ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,831)


ศิวนาฏราช

อ่านว่า สิ-วะ-นาด-ตะ-ราด

ประกอบด้วยคำว่า ศิว + นาฏ + ราช

(๑) “ศิว” 

บาลีเป็น “สิว” อ่านว่า สิ-วะ รากศัพท์มาจาก -

(1) สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ว ปัจจัย

: สิ + ว = สิว แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันผู้กลัวภัยในสงสารพึงซ่องเสพ”

(2) สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ริว ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ ริว (ริว > อิว)

: สมฺ + ริว = สมริว > สริว > สิว แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันสงบระงับ”

(3) สิว (ความเกษม) + อ (อะ) ปัจจัย

: สิวํ (เขมภาวํ กโรตีติ) + อ = สิวํ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ทำความเกษม”

“สิว” ตามความหมายนี้หมายถึง สิวธรรม คือพระนิพพาน

(4) สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ว ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ส-(มฺ) เป็น อิ (ส > สิ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (สมฺ > ส)

: สมฺ > สิม > สิ + ว = สิว แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ระงับความทุกข์ได้” หมายถึง สิ่งที่ประเสริฐ, ความดี, มงคล 

(5) สิ (ธาตุ = คบหา) + ว ปัจจัย

: สิ + ว = สิว แปลตามศัพท์ว่า (1) “เทพเจ้าอันผู้ปรารถนาประโยชน์สุขเข้าไปหา” (2) “เทพเจ้าผู้เป็นที่เสพสมแห่งเจ้าแม่ผู้ดุร้าย” หมายถึง พระศิวะ

“สิว” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) เป็นมงคล, มีสุข, มีโชคดี, ได้รับพร (auspicious, happy, fortunate, blest)

(2) ผู้บวงสรวงพระศิวะ (a worshipper of the god Siva)

(3) ความสุข, ความสำราญ (happiness, bliss)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศิว” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ศิว : (คำคุณศัพท์) ‘ศิวะ,’ ศรีมัต, มีศรีหรือความรุ่งเรือง, สุขิน, มีสุขหรือเปนสุข; prosperous, happy.

(2) ศิว : (คำนาม) ‘ศิวะ,’ พระศิวะ; ปรมคติ; เสาหรือหลักที่บุทคลผูกโคไว้; ศุภนักษัตรโยค; เวท, พระเวท; นักษัตรกาลอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าโยค; ปรอท; องคชาตของชาย; พระศิวลิงค์; สุข, สันโดษหรือประโมท; มงคล; น้ำ; เกลือทะเลหรือเกลือสินเธาว์; น้ำประสานทอง; ต้นศมี; ศุนักป่า; the deity Śiva; final emancipation from existence, or eternal happiness; a pillar or post to which cattle are tied; an auspicious planetary conjunction; scripture, the Vedas; one of te astronomical periods termed Yogas; quicksilver; the penis; the phallic emblem of Śiva; happiness, pleasure; auspiciousness; water; sea or rock salt; borax; the Sami tree; a jackal.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศิว-, ศิวะ : (คำนาม) พระอิศวร; พระนิพพาน. (ส.; ป. สิว).”

(๒) “นาฏ” 

บาลีอ่านว่า นา-ตะ รากศัพท์มาจาก นฏฺ (ธาตุ = ฟ้อนรำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ น-(ฏฺ) เป็น อา (นฏฺ > นาฏ)

: นฏฺ + ณ = นฏณ > นฏ > นาฏ 

“นาฏ” ถ้าแปลตามศัพท์ว่า “การฟ้อนรำ” เป็นนปุงสกลิงค์

“นาฏ” ถ้าแปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟ้อนรำ” เป็นปุงลิงค์

มีคำขยายความว่า -

“นจฺจํ  วาทิตํ  คีตํ  อิติ  อิทํ  ตูริยตฺติกํ นาฏนาเมนุจฺจเต = การดนตรี 3 ประการนี้ คือ การฟ้อนรำ การบรรเลง การขับร้อง เรียกโดยชื่อว่า นาฏะ” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“นาฏ, นาฏ- : (คำนาม) นางละคร, นางฟ้อนรํา, ใช้ประกอบกับคําอื่น หมายความว่า หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ นุชนาฏ. (ป., ส.).”

“นาฏ” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“นาฏ : (คำนาม) การฟ้อนรำ, การเต้นรำ, การเล่น (เช่นลครเปนอาทิ); แคว้นกรรณาฏ; dancing, acting; the Carnatic.”

ในบาลีมีคำว่า “นาฏก” (นา-ตะ-กะ) อีกคำหนึ่ง หมายถึง -

(1) นักฟ้อน, นักแสดง, ตัวละคร (a dancer, actor, player)

(2) ละคร, ละครจำพวกออกท่าทาง แต่ไม่เจรจา (a play, pantomime)

“นาฏก” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“นาฏก : (คำนาม) ผู้แสดงบทลคร, ตัวลคร, ผู้เล่น; การแสดง (หรือเล่นลคร), การฟ้อนรำ; การเล่น, ลคร; เทพสภาหรือเทพสถานของพระอินทร์; a actor, acting, dancing; a play, a drama; the court of Indra.”

(๓) “ราช”

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก -

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา 

: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ) 

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”

“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ราช ๑, ราช- : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

การประสมคำ :

๑ นาฏ + ราช = นาฏราช แปลว่า “พระราชานักฟ้อน” “เจ้าแห่งนักฟ้อน”

๒ ศิว + นาฏราช = ศิวนาฏราช แปลว่า “พระศิวะผู้เป็นราชานักฟ้อน” “พระศิวะเจ้าแห่งนักฟ้อน” หมายถึง พระศิวะปางรำฟ้อน

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “ศิวนาฏราช” (อ่านเมื่อ 8 ธันวาคม 2565 เวลา 20:30 น.) มีข้อความบางตอนดังนี้ -

..............

ศิวนาฏราช เป็นปางหนึ่งของพระศิวะ เป็นบรมครูของศิลปะการร่ายรำหรือนาฏยศาสตร์ของอินเดีย ความเชื่อว่าการเต้นรำของพระศิวะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของการสร้างโลกและมนุษย์ ศิวนาฏราชจะปรากฏในท่าย่างสามขุม (ตรีวิกรม) ซึ่งเป็น 1 ใน 108 ท่าที่ออกแบบโดยพระศิวะ โดยมีสัญลักษณ์ที่พระกรขวาถือกลองคือการสร้างโลก พระกรซ้ายมีเปลวเพลิงล้อมเป็นกรอบคือการสิ้นสุดที่ไฟจะเผาผลาญโลก พระศิวะได้ทรงพนันกับพระอุมาว่าโลกที่สร้างใหม่แข็งแรงหรือไม่ โดยพระศิวะทรงยืนขาเดียวบนก้อนหินโดยที่ขาต้องไม่ตก ในขณะที่พญานาคแกว่งลำตัววิดน้ำในมหาสมุทรให้สะเทือน พระศิวะทรงชนะ พระองค์ทรงสร้างโลกใหม่ด้วยการเต้นรำบนก้อนหินนั้น ในระหว่างที่ทรงเต้นรำเกิดเปลวไฟและน้ำหลั่งไหลจากพระวรกายกลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต ...

..............

ดูก่อนภราดา!

: อย่าบังคับความจริงให้ตรงกับที่เราเชื่อ

: แต่จงปรับความเชื่อให้ตรงกับความจริง

[full-post]

ศิวนาฏราช

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.