อธิบายในบาลีข้อที่ ๒ ที่แสดงถึงนัยทั้ง ๒
และความต่างกันแห่งนัยทั้ง ๒ นั้น

      ตั้งแต่บาลีที่ว่า "ปฏิจฺจสมุปฺปาทนโย จนถึง เวทิตพฺโพ" ฯ นั้นเป็น การแสดงให้รู้ว่า ในปัจจัยสังคหะนี้ มีการอุปการะอยู่ ๒ นัยคือ "ปฏิจจสมุปปาทนัยหนึ่ง" และ "ปัฏฐานนัยหนึ่ง"
      ตั้งแต่บาลีที่ว่า "ตตฺถ ตพฺภาว" เป็นต้นจนถึง "ปจฺจยฐิติมารพภ ปวุจฺจติ" นั้นเป็นการแสดงให้รู้ถึงความต่างกันระหว่างนัยทั้ง ๒ คือ การแสดงเหตุผล ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น แสดงแต่เพียงให้รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ล้วนแต่เป็นผลที่เกิดมาจากธรรมที่เป็นเหตุทั้งสิ้น ที่จะเกิดขึ้นเอง หรือมีผู้สร้างให้เกิดโดยไม่ได้อาศัยธรรมที่เป็นเหตุนั้น ย่อมไม่มีเลย หมายความว่าเมื่อมีเหตุมีปัจจัยครบบริบูรณ์แล้ว ผลก็ย่อมปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้แสดงถึงอำนาจของปัจจัยนั้นๆ ว่า การช่วยอุปการะของปัจจัยนั้นๆ เป็นไปโดยอำนาจเหตุบ้างอารมณ์บ้าง อธิบดีบ้าง เป็นต้น ดังแสดงวจนัตถะว่า
      "ปจฺจยสามคฺคึ ปฏิจฺจ สมํ สห จ ปจฺจยุปฺปนฺนธมฺเม อุปฺปาเทตีติ = ปฏิจฺจสมุปปาโท" (บทว่า สมํ สห จ ในอภิ. วิ. ฎีกาว่า สมํ คนฺตวา)
      หมู่แห่งเหตุอันใด มีอวิชชาเป็นต้น จนถึงชาติ ย่อมทำให้ผลธรรมมีสังขารเป็นต้น จนถึงอุปายาสเกิดขึ้นสม่ำเสมอพร้อมกัน โดยอาศัยความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุนั้นๆ จะนั้น หมู่แห่งเหตุอันนั้น จึงชื่อว่า "ปฏิจจสมุปบาท"
      อีกนัยหนึ่ง "ปฏิจฺจ สมํ สห อุปฺปชฺชติ เอตสฺมาติ = ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"
      ผลธรรมมีสังขารเป็นต้น เมื่อได้อาศัยการประชุมร่วมกันแห่งปัจจัยแล้วย่อมเกิดขึ้นสม่ำเสมอพร้อมเพรียงกัน เพราะอาศัยเหตุต่างๆ มีอวิชชาเป็นต้นฉะนั้น เหตุต่างๆ มีอวิชชาเป็นต้นเหล่านั้น จึงชื่อว่า "ปฏิจจสมุปบาท" ได้แก่ อวิชชา เป็นต้น จนถึงชาติ

วจนัตถะของคำว่า "นัย"

      "นียติ ญายตีติ = นโย"
      การแสดงที่พึงรู้โดยบัณฑิตทั้งหลาย ฉะนั้นจึงชื่อว่า นัย
      "ปฏิจฺจสมุปฺปาเท เทสิโต นโย = ปฏิจฺจสมุปฺปาทนโย"
      นัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเทศนาในปฏิจจสมุปบาทชื่อว่า "ปฏิจจสมุปปาทนัย"
      ส่วนการแสดงเหตุผลตามนัยแห่งปัฏฐานนั้น แสดงให้รู้ว่าสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายที่ปรากฎอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นเหตุผลเกี่ยวเนื่องกันตามสมควร ที่ปรากฎขึ้นโดยไม่เกี่ยวเนื่องกับเหตุผลนั้นไม่มีเลย และแสดงถึงอำนาจของปัจจัยนั้นๆ ด้วยว่า การอุปการะของปัจจัยนั้นๆ เป็นไปโดยอำนาจแห่งเหตุบ้างอารมณ์บ้าง อธิบดีบ้างเป็นต้น ดังแสดงวจนัตถะ ว่า
      "นานปฺปการานิ ฐานานิ ปจฺจยา เอตฺถาติ = ปฏฺฐานํ"
      ปัจจัยทั้งหลายที่เป็นเหตุซึ่งมีอำนาจโดยประการต่างๆ มีอำนาจเหตุอำนาจอารมณ์เป็นต้น มีอยู่ในปกรณ์นี้ ฉะนั้น ปกรณีนี้ชื่อว่า ปัฏฐาน ได้แก่ปกรณ์ที่แสดงถึงปัจจัย ๒๔
      "ปฎฐาเน เทสิโต นโย = ปฏฺฐานนโย"
      นัยที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาในปัฏฐาน ชื่อว่า ปัฏฐานนัย

