สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ทําอย่างไรจึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ถาม เกิดมาแล้ว เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง สุดแต่กรรมในอดีตที่ทำไว้ แก้ไข อะไรไม่ได้ แต่อยากทราบว่า ควรทำปัจจุบันอย่างไรจึงจะเป็นสุข ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ตอบ ใครๆ ก็ทราบว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการความสุข ไม่เดือดร้อนในภายหลัง จึงควรทำแต่ความดี คือบุญกุศล ละเว้นความชั่ว คือบาปอกุศลเสีย เพื่อให้คำตอบนี้ชัดเจน จึงขอนำคำสอนของพระพุทธเจ้าในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าชนสันธะ ซึ่งตรัสสอนประชาชนของพระองค์ถึงเหตุที่จะทำให้ จิตเดือดร้อนในภายหลัง ๑๐ ประการ บุคคลไม่ทำเหตุเหล่านี้แล้วย่อมประสบสุข ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
.ใน ชนสันธชาดก ทวาทสนิบาตชาดก ข้อ ๑๖๔๙-๑๖๖๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องอดีตชาติของพระองค์ครั้งยังบำเพ็ญบารมีอยู่ว่า
ในครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตทรงครองกรุงพาราณสีนั้น พระองค์มีพระราชโอรส พระองค์หนึ่ง พระนามว่า ชนสันธะ จบการศึกษามาจากตักกสิลา ทรงดำรงตำแหน่งอุปราช เมื่อพระราชบิดาสวรรคตก็ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา ทรงพระนามว่า พระเจ้าชนสันธะ พระเจ้าชนสันธะทรงฝักใฝ่ในการให้ทาน จึงโปรดให้สร้างโรงทานขึ้น ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ กับที่ท่ามกลางพระนคร และที่ประตูพระราชวัง ทรงบริจาคทานด้วยทรัพย์ ๖ แสนทุกวัน ทรงชักชวนให้ประชาชนฟังธรรม ให้รักษาศีล ๕ และศีล ๘ พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมตลอดมา วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระเจ้าชนสันธะทรงสมาทานอุโบสถศีลแล้ว โปรดให้ประชาชนที่หน้าพระลานหลวง แล้วทรงแสดงธรรมกับประชาชนว่า เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ บุคคลไม่ได้กระทำกิจที่ควรทำไว้เสียก่อน ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
เหตุที่ทำให้จิตเดือดร้อน ๑๐ ประการ คือ
๑. บุคคลเมื่อยามหนุ่ม ไม่พยายามแสวงหาทรัพย์ไว้ ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้
คนเราเมื่อยังหนุ่มยังสาวมีกำลังวังชาดี ถ้ามัวแต่งอมืองอเท้าไม่ทำการงานหา ทรัพย์สินเก็บสะสมไว้ใช้ในยามแก่เฒ่าที่ร่างกายไม่แข็งแรง ทำอะไรก็ไม่ค่อยจะไหวแล้ว ก็ย่อมจะเดือดร้อนได้รับความทุกข์ยาก ถ้าใครมีลูกหลานคอยปรนนิบัติเลี้ยงดูก็โชคดี ถ้าไม่มีก็ลำบากแสนเข็ญทีเดียว เพราะคนที่ไม่มีเงินมีทองนั้น ไม่มีใครเขาอยากนับเป็นญาติ หรือแม้จะมีลูกหลานคอยดูแลเลี้ยงดู แต่ถ้ายากจนก็ยากนักที่เขาจะเอาใจใส่ คนแก่ที่มีเงินนั้นพรั่งพร้อมด้วยลูกหลาน บริวารคอยเอาอกเอาใจดูแล นี่ก็เป็นการเตือนสติ สำหรับผู้ที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรงอยู่ว่าอย่าได้ประมาท
๒. ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อม เดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก
ข้อนี้เป็นความจริง คนที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่แสวงหาวิชาความรู้ไว้ประดับตน ในเยาว์วัย โตขึ้นก็ไม่ทราบจะทำมาหากินอย่างไร ถึงแม้จะหาได้ก็ฝืดเคืองต้องใช้กำลังกายเข้าแลกเงิน เมื่อยังหนุ่มแน่นก็พอมีแรงพอจะใช้กำลังกายแลกกับเงินได้ แต่เมื่ออายุ มากเข้าก็ไม่มีแรงพอจะทํางานอย่างนั้นได้ หลายคนคงเคยเห็นคนแก่หาบของขายหนักจนบ่าลู่ น่าสงสารมาก เพราะฉะนั้นวิชาความรู้จึงเป็นอาภรณ์ประดับกาย อยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย ถ้าขยันใช้วิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์
