สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
กัมมจตุกก(ตอนที่สี่.จ.)
กรรม ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับสถานที่เผล็ดผล
ชื่อว่า กรรม มี ๔ อย่าง อย่างนั้นเหมือนกัน โดยเกี่ยวกับสถานที่ที่เผล็ดผล
คือ อกุศลกรรม ๑, กามาวจรกุศลกรรม ๑, รูปาวจรกุศลกรรม ๑, อรูปาวจรกุศลกรรม ๑
การทำวิบากให้บังเกิดแห่งรูปาวจรกุศลกรรมและอรูปาวจรกุศลกรรม
ส่วนบุคคลเจริญรูปาวจรกุศล คือ ปฐมฌานที่เป็นปริตตะ (อย่างเล็กน้อย) แล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นปารีสัชชา เจริญปฐมฌานนั้นนั่นแหละ ที่เป็นมัชฌิมะ (อย่างปานกลาง) แล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นปุโรหิต เจริญปฐมฌานที่เป็นปณิตะ (อย่างประณีต) แล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นมหาพรหม
อย่างนั้นเหมือนกัน เจริญทุติยฌานและตติยฌานที่เป็นปริตตะแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นปริตตาภา เจริญทุติยฌานและตติยฌานที่เป็นมัชฌิมะแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นอัปปมาณาภา เจริญทุติยฌานและตติยฌานที่เป็นปณีตะแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นอาภัสสรา.
เจริญจตุตถฌานที่เป็นปริตตะแล้ว ก็ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นปริตตสุภา เจริญจตุตถฌานที่เป็นมัชฌิมะแล้ว ก็ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นอัปปมาณสุภา เจริญจตุตถฌานที่เป็นปณีตะแล้ว ก็ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นสุภกิณหา
เจริญปัญจมฌานแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นเวหัปผลา เจริญปัญจม ฌานนั้นนั่นแหละ ที่เป็นสัญญาวิราคภาวนาแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้น อสัญญีสัตว์ ส่วนพระอนาคามีย่อมเกิดขึ้นในชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย
บุคคลเจริญอรูปาวจรกุศลทั้งหลายแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในอรูปภูมิทั้งหลาย ตามลำดับ ฉะนี้แล.
คาถาประมวลการเผล็จวิบากแห่งมหัคคตกุศลกรรม
อตฺถํ มหคฺคตํ ปุญฺญํ ยถาภูมิววตฺถิตํ
ชเนติ สทิสํ ปากํ ปฏิสนฺธิปฺปวตฺติยํ
แปลว่า : มหัคคตกุศล ตามที่กำหนดภูมิไว้แล้ว ย่อมทำวิบากอันเหมือนกันกับตน
ให้เกิดขึ้น ในปฏิสนธิกาล ปวัตติกาล
คำอธิบายการทำวิบากให้บังเกิดแห่งรูปาวจรกุศลกรรมและอรูปาวจร กุศลกรรม
