ทองย้อย แสงสินชัย อยู่กับ Suri Phancharoen

#บาลีวันละคำ (3,827)


กวิณี

ถ้ารู้บาลี ก็จะรู้ว่าไม่มี

ญาติมิตรท่านหนึ่งบอกกล่าวว่า กวีซีไรต์ปีนี้เป็นหญิง จึงมีผู้คิดคำเรียกผู้หญิงที่เป็นกวีว่า “กวิณี” เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นคำเพศหญิง

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในคัมภีร์บาลีเท่าที่มีอยู่ในมือและเท่าที่พอจะตรวจสอบได้ ไม่พบคำว่า “กวิณี” ในคัมภีร์บาลี

การที่ไม่พบคำนี้ในคัมภีร์ ไม่ได้แปลว่าคำว่า “กวิณี” จะใช้ไม่ได้ คือถ้าสามารถแสดงรากศัพท์ที่ยืนยันได้ว่า รูปคำ “กวิณี” สามารถมีได้ตามหลักภาษา คำว่า “กวิณี” ก็ใช้ได้

“กวิณี” แผลงมาจาก “กวี” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) รากศัพท์มาจาก กุ (ธาตุ = สรรเสริญ; ผูกถ้อยคำ, ประพันธ์; กล่าว, ส่งเสียง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (กุ > โก > กว)

: กุ > โก > กว + อิ = กวิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สรรเสริญ” (คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า) (2) “ผู้ผูกทั่ว” (คือเอาถ้อยคำมาผูกเข้าเป็นบทกลอน) (3) “ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ” “ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปศัพท์คำนี้ไว้ 2 รูป คือมีทั้งที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) และ “กวี” (-วี สระ อี) 

ที่ได้รูปเป็น “กวี” (-วี สระ อี) เพราะลง อี ปัจจัย หรือ ณี ปัจจัยแล้วลบ ณ > อี 

: กุ > โก > กว + อี = กวี

: กุ > โก > กว + ณี > อี = กวี

ในคัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา พบรูปคำที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) ทั้งนั้น

“กวิ” (-วิ สระ อิ) เป็น อิ-การันต์ในปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ คงรูปเป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) หมายถึง “กวีคนเดียว” ถ้าเป็นพหุวจนะ จึงจะเป็น “กวี” (-วี สระ อี) แปลว่า “กวีทั้งหลาย” หมายถึง “กวีหลายคน” ยังไม่พบรูปคำที่เป็น “กวี” (-วี สระ อี) และหมายถึง “กวีคนเดียว”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็เก็บคำนี้ไว้รูปเดียว คือสะกดเป็นอักษรโรมันว่า Kavi อ่านว่า กะ-วิ (-วิ สระ อิ) ถ้าจะให้อ่านว่า กะ-วี (-วี สระ อี) ตัว i จะต้องมีขีดขวางข้างบน ไม่ใช่จุดบนตามปกติ > ī คือเขียนเป็น Kavī (โปรดสังเกต Kavi [กวิ] กับ Kavī [กวี] อักษรโรมันต่างกัน)

คำนี้เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “กวี” (-วี สระ อี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“กวี : (คำนาม) ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จำแนกเป็น ๔ คือ ๑. จินตกวี แต่งโดยความนึกคิด ๒. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา ๓. อรรถกวี แต่งตามความเป็นจริง ๔. ปฏิภาณกวี แต่งโดยฉับพลันทันที. (ป.).”

อภิปรายขยายความ :

ได้ข้อยุติว่า ในบาลีคำนี้เป็นปุงลิงค์ คือคำเพศชาย รูปคำเดิมเป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) และไม่พบรูปคำที่เป็นปุงลิงค์รูปเดิมเป็น “กวี” (-วี สระ อี) 

เมื่อได้หลักเช่นนี้แล้ว ก็ดูต่อไปว่า ถ้าจะทำ “กวิ” (-วิ สระ อิ) ซึ่งเป็นคำเพศชาย (ปุงลิงค์) ให้เป็นคำเพศหญิง (อิตถีลิงค์) จะต้องทำอย่างไร

คำเทียบเพื่อให้เข้าใจชัด เช่น -

คำเพศชาย “ภิกฺขุ” (ภิกษุ)

คำเพศหญิง “ภิกฺขุนี” (ภิกษุณี)

คำเพศชาย “กมฺมการี” (ผู้ทำงาน > กรรมการ)

คำเพศหญิง “กมฺมการินี” (กรรมการิณี)

ถ้าดูตามคำเทียบ -

คำเพศชาย “กวิ” (กวี)

