนิพพาน.
ก็พระโสดาบันนั้นพิจารณามรรคว่าเรามาแล้วด้วยมรรคนี้หนอ, ต่อแต่นั้นก็พิจารณาผลว่าอานิสงส์นี้เราได้แล้ว, ต่อแต่นั้นก็พิจารณากิเลสที่ละแล้วว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสเหล่านี้ เราละได้แล้ว, ต่อแต่นั้นก็พิจารณากิเลสที่มรรคเบื้องบนจะพึงประหาณว่า กิเลสเหล่านี้ เรายังเหลืออยู่, ในที่สุดก็พิจารณาอมตนิพพานว่า ธรรมนี้เราได้แล้วโดยความเป็นอารมณ์.
พระอริยสาวกชั้นโสดาบันมีปัจจเวกขณะ ๕ อย่างด้วยประการนี้. ปัจจเวกขณะของพระสทาคามีและพระอนาคามีก็มีเหมือนพระโสดาบัน. แต่ของพระอรหันต์มีปัจจเวกขณะ ๔ อย่างคือ ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่.
รวมปัจจเวกขณญาณทั้งหมดมี ๑๙ ด้วยประการฉะนี้. นี้เป็นการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์.
ถามว่า การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วและที่ยังเหลืออยู่ ยังมีแก่พระเสกขะทั้งหลายหรือไม่?
ตอบว่า เพราะความที่การพิจารณาการละกิเลสนั้นไม่มี. ท้าวมหานามสากยราชจึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมชื่ออะไรเล่าที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้โลกธรรมยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว ดังนี้เป็นต้น.๑-
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๐๙
ในที่นี้ เพื่อจะให้ญาณ ๑๑ มีธรรมฐิติญาณแจ่มแจ้ง พึงทราบอุปมาดังต่อไปนี้
เปรียบเหมือนบุรุษคิดว่าเราจะจับปลา จึงถือเอาสุ่มไปสุ่มลงในน้ำที่คิดว่าควรจะมีปลา แล้วจึงหย่อนมือลงไปทางปากสุ่ม แล้วก็คว้าเอาคองูเห่าที่อยู่ภายในน้ำด้วยสำคัญว่าเป็นปลาไว้แน่น ดีใจคิดว่าเราได้ปลาใหญ่แล้ว ก็ยกขึ้นจึงเห็นก็รู้ว่างู เพราะเห็นดอกจัน ๓ แฉก เกิดกลัว เห็นโทษ เบื่อหน่ายในการจับ ใคร่ที่จะพ้นจึงทำอุบายเพื่อจะหลุดพ้น จึงจับงูให้คลายมือตั้งแต่ปลายหางแล้วชูแขนขึ้นแกว่งไปรอบศีรษะ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ทำงูให้ทุรพลแล้วเหวี่ยงไปพร้อมกับพูดว่า เฮ้ย! ไปเจ้างูร้าย แล้วโดดขึ้นไปยืนบนบกโดยเร็วทีเดียว เกิดร่าเริงใจว่า ท่านผู้เจริญ เราพ้นแล้วจากปากงูใหญ่ แล้วแลดูทางที่ตนมา.
ในข้ออุปมา - การเปรียบเทียบนั้นมีดังต่อไปนี้
การยึดมั่นซึ่งขันธ์ ๕ อันน่ากลัวด้วยสามารถแห่งลักษณะมีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วยินดีด้วยสำคัญว่าเที่ยงด้วยตัณหาอันสัมปยุตด้วยทิฏฐิ (คือ โลภทิฏฐิคตสัมปยุต) ว่า เรา, ของเรา ของพาลปุถุชนตั้งต้นแต่พระโยคีบุคคลนี้ ดุจการจับงูเห่าไว้มั่นด้วยสำคัญว่าเป็นปลา ของบุรุษนั้นฉะนั้น,
การทำลายฆนสัญญาด้วยการกำหนดนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย แล้วเห็นพระไตรลักษณ์มีอนิจจตาเป็นต้นของขันธ์ ๕ ด้วยญาณ มีการพิจารณาโดยความเป็นกลาปแล้วกำหนดขันธ์ ๕ นั้นว่าไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา ดุจดังการนำงูออกจากปากสุ่มแล้วเห็นดอกจัน ๓ แฉกจึงรู้ว่างู ของบุรุษนั้นฉะนั้น,
