ปรมัตถโชติกะ

ปฏิจจสมุปปาททีปนี

และ

ปัจจัย ๒๔ โดยย่อ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมุมาสมุพุทฺธสุส


อภิธัมมัตถสังคหบาลีและคำแปล

คำปฏิญญาของพระอนุรุทธาจารย์


         ๑. เยสํ สงฺขตธมฺมานํ      เย ธมฺมา ปจฺจยา ยถา

            ตํวิภาคมิเหทานิ           ปวกฺขามิ ยถารหํ ฯ

      ธรรมทั้งหลายเหล่าใด คือ สังขตธรรม อสังขตธรรม และบัญญัติธรรม

      เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปัจจยุปบันธรรมเหล่าใด คือ สังขตธรรมโดยอาการต่างๆ

      มีเหตุสัตติ อารัมมณสัตติ เป็นต้น บัดนี้ ในปัจจยสังคหะนี้ ข้าพเจ้าจะแสดง

      ซึ่งประเภทต่างๆ กัน แห่งอำนาจการอุปการะของปัจจัย และปัจจยุปบันเหล่านั้น ตามสมควร


แสดงนัย ๒ นัย และความต่างกันระหว่างนัยทั้ง ๒

      ๒. ปฏิจฺจสมุปฺปาทนโย ปฏฺฐานนโย เจติ ปจฺจยสงฺคโห ทุวิโธ เวทิตพฺโพ ฯ 

         ตตฺถ ตพฺภาวภาวีภาวาการมตฺโตปลกฺขิโต ปฏิจฺจสมุปฺปาทนโย ปฏฺฐานนโย ปน อาหจฺจปจฺจยฐิติมารพฺภ ปวุจฺจติ, อุภยํ ปน โวมิสฺสิตฺวา ปปญฺเจนฺติ อาจริยา ฯ

      นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบว่า ปัจจยสังคหะนี้มีนัย ๒ ประการ คือ ปฏิจจสมุปปาทนัย ๑ ปัฎฐานนัย ๑

      นัยทั้ง ๒ ประการนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดเพียงโดยอาการเป็นไปของปัจจยุปบันธรรม มีสังขารเป็นต้น ที่มีสภาพเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะอาศัยการเกิดขึ้นแห่งปัจจัยธรรมนั้นๆ มีอวิชชาเป็นต้น ชื่อว่า "ปฏิจจสมุปปาทนัย"

      ฝ่ายปัฏฐานนัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารกซึ่งอำนาจของปัจจัยที่เป็นพิเศษ

      ส่วนท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ได้รวมนัยทั้ง ๒ เข้าด้วยกันแล้วก็แสดงโดยพิสดาร


แสดงการอุปการะระหว่างปัจจัยธรรมและปัจอยุปบันธรรม ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท

      ๓. ตตฺถ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ, วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ, นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ, สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส, ผสฺสปจฺจยา เวทนา, เวทนาปจฺจยา ตณฺหา, ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ, อุปาทานปจฺจยา ภโว ภวปจฺจยา ชาติ, ชาติปจฺจยา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ, เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหตีติ ฯ

      ในนัยทั้ง ๒ นั้น ความเป็นไปแห่งปัจจัยธรรมและปัจจยุปบันธรรม โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท คือ

      ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ ปรากฎเกิดขึ้นเพราะอาศัยอวิชชา คือ ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ความไม่รู้ในปุพพันตะ ๑ ความไม่รู้ในอปรันตะ ๑ ความไม่รู้ในปุพพันตาปรันตะ ๑ ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท ๑ รวม ๘ ประการนี้เป็นเหตุ


      - วิญญาณ คือ โลกียวิปากจิต ๓๒ ปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยสังขาร ๓ เป็นเหตุ

      - นามรูป คือ เจตสิกที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต และกัมมชรูป ปรากฏเกิดขึ้นเพราะอาศัยวิญญาณ คือ กุศล อกุศล (กัมมวิญญาณ) ที่ในภพก่อนๆ และวิปากวิญญาณที่ในภพนี้ เป็นเหตุ