๓. ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนโกง ส่อเสียด กินสินบน ดุร้าย หยาบคายในกาลก่อน
คนโกงนั้นอกจากจะถูกสาปแช่งจากผู้อื่นแล้ว ตนเองยังเดือดร้อนใจในการทําความชั่วของตนด้วย
๔. ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติเมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน
คำว่าเดือดร้อนในภายหลังนี้ มิได้หมายเอาเดือดร้อนในชาตินี้หลังจากที่ทำชั่วลงไปแล้วเท่านั้น แต่หมายความไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย เพราะผู้ประพฤติชั่วย่อมเกิดในอบาย เมื่อได้รับความทุกข์ในอบาย ก็ย่อมจะเป็นทุกข์เดือดร้อน ว่าเราได้ทำความชั่วอย่างนั้นๆ ไว้ จึงได้รับทุกข์เข็ญปานนี้ เพราะฉะนั้นคนที่ทำชั่วนั้น แม้จะปากแข็งว่า ไม่กลัว แต่ใจของเขาย่อมเดือดร้อนเสมอ เพียงแต่เขาไม่แสดงให้เรารู้เท่านั้น
๕. ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหน มีอยู่เป็นอันมาก ไม่ควรเลยที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่น
จริงทีเดียว ชายหญิงที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนก็มีอยู่เป็นอันมาก เหตุใดจึงไม่คบหาชายหญิงเหล่านั้น
๖. คนตระหนี่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็มิได้ให้ทานเลย
๗. ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถที่จะเลี้ยงดู มารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน
ท่านคงจำนิทานเรื่องหนึ่งได้ เพราะเล่ากันอยู่เสมอๆ ที่ลูกชายหลงภรรยาแล้ว ไม่เลี้ยงดูบิดาผู้แก่ชรา ขัดกะลามะพร้าวเพื่อให้บิดาออกไปขอทาน ลูกเห็นพ่อทำดังนั้น ก็ทำบ้าง พ่อก็ถามว่าทำเอาไปทำไม ลูกก็ตอบว่าเตรียมเอาไว้ให้พ่อออกไปขอทาน เหมือนที่พ่อทำให้ปู่ ผู้เป็นพ่อจึงสำนึกผิดเลิกความคิดที่จะให้พ่อออกไปขอทาน กลับเลี้ยงดูพ่ออย่างดี
คนเราถ้าไม่ประสบกับตัวเองแล้วก็ยากที่จะสำนึกตัวได้ หรือสํานึกได้ก็ต่อเมื่อ สายเสียแล้ว ลองมองออกไปรอบๆ ตัวเรา เราจะได้พบตัวอย่างชีวิตที่สามารถจะสอนให้เราเป็นคนดีได้มากมาย หากเราได้ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี
๘. ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็น อาจารย์สั่งสอน ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู
ธรรมดาพ่อแม่ ท่านกล่าวว่าเป็นบุพพาจารย์ของบุตร คือเป็นครูคนแรกของบุตร ได้อบรมสั่งสอนเลี้ยงดูบุตรมาด้วยความรัก หาอาหารที่มีรสต่างๆ ที่ลูกต้องการมาให้ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากเห็นลูกเป็นคนเลว คนชั่ว อดอยาก มีแต่ตักเตือนสั่งสอนให้ลูกตั้งอยู่ในความดี เมื่อลูกไม่อยู่ในโอวาทก็เป็นทุกข์เสียใจ แต่ผู้ที่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าคือ ตัวลูกผู้ไม่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่นั่นเอง
๙. ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลเป็นพหุสูตเลย
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีปัญญามากก็เพราะได้เคยเข้าไปคบหาใกล้ชิดกับสมณพราหมณ์ผู้รู้มาก่อน
๑๐. ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้วย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย
ถึงกระนั้น หากยังต้องเกิดอยู่ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนใจไปได้ ใน เมื่อทุกคนล้วนทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่วกันมานานนับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นการที่จะ พ้นจากความเดือดร้อนใจได้อย่างแท้จริง จึงต้องดำเนินตามทางสายกลาง คืออริยมรรคมี องค์แปด หรือวิปัสสนาภาวนา จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเกิดอีกต่อไปเท่านั้น
การไม่เกิดอีกนั่นแหละ เป็นการพ้นจากความเดือดร้อนใจอย่างแท้จริง
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