ฌาน ชื่อว่า ปริตตะ (อย่างเล็กน้อย เพราะมีความหมายว่า มีอานุภาพ น้อย ดุจถูกตัดถูกบันโดยรอบด้าน ชื่อว่า ปณีตะ (อย่างประณีต) เพราะมีความ หมายว่า ถึงความเป็นธรรมชาติที่ดียิ่งนัก ฌานที่มีในท่ามกลางแห่งฌานทั้ง ๒ ชื่อว่า มัชฌิมะ (อย่างปานกลาง)
ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาโดยไม่แปลกกัน ว่า “ในบรรดาฌานเหล่านั้น ฌานที่สักว่าได้มา ยังไม่ได้ความเสพคุ้น ชื่อว่า ปริตตะ, ฌานที่บุคคลเจริญได้ไม่ดีนัก หาวสีภาวะ (ความชำนาญ) ที่บริบูรณ์มิได้ ชื่อว่า มัชฌิมะ, ส่วนที่บุคคล เจริญได้ดียิ่งนัก มีวสีภาวะบริบูรณ์ โดยอาการทั้งปวง ชื่อว่า ปณีตะ” ดังนี้
ในคำนี้ คำว่า มีวสีภาวะที่บริบูรณ์โดยอาการทั้งปวง คือมีวสีภาวะโดย อาการ ๕ คือ :
๑. อาวัชชนวสี - ความชำนาญในการนึกถึงฌาน
๒. สมาปัชชนวสี - ความชำนาญในการเข้าฌาน
๓. อธิฏฐานวสี - ความชำนาญในการยั้งอยู่ในฌาน
๔. วุฏฐานวสี - ความชำนาญในการออกจากฌาน
๕.ปัจจเวกขณวสี - ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน
การนึกถึงฌานได้ทันที ในสถานที่ที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ในระยะที่ต้องการ ไม่มีความเป็นช้าในการนึก ชื่อว่า อาวัชชนวสี. แม้ วสีที่เหลือ ก็พึงประกอบความอย่างนี้แหละ เช่นว่า การเข้าฌานได้ทันที ในสถานที่ที่ต้องการ ไม่มีความเนิ่นช้าในการเข้า ชื่อว่า สมาปัชชนวสี เป็นต้น
ก็แต่ว่า ในฐานะนี้ ท่านอาจารย์ (พระอนุรุทธาจารย์) มีความประสงค์ว่า แม้ปริตาฌาน ก็มีความเสพคุ้นหน่อยหนึ่ง เพราะหากไม่มีความเสพคุ้นเลย ก็ไม่มี กำลัง เมื่อไม่มีกำลัง ก็ไม่มีความสามารถในการให้วิบาก เป็นความจริงว่า ใน นามรูปปริจเฉท ท่านกล่าวว่า พวกมหัคคตธรรมทั้งหลาย มีความสามารถในการ ให้วิบากได้ ก็เพราะภาวะที่มีกำลัง โดยการได้ความเสพคุ้นจากธรรมที่มีภูมิเสมอกัน (คือเป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร เหมือนกันกับตน) ดังนี้ แล้วก็แสดงถึงความที่อภิญญากุศล ไม่มีการเผล็ดวิบาก เพราะไม่มีกำลัง ด้วยไม่มีความเสพคุ้นจากธรรมที่มีภูมิเสมอกัน ไว้อย่างนี้ ว่า :-
สมานาเสวเน ลทฺเธ วิชฺชมาเน มหพฺพเล
อลทฺธา ตาทิสํ เหตุํ อภิญฺญา น วิปจฺจติ
แปลว่า : เมื่อมหัคคตกุศลได้ความเสพคุ้นจากธรรมที่เสมอเหมือนกัน
ก็มีกำลังมาก ย่อมเผล็ดวิบาก อภิญญาไม่ได้เหตุที่เป็นเช่นนั้น จึงไม่ เผล็ดวิบากดังนี้.
คำว่า ได้ความเสพคุ้นจากธรรมที่เสมอกัน คือ ตนเป็นรูปาวจร หรือ อรูปาวจร ก็ได้ความเสพคุ้นจากธรรมที่มีภูมิเสมอกัน คือจากธรรมที่เป็นรูปาวจร หรือ เป็นอรูปาวจรอันเหมือนกับตน (ที่เรียกว่าได้อาเสวนปัจจัย) ได้แก่ ฌานที่เป็น ไปในฌานสมาปัตติวิถี นั่นเทียว.
