สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
อาหารและรสชาติอยู่ด้วยกันฉันใด ศัพท์และความหมายก็อยู่ด้วยกันฉันนั้น
ส่วนความรู้สึกจากการทานอาหารและการเสพศัพท์ เหล่านั้นเกิดขึ้นที่ใจ ดังนั้นความสำคัญของศัพท์ ของความหมาย ของความรู้สีก จึงมีบทบาทที่ขาดไม่ได้เลยในการสือสารกัน สมดังพระคัมภีร์เนตติปกรณ์กล่าวถึงศัพท์และอรรถว่า
"ทฺวาทส ปทานิ สุตฺตํ ตํ สพฺพํ พฺยญฺชนญฺจ อตฺโถ จ ตํ วิญฺเญยฺยํ อุภยํ โก อตฺโถ พฺยญฺชนํ กตมํ."
ความว่า "พระพุทธพจน์ที่ใช้สื่อสารกัน มี ๑๒ องค์ (ปท) องค์ทั้งหมดนั้น มี ทั้งส่วนที่เป็นศัพท์ มี ทั้งส่วนที่เป็นอรรถ ซึ่งทั้ง ๒ ส่วนนั้น วิญญูชนควรรู้ว่า เป็นศัพท์ประเภทไหน เป็นอรรถประเภทไหน."
หมายความว่า ศัพท์ และอรรถ จับกันได้ ๖ คู่ คือจากการสื่อศัพท์ แล้วรับทราบอรรถที่เหมาะสมกันเป็นคู่นั่นเอง ส่วนความรู้สึกที่จับเอาได้จากการสือสาร มี ๖ อาการ
เมื่อกล่าวโดยสถานการณ์หลัก ก็จะมี ๒ สถานการณ์ คือ:-
๑. สถานการณ์หลักที่อาศัยความเหมือน เช่นรู้ว่านาย ก. กับนาย ข. เป็นฝาแฝดกันเพราะมีความเหมือนกัน
๒. สถานการณ์หลัก ที่อาศัยความต่าง เช่น รู้ว่าฝาแฝดคนนี้เป็นนาย ก. ฝาแฝดคนนั้นเป็นนาย ข . เพราะมีความต่างกัน
ดังนั้น คู่ศัพท์และอรรถ ท่านจึงแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ คู่ที่เนื่องอยู่กับความเหมือน ๓ คู่ และคู่ที่เนื่องอยู่กับความต่าง ๓ คู่ ดังนี้:-
กลุ่มที่เนื่องอยู่กับความเหมือน ๓ คู่ คือ
๑. ศัพท์สื่อลักษณะ (อักขระ) คู่กับอรรถรับทราบหลักการ (สังกาสนา) พอสื่อเสร็จก็จับเอาความเหมือนได้
๒. ศัพท์สื่อขั้นตอน (พยัญชนะ) คู่กับอรรถรับทราบการเผยตัวอย่าง (วิวรณา) พอสื่อเสร็จก็จับเอาขบวนการได้
๓. ศัพท์สื่อความประสงค์ (นิรุตติ) คู่กับอรรถรับทราบการเน้นย้ำทำนอง (อุตตานีกัมมะ) พอสื่อเสร็จก็จับเอาการอุปมาได้
กลุ่มที่เนื่องอยู่กับความต่าง ๓ คู่ คือ
๑. ศัพท์สื่อแนวทาง (ปท) คู่กับอรรถรับทราบประเด็น (ปกาสนา) พอสืบเสร็จก็จับเอาความต่างได้
๒. ศัพท์สื่อความเจาะจง (อาการะ) คู่กับอรรถรับทราบการเผยแง่มุม (วิภชนา) พอสื่อเสร็จก็จับเอาการแบ่งแยกได้
๓. ศัพท์สื่อความชัดเจน (นิทเทส) คู่กับอรรถรับทราบการเน้นย้ำนิยาม (บัญญัตติ) พอสื่อเสร็จก็จับเอาการกำหนดความได้
เมื่อกล่าวโดยการแสดงธรรมก็จะได้ขนาดการแสดงธรรมที่เหมาะสมกับประเภทบุคคล ๓ รูปแบบ ดังนี้:-
๑. อุคฆฏิตัญญูบุคคล อาศัยอรรถบอกหลักการ (สังกาสนา) หรือ อาศัยอรรถ บอกประเด็น (ปกาสนา) อย่างใดอย่างหนี่ง ขนาดการแสดงธรรมจึงเป็นขนาดย่อ
๒. วิปจิตัญญูบุคคล อาศัยอรรถ บอกการเผยตัวอย่าง (วิวรณา) หรือ อาศัยอรรถบอกการเผยแง่มุม (วิภชนา) อย่างใดอย่างหนึ่ง ขนาดการแสดงธรรมจีงเป็นขนาดปานกลาง
๓. เนยยบุคคล อาศัยอรรถ บอกการเน้นย้ำทำนอง (อุตตานีกัมมะ) หรือ อาศัยอรรถบอกการเน้นย้ำนิยาม (บัญญัตติ) อย่างใดอย่างหนึ่ง ขนาดการแสดงธรรม จึงเป็นขนาดกว้างขวางพิสดาร
ขอเพื่อนสหธรรมิก โปรดใส่ใจศัพท์และอรรถตามนัยของพระคัมภีร์เนตติปกรณ์นี้เถิดจักเป็นปัจจัยให้ท่านเข้าถีง หาระ ๑๖ นัย ๕ มูลบท ๑๘ สาสนปัฏฐานที่มาในอรรถกถา ฏีกา ๑๖ และ ที่มาใน พระบาลี (พระพุทธพจน) ๒๘ ได้อย่างสะดวกแล
------------------/
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