สามเรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดสุดขั้วโลก

--------------------------------------

เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดสุดขั้วโลกมีอยู่ ๓ เรื่อง อาจจะมีมากกว่านี้ แต่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เท่าที่ผมพิจารณาเห็นตอนนี้มีอยู่ ๓ เรื่อง คือ

๑ เรื่องสังฆทาน

๒ เรื่องธุดงค์

๓ เรื่องปฏิบัติธรรม

------------------

๑ เรื่องสังฆทาน

------------------

คนไทยเข้าใจว่า “สังฆทาน” คือสิ่งของชนิดหนึ่ง

เอาสิ่งของชนิดนั้นไปถวายพระ-พระรูปไหนก็ได้-นั่นแหละคือ “ถวายสังฆทาน” หรือ “ทำสังฆทาน”

ข้อเท็จจริง: “สังฆทาน” คือการตั้งใจถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์-ของอะไรก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภค คือพระฉันได้ใช้ได้ และต้องถวายให้ถึงสงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่พระรูปไหนก็ได้อย่างที่เข้าใจกันผิดๆ

คำว่า “ถวายแก่พระรูปไหนก็ได้” ที่เข้าใจกันผิดๆ ก็คือ เอาสิ่งของที่เรียกกันผิดๆ ว่า “สังฆทาน” ไปถวายหลวงพ่อเจ้าอาวาสหรือพระที่ตนศรัทธาเลื่อมใสเป็นส่วนตัว แบบนี้ก็เข้าใจกันว่า “ถวายสังฆทาน” นี่คือเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

แต่ถ้า “พระรูปไหนก็ได้” มาทำหน้าที่รับของถวายในฐานะเป็น “ผู้แทนสงฆ์” รับแล้วนำของนั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่อแบ่งแจกกันตามพุทธานุญาต อย่างนี้ถูกต้อง ใช้ได้ เป็นสังฆทาน

แต่ไม่ได้เป็น “สังฆทาน” ที่ตัวของถวาย อย่างที่เข้าใจกันผิดสุดขั้วโลกอยู่ในเวลานี้

เอาของที่เรียกว่า “สังฆทาน” ไปถวายพระองค์ไหนก็ได้ให้เป็นของส่วนตัวของท่าน แบบนั้นไม่ใช่สังฆทาน ไม่เป็นสังฆทาน

เอาของอะไรก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภคไปถวายโดยตั้งเจตนาให้เป็นของสงฆ์ คือให้ภิกษุทั้งปวงมีสิทธิ์ฉันมีสิทธิ์ใช้เสมอกัน แบบนี้จึงจะใช่สังฆทาน จึงจะเป็นสังฆทาน

การถวายสิ่งของแก่พระมี ๒ แบบ คือ -

แบบหนึ่ง ถวายให้เป็นของส่วนตัว เรียกว่า “บุคลิกทาน” (คำเต็มว่า “ปาฏิบุคลิกทาน”)

แบบหนึ่ง ถวายให้เป็นของส่วนรวม คือให้ภิกษุทั้งปวงมีสิทธิ์ฉันมีสิทธิ์ใช้เสมอกัน เรียกว่า “สังฆทาน”

------------------

๒ เรื่องธุดงค์

------------------

คนไทยเข้าใจว่า พระแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามที่ต่างๆ นั่นคือ “ธุดงค์”

เห็นพระปักกลดพำนักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง คนไทยก็จะเรียก จะพูด หรือจะบอกกันทันทีว่า “พระธุดงค์”

ข้อเท็จจริง: ธุดงค์ คือข้อปฏิบัติบางประการที่กำหนดขึ้นเพื่อขจัดขัดเกลาความมักมากอยากเสพสุขเกินพอดีตามวิถีชีวิตสงฆ์

ข้อปฏิบัติที่เรียกว่า “ธุดงค์” มี ๑๓ ข้อ ดังนี้ -

๑. ปังสุกูลิกังคะ นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เก็บผ้ามาตัดเย็บย้อมทำขึ้นใช้เอง ไม่ใช้จีวรสำเร็จรูป (refuse-rag-wearer’s practice)

๒. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเฉพาะ ๓ ผืนที่เรียกไตรจีวร ไม่มีผ้าอื่นเกินไปจากนี้ (triple-robe-wearer’s practice)

๓. ปิณฑปาติกังคะ ฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา ไม่รับนิมนต์ไปฉันที่ใดๆ (alms-food-eater’s practice)

๔. สปทานจาริกังคะ รับบิณฑบาตตามลำดับที่มีผู้ใส่บาตร ไม่เลือกรับเฉพาะราย (house-to-house-seeker’s practice)

๕. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว คือเมื่อลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกตลอดวันนั้น (one-sessioner’s practice)

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นอีก (bowl-food-eater’s practice)

