อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อสัทธรรมปกาสินี ในขุททกนิกาย (ตอนที่ ๕/๗)  

๓๓. อรรถกถาอรณวิหารญาณุทเทส               

               ว่าด้วยอรณวิหารญาณ               

               ญาณทั้ง ๔ มีอรณวิหารญาณเป็นต้น ท่านยกขึ้นแสดงในลำดับแห่งญาณนี้ เพราะเกิดแก่พระอริยะทั้งหลายผู้บรรลุอริยผลด้วย มรรคญาณนี้เท่านั้น.

               ก็ในญาณทั้ง ๔ แม้นั้น ท่านยกอรณวิหารญาณขึ้นแสดงก่อน เพราะเกิดติดต่อกันไปแก่พระอรหันต์นั่นแล, และต่อแต่นั้น ท่านก็ยกนิโรธสมาปัตติญาณขึ้นแสดง เพราะนิโรธสมาบัตินั้นเป็นธรรมมีสัมภาระมาก แม้ในเมื่อเกิดแก่พระอนาคามีและพระอรหันต์ และเพราะนิโรธสมาบัติเป็นธรรมอันท่านสมมุติว่าเป็นนิพพานโดยพิเศษ, ต่อจากนั้น ท่านก็ยกปรินิพพานญาณขึ้นแสดงว่า ทีฆกาลิกะ - มีกาลนาน เพราะตั้งอยู่จดกาลเป็นที่ปรินิพพานในระหว่างกาลปรินิพพาน, ในลำดับต่อจากนั้นท่านก็ยกสมสีสัฏฐญาณขึ้นแสดงว่า รัสสกาลิกะ - มีกาลสั้น เพราะตั้งอยู่จดกาลเป็นที่ปรินิพพาน ในลำดับแห่งการสิ้นกิเลสทั้งปวงของพระอรหันต์ผู้สมสีสะ.

               บรรดาคำเหล่านั้น จ อักษรในคำว่า สนฺโต จ พึงแปลควบเข้ากับบทแม้ทั้ง ๓ ดังนี้คือ ทสฺสนาธิปเตยฺยํ จ, สนฺโต วิหาราคโม จ, ปณีตาธิมุตฺตตา จ.

               (พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้)

               คำว่า ทสฺสนํ - การเห็น ได้แก่ วิปัสสนาญาณ,

               ความเป็นใหญ่นั่นแหละ ชื่อว่าอาธิปเตยยะ ความเป็นแห่งความเป็นใหญ่,

               อีกอย่างหนึ่ง เพราะบรรลุถึงโดยอธิปติ จึงชื่อว่า อาธิปเตยฺยํ - ความเป็นแห่งความเป็นใหญ่, ทัสนะคือวิปัสสนาญาณนั้นด้วย เป็นอาธิปเตยยะด้วย ฉะนั้น จึงชื่อว่าทัสนาธิปเตยยะ - วิปัสสนาญาณเป็นอธิปติ.๑-

____________________________

๑- วีมังสาธิปติ.


               ธรรมใดย่อมอยู่ ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าวิหาระ, หรือว่าพระโยคีบุคคลย่อมอยู่ด้วยธรรมนั้น ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าวิหาระ เป็นเครื่องอยู่ของพระโยคีบุคคล, ธรรมใดอันพระโยคีบุคคลย่อมถึงทับคือย่อมบรรลุ ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าอธิคมะ - ธรรมอันพระโยคีบุคคลบรรลุ, วิหารธรรมนั่นแหละเป็นองค์คุณที่บรรลุ ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิหาราธิคมะ - วิหารธรรมที่บรรลุ.

               ก็วิหาราธิคมนั้นเป็นนิพพุตะดับสนิทเพราะเว้นจากการเบียดเบียนของกิเลส ฉะนั้น จึงชื่อว่าสันตะ - สงบ.

               ก็สันตะนั้นคืออรหัตผลสมาปัตติปัญญา.

               เพราะอรรถว่าสูงสุดและเพราะอรรถว่าไม่ทำให้เร่าร้อน จึงชื่อว่าปณีตะ.

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปณีตะ - เพราะนำไปสู่ความเป็นประธาน.

               การมีใจน้อมไป คือมีจิตส่งไปแล้วในปณีตะมีผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างยิ่ง ชื่อว่าปณีตาธิมุตตะ - น้อมใจไปในผลสมาบัติ, ความเป็นแห่งการน้อมใจไปในผลสมาบัตินั้น ชื่อว่าปณีตาธิมุตตตา - ความน้อมใจไปในผลสมาบัติอันประณีต.

               ก็ปณีตาธิมุตตตานั้นเป็นบุรพภาคปัญญามีอันน้อมใจไปในผลสมาบัติแล.

               คำว่า อรณวิหาเร - ในวิหารธรรมอันไม่มีกิเลสเป็นข้าศึก ได้แก่วิหารธรรมมีกิเลสไปปราศแล้ว.

               จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมรุกราน บดขยี้ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น ราคาทิกิเลสนั้นจึงชื่อว่ารณา ผู้เบียดเบียน.

               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมร้องไห้คร่ำครวญร่ำไรด้วยราคาทิกิเลสเหล่านั้น ฉะนั้น ราคาทิกิเลสเหล่านั้นจึงชื่อว่ารณา - กิเลสเป็นเหตุให้สัตว์ร้องไห้คร่ำครวญ,

               วิหารธรรมแม้ทั้ง ๓ อย่าง ท่านได้กล่าวไว้แล้ว.