ภยตูปัฏฐานญาณของพระโยคีบุคคลนี้ เหมือนกับความกลัวของบุรุษนั้นฉะนั้น,
อาทีนวานุปัสสนาญาณ ดุจดังการเห็นโทษในงูฉะนั้น,
นิพพิทานุปัสสนาญาณ ดุจดังการระอาในการจับงูฉะนั้น,
มุญจิตุกัมยตาญาณ ดุจดังการใคร่ที่จะสลัดงูไปเสียให้พ้นฉะนั้น,
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ดุจดังการทำอุบายเพื่อจะสลัดงูไปเสียให้พ้นฉะนั้น,
การพิจารณาอย่างรอบคอบซึ่งสังขารทั้งหลายด้วยสังขารุเปกขาญาณ โดยการยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์แล้วกระทำให้ทุรพลจนไม่สามารถจะปรากฏโดยอาการว่าเที่ยง, เป็นสุขและเป็นอัตตาได้อีก ดุจดังการจับงูขึ้นหมุนไปรอบๆ ในเบื้องบนแห่งศีรษะ กระทำให้ทุรพลจนไม่สามารถจะหวนกลับมากัดได้อีก,
โคตรภูญาณ ดุจดังการสลัดงูทิ้งไปฉะนั้น,
มรรคญาณผลญาณก้าวขึ้นยืนอยู่บนบก คือพระนิพพานดุจดังการที่บุรุษนั้นสลัดงูทิ้งไปแล้วขึ้นไปยืนอยู่บนบกฉะนั้น,
ปัจจเวกขณญาณในธรรมมีมรรคเป็นต้น ดุจดังการแลดูทางที่มาแล้วของบุคคลผู้ร่าเริงฉะนั้น.
ในบรรดาปัจจเวกขณญาณทั้งหลาย พึงทราบว่า กิเลสปัจจเวกขณะ การพิจารณากิเลสเป็นครั้งแรก ต่อแต่นั้นจึงเป็นการพิจารณามรรคผลและนิพพาน เพราะลำดับแห่งเทศนาอันพระโยคีบุคคลกระทำแล้วตามลำดับแห่งการเกิดขึ้นแห่งญาณ ๑๔ เหล่านี้มีสุตมยญาณเป็นต้น และตามลำดับแห่งการปฏิบัติ.
ความที่แห่งกิเลสปัจจเวกขณะ การพิจารณากิเลสตามสมควรแก่การปฏิบัตินั่นแลเป็นเบื้องต้นย่อมควร เพราะท่านกล่าวการปฏิบัติมรรคไว้ เพราะทำการประหาณกิเลสนั่นแหละ ให้เป็นข้อสำคัญว่า พระโยคีบุคคลเจริญโลกุตรฌานอันเป็นนิยานิกธรรมนำออกจากทุกข์ เป็นอปจยคามีเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ก็เพื่อประหาณมิจฉาทิฏฐิ, เพื่อบรรเทากามราคะและพยาบาทให้เบาบางลง, เพื่อละกามราคะและพยาบาทไม่ให้มีส่วนเหลือ เพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชาไม่ให้มีส่วนเหลือ.
แต่ลำดับแห่งการกล่าว๒- ท่านแสดงไว้แล้วในอรรถกถา.
____________________________
๒- คือลำดับแห่งการแสดง ที่ปรากฏในวรรคแรกว่า เทสนกฺกมสฺส กตตฺตา
ก็ลำดับนั้นมี ๕ อย่างคือ ลำดับแห่งการเกิดขึ้น, ลำดับแห่งการประหาณ, ลำดับแห่งการปฏิบัติ, ลำดับแห่งภูมิ, ลำดับแห่งเทศนา.
คำมีอาทิอย่างนี้ว่า
ปฐมํ กลลํ โหติ กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโนติ.
ในสัปดาห์ที่ ๑ เกิดเป็นกลละ
ในสัปดาห์ที่ ๒ จากกลละก็เกิดเป็นอัพพุทะ
ในสัปดาห์ที่ ๓ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ
ในสัปดาห์ที่ ๔ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ๓- ดังนี้
ชื่อว่าลำดับแห่งการเกิด.
____________________________
๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๐๓
ปหาตัพพติกมาติกามีอาทิอย่างนี้ว่า
ทสฺสเนน๔- ปหาตพฺพา ธมฺมา สภาวธรรมทั้งหลายอันโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ,
ภาวนาย๕- ปหาตพฺพา ธมฺมา สภาวธรรมทั้งหลายอันมรรคในเบื้องบน ๓ พึงประหาณ ดังนี้ ชื่อว่า ลำดับแห่งการละ.
