ทองย้อย แสงสินชัย


คำสอน ๒ เรื่องที่คนไทยเอาไปอ้างผิดสุดขั้วโลก

------------------------------------------------

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่คนไทยเอาไปอ้างผิดสุดขั้วโลก ๒ เรื่อง คือ -

๑ เรื่องให้ปล่อยวาง

๒ เรื่องไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น

...........................

๑ เรื่องให้ปล่อยวาง

...........................

เรื่องนี้ คนไทยเอาไปอ้างกันว่า “พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง”

ยกตัวอย่าง มีการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา เช่น คนขึ้นไปขี่คอพระพุทธรูป คนขึ้นไปยืนบนพระเศียรพระพุทธรูป คนเอารองเท้าวางพิงพระพุทธรูปโฆษณาขายรองเท้า คนทำโถปัสสาวะเป็นพระพักตร์พระพุทธรูป ฯลฯ

เมื่อมีภาพดังกล่าวนี้เผยแพร่ออกมาให้สาธารณชนเห็น แล้วมีชาวพุทธออกมาแสดงความไม่พอใจเอะอะขึ้นมาด้วยประการต่างๆ

ก็จะมีท่านจำพวกนี้ออกมาบอกว่า “พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง” ใครเอะอะอะไรมากเข้าก็จะถูกตำหนิว่า ไม่รู้จักปล่อยวาง

ความหมายของคำบอกนี้ก็คือ ไม่ต้องไปว่าอะไรใครเขา ควรปล่อยให้เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นผ่านไปเฉยๆ อยู่กันเฉยๆ เงียบๆ ไม่ต้องไปทำอะไร 

เฉพาะเรื่องดูหมิ่นพระพุทธรูป นอกจากจะบอกให้ปล่อยวางแล้ว ยังแถมให้ด้วยว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสาวกให้สร้างรูปเคารพ ถ้าเราไม่สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา คนที่ทำกิริยาดูหมิ่นจะมาทำอะไรที่ไหนได้

เลยกลายเป็นความผิดของชาวพุทธเองที่สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา และเท่ากับช่วยปกป้องคนที่ทำกิริยาดูหมิ่นไปโดยปริยาย

นี่ยกตัวอย่างเรื่องดูหมิ่นพระพุทธรูปเรื่องเดียว เรื่องอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้ คือเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ท่านก็ออกมาบอกให้ปล่อยวางทุกเรื่อง

ความจริงท่านก็คงมีเจตนาดี แต่วิธีพูดบอกของท่านไม่ชัด-ซึ่งก็คือเอามาอ้างผิด

ที่ถูกก็คือ “ปล่อยวาง” เป็นกิจของการทำใจ หมายถึงไม่ให้เอาใจเข้าไปยึดกับเรื่องที่เกิดขึ้นจนเกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ ความทุกข์ความวุ่นวายใจก็จะไปลดทอนความคิดจิตใจที่จะคิดแก้ปัญหา และบั่นทอนศักยภาพที่จะดำเนินการแก้ปัญหา

ใจปล่อยวางได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ทำอะไรได้ก็ควรทำ ถ้ามีตำแหน่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ก็ไม่ใช่แค่ “ควรทำ” แต่ “ต้องทำ” เลยทีเดียว ตรงนี้แหละที่ต้องเข้าใจให้ถูก

ญาติมิตรเจ็บป่วย ใจเราไม่มัววิตกหมกมุ่นทุกข์ร้อน นี่คือปล่อยวาง 

จะรักษาพยาบาลกันอย่างไร หาวิธี หาทาง ขวนขวายจัดแจง มีทางเยียวยาดูแลได้อย่างไร ทำเต็มที่เต็มความสามารถ นี่คือไม่ปล่อยปละละเลย

ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ไม่ทำอะไร แล้วก็อ้างว่า “พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง”

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง

แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้ปล่อยปละละเลย

...........................

๒ เรื่องไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น

...........................

เวลามีใครทำอะไรไม่ถูกต้อง หรือทำอะไรที่ไม่ควรทำ หรือควรทำแต่กลับไม่ทำ คนไทยมักจะอ้างกันว่า “พระพุทธเจ้าท่านสอนให้สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง ไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น”

ต่อจากนั้น ถ้าใครหยิบยกเอาเรื่องที่ทำไม่ถูกต้องดังกล่าวนั้นขึ้นมาพูด ก็จะถูกมองว่า ชอบจับผิดชาวบ้าน แล้วคำตำหนิก็จะพรั่งพรูออกมาเป็นขบวน - ว่างมากนักหรือไง ไม่มีอะไรจะทำแล้วรึ ตัวเองดีนักแล้วรึ ตัวเองเก่งนักละสิ ฯลฯ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้อง หรือทำอะไรที่ไม่ควรทำ หรือควรทำแต่กลับไม่ทำ เราก็จะไม่ทักท้วง ไม่ยุ่งด้วย ไม่สนใจ พากันปล่อยปละละเลยไปหมดสิ้น

................................................