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ฉันอาหารตามปริมาณที่กำหนด คือตั้งใจฉันเท่าไรก็เท่านั้น ไม่รับอาหารเพิ่มอีก (later-food-refuser’s practice)

๘. อารัญญิกังคะ พักอาศัยเฉพาะในป่า ห่างบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น (forest-dweller’s practice)

๙. รุกขมูลิกังคะ พักอาศัยเฉพาะที่โคนไม้ ไม่พักที่อื่น (tree-rootdweller’s practice)

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ พักอาศัยอยู่กลางแจ้ง ไม่เข้าที่มุงบัง (open-air-dweller’s practice)

๑๑. โสสานิกังคะ พักอาศัยอยู่ในป่าช้า (charnel-ground-dweller’s practice)

๑๒. ยถาสันถติกังคะ ไปพักที่ไหน เขาจัดที่พักให้อย่างไรก็อยู่ตามนั้น ไม่ต่อรองเลือกที่ (any-bed-user’s practice)

๑๓. เนสัชชิกังคะ อยู่ด้วย ๓ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน (sitter’s practice)

(ภาษาอังกฤษในวงเล็บจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)

ทั้ง ๑๓ ข้อ ไม่มีข้อไหนเลยที่กำหนดว่า แบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามที่ต่างๆ เป็นธุดงค์

------------------

๓ เรื่องปฏิบัติธรรม

------------------

คนไทยเข้าใจว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็คือ ต้องไปที่วัดหรือสำนักที่มีกิจกรรมปฏิบัติธรรม แต่งชุดขาว กินตามเวลา นอนตามเวลา ปฏิบัติกิจต่างๆ ตามวิธีและตามรูปแบบที่วัดหรือสำนักนั้นกำหนด ๓ วัน ๕ วัน หรือ ๗ วัน หรือกี่วันก็แล้วแต่ ครบกำหนดแล้วก็กลับบ้านได้ แล้วก็เข้าใจว่า แบบนั้นแหละคือ “ปฏิบัติธรรม”

ปฏิบัติธรรมที่คนไทยเข้าใจ คือแบ่งเวลาออกจากชีวิตประจำวัน

ข้อเท็จจริง: ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงชีวิตประจำวัน กล่าวโดยรวบยอดคือ ทำพูดคิดทุกอย่างโดยมีสติกำกับจิตตลอดเวลา รู้เท่าทันสภาวะต่างๆ ตามความเป็นจริง

จะแต่งชุดขาวหรือไม่ขาวก็ปฏิบัติได้

จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ปฏิบัติได้-เมื่อฝึกจนรู้วิธีปฏิบัติแล้ว

ขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ปฏิบัติธรรมตามวัดหรือตามสำนัก ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน นั่นคือแบบฝึกเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ 

แบบฝึกเป็นสิ่งจำเป็น ต้องฝึกทำให้ถูก แต่เมื่อทำถูกทำเป็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำแบบฝึกอีก หากแต่ทำจริงๆ ในชีวิตจริงกันเลย และไม่ต้องแยกออกจากชีวิตประจำวัน ปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ในชีวิตประจำวัน

แบบฝึก เหมือนห่วงยาง จำเป็นสำหรับคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น

ว่ายน้ำเป็นแล้ว ไม่ต้องใช้ห่วงยาง

คนไทยปฏิบัติธรรมเหมือนคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็นตลอดกาล

หัดว่ายน้ำเพื่อจะได้ว่ายน้ำเป็น ไม่ใช่หัดว่ายน้ำตลอดชีวิต

กิจกรรมปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ยังจำเป็นต้องมี เพราะคนที่ไม่รู้วิธีปฏิบัติธรรมยังมีอยู่ 

อุปมาเหมือนวิธีหัดว่ายน้ำ-ไม่ว่าจะหัดหรือสอนด้วยวิธีใดๆ-ยังจำเป็นต้องมี เพื่อฝึกสอนคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นให้ว่ายน้ำเป็น แต่ต้องมีเป้าหมายที่-สอนให้ว่ายน้ำเป็นแล้วไม่ต้องมาหัดว่ายน้ำอีก ไปว่ายจริงๆ เลย

กิจกรรมปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ยังจำเป็นต้องมี เพื่อฝึกสอนคนที่ยังปฏิบัติไม่เป็นให้ปฏิบัติเป็น แต่ต้องมีเป้าหมายที่-สอนให้ปฏิบัติเป็นแล้วไม่ต้องมาฝึกปฏิบัติอีก ไปปฏิบัติจริงๆ ได้เลย

.....................

หลักที่ถูกต้องของเรื่องทั้ง ๓ นี้มีแสดงไว้โดยเปิดเผย หาอ่านหาศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องได้ไม่ยาก 

ไม่ต้องมาทะเลาะกับผมนะครับ

-----------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๘ ธันวาคม ๒๕๖๕

๑๙:๕๕

[full-post]

ปฏิบัติธรรม, ธุดงค์, สังฆทาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.