คำว่า บุคคลเจริญรูปาวจรกุศล คือปฐมฌานที่เป็นปริตตะแล้ว ย่อม เกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นปาริสัชชา มีความหมายว่า บุคคลเจริญรูปาวจรกุศลชั้นปฐมฌานได้แล้ว กุศลเจตนาที่เป็นไปกับปฐมฌานนั้น ย่อมเผล็ดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิในพวกพรหมชั้นปาริสัชชา ให้สำเร็จความเป็นพรหมอยู่ในชั้นปารีสัชชา นั้น แม้คำพูดเกี่ยวกับการเจริญฌานที่เหลือได้ ก็มีนัยนี้แหละ
คำว่า เจริญปัญจมฌานแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นเวหัปผลา คือเจริญปัญจมฌานทั้ง ๓ อย่าง มีอย่างที่เป็นปริตตะเป็นต้นนั้นนั่นแหละ อย่าง ใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นเวหัปผลา ก็คำว่า “ปัญจมฌาน ในที่นี้ ได้แก่ปัญจมฌานที่ไม่ถึงความเป็นอภิญญา เพราะว่าปัญจมฌานที่ถึงความเป็นอภิญญานั้น ไม่มีวิบาก อันท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้ว (ในนามรูปปริจเฉท) ว่า : " อลทฺธา ตาทิสํ เหตุํ อภิญฺญา น วิปจฺจติ - อภิญญาไม่ได้เหตุที่เป็นเช่นนั้น จึงไม่เผล็ดวิบาก " ดังนี้.
คำว่า เจริญปัญจมฌานนั้นนั่นแหละ ที่เป็นสัญญาวิราคภาวนาแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในพวกพรหมชั้นอสัญญีสัตว์ ความว่า พวกเดียรถีย์ผู้เป็นกัมมกิริยาวาที (มีปกติกล่าวกรรมกริยา) เจริญปัญจมฌานอันเป็นภาวนาเครื่องสำรอก คือ คลายความยินดีในนามที่กล่าวถึงโดยคำว่า “สัญญา” เป็นประธาน ในอารมณ์ คือในวาโยกสิณ หรือตามมติของอาจารย์บางท่านก็ในปริฉินนากาสกสิณ โดย เกี่ยวกับเป็นความพยายามในอันยังนามให้ถึงความเกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ได้เป็นสภาพ ในภพที่จะพึงถึงด้วยภาวนานี้ ก็ภาวนานี้ ชื่อว่า ภาวนาเครื่องสํารอกความยินดี ในนาม ก็เพราะมีความเป็นไปในสันดานที่มีการเล็งเห็นโทษของนาม โดยนัยว่า “สัญญาเหมือนโรค สัญญาเหมือนฝี” ดังนี้เป็นต้น หรือโดยนัยว่า “ถุย จิต, จิต นี้หนอ ขอถ่มถุย” เป็นต้น และเล็งเห็นคุณของความไม่มีนาม ว่าสงบนัก ว่า ประณีตนัก แล้วไปเกิดในอสัญญีสัตว์ทั้งหลาย พึงเห็นว่า ผู้สำเร็จภาวนานี้ ตายในโลกมนุษย์นี้ ด้วยอิริยาบถใด, ก็ย่อมบังเกิดในอสัญญีสัตตภูมิ ด้วยอิริยาบถนั้น.
