ทองย้อย แสงสินชัย
ฆ่ามนุษย์
----------
ชาวบ้านฆ่าคน มีความผิดตามกฎหมาย โทษสูงสุดคือประหารชีวิต
มีคนหลายกลุ่มรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกโทษประหารชีวิต อ้างว่าเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อน ไม่สมกับโลกที่เจริญแล้ว
พูดให้เห็นภาพชัดๆ - ช่วยกันปกป้องคนที่ฆ่าคนไม่ให้ถูกฆ่า
ผมเคยชี้ให้เห็นมุมที่ไม่มีใครมอง นั่นคือ ตอนที่เหยื่อถูกฆ่า ถ้ามีคนออกมาช่วยปกป้องแบบนี้บ้างก็จะเป็นพระคุณยิ่งนัก
ตอนเหยื่อถูกฆ่า ไม่มีใครออกมาช่วยปกป้อง
แต่พอคนฆ่าจะถูกฆ่า มีคนออกมาปกป้อง
อันนี้ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับโทษประหารนะครับ
แต่แปลว่า เราน่าจะช่วยกันหาวิธีปกป้องเหยื่อให้มาก-มากเท่ากับที่พยายามปกป้องคนที่จะถูกลงโทษประหาร
แต่ข้อจำกัดก็คือ ตอนที่ใครกำลังจะฆ่าใคร เราไม่รู้ เราก็เลยอ้างได้ว่า-ไม่รู้จะช่วยปกป้องได้อย่างไร ถ้ารู้ล่วงหน้า คงไม่มีใครนิ่งดูดายหรอก
ก็นั่นแหละครับที่ผมอยากจะบอก คือ ถ้าเราสามารถหาวิธีปกป้องคนที่จะถูกลงโทษประหารได้ เราก็ควรจะต้องสามารถหาวิธีปกป้องเหยื่อได้ด้วยเช่นกัน
.......................................................
ใครกำลังจะฆ่าใคร มีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นทันที
ใครคิดเครื่องมือชนิดนี้ขึ้นมาได้ ขอกราบคารวะไปสามโลกเลยจริงๆ
.......................................................
ที่ว่ามานี้เป็นการนำร่อง เรื่องที่ต้องการจะพูดก็คือ อาบัติปาราชิก ๔ ข้อ ภิกษุล่วงละเมิดเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ มีข้อหนึ่งเป็นปาราชิกข้อที่ ๓ บัญญัติว่า ภิกษุฆ่าคน ต้องอาบัติปาราชิก
เท่าที่เข้าใจกันทั่วไป “คน” ในที่นี้ก็คือมนุษย์ที่คลอดแล้วมีชีวิตอยู่ได้ ภิกษุไปทำให้มนุษย์คนนั้นตาย นั่นแหละต้องอาบัติปาราชิก
โปรดทราบว่า แบบนั้นก็ถูก แต่ถูกไม่หมด
ศีลข้อนี้มีคำจำกัดความที่ลึกลงไปกว่าที่เราเข้าใจกันทั่วไป
ถ้าจะให้พื้นความเข้าใจแน่นขึ้น ควรเริ่มด้วยการศึกษาตัวบทในพระวินัยปิฎก
ถ้าไม่รู้ว่าจะไปหาตัวบทอ่านได้ที่ไหน ก็นี่แหละครับหน้าที่ของนักเรียนบาลี
นักเรียนบาลีท่านใดยังไม่เคยคิดจะทำหน้าที่นี้ ขออาราธนา เชิญชวน กราบไหว้ วิงวอน ขอร้อง ให้เริ่มคิดได้แล้วนะขอรับ
อย่ารอให้ทองย้อยทำก่อน แล้วก็ปล่อยให้ทองย้อยทำอยู่คนเดียว
ตัวบทในพระวินัยปิฎกท่านว่าไว้ดังนี้ครับ -
.......................................................
โย ปน ภิกฺขุ สญฺจิจฺจ มนุสฺสวิคฺคหํ ชีวิตา โวโรเปยฺย สตฺถหารกํ วาสฺส ปริเยเสยฺย มรณวณฺณํ วา สํวณฺเณยฺย มรณาย วา สมาทเปยฺย อมฺโภ ปุริส กึ ตุยฺหิมินา ปาปเกน ทุชฺชีวิเตน มตนฺเต ชีวิตา เสยฺโยติ อิติจิตฺตมโน จิตฺตสงฺกปฺโป อเนกปริยาเยน มรณวณฺณํ วา สํวณฺเณยฺย มรณาย วา สมาทเปยฺย อยมฺปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส ฯ
(โย ปะนะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปยยะ สัตถะหาระกัง วาสสะ ปะริเยเสยยะ มะระณะวัณณัง วา สังวัณเณยยะ มะระณายะ วา สะมาทะเปยยะ อัมโภ ปุริสะ กิง ตุยหิมินา ปาปะเกนะ ทุชชีวิเตนะ มะตันเต ชีวิตา เสยโยติ อิติจิตตะมะโน จิตตะสังกัปโป อะเนกะปะริยาเยนะ มะระณะวัณณัง วา สังวัณเณยยะ มะระณายะ วา สะมาทะเปยยะ อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส ฯ)
ที่มา: ตติยปาราชิกกัณฑ์ มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๘๐
.......................................................