คำเพศหญิงก็จะต้องเป็น “กวินี” (กวิณี)

แต่เมื่อตรวจสอบรากศัพท์และหลักภาษา ก็ยังไม่พบว่าท่านให้เปลี่ยนรูปคำเป็นเช่นนี้ได้ ทั้งยังไม่พบคำที่ใช้เป็น “กวินี” (กวิณี) ในคัมภีร์อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น ยังพบสูตรแสดงรากศัพท์ในคัมภีร์อภิธานปฺปทีปิกาฏีกา อธิบายคาถาที่ 228 บอกไว้ในหน้า 168 (ดูภาพประกอบ) ว่า -

..............

กวิ วณฺเณ, อิ, อิตฺถิยํ กวี จ, กุ สทฺเท วา, อิ, กวิ.

แปลว่า -

กวิ ธาตุ ในความหมายว่าสรรเสริญ, ลง อิ ปัจจัย, และในอิตถีลิงค์ได้รูปเป็น กวี, อีกนัยหนึ่ง กุ ธาตุ ในความหมายว่าส่งเสียง, ลง อิ ปัจจัย, ได้รูปเป็น กวิ.

..............

ตามสูตรที่ท่านแสดงไว้นี้ ได้ข้อยุติว่า คำว่า “กวิ” (-วิ สระ อิ) เป็นคำเพศชาย หมายถึงผู้แต่งกาพย์กลอนที่เป็นผู้ชาย ถ้าจะทำให้เป็นคำเพศหญิง คือหมายถึงผู้แต่งกาพย์กลอนที่เป็นผู้หญิง ให้เปลี่ยนจาก “กวิ” (-วิ สระ อิ) เป็น “กวี” (-วี สระ อี)

ไม่ใช่เปลี่ยนเป็น “กวินี” > “กวิณี” อย่างที่มีผู้คิดขึ้นมา

“กวิ” (-วิ สระอิ) เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “กวี” (-วี สระอี) โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักในภาษาบาลีที่ว่า “กวิ” (-วิ สระ อิ) เป็นผู้ชาย “กวี” (-วี สระ อี) เป็นผู้หญิง เราใช้คำว่า “กวี” (-วี สระ อี) คำเดียวโดยไม่กำหนดหรือจำกัดเพศ 

แต่เมื่อใช้กันนานไปและไม่ได้ย้อนกลับไปศึกษารากเดิม เราไปเกิดความเข้าใจกันขึ้นเองว่า “กวี” ใช้กับผู้ชาย จึงเป็นที่มาของการคิดหาคำใหม่ที่สื่อถึง “กวี” ที่เป็นผู้หญิง ทั้งๆ ที่ในภาษาบาลี “กวี” (-วี สระ อี) ก็หมายถึงผู้หญิงโดยตรงอยู่แล้ว (แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้)

อาจกล่าวได้ว่า เราเอาคำว่า “กวี” (-วี สระ อี) ในบาลีซึ่งหมายผู้หญิงมาใช้ในภาษาไทย แล้วเข้าใจกันไปเองว่าหมายถึงผู้ชาย ซึ่งก็คือ-ผิดกลายเป็นถูก 

และเวลานี้มีผู้คิดคำว่า “กวิณี” ขึ้นมาเพื่อให้หมายถึงกวีหญิง ถ้าเราพากันใช้คำนี้ ก็เท่ากับทำคำถูกให้กลายเป็นคำผิด เพราะ “กวี” ก็หมายถึง “กวีหญิง” โดยตรงอยู่แล้ว

เทียบกับคำว่า “นารี” ซึ่งหมายถึง “ผู้หญิง” อยู่แล้ว ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป็น “นาริณี” เพื่อจะให้หมายถึงผู้หญิงที่ไหนอีกเลย

เว้นไว้แต่จะอ้างเหตุผลว่า-นั่นเป็นคำบาลี แต่นี่เป็นการสร้างสรรค์คำในภาษาไทย และเรามีสิทธิ์จะสร้างคำแบบไหนก็ได้ที่เราพอใจ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างหลักภาษามาเป็นกำแพงขวางกั้น

ถ้าอ้างเช่นนั้น ก็คงต้องพูดว่า ภาษาไทยจงเจริญเถิด

..............

ดูก่อนภราดา!

: ผู้หญิงนั่นแหละที่ควรเรียกว่า “กวี”

: เพราะในบาลี “กวี” เป็นอิตถีลิงค์

[right-side]

ภาษาธรรม,กวิณี

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.