               รณะคือกิเลสเป็นเหตุให้สัตว์ร้องไห้คร่ำครวญไม่มีแก่ธรรมนี้ ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าอรณะ, พระอริยบุคคลย่อมนำธรรมอันเป็นข้าศึกออกได้ด้วยธรรมนั้น ฉะนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่าวิหาระ นำธรรมที่เป็นข้าศึกออก. อรณธรรมนั้นก็ชื่อว่าวิหารธรรม.

               ในนิทเทสวาระ๒- ปฐมฌานเป็นต้น ท่านสงเคราะห์ไว้ในปณีตาธิมุตตตาเหมือนกัน. ก็เพราะประสงค์จะเข้าผลสมาบัติ จึงเข้าฌานมีปฐมฌานเป็นต้นออกแล้ว เห็นแจ้งธรรมที่สัมปยุตกับฌาน,

               ก็อรณปฏิปทาอันใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วในอรณวิภังคสูตร๓- อรณปฏิปทาแม้นั้น ก็พึงทราบว่าท่านสงเคราะห์ด้วยข้อนี้แล.

____________________________

๒- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๑๖  ๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๕๔


               จริงอย่างนั้น ในอรณวิภังคสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมชื่อ

                         อรณวิภังค์แก่เธอทั้งหลายว่า ...ไม่พึงประกอบ

                         เนืองๆ ซึ่งสุขอาศัยกามอันเลว เป็นของชาวบ้าน

                         เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ

                         ด้วยประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความ

                         เพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบากอันเป็นทุกข์ ไม่

                         ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

                                   ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒

                         อย่างนี้นั้น อันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว

                         เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไป

                         เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อ

                         นิพพาน

                                   พึงรู้จักการยกย่องและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว

                         ไม่พึงยกย่อง ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงธรรมเท่านั้น,

                         พึงรู้การตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้วพึงประกอบเนืองๆ

                         ซึ่งความสุขภายใน,

                                   ไม่กล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกิน

                         ต่อหน้า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน ไม่

                         พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย

                         นี้เป็นอุทเทสแห่งอรณวิภังค์…

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น การ

                         ไม่ตามประกอบความเพียรเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของผู้

                         มีความสุขโดยสืบต่อกามอันเลว เป็นของชาวบ้าน

                         เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย

                         ประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ

                         ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นสัมมา-

                         ปฏิปทา. เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่าอรณธรรม.๔-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น การ

                         ไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้

                         ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ

                         ด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ เพราะ

                         ฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่าอรณธรรม.๕-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น

                         มัชฌิมาปฏิปทานี้ อันพระตถาคตรู้พร้อมยิ่งแล้ว

                         ฯลฯ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่าอรณธรรม.๖-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นี้ การ

                         ไม่ยกย่อง การไม่ตำหนิ การแสดงธรรมเท่านั้น,

                         นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้

                         ชื่อว่า อรณธรรม.๗-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น

                         สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิด

                         แต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้, นี้เป็นธรรม

                         ไม่มีทุกข์ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่า

                         อรณธรรม.๘-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น

                         วาทะหลับหลัง ที่จริง ที่แท้ ประกอบด้วยประโยชน์,

                         นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้

                         ชื่อว่าอรณธรรม.๙-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น

                         คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้า ที่จริง ที่แท้ ประกอบ

                         ด้วยประโยชน์, นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ

                         เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่าอรณธรรม.๑๐-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น

                         คำที่ไม่รีบด่วนพูด นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ

                         เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่า อรณธรรม.๑๑-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น

                         การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลย

                         สามัญภาษา นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ เพราะ

                         ฉะนั้น ธรรมนี้ชื่อว่า อรณธรรม.๑๒-

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวก

                         เธอพึงศึกษาอย่างนี้แลว่า เราทั้งหลายจักรู้ธรรม

                         ชื่อว่าสรณะ๑๓- และรู้ธรรมชื่อว่าอรณะ๑๔-

                         ครั้นรู้แล้วจักปฏิบัติ อรณปฏิปทา.

                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล กุลบุตรชื่อสุภูติ

                         เป็นผู้ปฏิบัติแล้ว ซึ่งอรณปฏิปทา๑๕- ดังนี้.

____________________________

๔- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๓  ๕- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๔  ๖- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๕

๗- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๖  ๘- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๗  ๙- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๘

๑๐- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๖๙  ๑๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๗๐  ๑๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๗๑

๑๓- สรณะ ธรรมมีกิเลสเป็นเหตุยังสัตว์ให้ร้องไห้.

๑๔- อรณะ ธรรมไม่มีกิเลสเป็นเหตุยังสัตว์ให้ร้องไห้.

๑๕- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๗๒


               ในอรณวิภังคสูตรนั้น มัชฌิมาปฏิปทา ท่านสงเคราะห์ด้วยทัสนาธิปเตยยะ พระนิพพาน และวิหาราธิคมะ.

               การไม่ประกอบกามสุขัลลิกานุโยคและอัตกิลมถานุโยค เป็นมัชฌิมาปฏิปทาแท้เทียว.

               จริงอยู่ สำหรับพระอรหันต์ บุรพภาคแห่งวิปัสสนาเป็นมัชฌิมาปฏิปทา และอรหัตผลสมาบัติก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยสามารถแห่งมรรคมีองค์ ๘. ส่วนปฏิปทาที่เหลือ พึงทราบว่าสงเคราะห์ด้วยปณีตาธิมุตตตานั่นแล.