      - สพายตนะ คือ อัชฌัตติกายตนะ  มีจักขายตนะเป็นต้น ปรากฏเกิดขึ้นเพราะอาศัยนามรูป เป็นเหตุ

      - ผัสสะ  มีจักขุสัมผัสสะเป็นต้น ปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยอัชฌัตติกายตนะ ๖ เป็นเหตุ

      - เวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น ปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ ๖ เป็นเหตุ

      - ตัณหา ๖ หรือว่าโดยพิสดาร ๑๐๘ มีรูปตัณหาเป็นต้น ปรากฏเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนา ๖ เป็นเหตุ

      - อุปาทาน ๔ มีกามุปาทานเป็นต้น ปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยตัณหา ๖หรือ ๑๐๘ เป็นเหตุ

      - ภวะ คือ กัมมภวะ และอุปปัตติภวะทั้ง ๒ ปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยอุปาทาน ๔ เป็นเหตุ

      - ชาติ คือ ความเกิดขึ้นแห่งโลกียวิปากจิต เจตสิก และกัมมชรูป, ๒๐ ปรากฏเกิดขึ้นเพราะอาศัยกัมมภวะ เป็นเหตุ

      - ชรา มรณะ และ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ ทั้ง ๗ นี้ ปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยชาติเป็นเหตุ 


      ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์แท้ๆ ทั้งปวงนี้ เพราะอาศัยปัจจัยต่างๆ มีอวิชชาเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้

อยเมตฺถ ปฏิจฺจสมุปฺปาทนโย ฯ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นปฏิจจสมุปปาทนัย ในปัจจยสังคหะนี้


จำแนกปฏิจจสมุปบาทโดยนัยต่างๆ มีอัทธาเป็นต้น

      ๔. ตตฺถ ตโย อทฺธา ทฺวาทสงฺคานิ วีสตาการา ติสนฺธิ จตุสงฺเขปา ตีณิ วฏฺฏานิ เทฺว มูลานิ จ เวทิตพฺพานิ ฯ

         ในปฏิจจสมุปบาทธรรมนั้น นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบ กาล ๓ องค์ ๑๒ ประเภท ๒๐ ความสืบต่อกัน ๓ หมวด ๔ ความหมุนเวียน ๓ มูล ๒


กาล (อัทธา) ๓

      ๕. กตฺถ อวิชฺชา สงฺขารา อตีโต อทฺธา, ชาติชรามรณํ อนาคโต อทธา, มชฺเฌ อฏฺฐ ปจฺจุปฺปนฺโน อทฺธาติ ตโย อทฺธา ฯ

         พึงทราบได้อย่างไร ? พึงทราบกาล ๓ ดังนี้ คือ

            - อวิชชาและสังขารทั้ง ๒ นี้ เป็นอดีตกาล คือ เป็นธรรมที่เกิดในภพก่อนๆ

            - ชาติ ชรา มรณะทั้ง ๒ นี้เป็นอนาคตกาล คือ เป็นธรรมที่เกิดในภพหน้า

            - องค์ธรรม ๘ ที่อยู่ตรงกลาง คือ วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ เหล่านี้ เป็นปัจจุบันกาล คือเป็นธรรมที่เกิดในภพนี้


องค์ ๑๒

      ๖. อวิชฺชา สงฺขารา วิญฺญา นามรูปํ สฬายตนํ ผสฺโส เวทนา ตณฺหา อุปาทานํ ภโว ชาติ ชรามรณนฺติ ทฺวาทสงฺคานิ ฯ

         พึงทราบองค์ ๑๒ ดังนี้ คือ

         อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภวะ ชาติ ชรามรณะ

      ๗. โสกาทิวจนํ ปเนตฺถ นิสฺสนฺทผลนิทสฺสนํ ฯ

         ในปฏิจสมุปบาทพระบาลีนี้ คำว่า โสกะ เป็นต้น ซึ่งได้แก่ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ เหล่านี้แสดงให้รู้ถึงผลที่เป็นนิสสันทผล คือเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากชาติเท่านั้น ไม่ใช่เป็นองค์โดยเฉพาะ