คำว่า ส่วนพระอนาคามีย่อมเกิดขึ้นในชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย ความว่า พระอริยบุคคลที่เป็นพระอนาคามีทั้งหลาย ผู้เจริญปัญจมฌาน ๓ อย่าง อย่างใด อย่างหนึ่ง มีอย่างปริตตะเป็นต้นได้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นปุถุชน หรือเป็นพระเสกขะ เบื้องต่ำ ๒ จำพวก หรือแม้ในกาลภายหลังจากการได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว ทำกาละแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในสุทธาวาสตามลำดับ ตามความต่างกันแห่งอินทรีย์ มีศรัทธาเป็นต้น อย่างนี้ คือ :
พระอนาคามีผู้ยิ่งด้วยศรัทธา ย่อมบังเกิดในพวกพรหมชั้นอวิหา
พระอนาคามีผู้ยิ่งด้วยวิริยะ ย่อมบังเกิดในพวกพรหมชั้นอตัปปา
พระอนาคามีผู้ยิ่งด้วยสติ ย่อมบังเกิดในพวกพรหมชั้นสุทัสสา
พระอนาคามีผู้ยิ่งด้วยสมาธิ ย่อมบังเกิดในพวกพรหมชั้นสุทัสสี
พระอนาคามีผู้ยิ่งด้วยปัญญา ย่อมบังเกิดในพวกพรหมชั้นอกนิฏฐา
คำว่า บุคคลเจริญอรูปฌานทั้งหลายแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในชั้นอรูปทั้งหลาย ตามลำดับ ความว่า ตามลำดับอย่างนี้ คือ : เจริญอรูปฌานที่ ๑ แล้ว ย่อมเกิดขึ้นในอรูปภูมิชั้นที่ ๑ ฯลฯ เจริญอรูปฌานที่ ๔ แล้วย่อมเกิดขึ้นในอรูปภูมิชั้นที่ ๔ ดังนี้
ก็คำพูดแม้ทั้งหมดนี้ ท่านกล่าวไว้เล็งเอาภูมิที่เป็นเฉพาะของฌานนั้น ๆ โดยตรงเท่านั้น ก็แต่ว่า บัณฑิตทราบว่า เมื่อมีกันติ คือความปรารถนาภพ โดย นัยว่า “ขอเราจงบังเกิดในภาพโน้นเถิด” ดังนี้ บุคคลทั้งหลายที่เป็นปุถุชน และที่ เป็นพระอริยบุคลชั้นต่ำกว่าพระอนาคามี ย่อมบังเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่งได้ ตาม ความปรารถนา ยกเว้นชั้นสุทธาวาส เหมือนอย่างที่พระนิยตโพธิสัตว์ จับตั้งแต่ ได้การพยากรณ์แล้ว แม้ได้อรูปฌาน ก็ไม่บังเกิดในอรูปภพ ฉะนั้น และเพราะเนื่องกับนิกันติอย่างนั้น นั่นแหละ หากว่ามีกันติในกามภพ แม้ได้ฌานก็ย่อม บังเกิดในกามภพได้ ด้วยอำนาจแห่งกามาวจรกุศลกรรม เพราะมีพระบาลีปรากฏ อยู่ว่า “อิชฺฌติ ภิกฺขเว สีลวโต เจโตปณิธิ วิสุทฺธตฺตา(องฺ.อ.๒๓/๒๕๙) - ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาแห่งจิตของบุคคลผู้มีศีลย่อมสำเร็จ เพราะความที่เธอเป็นผู้หมดจด" ดังนี้ หากว่าไม่มีความปรารถนาอย่างนั้น ฌานที่ได้ย่อมยังให้เข้าถึงพรหมโลก เมื่อเป็นผู้ได้หลายฌาน โดยมาก ฌานที่สูงสุดย่อมยังให้เข้าถึงพรหมโลกที่เป็นภูมิของฌานนั้น ส่วนพระอนาคามี ไม่มีนิกันติในกามภพเลย เพราะท่านละกามราคานุสัยได้แล้ว โดยประการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น กามาวจรกุศลกรรมที่ท่านทำไว้จึงไม่เป็นเหตุให้ท่านบังเกิดในกามภพ ย่อมบังเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่ง ตาม ฌานที่ท่านได้ ถ้าหากว่าได้ปัญจมฌาน ท่านก็ย่อมบังเกิดในชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย นั่นเทียว