               พระอรหันต์ทั้งปวงเป็นผู้อยู่ด้วยอรณธรรมก็จริง, ถึงอย่างนั้น พระอรหันต์เหล่าอื่นเมื่อจะแสดงธรรม ก็ย่อมแสดงธรรมยกย่องและ ข่มด้วยสามารถแห่งบุคคลว่า กุลบุตรเหล่านี้ปฏิบัติชอบในสัมมาปฏิบัติ และกุลบุตรเหล่านี้ปฏิบัติผิดในมิจฉาปฏิบัติ,

               แต่พระสุภูติเถระแสดงธรรมด้วยสามารถแห่งธรรมเท่านั้นว่า นี้เป็นมิจฉาปฏิบัติ, นี้เป็นสัมมาปฏิบัติ. เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรรเสริญว่า พระสุภูติเถระเป็นผู้ปฏิบัติอรณปฏิปทานั้นนั่นแล, ทรงตั้งไว้ในฐานะอันเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้อรณวิหารีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสุภูติเลิศกว่าภิกษุสาวกของเราผู้มีปกติอยู่ด้วยอรณธรรม ฉะนี้แล.


               ๓๔. อรรถกถานิโรธสมาปัตติญาณุทเทส               

               ว่าด้วยนิโรธสมาปัตติญาณ               

               คำว่า ทฺวีหิ พเลหิ - ด้วยพละ ๒. ความว่า ด้วยสมถพละและวิปัสสนาพละ.

               คำว่า สมนฺนาคตตฺตา - เพราะประกอบแล้ว. ความว่า เพราะประกอบแล้ว หรือเพราะบริบูรณ์แล้ว.

               คำว่า ตโย จ - สังขาร ๓ เป็นวิภัตติวิปลาส ท่านกล่าวแก้ไว้ว่า ติณฺณญฺจ แปลว่า ๓.

               คำว่า สงฺขารานํ - สังขารทั้งหลาย ได้แก่ วจีสังขาร กายสังขารและจิตสังขาร.

               คำว่า ปฏิปฺปสฺสทฺธิยา - เพื่อระงับ.

               ความว่า เพื่อความสงบคือเพื่อดับ. อธิบายว่า เพื่อไม่เป็นไป.

               คำว่า โสฬสหิ - ญาณจริยา ๑๖ ได้แก่ อนุปัสนา ๘ มีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น, โลกุตระ ๘ คือ มรรค ๔ ผล ๔ จึงรวมเป็น ๑๖.

               คำว่า ญาณจริยาหิ - ญาณจริยาทั้งหลาย ได้แก่ ความเป็นไปแห่งญาณ.

               คำว่า นวหิ - ด้วยสมาธิจริยา ๙ ได้แก่ รูปาวจรสมาธิ ๔ อรูปาวจรสมาธิ ๔ กับทั้งอุปจาระอีก ๑ จึงรวมเป็น ๙.

               คำว่า วสิภาวตา ปญฺญา - ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ.

               ความว่า อิสริยะความเป็นใหญ่เป็นไปตามสบายโดยพลัน ชื่อว่าวสะ - อำนาจ, วสะคืออำนาจนั้นมีอยู่แก่บุคคลนั้น ฉะนั้นผู้นั้นชื่อว่าวสี - ผู้มีอำนาจ, ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีวสี ชื่อว่าวสีภาวะ, วสีภาวะนั่นแหละชื่อว่าวสิภาวตา ดุจ ปาฏิกุลฺยเมว ความเป็นของปฏิกูลนั่นแหละ ชื่อว่า ปาฏิกุลฺยตา ฉะนั้น. ปัญญามีตัวอย่างดังนี้.

               มีอธิบายว่า ปัญญาในวสิภาวตา คือปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ.

               แต่อาจารย์บางพวกทำทีฆะ สิอักษรแล้วสวด.

               จ ศัพท์ต้องสัมพันธ์ควบกับ สมนฺนาคตตฺตา จ - เพราะประกอบแล้วด้วย, ปฏิปฺปสฺสทฺธิยา จ - เพื่อระงับสังขารทั้ง ๓ ด้วย, ญาณจริยาหิ จ - ด้วยจริยาทั้งหลายด้วย, สมาธิจริยาหิ จ - ด้วยสมาธิจริยาด้วย.

               คำว่า นิโรธสมาปตฺติยา ญาณํ - ญาณในนิโรธสมาบัติ. ความว่า ญาณอันเป็นนิมิตแห่งนิโรธสมาบัติ อุปมาเหมือนเสือเหลืองจะถูกฆ่าก็เพราะลายเสือ.

               คำว่า นิโรธสมาปตฺติ - นิโรธสมาบัติ. ความว่า สักว่าไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ, จะว่าเป็นธรรมใดธรรมหนึ่งก็มิใช่, เป็นเพียงบัญญัติ. และชื่อว่านิโรธ เพราะเหตุสักว่าไม่มี.

               อนึ่ง อันพระอริยบุคคลผู้เข้าอยู่ ชื่อว่าย่อมเข้า ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าสมาบัติ.


               ๓๕. อรรถกถาปรินิพพานญาณุทเทส               

               ว่าด้วยปรินิพพานญาณ               

               คำว่า สมฺปชานสฺส - ผู้มีสัมปชัญญะ.

               ความว่า พระโยคีบุคคลใดย่อมรู้โดยประการทั้งหลายด้วยดี ฉะนั้น พระโยคีบุคคลนั้นชื่อว่าสัมปชาโน ผู้รู้ด้วยดี, แห่งพระโยคีบุคคลนั้นผู้รู้ด้วยดี.

