สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


การแปลความระหว่างภาษาตระกูลที่คำศัพท์เกิดจากธาตุ (รากศัพท์) และปัจจัย เช่น ภาษาบาลีเป็นต้น กับภาษาตระกูลที่คำศัพท์เกิดจากการเรียงคำ เช่น ภาษาไทย เป็นต้น มีความสำคัญเป็นไฉน?

   ในภาษาบาลีที่ใช้รักษาพุทธพจน์นั้น ถึงอรรถของธาตุจะมีมากมาย แต่ก็ถูกระบุอรรถด้วยปัจจัยประจำคณะธาตุ มี ภูคณะธาตุเป็นต้น

   ในภาษาไทยที่ใช้แปลความพุทธพจน์ ซึ่งใช้การสรรหาคำเพื่อเรียงลำดับให้ถูกต้องตรงต่อพุทธพจน์ ตัวอย่างเช่นคำว่า เผลอ กับ คำว่า เผอเรอ

   เผลอ มีความหมายว่าหลงลืม หรือไม่ระวังตัวชั่วขณะหนึ่ง ทั้งนี้แล้วแต่บริบทหรือข้อความที่ห้อมล้อมจะกำหนด เช่นที่ใช้กันว่า “เนื่องจากเขาเผลอเป็นประจำจึงมักทำผิดบ่อย ๆ" (เผลอ=หลงลืม)

“เพราะตำรวจเผลอผู้ต้องหาจึงแย่งปืนไปได้ (เผลอ=ไม่ระวังตัวชั่วขณะหนึ่ง)

“นักเรียนเดินเผลอไปสะดุดกับขาโต๊ะ” (เผลอ=ไม่ระวังตัว)

   เผอเรอ มีความหมายว่าเลินเล่อ ไม่รอบคอบ สุรุ่ยสุร่าย เช่นที่ใช้กันว่า “การทำงานเกี่ยวกับการเงินต้องอาศัยความละเอียดลออและความระมัดระวัง มาก จะทําเผอเรอให้ผิดพลาดไม่ได้ "

(เผอเรอ=เลินเล่อ)

“เขาเผอเรอเป็นประจำทั้งในด้านการทำงานและการประพฤติตน" (เผอเรอ=เลินเล่อ ไม่รอบคอบ)

“คนทุกคนไม่ควรใช้จ่ายให้เผอเรอ ต้องประหยัดเงินไว้เพื่อสร้างฐานะของตน" (เผอเรอ=สรุ่ยสุร่าย)

   คำ “เผลอ” กับ “เผอเรอ” มีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่ตรงกันทีเดียวนัก ถ้าพิจารณาโดยถี่ถ้วนรอบคอบแล้วจะเห็นว่าความหมายของคำ “เผอเรอ” หนักกว่า คำว่า “เผลอ” ความหมายของ “เผลอ” มีเพียงว่า หลงลืม ไม่ระวังตัว แต่ความหมายของคำว่า “เผอเรอ” บ่งบอกถึงความหลงลืมหรือไม่ระมัดระวังตัวอย่างมาก จนถึงขั้นเลินเล่อ ไม่รอบคอบ หรือขาดความระมัดระวังตัวไปเลย 

   คำทั้งสองนี้อาจจะใช้แทนกันได้บ้างในบางโอกาส แต่ก็ใช้แทนกันไม่ได้เสมอไป อย่างในประโยคตัวอย่างที่ยกมาจะแทนกันไม่ได้เลย หากใช้แทนกันจะทำให้น้ำหนักของความหมายต่างไป และไม่ได้ความดีเท่าที่ควร ซึ่งถือว่าเป็นการใช้คำผิดความหมาย 

   โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการใช้คำทั้งสองมีที่ผิดอยู่ ๒ ประการ ประการแรกได้แก่การใช้สับกัน คือใช้ “เผลอ” แทน “เผอเรอ” หรือใช้ “เผอเรอ” แทน “เผลอ” ส่วนความผิดประการที่สอง ได้แก่การใช้ “เผอเรอ” เป็น “เผลอเรอ” ซึ่งเป็นความผิดที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในการพูดและการเขียน

   จะเห็นได้ว่านอกจากจำเป็นต้องเรียนไวยากรณ์ทั้งสองภาษาแล้ว ผู้ประสงค์จะแปลพุทธพจน์ให้ได้ทั้งองค์ธรรมทั้งอรรถรส พึงจำต้องเรียนอรรถศาตร์และภาษาศาตร์ เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าวด้วย


[right-side]

ศัพท์บาลี,ศัพท์ไทย

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.