      ตั้งแต่บาลีที่ว่า "อุภยํ ปน เป็นต้นจนถึง อาจริยา" นั้น เป็นข้อความที่หมายถึง การแสดงปฏิจจสมุปบาทของท่านอรรถกถาจารย์ที่แสดงในสัมโมหวิโนทนีอรรถกถานั้น ได้แสดงเอาอำนาจของปัจจัยนั้น ๆ มาแสดงรวมอยู่ด้วย เช่นแสดงว่า ในการที่อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดปุญญาภิสังขารนั้น มีอำนาจแห่งปัจจัย ๒ ปัจจัย คือ ๑. อารัมมณปัจจัย ๒. ปกตูปนิสสยปัจจัย

อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดอปุญญาภิสังขารนั้นมีอำนาจแห่งปัจจัย ๑๕ ปัจจัย คือ
      ๑. เหตุปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย ๓. อธิปติปัจจัย ๔. อนันตรปัจจัย ๕. สมนันตรปัจจัย ๖. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย ๘. นิสสยปัจจัย ๙. อุปนิสสยปัจจัย ๑๐. อาเสวนปัจจัย ๑๑. สัมปยุตตปัจจัย ๑๒. อัตถิปัจจัย ๑๓.นัตถิปัจจัย ๑ ๔. วิคตปัจจัย ๑๕. อวิคตปัจจัย

อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดอาเนญชาภิสังขารนั้นมีอำนาจแห่งปัจจัย ๑ ปัจจัย คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ดังนี้เป็นต้น

รูปนามที่เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทนี้ เมื่อจำแนกเป็นเหตุเป็นผลแล้ว เรียกชื่อดังนี้คือ
      ธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ อวิชชา เป็นต้น จนถึงชาติ รวม ๑๑ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปาทธรรม
      ธรรมที่เป็นผล ได้แก่ สังขาร เป็นต้น จนถึงชรามรณะ รวม ๑๑ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม

      สำหรับการแสดงวจนัตถะของคำว่า ปฏิจจสมุปบาทที่แสดงมาแล้วนั้น แสดงมุ่งหมายเอาแต่ธรรมที่เป็นเหตุ ถ้าจะแสดงให้ได้ธรรมที่เป็นผลแล้ว แสดงดังนี้คือ
      "ปจฺจยํ ปฏิจฺจ สมุปฺปชฺชตีติ - ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"
      ธรรมใดย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัย ฉะนั้นธรรมนั้น ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ ธรรมที่เป็นผลมีสังขารเป็นต้น จนถึงชรามรณะ
อีกนัยหนึ่ง
      "สมุปฺปชฺชนํ = สมุปฺปาโท"
      การเกิดขึ้นด้วยดี คือเกิดขึ้นตามลำคับ ชื่อว่า สมุปบาท
      "ยถาสกํ ปจฺจยํ ปฏิจฺจ เตน อวินาภาวี หุตฺวา สมุปฺปาโท = ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"
      การเกิดขึ้นตามลำดับของธรรมที่อาศัยปัจจัยของตนๆ และไม่ปราศจากกันกับปัจจัยของตนนั้นๆ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ ธรรมที่เป็นผลมีสังขารเป็นต้น
---------------