ประเภท ๒๐ ความสืบต่อกัน ๓ หมวด ๔

      ๘. อวิชฺชาสงฺขารคฺคหเณน ปเนตฺถ ตณฺหุปาทานภวาปี คหิตา ภวนฺติ ตถา ตณฺหุปาทานภวคฺคหเณน  อวิชฺชาสงฺขารา, ชาติชรามรณคฺคหเณน, วิญฺญาณาทิผลปญฺจกเมว คหิตนฺติ กตฺวา ฯ

            อตีเต เหตโว ปญฺจ      อิทานิ ผลปญฺจกํ

            อิทานิ เหตโว ปญฺจ      อายตึ ผลปญฺจกํ

            วีสตาการา ติสนฺธิ        จตุสงฺเขปา จ ภวนฺติ ฯ

      สำหรับในอัทธา ๓ นั้น 

      - โดยการยกอวิชชาและสังขารขึ้นแสดงแล้ว แม้ตัณหาอุปาทาน กัมมภวะ ทั้ง ๓ นี้ ก็พึงนับเข้าในอดีตอัทธาด้วย

      - โดยการยก ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ ขึ้นแสดงแล้ว อวิชชา สังขาร ทั้ง ๒ นี้ ก็พึงนับเข้าในปัจจุบันอัทธาด้วยเหมือนกัน

      - โดยการยก ชาติ ชรา มรณะ ขึ้นแสดงแล้ว ผลทั้ง ๕ อย่าง อันได้แก่ วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา ก็พึงนับเข้าในอนาคตอัทธาด้วย 

        ฉะนั้น อาการ ๒๐ สันธิ ๓ สังเขป ๔ จึงเป็นไปดังนี้

            - เหตุในอดีตภพมี ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ

            - ผลในปัจจุบันภพมี ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

            - เหตุในปัจจุบันภพมี ๕ คือ ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ อวิชชา สังขาร

            - ผลในอนาคตภพมี ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา


วัฏฏะ ๓ มูล ๒

      ๙. อวิชฺชาตณฺหุปาทานา จ กิเลสวฏฺฏํ, กมฺมภวสงฺขาโต ภเวกเทโส สงฺขารา จ กมฺมวฏฺฏํ, จุปฺปตฺติภวสงขาโต ภเวกเทโส อวเสสา จ วิปากวฏฺฏนฺติ, ตีณิ วฏฺฏานิ 

         อวิชฺชาตณฺหาวเสน เทฺว มูลานิ จ เวทิตพฺพานิ ฯ

      สำหรับวัฏฏะ ๓ นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบดังนี้

      - อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหล่านี้เป็น "กิเลสวัฏ" 

      - ภวะส่วนหนึ่ง คือ กัมมภวะ และสังขารเหล่านี้เป็น "กัมมวัฏ" 

      - ภวะส่วนหนึ่ง คือ อุปปัตติภวะ และวิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ ที่เหลือเหล่านี้เป็น "วิปากวัฏ"

      ส่วนมูล ๒ นั้น นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบโดยประเภทแห่ง "อวิชชาและตัณหา"


แสดงการขาดลงแห่งวัฏฏะทั้ง ๓ และ สมุฏฐานของอวิชชา

๑๐.     เตสเมว จ มูลานํ       นิโรเธน นิรุชฺฌติ

         ชรามรณมุจฺฉาย       ปีฬิตานมภิณฺหโส

         อาสวานํ สมุปฺปาทา    อวิชฺชา จ ปวฑฺฒติ ฯ

      เมื่อวัฏฏมูลทั้ง ๒ นั้น ดับสิ้นลงไม่มีเหลือด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรค

      แล้ว การหมุนเวียนแห่งปฏิจจสมุปบาท คือ วัฏฏะทั้ง ๓ ก็ย่อมดับลงทันที

      อวิชชาเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการเกิดขึ้นแห่งอาสวธรรมที่ในสันดานของสัตว์

      ทั้งหลาย ผู้ถูกเบียดเบียนด้วยความแก่ ความตาย และธรรมที่เป็นเหตุแห่งความหลง 

      คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ อยู่เนืองๆ นั้นเอง ฯ


แสดงคาถาบทสุดท้าย

            วฏฺฏมาพนฺธมิจฺเจว     เตภูมกมนาทิกํ

            ปฏิจฺจสมุปฺปาโทติ      ปฏฺฐเปสิ มหามุนิ ฯ

      โดยนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น การหมุนเวียนของวัฏฏะทั้ง ๓ (กิเลส,กัมม,วิบาก) ที่ผูกพัน