ประจักษ์พยานชัดๆ ที่เห็นทางเฟซบุ๊กนี้ก็คือ การใช้ภาษา

เขียนผิด สะกดผิด 

ยกคำบาลีมาอ้าง แต่อ้างผิด 

ใช้คำผิดความหมาย

ผูกประโยคประธานผิดหลักภาษา

กับ แก่ แต่ ต่อ ก็ และ หรือ ฯลฯ ใช้สับสนปนเปไร้ระเบียบ 

คนเขียนก็ไม่รู้ว่าตนเขียนผิด

คนอ่านก็ไม่สนใจที่จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

เห็นการใช้ภาษาผิดๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาไปหมดสิ้น

จนกระทั่งมีคนตั้งทฤษฎี-ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ คนอ่านรู้ว่าสื่ออะไร จบ ไม่มีถูกไม่มีผิด

................................................

วันนี้เริ่มเป็นเฉพาะเรื่องภาษา 

แต่วันหน้าจะลามไปทุกเรื่อง

วันหน้า คนทำชั่วทำผิดก็จะไม่มีใครทักท้วงใคร

การทำชั่วทำผิด คนจะเห็นเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครเห็นว่าเป็นชั่วเป็นผิด และจะทำกันทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา 

ถึงตอนนั้นก็จะมีคนออกมาตั้งทฤษฎีว่า-พฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องสมมุติ ผิดถูกชั่วดีไม่มีอยู่จริง

....................

เราอ้างกันว่า “พระพุทธเจ้าท่านสอนให้สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง ไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น” แล้วจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร?

คำที่เอาไปอ้างว่า “พระพุทธเจ้าท่านสอนให้สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง ไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น” มาจากพุทธภาษิตบทนี้ -

................................................

        น ปเรสํ วิโลมานิ            น ปเรสํ กตากตํ 

        อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย      กตานิ อกตานิ จ. 

         ไม่ควรใส่ใจคำด่าว่าของคนอื่น 

ไม่ควรแส่หาว่าใครทำอะไรไม่ทำอะไร 

ตนเองนั่นแหละที่ควรพิจารณา 

ว่าทำอะไรไปบ้างและยังไม่ได้ทำอะไร

ที่มา: ปุปผวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๔

................................................

ต้นเหตุมาจากสตรีคนหนึ่งกำลังฟังเทศน์ แล้วถูกคนด่า เลยฟังเทศน์ไม่รู้เรื่อง พระพุทธองค์จึงตรัสพุทธภาษิตบทนี้

จะเห็นได้ว่า พุทธภาษิตบทนี้สอนวิธีทำใจเมื่อโดนด่า

คือไม่ให้ใส่ใจคำด่า แต่ให้มุ่งมั่นทำสิ่งกำลังทำให้สำเร็จลุล่วงไป

แต่ที่สำคัญ พุทธภาษิตบทนี้ไม่ได้สอนให้เพิกเฉยดูดายต่อสิ่งถูกผิดที่มีคนทำขึ้นในสังคม

พุทธภาษิตบทนี้ควรศึกษาควบคู่ไปกับพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งที่ตรัสสอนให้ใส่ใจคำเตือน 

โปรดสดับ -

................................................

นิธีนํว  ปวตฺตารํ              ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวึ       ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช

ตาทิสํ  ภชมานสฺส          เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย.

พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ 

ท่านผู้คอยกำราบ มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้น พึงคบหาเถิด 

เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ หามีโทษเลวทรามไม่

ที่มา: บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

................................................

เห็นอะไรผิดแล้วปล่อยปละละเลย-ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็ตาม ท่านอุปมาว่า-เหมือนช่วยกันทิ้งขยะไว้ในสังคม

ที่น่าเจ็บปวดคือ-ยังช่วยกันอ้างอีกว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำแบบนั้น

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕

๑๙:๒๑

[full-post]

คำสอนที่คนไทยเข้าใจผิด

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.