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๔๔ ว่า -
.......................................................
อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะนำ [ชีวิต] เสีย ให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย มีประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันชั่วนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตใจ มีจิตดำริอย่างนี้ พรรณนาคุณแห่งความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
.......................................................
และทรงแปลไว้ในหนังสือ นวโกวาท สั้นๆ พระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรีว่า -
.......................................................
ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก
.......................................................
คำว่า “มนุษย์” ในตัวบทใช้คำบาลีว่า “มนุสฺสวิคฺคห” แปลกันว่า “กายมนุษย์”
ในพระวินัยปิฎกให้คำจำกัดความคำว่า “มนุสฺสวิคฺคห” ไว้ดังนี้ -
.......................................................
มนุสฺสวิคฺคโห นาม ยํ มาตุกุจฺฉิสฺมึ ปฐมํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ ปฐมํ วิญฺญาณํ ปาตุภูตํ ยาว มรณกาลา เอตฺถนฺตเร เอโส มนุสฺสวิคฺคโห นาม ฯ
ที่ชื่อว่า มนุสสวิคคหะ หมายถึง จิตแรกเกิดขึ้น คือปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดาตราบเท่าถึงกาลเป็นที่ตาย อัตภาพในระหว่างนี้ชื่อว่า มนุสสวิคคหะ
ที่มา: ตติยปาราชิกกัณฑ์ มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๘๑
.......................................................
กระบวนการเกิด “ปฐมวิญญาณ” หรือกำเนิดชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ในมหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๔๕๒ ว่า กระบวนการกำเนิดมนุษย์มีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ -
(๑) มาตาปิตโร สนฺนิปติตา โหนฺติ. = มารดาบิดาร่วมเสพสังวาสกัน
(๒) มาตา อุตุนี โหติ. = มารดามีระดู (คือมีไข่สุกในระยะพร้อมที่จะผสม)
(๓) คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ. = มีคันธัพพะ (คือปฏิสนธิวิญญาณ) เข้ามาปรากฏเฉพาะหน้า
เมื่อองค์ประกอบทั้ง ๓ ครบแล้ว เริ่มต้นชีวิตจะเป็น “กลละ” ซึ่งหมายถึงหยาดน้ำขนาดเล็กมาก พูดพอให้เข้าใจได้ก็คือ sperm ของฝ่ายชายที่เข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงนั่นเอง
ในอินทกสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๘๐๓ มีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้ -
.......................................................
ปฐมํ กลลํ โหติ กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน
ฆนา ปสาขา ชายนฺติ เกสา โลมา นขาปิ จ ฯ
(ปะฐะมัง กะละลัง โหติ กะละลา โหติ อัพพุทัง
อัพพุทา ชายะเต เปสิ เปสิ นิพพัตตะตี ฆะโน
ฆะนา ปะสาขา ชายันติ เกสา โลมา นะขาปิ จะ ฯ)
ร่างกายนี้เกิดเป็นกลละ (ต่อมน้ำ) ก่อนจากกลละเป็นอัพพุทะ (เมือก)
จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ (ชิ้นเนื้อ) จากเปสิเกิดเป็นฆนะ (ก้อนเนื้อ)
จากฆนะเกิดเป็นปสาขา (ห้าปุ่ม) (ต่อจากนั้น) จึงมีผม ขน และเล็บ ...
.......................................................
ในพระวินัยระบุไว้ชัดเจนว่า “กลละ” นี้แหละคือ “ปฐมวิญญาณ” เป็น “ชีวิตมนุษย์” หรือ “กายมนุษย์” ที่สมบูรณ์แล้ว
ในอาบัติปาราชิกข้อ ๓ ที่บัญญัติว่า “ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก” ท่านนับความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ยังเป็น “กลละ” เป็นต้นไป ไม่ได้นับตั้งแต่คลอดออกมาแล้วรอดชีวิตตามหลักกฎหมายอย่างที่มักเข้าใจกัน
หมายความว่า ถ้าภิกษุจงใจทำแท้งให้สตรีตั้งแต่เด็กในท้องยังเป็นเพียง “กลละ” เท่านั้น ก็เป็นอันทำปาณาติบาตคือฆ่ามนุษย์ เป็นปาราชิกทันที
ตอบปัญหา-การทำแท้ง พระพุทธศาสนาว่าอย่างไร-ไปด้วยในตัว
-----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๙:๕๒
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