____________________________
๔- ทสฺสเนน หมายเอาโสดาปัตติมรรค. อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๙๗๐
๕- ภาวนาย หมายเอาสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตมรรค. อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๙๗๑
คำมีอาทิอย่างนี้ว่า
สีลวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีล,
จิตฺตวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิต (สมาธิ),
ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งทิฏฐิ (ปัญญา),
กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งกังขาวิตรณะ (การข้ามพ้นความสงสัย),
มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งมัคคามัคคญาณทัสนะ (การเห็นด้วยปัญญาว่าใช่ทางและมิใช่ทาง),
ปฏิทาญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งญาณทัสนะในปฏิปทา (การเห็นด้วยปัญญาในข้อปฏิบัติ).
ญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งญาณทัสนะ (เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญา) ดังนี้.
ชื่อว่าลำดับแห่งการปฏิบัติ.
คำมีอาทิอย่างนี้ว่า๖-
สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นกามาวจระ, สภาว-
ธรรมทั้งหลายที่เป็นรูปาวจระ, สภาวธรรมทั้งหลาย
ที่เป็นอรูปาวจระ ดังนี้.
ชื่อว่าลำดับแห่งภูมิ.
____________________________
๖- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๔
คำมีอาทิอย่างนี้ว่า๗-
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘.
หรือคำมีอาทิว่า๘-
แสดงอนุปุพพิกถา คือ ทานกถา, สีลกถา,
สัคคกถา, ประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้า
หมองแห่งกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออก
จากกาม ดังนี้
ชื่อว่าลำดับแห่งการเทศนา.
____________________________
๗- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๔ ๘- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๓๑
แต่ในที่นี้ พึงทราบว่าหมายเอาลำดับ ๓ ประการ คือลำดับแห่งการเกิดขึ้นแห่งญาณ ๑๔, ลำดับแห่งการปฏิบัติ และลำดับแห่งเทศนา เพราะแสดงตามลำดับด้วยสามารถแห่งลำดับทั้ง ๒ นั้น.
๑๕. อรรถกถาวัตถุนานัตตญาณุทเทส
ว่าด้วยวัตถุนานัตตญาณ
นามรูปววัตถานญาณ ท่านยังมิได้กล่าวไว้ ฉะนั้นเพื่อที่จะแสดงประเภทแห่งนามรูป ๕ อย่างในบัดนี้ ท่านจึงยกเอาญาณ ๕ มีคำว่า อชฺฌตฺตววตฺถาเน ปญฺญา วตฺถุนานตฺเต ญาณํ ปัญญาในการกำหนดธรรมภายใน เป็นวัตถุนานัตตญาณ ขึ้นแสดง ณ บัดนี้.
จริงอยู่ ในนามรูปทั้งสิ้นที่ท่านกล่าวแล้ว นามรูปใดอาจที่จะกำหนดได้, และนามรูปใดควรกำหนด, ก็จักกำหนดนามรูปนั้น. ส่วนนามที่เป็นโลกุตระ ไม่อาจที่จะกำหนดได้ เพราะยังไม่บรรลุ และไม่ควรกำหนด เพราะนามที่เป็นโลกุตระไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา.
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อชฺฌตฺตววตฺถาเน - ในการกำหนดธรรมภายใน.
ความว่า ชื่อว่าอัชฌัตตะ เพราะอรรถว่าทำตนให้เป็นอธิการเป็นไปโดยประสงค์นี้ว่า เราเมื่อเป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็จักถึงการยึดมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน.
ก็ศัพท์ว่า อชฺฌตฺต นี้ปรากฏในอรรถ ๔ อย่างคือ โคจรัชฌัตตะ, นิยกัชฌัตตะ, อัชฌัตตัชฌัตตะ, วิสยัชฌัตตะ.
อันอรรถะในโคจรัชฌัตตะนี้ ย่อมปรากฏในบาลีอาคตสถานว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุนั้นตั้งจิตภายในให้มั่นในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล๑- ... และเป็นผู้ยินดีแล้วในธรรมภายใน เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว๒- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๔๗ ๒- ขุ. อ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕
อรรถะในนิยกัชฌัตตะ ย่อมปรากฏในบาลีอาคตสถานว่า มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน๓- หรือภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในอยู่๔- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๘ ๔- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๙๐
อรรถะในอัชฌัตตัชฌัตตะ ย่อมปรากฏในบาลีอาคตสถานว่า อายตนะภายใน ๖#- และสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นภายใน๕- ดังนี้เป็นต้น.
