ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,849)
สมาธิสัมโพชฌงค์ - 1 ในโพชฌงค์ 7
อ่านว่า สะ-มา-ทิ-สำ-โพด-ชง
ประกอบด้วยคำว่า สมาธิ + สัมโพชฌงค์
(๑) “สมาธิ”
บาลีอ่านว่า สะ-มา-ทิ รากศัพท์มาจาก -
(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธา (ธาตุ = ตั้งขึ้น, ยกขึ้น) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา (ธา > ธ)
: สํ > สม + อา = สมา + ธา = สมาธา > สมาธ + อิ = สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งจิตไว้ด้วยดีในอารมณ์เดียว”
(2) สมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อาธิ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อุ ที่ สมุ (สมุ > สม)
: สมุ > สม + อาธิ = สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังความฟุ้งซ่านแห่งจิตให้สงบ”
“สมาธิ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความสงบ, จิตตั้งมั่น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “สมาธิ” ว่า concentration; a concentrated, self-collected, intent state of mind and meditation, which, concomitant with right living, is a necessary condition to the attainment of higher wisdom and emancipation. (การสำรวมใจ; สมาธิ, ความตั้งใจแน่วแน่และสำรวมตั้งตนกับสมาธิ ซึ่งร่วมกับสัมมาอาชีวะ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุปัญญาชั้นสูงขึ้นและความหลุดพ้น)
ในภาษาไทย คำว่า “สมาธิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -
“สมาธิ : (คำนาม) ความตั้งมั่นแห่งจิต; ความสํารวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง. (ป., ส.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “สมาธิ” ไว้ว่า -
..............
สมาธิ : ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, ภาวะที่จิตตั้งเรียบแน่วอยู่ในอารมณ์คือสิ่งอันหนึ่งอันเดียว, มักใช้เป็นคำเรียกง่ายๆ สำหรับอธิจิตตสิกขา; (ข้อ ๒ ในไตรสิกขา, ข้อ ๔ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๔ ในพละ ๕, ข้อ ๖ ในโพชฌงค์ ๗)
..............
“สมาธิ” เรียกตามอาการแยกออกไปอีกหลายชื่อ ขอนำคำอธิบายในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ -
(1) ขณิกสมาธิ: สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่วคราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้ (ขั้นต่อไป คือ อุปจารสมาธิ)
(2) อุปจารสมาธิ: สมาธิจวนจะแน่วแน่, สมาธิที่ยังไม่ดิ่งถึงที่สุด เป็นขั้นทำให้กิเลสมีนิวรณ์เป็นต้นระงับ ก่อนจะเป็นอัปปนา คือถึงฌาน
(3) อัปปนาสมาธิ: สมาธิแน่วแน่, จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน
(4) สุญญตสมาธิ: สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ
(5) อนิมิตตสมาธิ: สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต คือ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ
(6) อัปปณิหิตสมาธิ: การเจริญสมาธิที่ทำให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ
..............
(๒) “สัมโพชฌงค์”
อ่านว่า สำ-โพด-ชง เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโพชฺฌงฺค” อ่านว่า สำ-โพด-ชัง-คะ แยกศัพท์เป็น สมฺโพชฺฌ + องฺค
(ก) “สมฺโพชฺฌ” อ่านว่า สำ-โพด-ชะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + พุธฺ (ธาตุ = รู้, ตื่น, เบ่งบาน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ธ ที่ (พุ)-ธฺ กับ ย เป็น ชฺฌ, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: สํ + พุธฺ = สํพุธฺ + ณฺย = สํพุธณฺย > สํพุธฺย > สมฺพุธฺย > สมฺพุชฺฌ > สมฺโพชฺฌ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อม” “เครื่องรู้พร้อม” หมายถึง ปัญญาเครื่องตรัสรู้, การตรัสรู้, การบรรลุธรรม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพชฺฌ” ว่า a matter to be known or understood, subject of knowledge or understanding (เรื่องที่จะต้องรู้หรือต้องเข้าใจ, ธรรมอันเป็นที่รู้หรือเข้าใจ)
(ข) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง -
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
สมฺโพชฺฌ + องฺค = สมฺโพชฺฌงฺค > สัมโพชฌงค์ แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อม” (คือเมื่อปฏิบัติตามแล้วสามารถตรัสรู้ได้)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺโพชฺฌงฺค” ว่า constituent of Sambodhi (enlightenment), of which there are seven (องค์แห่งสัมโพธิ [การตรัสรู้พร้อม] ซึ่งมี 7 อย่าง)
สมาธิ + สมฺโพชฺฌงฺค = สมาธิสมฺโพชฺฌงฺค (สะ-มา-ทิ-สำ-โพด-ชัง-คะ) > สมาธิสัมโพชฌงค์ (สะ-มา-ทิ-สำ-โพด-ชง) แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อมคือความมีใจตั้งมั่น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมาธิสมฺโพชฺฌงฺค” ว่า the Samādhi constituent of enlightenment (สมาธิอันเป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้)
ขยายความ :
คำว่า “โพชฌงค์” เมื่อนำเอาชื่อธรรมแต่ละข้อมาเรียกรวมกัน นิยมใช้เป็น “สัมโพชฌงค์” โดยมีชื่อธรรมข้อนั้นๆ นำหน้า เช่นในที่นี้คือ “สมาธิ” ชื่อข้อธรรมเต็มๆ ก็จะเป็น “สมาธิสัมโพชฌงค์”
“สมาธิสัมโพชฌงค์” เป็นโพชฌงค์ข้อที่ 6 ในโพชฌงค์ 7
เมื่ออธิบายความหมายของธรรมหมวดนี้ คำหลักก็คือคำว่า “โพชฌงค์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -
“โพชฌงค์ : ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ ข้อ คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“โพชฌงค์ : (คำนาม) องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ; ชื่อพระปริตรที่พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟัง เรียกว่า สวดโพชฌงค์. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [281] แสดงความหมายของ “โพชฌงค์” ไว้ดังนี้ -
(ภาษาอังกฤษในวงเล็บ [] เป็นคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบ)
..............
โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — Bojjhaŋga: enlightenment factors) [a factor or constituent of knowledge or wisdom]
..............
และแสดงความหมายของ “สมาธิ” ในโพชฌงค์ 7 ไว้ดังนี้ -
..............
6. สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์ — Samādhi: concentration)
..............
แถม :
การที่นิยมให้พระสงฆ์สวด “โพชฌงค์” ให้คนเจ็บหนักฟังก็เพราะโพชฌังคสูตรในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องราวไว้ว่า บางสมัย พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกบางองค์อาพาธ เมื่อได้สดับการสวดโพชฌงค์ อาพาธหรือการเจ็บป่วยนั้นก็บรรเทาหายไป จึงเกิดเป็นความนิยมให้พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟังสืบต่อมา
..............
ดูก่อนภราดา!
ขออนุโมทนาที่มีศรัทธานั่งสมาธิ
: ตั้งสติก่อนนั่งสักนิด
: จะเอาสมาธิจิตไปทำอะไร?
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