ทองย้อย แสงสินชัย


วิธีแก้ปัญหา ๕ มาสก

-----------------------

เรื่องนี้มีเหตุมาจากมีคนตั้งคำถามว่า ๕ มาสกเป็นเงินเท่าไร เนื่องจากศีลของพระข้อหนึ่งบัญญัติว่า พระขโมยเงิน ๕ มาสก ต้องอาบัติปาราชิก

คำว่า “มาสก” ภาษาไทยอ่านว่า มา-สก บาลีอ่านว่า มา-สะ-กะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนจับต้องด้วยคิดว่าสิ่งนี้เป็นของเรา” หมายถึง เงินตรา, มาตรานับเงิน 

..................

ความผิดที่ภิกษุทำเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระ เรียกว่า อาบัติปาราชิก มี ๔ สิกขาบท คือ (๑) เสพเมถุน (๒) ลักของเขา (๓) ฆ่ามนุษย์ และ (๔) อวดอุตริมนุสธรรม (คืออวดว่าได้บรรลุมรรคผล)

แต่ละสิกขาบทมีเงื่อนไขรายละเอียดอีกมาก ควรแก่การศึกษา

ศีลของพระ ชาวบ้านเราแม้จะไม่ต้องปฏิบัติ แต่ก็ควรศึกษา

แต่พระภิกษุสามเณรนั้น ไม่ใช่ควรศึกษา แต่ “ต้องศึกษา”

พระขโมยเงิน ๕ มาสก มีบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎก เป็นอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ ตัวบทต้นบัญญัติเป็นภาษาบาลี เป็นข้อหนึ่งใน ๒๒๗ ข้อ ที่มีบทบัญญัติให้พระท่านต้องสวดทบทวนให้กันฟังทุกครึ่งเดือนที่เรียกว่า “อุโบสถสังฆกรรม” ที่เรียกเป็นคำธรรมดาว่า “ลงโบสถ์” หรือ “ลงปาติโมกข์” 

ผมเชื่อว่า คนส่วนมาก-รวมทั้งพระภิกษุสามเณร-ไม่เคยหยิบยกข้อความอันเป็นตัวบทบัญญัติในพระไตรปิฎกขึ้นมาศึกษา ส่วนมากถ้าจะเรียนก็เรียนจากภาษาไทย ไม่ไปถึงบาลี-แม้จะเป็นนักเรียนบาลีแท้ๆ

ขออนุญาตยกคำบาลีต้นฉบับมาให้ศึกษากันในที่นี้ 

ท่านที่ชอบสวดมนต์และเชื่อว่าสวดแล้วได้บุญ ผมขอเสนอแนะให้อ่านคำบาลีต่อไปนี้ ตั้งอารมณ์ว่าท่านกำลังสวดมนต์ รับรองว่าได้ทั้งบุญคือความดี ได้ทั้งกุศลคือความฉลาด

.......................................................

โย  ปน  ภิกฺขุ  คามา  วา  อรญฺญา  วา  อทินฺนํ  เถยฺยสงฺขาตํ  อาทิเยยฺย  ยถารูเป  อทินฺนาทาเน  ราชาโน  โจรํ  คเหตฺวา  หเนยฺยุํ  วา  พนฺเธยฺยุํ  วา  ปพฺพาเชยฺยุํ  วา  โจโรสิ  พาโลสิ  มูโฬฺหสิ  เถโนสีติ  ตถารูปํ  ภิกฺขุ  อทินฺนํ  อาทิยมาโน  อยมฺปิ  ปาราชิโก  โหติ  อสํวาโสติ  ฯ

(โย  ปะนะ  ภิกขุ  คามา  วา  อะรัญญา  วา  อะทินนัง  เถยยะสังขาตัง  อาทิเยยยะ  ยะถารูเป  อะทินนาทาเน  ราชาโน  โจรัง  คะเหต๎วา  หะเนยยุง  วา  พันเธยยุง  วา  ปัพพาเชยยุง  วา  โจโรสิ  พาโลสิ  มุฬ๎โหสิ  เถโนสีติ  ตะถารูปัง  ภิกขุ  อะทินนัง  อาทิยะมาโน  อะยัมปิ  ปาราชิโก  โหติ  อะสังวาโส.)

ที่มา: ทุติยปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๘๔

.......................................................

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๑ ว่า -

.......................................................

อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เป็นส่วนแห่งโจรกรรม จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาจับโจรได้แล้วฆ่าเสียบ้าง จำขังไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยปรับโทษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

.......................................................

คำบาลีในตัวบทที่ว่า -

“ยถารูเป” = ทรัพย์เห็นปานใด 

“ตถารูปํ” = ทรัพย์เห็นปานนั้น 

ในพระไตรปิฎกท่านจำกัดความไว้ว่า -

“ปาทํ  วา  ปาทารหํ  วา  อติเรกปาทํ  วา” = หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี

และคนที่ทำความผิดที่เรียกว่า “โจร” นั้น ในพระไตรปิฎกก็จำกัดความไว้ว่า ขโมยทรัพย์ราคาเท่าไรจึงจะเรียกว่า “โจร” โดยบอกว่า -

.......................................................

