บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๘)
------------------------------
ถืออุโบสถ (๒)
------------------------------
ทำบุญวันพระวัดมหาธาตุราชบุรี ตามปกติมีเทศน์ ๒ กัณฑ์ คือภาคเช้าเทศน์กัณฑ์อุโบสถดังที่ว่ามาแล้ว และภาคค่ำ ประมาณ ๑ ทุ่ม เทศน์กัณฑ์ปกติ
อาราธนาธรรมเทศน์กัณฑ์อุโบสถกับเทศน์กัณฑ์ปกติก็ต่างกัน เทศน์กัณฑ์อุโบสถใช้บท “จาตุททะสี” ซึ่งคนทั่วไปไม่คุ้นหู เทศน์กัณฑ์ปกติใช้บท “พ๎รัห๎มา” ดังที่รู้จักกันทั่วไป
ระเบียบปฏิบัติก็ต่างกัน กล่าวคือ -
เทศน์กัณฑ์อุโบสถ เมื่อพระผู้เทศน์แสดงธรรมสิ้นกระแสความ “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” ผู้ฟังเทศน์สวดสาธุการรับเทศน์ จบแล้ว พระผู้เทศน์จึงอนุโมทนา ลงจากธรรมาสน์ รับประเคนเครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ เป็นอันเสร็จการ
ส่วนเทศน์กัณฑ์ปกติ เมื่อแสดงธรรมสิ้นกระแสความ พระผู้เทศน์อนุโมทนาติดต่อกันไป ไม่มีสวดสาธุการรับเทศน์
..................
เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่อง ขอนำบทอาราธนาธรรมกัณฑ์อุโบสถและบทสวดสาธุการรับเทศน์มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ -
บทอาราธนาธรรมกัณฑ์อุโบสถ
(ว่าโดยทำนองสรภัญญะ)
.........................................................
จาตุททะสี ปัณณะระสี ยา จะ ปักขัสสะ อัฏฐะมี
กาลา พุทเธนะ ปัญญัตตา สัทธัมมัสสะวะนัสสิเม.
อัฏฐะมี โข อะยันทานิ สัมปัตตา อะภิลักขิตา (๑๔ ค่ำว่า-จาตุททะสี อะยันทานิ) (๑๕ ค่ำว่า-ปัณณะระสี อะยันทานิ)
เตนายัง ปะริสา ธัมมัง โสตุง อิธะ สะมาคะตา.
สาธุ อัยโย ภิกขุสังโฆ กะโรตุ ธัมมะเทสะนัง
อะยัญจะ ปะริสา สัพพา อัตถิกัต๎วา สุณาตุ ตัง.
.........................................................
ถ้าเวลาอำนวย จะว่าคำแปลด้วยก็ยิ่งดี ถ้าขัดข้องก็ว่าเฉพาะคำบาลี
คำแปลว่าดังนี้ -
(ว่าโดยทำนองสรภัญญะ)
.........................................................
๏ วันใดเป็นวันดี คือสิบสี่ สิบห้าค่ำ
แปดค่ำก็ควรจำ วันฟังธรรมเทศนา
๏ ตามพุทธบัญญัติ กำหนดนัดแต่นานมา
คาบนี้มาถึงครา วันแปดค่ำเป็นสำคัญ
(คาบนี้มาถึงครา สิบสี่ค่ำเป็นสำคัญ)
(คาบนี้มาถึงครา สิบห้าค่ำเป็นสำคัญ)
๏ ประชาผองประชุมพร้อม มนัสน้อมสดับพลัน
สาธุ พระคุณท่าน โปรดเลือกสรรแสดงธรรม
๏ ชาวเราอย่าหลงใหล พึงตั้งใจประพฤติจำ
จำนงประโยชน์นำ กำจัดทุกข์เป็นสุขเทอญ๚ะ๛
.........................................................
เมื่อพระสงฆ์แสดงธรรมจบ พึงสวดคำสาธุการรับเทศน์
บทสวดสาธุการรับเทศน์ว่าดังนี้ -
.........................................................
(ขึ้น) หันทะ มะยัง สาธุธัมมะเทสะนัง กะโรมะ เส.
(สวดพร้อมกัน)
สาธุ ขอให้สำเร็จประโยชน์นะ
พุทธะสุโพธิตา, ความตรัสรู้ดีจริงแห่งพระพุทธเจ้า
สาธุ ขอให้สำเร็จประโยชน์นะ
ธัมมะสุธัมมะตา, ความเป็นธรรมดีจริงแห่งพระธรรม
สาธุ ขอให้สำเร็จประโยชน์นะ
สังฆัสสุปะฏิปัตตีติ. ความปฏิบัติดีจริงแห่งพระสงฆ์
(ต่อจากนี้สวดเฉพาะคำบาลี)
อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ
สังฆัญจะ สะระณัง คะโต (หญิงว่า คะตา)
อุปาสะกัตตัง (หญิงว่า อุปาสิกัตตัง) เทเสสิง
ภิกขุสังฆัสสะ สัมมุขา.
(ข้าพเจ้าถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า
และพระสงฆเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ขอแสดงตนว่าเป็นอุบาสก (อุบาสิกา)
ในที่จำเพาะหน้าพระภิกษุสงฆ์)
เอตัง เม สะระณัง เขมัง
เอตัง สะระณะมุตตะมัง
เอตัง สะระณะมาคัมมะ
สัพพะทุกขา ปะมุจจะเย.
(พระรัตนตรัยนี้เป็นที่พึ่งอันเกษมของข้าพเจ้า
พระรัตนตรัยนี้เป็นที่พึ่งอันสูงสุดของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าอาศัยสรณะนี้แล้ว
พึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง)
ยะถาพะลัง จะเรยยาหัง สัมมาสัมพุทธะสาสะนัง
ทุกขะนิสสะระณัสเสวะ ภาคี อัสสัง (หญิงว่า ภาคินิสสัง) อะนาคะเต.
(ข้าพเจ้าขอประพฤติคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามกำลัง
พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความพ้นทุกข์ในอนาคตกาล เทอญ)
.........................................................
หมายเหตุ: บทอาราธนาธรรมเป็นบทสาธารณะ คือใช้เหมือนกันทั่วไป ส่วนบทสาธุการรับเทศน์ รวมทั้งคำแปล เป็นบทที่ใช้ในวัดมหาธาตุราชบุรี วัดอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ตามนี้ แต่วัดไหนที่ยังไม่มีแบบของตนเอง จะใช้ตามนี้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่ประการใด ขออนุโมทนาสาธุ
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๔ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๗:๑๕
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