               คำว่า ปวตฺตปริยาทาเน - ในการครอบงำปวัตตขันธ์.

               ความว่า ความเป็นไปแห่งขันธ์ ชื่อว่าปวัตตะ. อธิบายว่า การเกิดขึ้น.

               ความเป็นไปแห่งกิเลสด้วย ความเป็นไปแห่งขันธ์ด้วย. การครอบงำ ความสิ้นไป ความไม่เป็นไปแห่งปวัตตขันธ์นั้น ชื่อว่า ปวตฺตปริยาทานํ - การครอบงำปวัตตขันธ์. ในการครอบงำปวัตตขันธ์นั้น.

               คำว่า ปรินิพฺพาเน ญาณํ - ญาณในปรินิพพาน.

               ความว่า ญาณอันเป็นไปแล้ว ในกิเลสปรินิพพานและขันธปรินิพพานนั้น ของพระอรหันต์ผู้พิจารณาอยู่ซึ่งความดับไป คือความไม่เป็นไปแห่งกิเลสทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้น และอนุปาทิเสสปรินิพพานดับกิเลสและขันธ์โดยไม่เหลือ.


               ๓๖. อรรถกถาสมสีสัฏฐญาณุทเทส               

               ว่าด้วยสมสีสัฏฐญาณ               

               คำว่า สพฺพธมฺมานํ - แห่งธรรมทั้งปวง. ความว่า แห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งปวง.

               คำว่า สมฺมาสมุจฺเฉเท - ในการตัดขาดโดยชอบ.

               ความว่า ในความดับด้วยดี ด้วยการตัดขาดสันตติด้วย.

               คำว่า นิโรเธ จ อนุปฏฺฐานตา - ในความดับด้วยในความไม่ปรากฏด้วย.

               ความว่า ดำเนินไปในนิโรธ ในความไม่ปรากฏอีก. อธิบายว่า ไม่เกิดขึ้นอีก.

               จ อักษรต้องสัมพันธ์ควบกับ สมฺมาสมุจฺเฉเท จ - ในการตัดขาดด้วยดีด้วย, นิโรเธ จ - ในความดับด้วย, อนุปฏฺฐานตา จ - ในความไม่ปรากฏด้วย.

               คำว่า สมสีสฏฺเฐ ญาณํ - ญาณในอรรถแห่งธรรมอันสงบและเป็นประธาน.

               ความว่า ธรรม ๓๗ ประการมีเนกขัมมะเป็นต้น ชื่อสมะ - ธรรมอันสงบ, ธรรม ๑๓ ประการมีตัณหาเป็นต้น ชื่อสีสะ - ธรรมอันเป็นประธาน. ชื่อว่าสมะ เพราะปัจนิกธรรมทั้งหลายสงบ, ชื่อว่าสีสะ เพราะเป็นประธานตามสมควรแก่การประกอบและเพราะเป็นยอด.

               ธรรมอันสงบมีเนกขัมมะเป็นต้น และธรรมอันเป็นประธานมีสัทธาเป็นต้น ในอิริยาบถหนึ่งก็ดี ในโรคหนึ่งก็ดี ในชีวิตินทรีย์หนึ่ง ด้วยการสืบต่อกันโดยเสมอภาคก็ดี มีอยู่แก่ผู้นั้น ฉะนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่าสมสีสี ผู้มีธรรมอันสงบและธรรมอันเป็นประธาน.

               อรรถะคือเนื้อความแห่งสมสีสี ชื่อว่าสมสีสัฏฐะ ในอรรถะแห่งสมสีสะนั้น, อธิบายว่า ในความเป็นสมสีสี.

               ความเป็นแห่งสมสีสีย่อมมีแก่พระอรหันต์เท่านั้นผู้ปรารภวิปัสสนาในอิริยาบถหนึ่ง หรือในโรคหนึ่ง หรือในชีวิต ด้วยการสืบต่อกันโดยเสมอภาค แล้วบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ในอิริยาบถนั้นนั่นเอง หรือในโรค ในชีวิต ด้วยการสืบต่อกันโดยเสมอภาค ปรินิพพานอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ญาณในความเป็นแห่งสมสีสีดังนี้.

               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในปุคคลบัญญัติปกรณ์และอรรถกถาแห่งปกรณ์ว่า

                                   ก็บุคคลชื่อว่าสมสีสี เป็นไฉน? การสิ้นไป

                         แห่งอาสวะและการสิ้นไปแห่งชีวิตของบุคคลใด

                         มีไม่ก่อนไม่หลังกัน บุคคลนี้เรียกว่า สมสีสี.๑-

____________________________

๑- อภิ. ปุ เล่ม ๓๖/ข้อ ๓๒


               พึงทราบวินิจฉัยในสมสีสีนิทเทสดังต่อไปนี้

               คำว่า อปุพฺพํ อจริมํ - ไม่ก่อน ไม่หลัง.

               ความว่า ไม่ใช่ในภายหน้า ไม่ใช่ในภายหลัง คือ ในคราวเดียวกันด้วยสามารถแห่งปัจจุบันสันตติ. อธิบายว่า ในคราวเดียวกันนั่นเอง.

               คำว่า ปริยาทานํ - การประหาณ ได้แก่การสิ้นไปรอบ.

               คำว่า อยํ - บุคคลนี้ ความว่า บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกชื่อว่าสมสีสี.