โจโร  นาม  โย  ปญฺจมาสกํ  วา  อติเรกปญฺจมาสกํ  วา  อคฺฆนกํ  อทินฺนํ  เถยฺยสงฺขาตํ  อาทิยติ  เอโส  โจโร  นาม  ฯ

คำว่า “โจร” หมายความว่า ผู้ใดถือเอาสิ่งของอันเขาไม่ได้ให้ได้ราคา ๕ มาสกก็ดี เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ด้วยเจตนาขโมย ผู้นั้นชื่อว่า โจร

ที่มา: ทุติยปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๘๗

.......................................................

สิกขาบทนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแปลไว้ในหนังสือ นวโกวาท สั้นๆ พระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรีว่า -

.......................................................

ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก

.......................................................

ตามหลักฐานที่แสดงมา จึงเป็นที่มาของความเข้าใจว่า บาทหนึ่งคือ ๕ มาสก หรือ ๕ มาสกคือบาทหนึ่ง

คำคนเก่าพูดกันมาว่า “พระมีราคาแค่ ๕ มาสก” หรือ “พระมีราคาแค่บาทเดียว”

ปัญหาก็คือ ๕ มาสก เป็นเงินเท่าไร?

ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๔๐ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส บอกว่า -

“๕ มาสกเป็นบาทหนึ่ง ๔ บาทเป็นกหาปณะหนึ่ง กหาปณะเป็นหลักมาตราเช่นเงินบาทในกรุงสยาม ณ บัดนี้ รูปิยะที่ใช้อยู่ในต่างแคว้นมีอัตราไม่เหมือนกัน ต้องมีมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนอีกส่วนหนึ่ง. มาตรารูปิยะในแคว้นมคธ ณ ครั้งนั้น จะสันนิษฐานเทียบกับมาตรารูปิยะในบัดนี้ ย่อมรู้ได้ยาก จะเทียบบาทในแคว้นมคธ ณ ครั้งนั้นกับบาทของเราในครั้งนี้ด้วยสักว่าชื่อเหมือนกันก็ไม่ได้..”

พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เมื่อทรงดำรงพระฐานันดรที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) เป็นพระลิขิตที่เคยนำมาอ้างอิงกันมีความตอนหนึ่งว่า -

“การโกงสมบัติผู้อื่นตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป คือประมาณไม่ถึง ๓๐๐ บาทในปัจจุบัน”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ที่คำว่า “มาสก” บอกไว้ว่า “๑ มาสก = ๔ บาทไทย”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) บอกว่า “มาสก” รากศัพท์มาจาก “มาส” แปลว่า “a small bean” (ถั่วเม็ดเล็กๆ) และแปล “มาสก” ว่า a small coin (เหรียญเล็กๆ) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -

“มาสก : (คำนาม) ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท. (ป.; ส. มาษก).”

ตามหลักฐานที่ยกมาแสดงนี้ เป็นอันว่า ๕ มาสกเป็น ๑ บาท และคำว่า “๑ บาท” นั้น เรียกตามคำบาลีว่า “ปาท” ไม่ใช่ ๑๐๐ สตางค์เป็น ๑ บาทตามมาตราเงินไทย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ปัญหาที่ยังชี้ขาดไม่ได้ก็คือ ๕ มาสก หรือ ๑ บาทนั้น คิดเป็นเงินไทยในปัจจุบันนี้เป็นเงินเท่าไร

ความเห็นหรือมติที่แสดงมาข้างต้นอยู่ในฐานะเป็นความเห็นส่วนบุคคลซึ่งย่อมจะมีทั้งผู้เห็นตามและเห็นต่าง ไม่ยุติ

ความเห็นที่ยุติได้ต้องมาจากคำวินิจฉัยของคณะสงฆ์ไทย ไม่ใช่มาจากคำวินิจฉัยของบุคคล

แล้วจะว่าอย่างไรกันดี

แล้วจะทำอย่างไรกันดี

ขออาราธนาให้ผู้บริหารการคณะสงฆ์ตั้งคณะผู้ทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้-และเรื่องอื่นๆ อีกมากมายหลายเรื่องที่ต่างคนต่างเห็นไปคนละทาง-โดยยึดพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติเป็นหลักวินิจฉัย ได้ข้อยุติประการใดก็ส่งให้มหาเถรสมาคมพิจารณาอนุมัติ แล้วประกาศออกมาเป็นมติของคณะสงฆ์ไทย ให้ยึดถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วสังฆมณฑล 

ขอกราบอาราธนาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

(คงไม่ต้องให้ทำเป็นแผ่นกระดาษ ลงชื่อ เอาไปใส่แฟ้ม นำเสนอ จึงจะถือว่าได้รับเรื่องไว้แล้วนะขอรับ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๕

๑๙:๕๓

[full-post]

วิธีแก้ปัญหาห้ามสก

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.