๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว สมฺภวติ

   ภวะ ย่อมปรากฏเกิดขึ้นเพราะอาศัย อุปาทาน เป็นเหตุ 

   อุปาทาน ที่เป็นเหตุให้เกิดภวะ ได้แก่ อุปาทาน ๔ มีกามุปาทาน เป็นต้น ดังที่ได้แสดงมาแล้วนั้นเอง


ภวะ มี ๒ อย่าง คือ

      ๑. กัมมภวะ การปรุงแต่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้น ได้แก่ อกุศลเจตนา ๑๒ โลกียกุศลเจตนา ๑๗ รวมเจิตนา ๒๙

      ๒. อุปปัตติภวะ ผลที่เกิดขึ้นในภพนั้นๆ โดยอาศัย กัมมภวะ ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒ เจตสิก ๓๕ กัมมชรูป ๒๐


เมื่อว่าโดยปุคคลาธิษฐานแล้ว 

      กัมมภวะ ได้แก่การกระทำด้วย กาย วาจา ใจ ในสิ่งที่ดีและไม่ดีของบุคคลทั่วไป (ยกเว้นพระอรหันต์) 

      อุปปัตติภวะ ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ใน ๓๑ ภูมิ พร้อมทั้งการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัส การนอนหลับ


แสดงวจนัตถะของคำว่า "ภวะ"

      ๑. "ภวติ เอตสฺมาติ = ภโว"

          ผลย่อมเกิดขึ้น โดยอาศัยกรรมนั้น ฉะนั้น กรรมที่เป็นเหตุของผลนั้นชื่อว่า "ภวะ"

      ๒. "กมฺมเมว ภโว = กมฺมภโว"

          กรรมนั้นแหละเป็นเหตุให้เกิดผล ฉะนั้น จึงชื่อว่า กัมมภวะ ได้แก่อกุศลเจตนา ๑๒ โลกียกุศลเจตนา ๑๗

      ๓. "อุปฺปชฺชตีติ = อุปฺปตฺติ"

          ธรรมชาติใด เข้าไปเกิดในภพใหม่ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อุปปัตติ

      ๔. "ภวตีติ = ภโว"

          ธรรมใด ได้เกิดขึ้นเพราะอาศัยกรรม ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า ภวะ

      ๕. "อุปฺปตฺติ จ สา ภโว จาติ = อุปฺปตฺติภโว"

          ธรรมใดเข้าไปเกิดในภพใหม่ด้วย ได้เกิดขึ้นเพราะอาศัยกรรมด้วย ฉะนั้น ธรรมนั้นจึง ชื่อว่า อุปปัตติภวะ ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒ เจตสิก ๓๕ กัมมชรูป ๒๐


จำแนกกัมมภวะโดยทวาร

กัมมภวะนี้ เมื่อจำแนกโดยทวารแล้ว มี ๓ คือ

      ๑. กัมมวภะที่เกิดทางกาย ชื่อว่า กายกรรม ได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘

      ๒. กัมมภวะที่เกิดทางวาจา ชื่อว่า วจีกรรม ได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘

      ๓. กัมมภวะที่เกิดทางใจ ชื่อว่า มโนกรรม ได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘ มหัคคตกุศลกรรม ๙


อุปปัตติภวะ มี ๙ อย่าง คือ

    ว่าโดยภูมิ

      ๑. กามภวะ ได้แก่ กามวิปากจิต ๒๓ เจตสิก ๓๓ กัมมชรูป ๒๐

      ๒. รูปภวะ ได้แก่ รูปวิปากจิต ๕ จักขุวิญญาณ ๒ โสตวิญญาณ ๒ สัมปฎิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ เจตสิก ๓๕ กัมมชรูป ๑๕

      ๓. อรูปภวะ ได้แก่ อรูปวิบากจิต ๔ เจตสิก ๓๐

   ว่าโดยจิต

      ๔. สัญญีภวะ ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๑ (เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนวิบาก) เจตสิก ๓๕ กัมมชรูป ๒๐

      ๕. อสัญญีภวะ ได้แก่ ชีวิตนวกกลาป

      ๖. เนวสัญญีนาสัญญีภวะ  ได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ๑ เจตสิก ๓๐