               ก็สมสีสี บุคคลนี้นั้นมีอยู่ ๓ จำพวก คืออิริยาปถสมสีสี ๑, โรคสมสีสี ๑, ชีวิตสมสีสี ๑.

               บรรดาสมสีสีบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนั้น บุคคลใดกำลังจงกรมอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังจงกรมอยู่นั่นเองก็ปรินิพพาน, บุคคลใดกำลังยืนอยู่เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังยืนอยู่นั่นเองก็ปรินิพพาน, บุคคลใดกำลังนั่งอยู่เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังนั่งอยู่นั่นเองก็ปรินิพพาน บุคคลนี้ชื่อว่าอิริยาปถสมสีสี.

               ส่วนบุคคลใดเกิดโรคอย่างหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนาในภายในโรคนั่นเองแล้วบรรลุพระอรหัต แล้วปรินิพพานไปด้วยโรคนั้นนั่นแหละ, บุคคลนี้ชื่อว่าโรคสมสีสี.

               บุคคล ชื่อว่า ชีวิตสมสีสี เป็นไฉน?

               ศีรษะมี ๑๓.#- บรรดา ศีรษะเหล่านั้น อรหัตมรรคย่อมครอบงำอวิชชาอันเป็นกิเลสสีสะ, จุติจิตย่อมครอบงำชีวิตินทรีย์อันเป็นปวัตตสีสะ, จิตที่ครอบงำอวิชชา ครอบงำชีวิตินทรีย์ไม่ได้. จิตที่ครอบงำชีวิตินทรีย์ก็ครอบงำอวิชชาไม่ได้.

               จิตที่ครอบงำอวิชชาเป็นอย่างหนึ่ง และจิตที่ครอบงำชีวิตินทรีย์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง. ก็ทั้ง ๒ ศีรษะนี้ของบุคคลใดย่อมถึงซึ่งการครอบงำพร้อมกัน บุคคลนั้นชื่อว่าชีวิตสมสีสี.

____________________________

#- ตัณหา, มานะ, ทิฏฐิ, อุทธัจจะ, อวิชชา, สัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา, ชีวิตินทรีย์, วิโมกข์ นิโรธะ.


               ศีรษะทั้ง ๒ นี้จะมีพร้อมกันได้อย่างไร? มีได้เพราะพร้อมกันโดยวาระ. อธิบายว่า การออกจากมรรคมีในวาระใด.

               พระอริยบุคคลตั้งอยู่ในปัจจเวกขณญาณ ๑๙ คือ

                         ในโสดาปัตติมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕,

                         ในสกทาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕,

                         ในอนาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕,

                         ในอรหัตมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๔,

               แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ จึงปรินิพพาน.

               การครอบงำศีรษะทั้ง ๒ ชื่อว่าย่อมมีพร้อมกันได้ เพราะพร้อมกันโดยวาระนี้นั่นเอง เพราะเหตุนั้น บุคคลนี้ ท่านจึงเรียกว่าชีวิตสมสีสี.

               ก็ชีวิตสมสีสีบุคคลนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาแล้วในที่นี้.


               ๓๗. อรรถกถาสัลเลขัฏฐญาณุทเทส               

               ว่าด้วยสัลเลขัฏฐญาณ               

               สุตมยญาณ, สีลมยญาณและภาวนามยญาณที่เป็นบาทแห่งวัฏสงสาร ย่อมไม่ชื่อว่าสัลเลขะ - ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา.

               ญาณเหล่านี้ก็ดี ญาณเหล่าอื่นก็ดี เฉพาะที่เป็นบาทแห่งโลกุตระ ท่านเรียกว่า สัลเลขะ - ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา ฉะนั้นเพื่อที่จะแสดงญาณทั้งหลายที่เป็นไปโดยอาการขัดเกลาปัจนิกธรรม พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกเอาสัลเลขัฏฐญาณขึ้นแสดงต่อจากสมสีสัฏฐญาณ ณ บัดนี้.

               ในสัลเลขัฏฐญาณนั้น คำว่า ปุถุนานตฺตเตชปริยาทาเน ปญฺญา - ปัญญาในความสิ้นไปแห่งกิเลสอันหนามีสภาพต่างๆ และเดช.

               ความว่า ปัญญาในความสิ้นไปหมดไปแห่งกิเลสหนาทั้งหลายมีราคะเป็นต้น และนานัตตกิเลสอันเป็นสภาวะต่างๆ มีกามฉันทะเป็นต้น กับทั้งกิเลสมีความเป็นผู้ทุศีลเป็นต้นอันได้ชื่อว่าเดช เพราะอรรถว่าเร่าร้อนเพราะอรรถว่าไม่เจือด้วยโลกุตระ.

               มีคำกล่าวอธิบายไว้ว่าปัญญาในธรรม ๓๗ ประเภทมีเนกขัมมะเป็นต้น.

               หรือ อธิบายว่า ปัญญาอันหนา, ปัญญาอันมีสภาพ (ประเภท) ต่างๆ, และปัญญาอันเป็นเดช เป็นปัญญาในการสิ้นไปแห่งกิเลสอันหนา อันมีสภาพต่างๆ และเดช ๕ มีความเป็นผู้ทุศีลเป็นต้นเหล่านั้นดังนี้. จะแสดงการสงเคราะห์ปุถุธรรม๑- และนานัตตธรรม๑- ด้วยเดชทั้งหลายในนิทเทสวาระ.