อรรถะในวิสยัชฌัตตะ ย่อมปรากฏในบาลีอาคตสถานว่า ดูก่อนอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้แล้วนี้แล คือตถาคตเข้าสุญญตะภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่๖- ดังนี้เป็นต้น.
อธิบายว่า วิสยัชฌัตตะนี้ย่อมปรากฏในอรรถว่าอิสริยฐานะ.
____________________________
#- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๘๑๑ ๕- อภิ. สํ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑ ๖- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๔๖
จริงอยู่ ผลสมาบัติชื่อว่าเป็นอิสริยฐานะของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. แต่ในที่นี้ พึงเห็นว่าหมายเอาในอรรถว่า อัชฌัตตัชฌัตตะ. ในการกำหนดอัชฌัตตะเหล่านั้น ชื่อว่าอชฺฌตฺตววตฺถาเน - ในการกำหนดอัชฌัตตะ.
คำว่า วตฺถุนานตฺเต ได้แก่ ในความเป็นต่างๆ แห่งวัตถุทั้งหลาย.
อธิบายว่า ในวัตถุต่างๆ.
ในที่นี้ ถึงแม้ภวังคจิตอันเป็นปัจจัยแก่มโนวิญญาณ คือชวนะ ท่านก็เรียกว่าวัตถุ เพราะเป็นฐานที่เกิดขึ้นดุจหมวด ๕ แห่งปสาทะมีจักขุปสาทะเป็นต้นฉะนั้น. แม้อาวัชชนจิตก็พึงทำให้เป็นที่อาศัยของวัตถุนั้นได้เหมือนกัน.
๑๖. อรรถกถาโคจรนานัตตญาณุทเทส
ว่าด้วยโคจรนานัตตญาณ
คำว่า พหิทฺธา - ภายนอก. ความว่า ในอารมณ์แห่งญาณเหล่านั้นอันมีในภายนอก จากธรรมอันเป็นอัชฌัตตัชฌัตตะ ๖.
คำว่า โคจรนานตฺเต - ในความต่างๆ แห่งโคจร ได้แก่ในความต่างๆ แห่งวิสยะคืออารมณ์.
๑๗. อรรถกถาจริยานานัตตญาณุทเทส
ว่าด้วยจริยานานัตตญาณ
คำว่า จริยาววตฺถาเน ในการกำหนดจริยา. ความว่า ในการกำหนดจริยาทั้งหลาย คือวิญญาณจริยา อัญญาณจริยา และญาณจริยา.
อาจารย์บางพวกทำรัสสะเสียบ้าง แล้วสวดว่า จริยววตฺถาเน.
๑๘. อรรถกถาภูมินานัตตญาณุทเทส
ว่าด้วยภูมินานัตตญาณ
คำว่า จตุธมฺมววตฺถาเน - ในการกำหนดธรรม ๔.
ความว่า ในการกำหนดธรรมทั้งหลายอย่างละ ๔ ด้วยสามารถแห่งธรรมทั้งหลาย ๑๔ มีธรรมในกามาวจรภูมิเป็นต้นหมวดละ ๔.
ก็คำว่า ภูมิ - ภาคพื้น ย่อมเป็นไปในอรรถว่าปฐวี - แผ่นดิน ดุจในประโยคว่า เงินทองทั้งที่มีอยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในอากาศ๑- เป็นต้น.
เป็นไปในอรรถว่าวิสัย - สถานที่ ดุจในประโยคว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าซ่องเสพภูมิสถานอันไม่สมควร๒- เป็นต้น.
เป็นไปในอรรถว่าอุปปัชชนัฏฐาน - ที่เป็นที่เกิด ดุจในประโยคว่า กามาวจรจิต อันเป็นที่เกิดแห่งสุขเวทนา๓- เป็นต้น.
แต่ในที่นี้ย่อมเป็นไปในโกฏฐาสะคือส่วน.
อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ย่อมเป็นไปในอรรถว่าปริจเฉทะ แปลว่ากำหนด ก็มี.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๑๓ ๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๘๖๓ ๓- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๖๖๔
๑๙. อรรถกถาธัมมนานัตตญาณุทเทส
ว่าด้วยธัมมนานัตตญาณ
คำว่า นวธมฺมววตฺถาเน - ในการกำหนดธรรม ๙.
ความว่า ในการกำหนดธรรมทั้งหลายอย่างละ ๙ ด้วยสามารถแห่งกามาวจรกุศลจิต, ด้วยสามารถแห่งจิตมีความปราโมทย์เป็นมูล, และด้วยสามารถแห่งจิตมีมนสิการเป็นมูล.
