ทองย้อย แสงสินชัย
วิธีแก้ปัญหา ๕ มาสกที่เจ๋งกว่า
-----------------------------
ศีลของพระ ๒๒๗ ข้อ มีข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า -
ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก (คือขาดจากความเป็นภิกษุ)
วันนี้ ถ้ามีภิกษุขโมยทรัพย์สิน และจะต้องวินิจฉัยว่าขาดจากความเป็นภิกษุหรือไม่ ก็จะไม่สามารถชี้ขาดได้ เพราะคณะสงฆ์ไทยยังไม่มีข้อวินิจฉัยเด็ดขาดว่า ๕ มาสกเป็นเงินเท่าไรตามอัตราเงินไทยปัจจุบัน
.................................................
ญาติมิตรที่อ่านเรื่อง “วิธีแก้ปัญหา ๕ มาสก” ที่ผมเขียนเมื่อว่านนี้ (๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๕) บอกว่า ไม่จำเป็นต้องรอคณะสงฆ์ไทยวินิจฉัย เขามีวิธีแก้ปัญหา ๕ มาสกที่เจ๋งกว่า
................................................
“เจ๋ง” เป็นภาษาปาก แปลว่า ยอดเยี่ยม ดีเลิศ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เก็บคำนี้ไว้ด้วย
คำหลายคำ ไม่นึกว่าจะเก็บ ก็เก็บ
คำอีกหลายคำนึกว่าจะเก็บ กลับไม่เก็บ
................................................
ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายของเจ้าของความคิดที่เจ๋งกว่า ผสมไปกับคำอภิปรายของผม
เขาบอกว่า เขามีวิธีที่ดีกว่า-รอให้มหาเถรสมาคมตั้งกองวิชาการขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาคำตอบว่า ๕ มาสกเป็นเงินไทยปัจจุบันเท่าไร-ซึ่งอีกกี่ชาติท่านจึงจะตั้งก็ไม่รู้
วิธีที่เจ๋งกว่าของเขาก็คือ พระเณรอย่าเป็นขโมย-เท่านี้ก็หมดปัญหา
จะ ๕ มาสก หรือกี่มาสกก็ไม่ขโมยทั้งนั้น
เมื่อไม่ขโมย ก็ไม่มีของกลางที่จะต้องตีราคา
ไม่ต้องมาเสียเวลาวินิจฉัยว่า ๕ มาสกเป็นเงินกี่บาท
จะกี่บาทก็ไม่มีให้ตีราคา เพราะไม่ได้ขโมยสักบาท
จบไหม
.................
ผมบอกว่า พระเณรยังเป็นปุถุชนทั้งนั้น จะไว้ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ขโมย ถ้าเกิดมีพระเณรขโมยขึ้นมา ก็จะต้องมีคำตอบอยู่นั่นเองว่า ๕ มาสกเป็นเงินเท่าไร ของที่ขโมยไปราคาถึง ๕ มาสกไหม ถ้ายังไม่รู้ว่า ๕ มาสกเป็นเงินไทยเท่าไร แล้วจะทำอย่างไรกัน
เขาบอกว่า จะต้องไปทำอย่างไรอะไรทำไมอีก พระเณรเป็นขโมยก็ไม่ควรเป็นพระเป็นเณรอยู่แล้ว
อ้าว
อ้าวทำไม ชาวบ้านธรรมดาๆ เขาก็ไม่ลักขโมยกันอยู่แล้ว นี่มาบวชเป็นพระเป็นเณรแล้วยังลักขโมยอีก จะมาเป็นพระเป็นเณรอยู่ทำไม เหลือศักดิ์ศรีอะไร จริงเปล่า
จะถึง ๕ มาสกหรือไม่ถึง ๕ มาสก จะขาดจากพระหรือไม่ขาด ไม่มีความหมายอะไร แค่เป็นขโมยก็ไม่ควรจะเป็นพระอยู่แล้ว
ขโมยไม่ถึง ๕ มาสก ยังไม่ขาดจากพระก็จริง
แต่ไม่มีศักดิ์ศรีที่ควรจะเป็นพระ
ฉันว่าอย่างนี้แหละ
แล้วญาติมิตรทั้งหลายว่าอย่างไร?
.................
ผมนึกถึงโอวาทปาติโมกข์
ไม่ใช่วันมาฆบูชา ไม่ใช่วันที่จะพูดถึงโอวาทปาติโมกข์ - เราถูกครอบงำด้วยค่านิยมแบบนี้กันทั่วไปหมด
................................................
วันพ่อ วันแม่ วันครู ฯลฯ
ต้องถึงวันนั้น จึงจะพูดเรื่องนั้นได้
มิเช่นนั้นจะถูกมองว่า-ไม่รู้จักกาลเทศะ
................................................
โอวาทปาติโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ มีข้อความดังต่อไปนี้
................................................
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
ไม่ทำความชั่วทุกชนิด ทำแต่ความดี
ทำใจให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
Abstention from all evil,
Cultivation of the wholesome,
Purification of the heart;
This is the Message of the Buddhas.
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพฃิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
ขันติคือความอดทน เป็นตบะอย่างยอด
นิพพาน ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นยอด
ผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต
ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นสมณะ
Forbearance is the highest ascetic practice,
'Nibbana is supreme'; say the Buddhas.
He is not a 'gone forth' who harms another.
He is not a recluse who molests another.
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
ไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร ระมัดระวังในปาติโมกข์
บริโภคพอประมาณ อยู่ในสถานสงัด
ฝึกหัดจิตให้สงบ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
To speak no ill, To do no harm,
To observe the Rules,
To be moderate in eating,
To live in a secluded abode,
To devote oneself to meditation-
This is the Message of the Buddhas.
ที่มา:
- มหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔
- พุทธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๔
คำแปลเป็นไทยและภาษาอังกฤษ:
หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
................................................
ที่ผมว่านึกถึงโอวาทปาติโมกข์ คือนึกถึงข้อความที่ว่า -
(๑) น หิ ปพฺพฃิโต ปรูปฆาตี
ผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต
(๒) สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นสมณะ
(๓) อนูปฆาโต
ไม่กระทบกระทั่งใคร
(๔) ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
ระมัดระวังในปาติโมกข์
การลักขโมยนั้นฝ่าฝืนโอวาทปาติโมกข์อย่างน้อยก็ ๔ ข้อ เฉพาะข้อ (๑) และข้อ (๒) ท่านว่า-ทำอย่างนั้น “ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต” “ไม่จัดว่าเป็นสมณะ”
.................
ถ้าได้คำตอบจากมติของคณะสงฆ์ไทยว่า ๕ มาสกเป็นเงินไทยปัจจุบันเท่าไร นั่นนับว่าเป็นการดี จะได้ใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยปัญหาทางพระวินัย
แม้เราจะไม่รู้ว่าอีกกี่ชาติคณะสงฆ์ไทยท่านจะจึงวินิจฉัยปัญหานี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องรอไปตลอดชาติ
เรามีหลักการวินิจฉัยปัญหาทางพระธรรมอยู่แล้วว่า - จะถึง ๕ มาสกหรือไม่ถึง ๕ มาสกก็ตาม ถ้าลักขโมยละก็ “ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต” “ไม่จัดว่าเป็นสมณะ” ทั้งนั้น
ผมชักจะเห็นด้วยกับท่านเจ้าของความคิด - วิธีแก้ปัญหา ๕ มาสกที่เจ๋งกว่า
-----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๓:๔๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