____________________________

๑- ปุถุธรรม และนานัตตธรรมมีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล


               คำว่า สลฺเลขฏฺเฐ ญาณํ - ญาณในอรรถว่าขัดเกลา มีวิเคราะห์ว่า ธรรมใดย่อมขัดเกลา ย่อมตัดขาดปัจนิกธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่าสัลเลขะ - ขัดเกลา, ญาณในธรรม ๓๗ ประเภทมีเนกขัมมะนั้นมีการขัดเกลาเป็นสภาวะ.

               ถึงแม้สัลเลขธรรม ๔๔ ประเภทอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสัลเลขสุตตันตะโดยนัยเป็นต้นว่า ชนทั้งหลายเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียน, ในข้อนี้ เราจักไม่เป็นผู้เบียดเบียนดังนี้.

               ก็พึงทราบว่า ท่านสงเคราะห์ด้วยสัลเลขญาณนี้เหมือนกัน.


               ๓๘. อรรถกถาวีริยารัมภญาณุทเทส               

               ว่าด้วยวีริยารัมภญาณ               

               บัดนี้ เพื่อจะแสดงวีริยะคือสัมมัปธานอันพระโยคีบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสัลเลขญาณพึงกระทำ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกวีริยารัมภญาณขึ้นแสดงต่อจากสัลเลขญาณนั้น.

               ในวีริยารัมภญาณนั้น คำว่า อสลฺลีนตฺตปหิตตฺตปคฺคหฏฺเฐ - ในอรรถว่าประคองไว้ซึ่งจิตอันไม่หดหู่และมีตนอันส่งไปแล้ว.

               ความว่า ชื่อว่าอสัลลีนัตตะ - มีจิตไม่หดหู่ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่าจิตไม่หดหู่ ไม่ย่อท้อด้วยสามารถแห่งความเกียจคร้าน ของบุคคลนั้นมีอยู่ ดังนี้.

               คำว่า อตฺตา ได้แก่ จิต. ดุจคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นอาทิไว้ว่า๑-

                         ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป, พวกช่างศรย่อมดัดศรให้ตรง,

                         ช่างถากก็ถากไม้, บัณฑิตทั้งหลายก็ย่อมฝึกตน ดังนี้.

____________________________

๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๖


               ชื่อว่าปหิตัตตะ - มีตนส่งไปแล้ว เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า อัตภาพอันตั้งไว้แน่วแน่ส่งไปปล่อยไป โดยไม่คำนึงถึงร่างกายและชีวิตด้วยธรรมนั้นดังนี้.

               คำว่า อตฺตา ได้แก่ อัตภาพ. ดุจคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นอาทิไว้ว่า๒-

                         อนึ่ง ภิกษุณีใด พร่ำตีตนแล้วร้องไห้ (เป็นปาจิตตีย์).

____________________________

๒- วิ. ภิกฺขุนี. เล่ม ๓/ข้อ ๒๑๗


               อสัลลีนัตตะนั้นด้วย ปหิตัตตะนั้นด้วย ชื่ออสัลลีนัตตปหิตัตตะ - มีจิตไม่หดหู่และมีตนส่งไปแล้ว.

               ธรรมใดย่อมประคองคือย่อมอุปถัมภ์สหชาตธรรม ฉะนั้นจึงชื่อว่าปัคคหะ - ธรรมอันประคองสหชาตธรรม. ปัคคหะ ธรรมอันประคองสหชาตธรรมนั่นแหละเป็นอรรถ ชื่อว่าปัคคหัฏฐะ. อธิบายว่า มีการประคองเป็นสภาวะ.

               การประคองซึ่งจิตไม่หดหู่และมีตนอันส่งไปแล้ว ชื่อว่าอสัลลีนัตตปหิตัตตปัคคหัฏฐะ. ในอรรถว่าประคองไว้ซึ่งจิตอันไม่หดหู่และมีตนอันส่งไปแล้วนั้น.

               การไม่ย่อท้อ การไม่หมุนกลับในปธานความเพียร อันพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวแล้วด้วยคำว่า อสัลลีนัตตะ ปหิตัตตะ เพราะเป็นคำอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-

                         เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

               จักเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่าจะเหลือแต่หนัง

               เอ็นและกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือด

               แห้งไปเถิด, ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยว

               แรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น

               ของบุรุษแล้วไซร้ ก็จักไม่หยุดความเพียรเลยดังนี้เป็นต้น.

____________________________

๓- องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๕๑


               ก็วีริยะ - ความเพียรอันเป็นไปแล้วด้วยดี พ้นแล้วจากโกสัชชะ - ความเกียจคร้าน และอุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวแล้วด้วยคำว่าปัคคหัฏฐะ.

               คำว่า วีริยารมฺเภ ญาณํ - ญาณในการปรารภความเพียร.

               ความว่า ความเป็นแห่งความแกล้วกล้า ชื่อว่าวีริยะ, หรือวีรกรรมของผู้แกล้วกล้าทั้งหลาย ชื่อว่าวีริยะ, หรือ ชื่อว่าวีริยะ เพราะเป็นกิจอันบุคคลพึงให้ดำเนินไปพึงให้เป็นไปได้ด้วยวิธี, ด้วยนัย, ด้วยอุบาย.

               วีริยะนี้นั้นมีความอุตสาหะเป็นลักษณะ, มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมเป็นกิจ, มีการไม่ย่อท้อเป็นอาการปรากฏเฉพาะหน้า, มีความสังเวชเป็นเหตุใกล้ โดยพระบาลีว่า เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้โดยแยบคาย ดังนี้เป็นต้น, หรือมีเหตุเป็นเครื่องเริ่มความเพียรเป็นเหตุใกล้.