ก็บรรดาญาณทั้ง ๕ เหล่านี้ อัชฌัตตธรรมเป็นธรรมอันพระโยคีบุคคลพึงกำหนดก่อน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าววัตถุนานัตตญาณ ญาณในความต่างๆ แห่งวัตถุไว้เป็นที่ ๑.
จากนั้นก็พึงกำหนดอารมณ์แห่งนานัตตธรรมเหล่านั้น ฉะนั้นในลำดับต่อจากนั้นวัตถุนานัตตญาณนั้น ท่านจึงกล่าวโคจรนานัตตญาณ คือญาณในความต่างกันแห่งอารมณ์, ญาณอีก ๓ อื่นจากนั้น ท่านกล่าวโดยอนุโลมการนับด้วยสามารถแห่งธรรม ๓, ๔ และ ๙.
๒๐. อรรถกถาญาตัฏฐญาณุทเทส
ว่าด้วยญาตัฏฐญาณ
บัดนี้ ปริญญา ๓ คือ การกำหนดรู้นามรูปโดยประเภทนั้นแลเป็นญาตปริญญา, ต่อจากนั้นก็เป็นตีรณปริญญา, ในลำดับต่อไปก็เป็นปหานปริญญา และภาวนาการเจริญและสัจฉิกิริยาการทำให้แจ้ง ก็ย่อมมีเพราะเนื่องด้วยปริญญา ๓ นั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงยกเอาญาณทั้ง ๕ มีญาตัฏฐญาณเป็นต้นขึ้นแสดงต่อจากธัมมนานัตตญาณ.
ก็ปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา, ตีรณปริญญาและปหานปริญญา.
ในปริญญาทั้ง ๓ นั้นดังนี้
ปัญญาอันเป็นไปในการกำหนดลักษณะโดยเฉพาะๆ แห่งสภาวธรรมเหล่านั้นๆ อย่างนี้ว่า รูปมีการแตกดับไปเป็นลักษณะ, เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ ชื่อว่าญาตปริญญา.
วิปัสสนาปัญญาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ ยกสามัญลักษณะแห่งสภาวธรรมเหล่านั้นๆ ขึ้นเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า รูปํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, เวทนา อนิจฺจา ทุกฺขา อนตฺตา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาดังนี้ ชื่อว่าตีรณปริญญา.
ก็วิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ เป็นไปด้วยสามารถแห่งการละวิปลาสทั้งหลาย มีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้น ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้นั่นแล ชื่อว่าปหานปริญญา.
บรรดาปริญญาทั้ง ๓ นั้น ตั้งต้นแต่สังขารปริจเฉทญาณ ญาณในการกำหนดสังขารธรรม จนถึงปัจจยปริคคหญาณ ญาณในการกำหนดสังขารธรรมโดยความเป็นปัจจัย เป็นภูมิของญาตปริญญา. เพราะในระหว่างนี้ ความเป็นอธิบดีย่อมมีแก่พระโยคีบุคคลผู้แทงตลอดลักษณะโดยเฉพาะๆ ของสภาวธรรมทั้งหลายได้.
ตั้งแต่กลาปสัมมสนญาณ ญาณในการพิจารณาสังขารธรรมโดยกลาป จนถึงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณในการเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งการเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม เพราะในระหว่างนี้ ความเป็นอธิบดีย่อมมีแก่พระโยคีบุคคลผู้แทงตลอดสามัญลักษณะได้.
ตั้งต้นแต่ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณในการเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับไปแห่งสังขารธรรมขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา. เพราะจำเดิมแต่นั้นไป ความเป็นอธิบดีย่อมมีแก่อนุปัสสนา ๗ อันจะให้สำเร็จการละวิปลาสมีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้นได้อย่างนี้
คือ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ย่อมละนิจสัญญาวิปลาสได้, เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ก็ละสุขสัญญาวิปลาสได้, เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ก็ละอัตตสัญญาวิปลาสได้, เมื่อเบื่อหน่ายก็ละความเพลิดเพลินได้, เมื่อคลายกำหนัดก็ละราคะได้, เมื่อให้ดับก็ละสมุทัยได้, เมื่อสละคืนก็ละความถือมั่นเสียได้๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๑๒
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อภิญฺญาปญฺญา ได้แก่ ปัญญาเป็นเครื่องรู้ตามสภาวะมีรุปปนลักษณะ คือรูปมีอันแตกดับไปเป็นลักษณะเป็นต้นแห่งสภาวธรรมทั้งหลาย.