      กันอยู่ไม่ขาดสาย อันเกิดอยู่ในภูมิ ๓ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่หาเบื้องต้นมิได้นั้นแหละ

      พระจอมมุนีย่อมตรัสไว้ว่า เป็น "ปฏิจจสมุปบาท" ดังนี้


จบ บาลีและคำแปลในปฏิจจสมุปบาท

-------------///-------------


ต่อไปนี้ จะอธิบายขยายความตามหัวข้อในบาลีที่แสดงไว้ข้างต้น โดยลำดับดังต่อไปนี้


      ปริจเฉทที่ ๘ ที่ชื่อว่าปัจจยสังคหะนั้น เพราะพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงรวบรวมธรรมที่เป็นปัจจัย และปัจายุปบัน ตามนัยแห่งปฏิจจสมฺปบาท และนัยแห่งปัฏฐานทั้งหมดอยู่ในปริจเฉทนี้ ฉะนั้น ปริจเฉท ๘ นี้จึงชื่อว่า ปัจจยสังคหะ

      อนึ่ง ธรรมที่เป็นปัจจัยที่แสดงในปฏิงงสมุปบาทนั้น เป็นปรมัตถ์ล้วนๆ ไม่มีบัญญัติเข้าเจือปนด้วยเลย ส่วนธรรมที่เป็นปัจจัยที่แสดงในปัฏฐานนั้น มีทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ ด้วยเหตุนี้พระอนุรุทราจารย์ จึงได้แสดงบัญญัติต่างๆ ไว้ในสุดท้ายแห่งปริจเฉทนี้


สำหรับธรรมที่เป็นปัจจยุปบันนั้น เป็นปรมัตถ์โดยส่วนเดียวทั้ง ๒ นัย

      คำว่า ปัจจยะ หรือปัจจัยนั้น หมายความว่า "เป็นเหตุของผลที่เกี่ยวเนื่องด้วยเหตุนั้นๆ"

      คำว่า ปัจจยุปบัน (ปัจจย + อุปบัน) หมายความว่า เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยอาศัยธรรมที่เป็นเหตุนั้นๆ

      สรุปความว่า ปัจจัย ได้แก่ ธรรมที่เป็นเหตุ

      ปัจจยุปบัน ได้แก่ ธรรมที่เป็นผล


อธิบายในคาถาปฏิญญา


      ในคาถาที่ว่า "เยสํ สงฺขตธมฺมานํ" เป็นต้นจนถึง "ปวกฺขามิ ยถารหํ" นั้น พระอนุรุทธาจารย์แสดงขึ้นเป็นการกล่าวอารัมภบท พร้อมทั้งมีการปฏิญญาสำเร็จไปด้วยปฏิญญาของท่านนั้นคือ "บัดนี้ ข้าพเจ้าจะแสดงถึงการจำแนกธรรมที่เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปัจจยุปบันธรรมทั้งหลายโดยอาการต่างๆ มีอำนาจแห่งเหตุ และอำนาจแห่งอารมณ์เป็นต้น ตามสมควรในปัจจสังคหะ ในวาระต่อไปนี้"

      พระอนุรุทธาจารย์ แสดงปัจจยุปบันธรรมโดยใช้คำว่า "เยสํ สงฺขตธมฺมานํ" ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมที่เป็นปัจจยุปบันนั้นต้องได้แก่สังขตธรรมโดยส่วนเดียว ที่รู้ได้เช่นนี้ก็เพราะ พระอนุรุทธาจารย์ไม่ได้แสดงว่า "เยสํ ธมฺมานํ" เฉยๆ ท่านแสดงศัพท์ "ธมฺมานํ" ให้เป็นพิเศษโดยเอาคำว่า "สงฺขต" เข้าไปประกอบอยู่ด้วยและสังขตธรรมนั้นก็ได้แก่จิต เจตสิก รูป ที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุต่างๆ มี กรรม จิต อุตุ อาหาร อารมณ์