               การปรารภความเพียรโดยชอบ พึงทราบว่าเป็นมูลแห่งสมบัติทั้งปวง. ความริเริ่มกล่าวคือวีริยะ ชื่อว่าวีริยารัมภะ - เริ่มความเพียร. ท่านห้ามความริเริ่มที่เหลือด้วยวีริยารัมภศัพท์นี้.

               จริงอยู่ อารัมภศัพท์นี้มาแล้วในอรรถเป็นอเนกมีอรรถว่า กรรม, อาบัติ, กิริยา, วีริยะ, หิงสา, วิโกปนะ.

               ก็คำว่า อารมฺโภ แปลว่า กรรม มาในคาถานี้ว่า๔-

                          ยงฺกิญฺจิ ทุกฺขํ สมฺโภติ    สพฺพํ อารมฺภปจฺจยา

                          อารมฺภานํ นิโรเธน      นตฺถิ ทุกฺขสฺส สมฺภโวติ

                                   ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ทุกข์ทั้งหมด

                         ย่อมเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย, ความเกิดขึ้นแห่ง

                         ทุกข์ย่อมไม่มีเพราะการดับแห่งกรรมทั้งหลาย.

____________________________

๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๐๐


               คำว่า อารมฺโภ แปลว่า อาบัติ มาในคำนี้ว่า ปรารภจะล่วงอาบัติด้วย ย่อมเดือดร้อนด้วย.๕-

               อารมฺโภ แปลว่า กิริยา เป็นเครื่องยกเสาสำหรับผูกสัตว์บูชายัญ มาในคำนี้ว่า มหายัญทั้งหลายที่มีการจะต้องริเริ่มมาก, มหายัญเหล่านั้นหามีผลมากไม่.๖-

               อารมฺโภ แปลว่า วีริยะ มาในคำนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงริเริ่ม, จงก้าวไป, จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา.๗-

               อารมฺโภ แปลว่า หิงสา - ฆ่า, เบียดเบียน มาในคำนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงเฉพาะพระสมณโคดม.๘-

               อารมฺโภ แปลว่า วิโกปนะ - การพรากมีการตัดการหักเป็นต้น มาในคำนี้ว่า เป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม.๙-

____________________________

๕- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๔๒  ๖- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๙

๗- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑๗  ๘- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๖  ๙- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๓๓


               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาวีริยะ เท่านั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ความริเริ่มกล่าวคือวีริยะ - ความเพียร ชื่อว่าวีริยารัมภา - ปรารภความเพียร วีริยะนี้แลท่านเรียกว่าอารัมภะด้วยสามารถแห่งความพยายาม. ญาณในวีริยารัมภะนั้น.

               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อสลฺลีนตฺตา ปหิตตฺตา ดังนี้บ้าง, ความว่า เพราะไม่หดหู่, เพราะไม่คำนึงถึงร่างกายและชีวิต.

               ปาฐะแรกนั่นแลถูก.

               แต่อาจารย์บางพวกพรรณนาไว้ว่า ความพร้อมเพรียงแห่งสัมโพชฌงค์คือสติ, ธรรมวิจยะ, วีริยะ, ปีติ ชื่อว่าอสัลลีนัตตา, ความพร้อมเพรียงแห่งโพชฌงค์ คือสติ, สมาธิ, ปัสสัทธิ, อุเบกขา ชื่อว่าปหิตัตตา, ความพร้อมเพรียงแห่งสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ชื่อว่าปัคคหัฏฐะ ดังนี้.


               ๓๙. อรรถกถาอัตถสันทัสนญาณุทเทส               

               ว่าด้วยอัตถสันทัสนญาณ               

               บัดนี้ เพื่อแสดงว่า ธรรมเทศนาอันท่านผู้บรรลุมรรคผลอันสำเร็จด้วยสัมมาวายามะ พึงกระทำเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกดังนี้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกอัตถสันทัสนญาณขึ้นแสดงต่อจากวีริยารัมภญาณนั้น.

               ในอัตถสันทัสนญาณนั้น คำว่า นานาธมฺมปฺปกาสนฺตา - การประกาศธรรมต่างๆ.

               ความว่า การแสดง การเทศนา โดยการประกาศธรรมต่างๆ คือ สังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวง. ก็การประกาศนั่นแหละ ชื่อว่า ปกาสนฺตา.

               คำว่า อตฺถสนฺทสฺสเน - ในการแสดงให้เห็นชัดซึ่งอรรถธรรม.

               ความว่า ในการแสดงให้เห็นชัดซึ่งอรรถธรรมต่างๆ แก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่น. ธรรมทั้งหลายและอรรถทั้งหลาย ชื่อว่าอรรถธรรมทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง.


               ๔๐. อรรถกถาทัสนวิสุทธิญาณุทเทส               

               ว่าด้วยทัสนวิสุทธิญาณ               

               บัดนี้ เพื่อจะแสดงทัสนวิสุทธิอันเป็นเหตุแห่งการแสดงตามสภาวธรรมของพระอริยบุคคลนั้นผู้กำลังแสดงให้เห็นชัดอยู่แก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นด้วยธรรมิกถา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกเอาทัสนวิสุทธิญาณขึ้นแสดงต่อจากอัตถสันทัสนญาณนั้น.