จริงอยู่ ปัญญานั้น ท่านเรียกว่าอภิญญา เพราะอธิบายด้วยอภิศัพท์มีอรรถว่างามดังนี้ คือการรู้งามด้วยสามารถแห่งการรู้สภาวะของธรรมเหล่านั้นๆ.
คำว่า ญาตฏเฐ ญาณํ - ญาณในอรรถว่ารู้ ได้แก่ญาณอันมีความรู้เป็นสภาวะ.
๒๑. อรรถกถาตีรณัฏฐญาณุทเทส
ว่าด้วยตีรณัฏฐญาณ
คำว่า ปริญฺญาปญฺญา - ได้แก่ ปัญญาเป็นเครื่องรู้.
จริงอยู่ ปัญญานั้น ท่านเรียกว่าปริญญา เพราะอธิบายด้วยปริศัพท์ มีอรรถว่าซึมซาบไปรอบ ดังนี้คือ ความรู้ที่ซึมซาบไปด้วยสามารถแห่งสามัญลักษณะมีอนิจลักษณะเป็นต้น หรือด้วยสามารถแห่งการเข้าถึงกิจของตน.
คำว่า ตีรณฏเฐ ญาณํ - ญาณในอรรถว่าใคร่ครวญ ได้แก่ ญาณมีการเข้าไปใคร่ครวญเป็นสภาวะ หรือมีการพิจารณาเป็นสภาวะ.
๒๒. อรรถกถาปริจจาคัฏฐญาณุทเทส
ว่าด้วยปริจจาคัฏฐญาณ
คำว่า ปหาเน ปญฺญา - ปัญญาในการละ.
ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องละวิปลาสทั้งหลายมีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้น, หรือธรรมชาติใดย่อมละนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้นได้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าปชหนาปัญญา.
อีกอย่างหนึ่ง พระโยคีบุคคลย่อมละนิจสัญญาวิปลาสได้ด้วยญาณนั้น ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่า ปหานํ ญาณํ - ญาณเป็นเครื่องละนิจสัญญาวิปลาส,
คำว่า ปริจฺจาคฏฺเฐ ญาณํ - ญาณในอรรถว่าสละ ได้แก่ ญาณมีการสละนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้นเป็นสภาวะ.
๒๓. อรรถกถาเอกรสัฏฐญาณุทเทส
ว่าด้วยเอกรสัฏฐญาณ
คำว่า ภาวนาปญฺญา - ปัญญาเป็นเครื่องอบรม ได้แก่ปัญญาเป็นเครื่องเจริญ.
คำว่า เอกรสฏฺเฐ ญาณํ - ญาณในอรรถว่ามีรสเดียว ได้แก่ญาณมีกิจอันเดียวเป็นสภาวะ, หรือญาณมีรสอันเป็นสภาวะ คือวิมุตติ.
๒๔. อรรถกถาผัสสนัฏฐญาณุทเทส
ว่าด้วยผัสสนัฏฐญาณ
คำว่า สจฺฉิกิริยาปญฺญา - ปัญญาเป็นเครื่องกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ได้แก่ปัญญาเป็นเครื่องกระทำพระนิพพานให้ประจักษ์ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอด หรือด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะ.
คำว่า ผสฺสนฏฺเฐ ญาณํ ได้แก่ ญาณมีการได้ซึ่งพระนิพพานเป็นสภาวะ ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดและการได้เฉพาะทั้ง ๒ นั้นนั่นแล.
๒๕-๒๘. อรรถกถาอรรถปฏิสัมภิทาธรรมปฏิสัมภิทา
นิรุตติปฏิสัมภิทาปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณุทเทส
ว่าด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔
บัดนี้ ญาณในการละ ในการเจริญและในการกระทำพระนิพพานให้แจ้งย่อมประกอบด้วยอริยมรรคอริยผล ฉะนั้น ท่านจึงยกเอาปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อันพระอริยบุคคลนั่นแหละจะต้องได้ ขึ้นแสดงต่อจากผัสสนญาณนั้น.