      พระอนุรุทธาจารย์ แสดงปัจจัยธรรมโดยใช้คำว่า "เย ธมฺมา" ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมที่เป็นปัจจัยนั้นย่อมได้แก่ สังขตธรรม อสังขตธรรม และบัญญัติธรรมทั้งหมดไม่มีจำกัด ที่รู้ได้เช่นนี้ก็เพราะท่านแสดงว่า "เย ธมฺมา"เฉยๆ ไม่มีคำพิเศษอื่นๆ เข้าประกอบนั้นเอง

      พระอนุรุทธาจารย์ แสดงปัจจัยสัตติ คืออำนาจพิเศษต่างๆ ในการช่วยอุปการะแก่ปัจจยุปบันธรรมของปัจจัย ๒๔ มีเหตุสัตติ อารัมมณสัตติเป็นต้นโดยใช้คำว่า "ยถา" ซึ่งแสดงวจนัตถะว่า "เยน อากาเรน = ยถา" คำว่า "ยถา" หมายความว่าโดยอาการต่างๆ มีเหตุสัตติ เป็นต้น

      คำว่า "ปจฺจยา" แปลว่า เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ (อุปการกา) การช่วยอุปการะมี ๒ อย่าง คือ

      ๑. ช่วยอุปการะแก่ปัจจยุปบันธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง (ชนกสัตติ)

      ๒. ช่วยอุปการะแก่ปัจจยุปบันธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่นและเจริญขึ้นอย่างหนึ่ง (อุปัตถัมภกสัตติ)

      เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่อุปการะแก่ผู้น้อย ซึ่งการอุปกระของผู้ใหญ่นี้ก็มีอยู่ ๒ อย่างคือ ช่วยอุปการะแก่ผู้น้อยที่ยังไม่มีหลักฐาน ให้มีหลักฐานขึ้นประการหนึ่งและช่วยอุปการะแก่ผู้น้อยที่มีหลักฐานอยู่แล้วนั้น ให้ตั้งมั่นถาวรตลอดไปได้และเจริญขึ้นได้ประการหนึ่ง

      บทว่า "ตํวิภาคมิเหทานิ" เมื่อตัดบทออกแล้ว เป็น ตํ วิภาค + อิห + อิทานิ 

      ในบทว่า ตํ วิภาคํ นั้น คำว่า "ตํ" เป็นคำที่แสดงรวมเนื้อความของบททั้ง ๓ คือ เยสํ เย ธมฺมา ยถา, ศัพท์ว่า "วิภาคํ" แปลว่า ประเภทต่างๆ กัน ฉะนั้น

      คำว่า "ตํ วิภาคํ" จึงแปลว่า ซึ่งประเภทต่างๆ กัน แห่งอำนาจการอุปการะของปัจจัยธรรม และปัจจยุปบันธรรมเหล่านั้น ดังแสดงวจนัตถะว่า

      "วิภชียเตติ = วิภาโค"

      ธรรมที่พึงจำแนกประเภทต่างๆ ฉะนั้นชื่อ วิภาคะ ได้แก่อำนาจต่างๆของปัจจัย ๒๔

      คำว่า วิภาโค เมื่อมารวมกับคำว่า ตํ ซึ่งเป็นนิยมะกรรมบทแล้วเป็น "ตํ วิภาคํ" ที่ได้กล่าวมาแล้ว

      คำว่า "อิห" หมายถึง ในปัจจยสังคหะนี้

      คำว่า "อิทานิ" แปลว่า บัดนี้ หมายความว่าในลำดับที่ต่อจากสมุจจยสังคหะนี้

      คำว่า "ปวกฺขามิ" หมายถึง เป็นคำปฏิญญาของพระอนุรุทธาจารย์ว่า "ข้าพเจ้าจะแสดง"

      คำว่า "ยถารห์" แเปลว่า ตามสมควร หมายความว่าพระอนุรุทธาจารย์ รับรองว่าจะแสดงประเภทต่างๆ แห่งอำนาจการอุปการะของปัจจัยธรรมและปัจจยุปบันธรรมเหล่านั้นตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทและปัฏฐาน ตามสมควรที่จะเป็นได้

----------------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.