เพราะฉะนั้น จึงมีอันกำหนดแน่นอนได้อย่างนี้ว่า “พระอนาคามี เท่านั้น ย่อมบังเกิดในชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย” ดังนี้ แต่ไม่มีอันกำหนดแน่นอน ได้เลยว่า “ขึ้นชื่อว่า พระอนาคามี ย่อมไม่บังเกิดในภูมิอื่นจากสุทธาวาส” ดังนี้ ท่านอาจารย์ เพราะได้ทำข้อกำหนดแน่นอนไว้ในใจอย่างนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ใน ปรมัตถ์วินิจฉัย ว่า :
สุทฺธาวาเสสฺวนาคามิ ปุคฺคคลาโวปปชฺชเร
กามธาตุมฺหิ ชายนฺติ อนาคามิวิวชฺชิตา
แปลว่า : พระอนาคามีเท่านั้น ย่อมอุบัติในชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย บุคคลทั้งหลาย
เว้นพระอนาคามี ย่อมเกิดในกามธาตุ ดังนี้ เป็นต้น
ก็บัณฑิตพึงเห็นว่า พระอนาคามีเหล่านั้น แม้ว่าท่านจะเป็นสุกขวิปัสสก (ผู้มิได้เจริญสมถะ เจริญแต่วิปัสสนาซึ่งเป็นธรรมที่แห้งแล้งอย่างเดียว) ก็ย่อมทำ ฌานสมาบัติให้บังเกิดได้ในเวลาใกล้ตายโดยแน่นอนทีเดียว เพราะท่านชื่อว่า เป็น ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสมาธิได้แล้ว โดยเกี่ยวกับเป็นผู้กำจัดเสี้ยนหนามของสมาธิ คือกามราคานุสัย ได้แล้ว เพราะฉะนั้น หลังจากตาย ท่านก็ย่อมเข้าถึงพรหมโลกชั้นนั้น ๆ ตามฌานที่ท่านได้นั่นเทียว หากว่าได้ปัญจมฌาน ก็ย่อมเข้าถึง พรหมโลกชั้นสุทธาวาส แล
ในพระบาลี ปกรณ์วิภังค์ มีข้อความปรากฏอยู่อย่างนี้ว่า อฏฺฐานเมตํ อนวกาโส ยํ อิตฺถี พฺรหฺมตฺตํ กเรยย - ข้อว่าหญิงจะพึงสร้างความเป็นพรหมใด, นี้ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดังนี้ นั้น ข้อความนี้นั้น พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าว คำอธิบายไว้อย่างนี้ ว่า “ชื่อว่า ความเป็นพรหม ทรงประสงค์เอาความเป็นมหา พรหม” ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงมิได้ทรงประสงค์ความเป็นพรหมทุกจำพวก อีก อย่างหนึ่ง มีคำพูดปรากฏอยู่ในอรรถกถา ว่า “ก็หญิง เจริญฌานในโลกนี้ กระทำ กาละแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมชั้นปารีสัชชา ย่อมไม่เข้าถึงความ เป็นสหายแห่งมหาพรหม” ดังนี้ ก็ค้าที่ท่านกล่าวว่า “ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งพรหมชั่นปารีสัชชา” นี้ บัณฑิตอย่าพึ่งเห็นว่า ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งพรหมชั้นปุโรหิตเป็นต้นมิได้ เพราะหากเป็นอย่างนั้น ก็จะต้องมีคำพูด ของท่านปรากฏอยู่อย่างนี้ว่า “ย่อมไม่เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมชั้นปุโรหิต ดังนี้ ด้วยทีเดียว แต่ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น จึงพึงเห็นว่า สำหรับหญิง ท่านปฏิเสธ ความเป็นมหาพรหมเท่านั้น มิได้ปฏิเสธความเป็นพรหมในภูมือื่น เป็นความจริง ว่า หญิงผู้ได้สมาบัติ ๘ ย่อมบังเกิดในภูมิอื่นได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเนื้อความใน อุเทนสูตร ปรากฏอย่างนี้ว่า:-“สนฺเตตฺถ ภิกฺขเว อุปาสิกาโย โสตาปนฺนา สนฺติ ฯเปฯ อนิปฺผลา กาลกตา” (ขุ.