แม้ในปฎิสัมภิทา ๔ นั้น อรรถะคือผลธรรมอันเกิดแต่ปัจจัย ย่อมปรากฏดุจทุกขสัจจะ และเป็นธรรมอันใครๆ จะพึงรู้ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ท่านจึงยกอรรถปฏิสัมภิทาญาณ ขึ้นแสดงก่อน, ต่อแต่นั้นก็ยกธรรมปฏิสัมภิทาญาณขึ้นแสดง เพราะอรรถะนั้นเป็นวิสัยแห่งธรรมอันเป็นเหตุ, ต่อแต่นั้นจึงยกเอานิรุตติปฎิสัมภิทาญาณ เพราะอรรถะและธรรมทั้ง ๒ นั้นเป็นวิสัยแห่งนิรุตติ, และต่อจากนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณนั้น ท่านก็ยกเอาปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณขึ้นแสดง เพราะเป็นไปในญาณแม้ทั้ง ๓ เหล่านั้น.
แต่อาจารย์บางพวกทำทีฆะ ปอักษรแล้วสวดก็มี.
๒๙-๓๑. อรรถกถาวิหารัฏฐสมาปัตตัฏฐญาณุทเทส
ว่าด้วยวิหารัฏฐญาณและสมาปัตตัฏฐญาณ
ญาณทั้งหลายอื่นจากนี้ ๓ ญาณมีวิหารัฏฐญาณเป็นต้น ท่านยกขึ้นแสดงต่อจากปฏิสัมภิทาญาณ เพราะเกิดแก่พระอริยบุคคลเท่านั้น และเพราะเป็นประเภทแห่งปฏิสัมภิทา.
จริงอยู่ วิหารัฏฐญาณเป็นธรรมปฏิสัมภิทา, สมาปัตตัฏฐญาณเป็นอรรถปฏิสัมภิทา.
แท้จริง ญาณในสภาวธรรม ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทากถาว่า๑- ธรรมปฏิสัมภิทา.
ส่วนญาณในนิพพานเป็นอรรถปฏิสัมภิทานั่นแหละ.
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๐๓
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า วิหารนานตฺเต - ในความต่างแห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่.
ความว่า ในธรรมเป็นเครื่องอยู่คือวิปัสสนาต่างๆ ด้วยสามารถแห่งอนิจจานุปัสนาเป็นต้น.
คำว่า วิหารฏฺเฐ - ในอรรถว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่ ได้แก่ในธรรมเป็นเครื่องอยู่คือมีวิปัสสนาเป็นสภาวะ.
คำว่า วิหาโร ได้แก่ วิปัสสนาพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั่นเอง.๒-
คำว่า สมาปตฺตินานตฺเต - ในความต่างแห่งสมาบัติ.
ความว่า ในผลสมาบัติ ด้วยสามารถแห่งอนิมิตตนิพพานเป็นต้น.
คำว่า สมาปตฺติ - สมาบัติ ได้แก่ จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายอันเป็นโลกุตรผล.
คำว่า วิหารสมาปตฺตินานตฺเต ในวิหารธรรมและความต่างแห่งสมาบัติ ท่านกล่าวแล้วด้วยสามารถแห่งญาณทั้ง ๒.
____________________________
๒- สัมปยุตธรรม ได้แก่ มหากุสลญาณสัมปยุตจิต ๔ เจตสิก ๓๕ (เว้นอัปปมัญญา ๒ เพราะในขณะวิปัสสนาเกิด ไม่มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์, และปัญญาเจตสิกอีก ๑ เพราะปัญญาเป็นตัววิปัสสนา).
๓๒. อรรถกถาอานันตริกสมาธิญาณุทเทส
ว่าด้วยอานันตริกสมาธิญาณ
ญาณทั้ง ๒#- นั้นแลอันพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรผู้ประสงค์จะกล่าวโดยประการอื่นอีกให้พิเศษด้วยเหตุอันแสดงถึงความที่มรรคญาณ แม้ที่กล่าวแล้วในก่อนว่า ทุภโต วุฏฺฐานวิวฏฺฏเน ปญฺญา - ปัญญาในการออกและหลีกจากกิเลสขันธ์และสังขารนิมิตภายนอกทั้ง ๒ อันให้สำเร็จวิหารญาณและสมาปัตติญาณต่อจากญาณทั้ง ๒ นั้น เป็นญาณอันสามารถตัดอาสวะได้เด็ดขาด และเป็นญาณอันให้ผลในลำดับที่ยกขึ้นแสดงว่า อานนฺตริกสมาธิมฺหิ ญาณํ - ญาณในสมาธิอันมีในลำดับ ต่อจากญาณทั้ง ๒ นั้น.
____________________________
#- สมาปัตตัฏฐญาณ, วิหารสมาปัตตัฏฐญาณ.