ประโยชน์ที่ได้รับจากการรู้รูปนามตามเหตุผล

โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท และปัฏฐาน


      ในการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นไปของบรรดาสิ่งที่ไม่มีชีวิตในโลกนี้ ที่ปรากฏขึ้น ก็โดยอาศัยมีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกันโดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทและปัฏฐานนั้น ก็เพื่อประสงค์จะให้สัตว์ทั้งหลายได้มีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลในความเป็นอยู่ของตัวเองว่า รูปนามที่สมมติกันว่า เรา เขา ที่ปรากฎอยู่นี้ ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สร้างขึ้น มีแต่เหตุกับผลเกี่ยวเนื่องกันตามสภาวะเท่านั้น ไม่มีตัวตน เรา เขา อย่างใดเลยความรู้ความเข้าใจในรูปนามตามเหตุผลเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำให้ผู้รู้นั้นได้พ้นจากวัฏฏทุกข์ทั้งปวงเพราะสามารถละสักกายทิฏฐิและวิจิกิจฉา พร้อมทั้งสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฎฐิ และนัตถิกทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ เสียได้ตามสมควรแก่ความรู้ของตน กล่าวคือ ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนการฟัง ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา ย่อมสามารถละสักกายทิฎฐิ และวิจิกิจฉาเป็นต้นเหล่านั้นได้โดย ตทังคปหาน คือละได้ชั่วขณะหนึ่งๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการนึกคิดพิจารณา ค้นคว้าหาเหตุผลด้วยตนเอง ที่เรียกว่า จินตามยปัญญา นั้นย่อมสามารถละสักกายทิฏฐิ และวิจิกิจฉาเป็นต้นเหล่านั้นได้โดยวิกขัมภนปหาน คือข่ม ระงับไว้ได้เป็นเวลานานๆ และความรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการปฏิบัติวิปัสสนาตามสุตมยปัญญา หรือจินตามยปัญญา ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา นั้นย่อมสามารถละสักกายทิฏฐิ และวิจิกิจฉาเป็นต้นเหล่านั้นได้โดย สมุจเฉทปหาน คือละได้โดยเด็ดขาด

      ถ้าจะแสดงเปรียบเทียบความรู้ในรูปนามตามเหตุผลดังกล่าวแล้วนั้นสุตมยปัญญา ก็ได้แก่ ปัญญาของผู้ที่มีความรู้ในปฏิจจสมุปบาท และปัฎฐานโดยอาศัยการศึกษาเล่าเรียน หรือ การฟัง

      จินตามยปัญญา เมื่อว่าโดยทางโลกแล้ว ได้แก่ ปัญญาของผู้คิดค้นคว้าสร้างวัตถุสิ่งของต่างๆ ขึ้น เช่นสร้างเครื่องบิน วิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น เมื่อว่าโดยทางธรรมแล้ว ได้แก่ ปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสุตมยปัญญานั้น ได้แก่ ปัญญาของพระอริยสาวกทั้งหลาย

      ภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจินตามยปัญญานั้น ได้แก่ ปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า

      ความรู้ความเข้าใจในรูปนามตามเหตุผล ที่เป็นสุตมัย จินตามัย และภาวนามัยทั้ง ๓ เหล่านี้ ถ้าสงเคราะห์เข้าในวิปัสสนาญาณแล้ว ย่อมได้ ๒ อย่างคือนามรูปปริจเฉทญาณ และปัจจยปริคคหญาณ และถ้าสงเคราะห์เข้าในวิสุทธิแล้วก็ได้วิสุทธิ ๒ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ และ กังขาวิตรณวิสุทธิ

      ผู้ที่มีความเข้าใจดี ในปฏิจจสมุปบาทและปัฎฐานแล้วนั้น ก็ย่อมได้เข้าถึงปัจจยปริคหญาณ อันเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิโดยตรง สำหรับการเข้าถึงนามรูปปริจเฉทญาณ อันเป็นทิฏฐิวิสุทธินั้น ก็เพราะผู้ที่รู้ในปฏิจจสมุปบาทและปัฏฐานนั้น ก็ต้องรู้ดีในเรื่องรูปนามอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ นามรูปปริจเฉทญาณอันเป็นทิฏฐิวิสุทธิจึงสงเคราะห์สำเร็จไปด้วย

      ตามที่ได้กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้ปฏิบัติจนได้สำเร็จเป็นพระอริยะพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้นั้น ที่จะไม่รู้ถึงความเป็นไปของรูปนามตามปฏิจสมฺปบาท หรือปัฏฐานโดยภาวนามัยนั้นย่อมไม่มีเลย แต่ผู้ที่รู้ทั้ง ๒ นัยนั้น มีได้แต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระอริยบุคคลทั้งหลายนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้น จนถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมรู้ความเป็นไปของรูปนามโดยภาวนามัย ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทนัยเดียว หมายความว่าผู้ปฏิบัติเมื่อเข้าถึงปัจจยปริคคหญาณเป็นต้นจนถึงอนุโลมญาณนั้น ย่อมรู้ความเป็นไปของรูปนามที่เป็นเหตุเป็นผลเนื่องกันตามปฏิจสมุปบาทด้วยกันทั้งสิ้น แต่ที่รู้กว้างขวางสามารถแสดงให้ผู้อื่นฟังได้โดยละเอียดนั้น ต้องอาศัยมีหลักปริยัติ ถ้าขาดหลักปริยัติเสียแล้ว แม้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถแสดงความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียดได้


-------///-------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.