อุ.๒๕/๒๐๕) แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสิกา เหล่านี้ พวกอุบาสิกาที่เป็นพระโสดาบันก็มีอยู่ ที่เป็นพระสกทาคามีก็มีอยู่ ที่เป็นพระอนาคามีก็มีอยู่ อุบาสิกาเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ไร้ผล กระทำกาละแล้ว” ดังนี้ มี อรรถกถาอธิบายอุทานสูตรตอนนี้ ไว้อย่างนี้ ว่า “ในบรรดาหญิงเหล่านั้น หญิง ที่เป็นพระอนาคามี ย่อมเกิดในชิ้นสุทธาวาสทั้งหลาย หญิงนอกนี้ บางพวกเกิด ในชั้นดาวดึงส์ บางพวกเกิดในชั้นยามา บางพวกเกิดในชั้นดุสิต บางพวกเกิดในชั้น นิมมานรดี บางพวกเกิดในชั้นปรนิมิตวสวัตดี” ดังนี้ ก็คำว่า “หญิงที่เป็นพระ อนาคามี” ในที่นี้ พึงทราบว่า หญิงที่เป็นพระอนาคามีเหล่านั้น ล้วนเป็นผู้ได้ สมาบัติ ๘ เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงพึงถึงความตกลงใจโดยอาศัยอุเทนสูตรนี้ เป็น เครื่องเทียบเคียงได้ทีเดียวว่า หญิงผู้ได้สมาบัติ ๘ ในพระศาสนา ย่อมเกิดในภูมิ อื่นจากพรหมชั้นปาริสัชชาได้ รวมความว่า เกิดได้ในมหัคคตภูมิ ๑๘ คือ ในรูป ภูมิ ๑๔ เว้นมหาพรหมและอสัญญีสัตว์ และในอรูปภูมิ ๔ ตามสมควรแก่บุคคล แก่ฌานที่ได้ และแก่นิกันติในภพ หากว่าไม่ได้ฌานก็ย่อมเกิดในกามภูมิ หรือ ว่าได้ฌานนั่นแหละ แต่ว่าตนเป็นหญิงปุถุชน หรือเป็นพระอริยบุคคลที่ต่ำกว่า พระอนาคามี ก็ย่อมเกิดในกามภูมิได้ทีเดียว ด้วยอำนาจนิกันติในกามภพ เกี่ยวเนื่องกับความเป็นผู้ยังไม่สิ้นกามราคานุสัย ฉะนี้ แล
อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความเพิ่มเติมอย่างนี้ว่า ในบรรดาภพเหล่านี้ เพราะ ความที่ภพชั้นเวหัปผลา ชั้นอกนิฏฐา และชั้นอรูปที่ ๔ เป็นภพประเสริฐสุดคือ สูงสุด เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้บังเกิดในภพเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่บังเกิดในภพอื่นอีก ย่อมสำเร็จความเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานไปในภพนั้น นั่นเที่ยว โดยนัยเดียวกันนั้น พระอริยบุคคลทั้งหลายผู้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงๆ แล้วย่อมไม่บังเกิดในพรหมโลกชั้นต่ำ ๆ อีก ข้อนี้ก็สมจริงตามที่ท่านกล่าวไว้ใน ปกรณ์ปรมัตถวินิจฉัย ว่า :
เวหปฺผเล อกนิฏฺเฐ ภวคฺเค จ ปติฏฺฐิตา
น ปุนญฺญตฺถ ชายนฺติ สพฺเพ อริยปุคฺคลา
พฺราหฺมโลกคตา เหฏฺฐา อริยา โนปปชฺชเร
แปลว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง ผู้ดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผลา ในชั้นอกนิฏฐา
และในชั้นภวัคคพรหม (ชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ) ย่อมไม่บังเกิดในพรหมโลกชั้นอื่น ๆ อีก
พระอริยบุคคลทั้งหลายผู้ถึงพรหมโลกแล้ว ย่อมไม่อุปบัติในพรหมโลกชั้นต่ำ (อีก)
----------------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