               ในทัสนวิสุทธิญาณนั้น คำว่า สพฺพธมฺมานํ เอกสงฺคหตา นานตฺเตกตฺตปฏิเวเธ - ในการสงเคราะห์ธรรมทั้งปวงเป็นหมวดเดียวกันในการแทงตลอดธรรมต่างกันและธรรมเป็นอันเดียวกัน.

               ความว่า การแทงตลอดสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงสงเคราะห์โดยความเป็นอันเดียวกัน, และความต่างกันแห่งนีวรณธรรมมีกามฉันทะเป็นต้น, กับทั้งความเป็นอันเดียวกันแห่งธรรมทั้งหลายมีเนกขัมมะเป็นต้น.

               อธิบายว่า อภิสมัย คือตรัสรู้.

               ก็ปฏิเวธนั้นได้แก่ มรรคปัญญา ๑ ผลปัญญา ๑.

               มรรคปัญญาเป็นปฏิเวธ เพราะกำลังแทงตลอดด้วยการตรัสรู้สัจจะในขณะตรัสรู้สัจจะ, ผลปัญญาเป็นปฏิเวธ เพราะแทงตลอดแล้ว.

               พึงทราบวินิจฉัยใน คำว่า เอกสงฺคหตา ดังต่อไปนี้ :-

               สังคหะ - การสงเคราะห์มี ๔ อย่างคือ ชาติสังคหะ - สงเคราะห์โดยชาติ, สัญชาติสังคหะ - สงเคราะห์โดยสัญชาติ, กิริยาสังคหะ - สงเคราะห์โดยการกระทำ, คณนสังคหะ - สงเคราะห์โดยการนับ.

               บรรดาสังคหะ ๔ อย่างนั้น สังคหะนี้ว่า กษัตริย์ทั้งปวงจงมา พราหมณ์ทั้งปวงจงมา แพศย์ทั้งปวงจงมา ศูทรทั้งปวงจงมา หรือ ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ, ธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ลงในสีลขันธ์๑- ดังนี้. ชื่อว่าชาติสังคหะ เพราะว่าในที่นี้ กษัตริย์เป็นต้นดังที่กล่าวแล้วทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันโดยชาติ ดุจในฐานะแห่งคำที่กล่าวว่า คนชาติเดียวกันจงมา ดังนี้.

               สังคหะนี้ว่า ชนชาวโกศลทั้งปวงจงมา ชนชาวมคธทั้งปวงจงมา ชนชาวภารุกัจฉกะจงมา หรือ ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ สัมมาวายามะ, สัมมาสติและสัมมาสมาธิ, ธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ลงในสมาธิขันธ์๑- ดังนี้. ชื่อว่าสัญชาติสังคหะ เพราะว่า ในที่นี้ ชนชาวโกศลเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันโดยที่เป็นที่เกิด โดยที่เป็นที่อยู่อาศัย ดุจในฐานะแห่งคำที่กล่าวว่า คนสัมพันธ์กันโดยชาติ ในที่เดียวกันจงมา ดังนี้.

               สังคหะนี้ว่า นายควาญช้างทั้งปวงจงมา นายสารถีฝึกม้าทั้งปวงจงมา, หรือ ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ, ธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ลงในปัญญา๑- ดังนี้. ชื่อว่ากิริยาสังคหะ เพราะว่านายควาญช้างเป็นต้นเหล่านั้นทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันด้วยการกระทำคือกิริยาของตน.

____________________________

๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๘


               สังคหะนี้ว่า จักขายตนะย่อมถึงการนับโดยขันธ์เป็นไฉน? จักขายตนะย่อมถึงการนับได้ด้วยรูปขันธ์. หากว่า จักขายตนะย่อมถึงการนับได้ด้วยรูปขันธ์, ด้วยเหตุนั้นนะท่านจึงต้องกล่าวว่า จักขายตนะ ท่านนับสงเคราะห์ด้วยรูปขันธ์๒- ดังนี้. ชื่อว่าคณนสังคหะ.

               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาคณนสังคหะนี้.

____________________________

๒- อภิ. ก. ๓๗/๑๑๒๘


               การกำหนดนับสงเคราะห์ธรรมเป็นแผนกๆ โดยความเป็นอันเดียวกัน ในอาการ ๑๒ มีตถัฏฐะ - สภาพตามความเป็นจริงเป็นต้นมีแก่สังคหะเหล่านั้น ฉะนั้น สังคหะเหล่านั้นจึงชื่อว่าเอกสังคหา, ความเป็นแห่งเอกสังคหะ ชื่อว่าเอกสังคหตา - การสงเคราะห์ธรรมต่างๆ โดยความเป็นอันเดียวกัน.

               คำว่า ทสฺสนวิสุทฺธิญาณํ - ญาณในความบริสุทธิ์แห่งมรรคญาณและผลญาณ.

               ความว่า มรรคญาณและผลญาณชื่อว่าทัสนะ, ทัสนะนั่นแหละบริสุทธิ์ชื่อว่าทัสนวิสุทธิ, ญาณคือทัสนวิสุทธิชื่อว่าทัสนวิสุทธิญาณ. มรรคญาณย่อมบริสุทธิ์ ฉะนั้นจึงชื่อว่าทัสนวิสุทธิ, ผลญาณก็ชื่อว่าทัสนวิสุทธิ เพราะบริสุทธิ์แล้ว.

               -----------------------------

[full-post]

สุตตันตปิฎก,ปฏิสัมภิทามรรค,อรรถกถา,อรณวิหารญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.