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อวิกฺเขปปริสุทฺธตฺตา - ความบริสุทธิแห่งสมาธิอันไม่ฟุ้งซ่าน.
ความว่า จิตย่อมฟุ้งซ่านไปด้วยธรรมชาตินั้น ฉะนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าวิกเขปะ - ความฟุ้งซ่าน, คำนี้เป็นชื่อของอุทธัจจะ.
ธรรมชาตินี้มิใช่วิกเขปะ - ความฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอวิกเขปะ ไม่ฟุ้งซ่าน, คำนี้เป็นชื่อของสมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจะ.
ความเป็นแห่งความบริสุทธิ์ ชื่อว่าปริสุทธัตตะ - ความบริสุทธิ์, ความบริสุทธิ์แห่งสมาธิชื่อว่าอวิกเขปปริสุทธัตตะ - ความบริสุทธิแห่งสมาธิอันไม่ฟุ้งซ่าน, ฉะนั้น อวิกเขปปริสุทธัตตา จึงมีอธิบายว่า เพราะความเป็นแห่งความบริสุทธิ์ของสมาธิ.
จริงอยู่ คำนี้เป็นตติยาวิภัตติบอกเหตุแห่งการตัดอาสวะได้ขาด และแห่งการให้ผลในลำดับแห่งตน.
ในคำว่า อาสวสมุจฺเฉเท - ในการตัดอาสวะได้ขาด มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ธรรมชาติใดย่อมไหลไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอาสวะ.
ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า อาสวะทั้งหลายย่อมไหลไป คือย่อมเป็นไปทางตาบ้าง ฯลฯ ทางใจบ้าง. อาสวะทั้งหลาย เมื่อว่าโดยธรรมย่อมไหลไปจนกระทั่งถึงโคตรภู, หรือเมื่อว่าโดยโอกาสคือฐานภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ ย่อมไหลไปจนกระทั่งถึงภวัคคภพ ฉะนั้นจึงชื่อว่าอาสวะ,
อธิบายว่า อาสวะทั้งหลายย่อมครอบงำทั้งธรรมนั้นด้วย ทั้งโอกาสนั้นด้วยเป็นไป.
จริงอยู่ อาอักษรนี้ มีอรรถว่ากระทำในภายใน.
เมรัยที่ชื่อว่ามทิระเป็นต้น ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นเหมือนของดอง เพราะอรรถว่าดองอยู่นาน.
จริงอยู่ เมรัยที่ชื่อว่ามทิระเป็นต้น เพราะดองอยู่นาน ในทางโลก ท่านย่อมเรียกว่าอาสวะ.
ก็ถ้าว่า ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าดองอยู่นานไซร้ อาสวะเหล่านั้นก็ย่อมจะมีได้.
สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่
ปรากฏ, ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่ได้มีแล้ว แต่
ภายหลังจึงมี ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๖
อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมไปคือย่อมไหลไปสู่สังสารทุกข์ต่อไป แม้เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าอาสวะ, อาสวะทั้งหลายย่อมขาดสูญไปด้วยมรรคนั้น ฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่าสมุจเฉทะ - เป็นเครื่องตัดอาสวะขาด.
คำว่า ปญฺญา ได้แก่ ปัญญาในการตัดอาสวะ ๔ มีกามาสวะเป็นต้นได้ขาด.
คำว่า อานนฺตริกสมาธิมฺหิ ญาณํ - ญาณในสมาธิอันให้ผลในลำดับ.
ความว่า สมาธิในมรรคได้ชื่อว่าอานันตริกะ เพราะให้ผลโดยแน่นอนทีเดียวในลำดับแห่งความเป็นไปของตน. เพราะเมื่อมรรคสมาธิเกิดขึ้นแล้ว อันตรายอะไรๆ ที่จะขัดขวางการเกิดขึ้นแห่งผลของมรรคสมาธินั้น ย่อมไม่มี.
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำมีอาทิว่า๒-
บุคคลนี้พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่ง
โสดาปัตติผล และเวลาที่กัปไหม้จะพึงมี กัปก็ไม่
พึงไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่ง
โสดาปัตติผล บุคคลนี้เรียกว่าฐิตกัปปี. บุคคลผู้
พร้อมเพรียงด้วยมรรคแม้ทั้งหมด ชื่อว่า เป็นผู้
มีกัปตั้งอยู่แล้ว ดังนี้.
นี้เป็นญาณอันสัมปยุตด้วยอานันตริกสมาธินั้น.
____________________________
๒- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๓๓
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