   ว่าโดยขันธ์

      ๗. เอกโวการภวะ ได้แก่ ชีวิตนวกกลาป

      ๘. จตุโวการภวะ  ได้แก่ อรูปวิปากจิต ๔ เจตสิก ๓๐

      ๙. ปัญจโวการภวะ ได้แก่ กามวิปากจิต ๒๓ รูปวิปากจิต ๕ เจตสิก ๓๕ กัมมชรูป ๒๐


หรืออีกนัยหนึ่ง อุปปัตติภวะมี ๙ คือ

      ๑. นานัตตกายนานัตตสัญญีภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน กามสุคติภูมิ ๓

      ๒. นานัตตกายเอกัตตสัญญีภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน อบายภูมิ ๔ ปฐมฌานภูมิ ๓

      ๓. เอกัตตกายนานัตตสัญญีภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน ทุติยฌานภูมิ ๓

      ๔. เอกัตตกายเอกัตตสัญญีภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน ตติยฌานภูมิ ๓ จตุถฌานภูมิ ๖ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ)

      ๕. อสัญญีภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน อสัญญสัตตภูมิ

      ๖. อากาสานัญจายตนภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน อากาสานัญจายตนภูมิ

      ๗. วิญญานัญจายตนภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน วิญญานัญจายตนภูมิ

      ๘. อากิญจัญญายตนภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน อากิญจัญญายตนภูมิ

      ๙. เนวสัญญานาสัญญายตนภวะ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดอยู่ใน เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ


แสดงอุปปัตติภวะ ๙ โดยปุคคลาธิษฐาน

      ๑. กามภวะ ได้แก่ อบายสัตว์มีดิรัจฉานเป็นต้น มนุษย์ เทวดา

      ๒. รูปภวะ ได้แก่ รูปพรหมทั้งหลาย

      ๓. อรูปภวะ ได้แก่ อรูปพรหมทั้งหลาย

      ๔. สัญญีภวะ ได้แก่ อบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหม (เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม)

      ๕. อสัญญีภวะ ได้แก่ อสัญญสัตตพรหม

      ๖. เนวสัญญีนาสัญญีภวะ ได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

      ๗. เอกโวการภวะ ได้แก่ อสัญญสัตตพรหม

      ๘. จตุโวการภวะ ได้แก่ อรูปพรหม

      ๙. ปัญจโวการภวะ ได้แก่ อบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม


      อุปปัตติภวะทั้ง ๙ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อย่อลงแล้วได้ ๓ คือ ๑. กามภวะ ๒. รูปภวะ ๓. อรูปภวะ 

      กัมมภวะและอุปปัตติภวะทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ปรากฎเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยอุปาทานทั้ง ๔ เป็นเหตุ และภวะทั้ง ๒ นี้ ก็เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันได้ กล่าวคือ

      ถ้ากล่าวถึงกาลที่เป็นอนาคตแล้ว กัมมภวะเป็นเหตุ อุปปัตติภวะเป็นผลหมายความว่า สัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นอุปปัตติภวะนั้น จะปรากฎขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการกระทำต่างๆ ด้วยกาย วาจา ใจ ซึ่งเป็นอกุศลกัมมภวะ และโลกียกุศลกัมมภวะเป็นเหตุ นี้จัดเป็นชนกเหตุ ดังที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในสัมโมหวิโนทนีว่า

      "ตตฺรสฺส อุปปตฺติเหตุ ภูตํ กมฺมํ กมฺมภโว กมฺมนิพฺพตฺตา ขนฺธา อุปฺปตฺติภโว" ในภวะทั้ง ๒ อย่างนั้น อกุศลกรรม และ โลกียกุศลกรรมเจตนาที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลายนั้น ชื่อว่า กัมมภวะ ขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกัมมภวะนั้น ชื่อว่า อุปปัตติภวะ

      ถ้ากล่าวถึงกาลที่เป็นปัจจุบันแล้ว อุปปัตติภวะเป็นเหตุ กัมมภวะเป็นผล เพราะการงานทั้งหลายที่เกี่ยวด้วยกาย วาจา ใจ จะปรากฎขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นอุปปัตติภวะเป็นเหตุ ด้วยเหตุนี้บัณฑิตทั้งหลายจึงได้ให้คำแนะนำว่า

            อมตํ มิยฺยมาเนน      ชรมาเนน นิชฺชรํ

            นิพฺพุตํ ตปมาเนน      นิเมยฺยํ โพนฺทินา สิวํ ฯ

            แปลเป็นใจความว่า ผู้ฉลาด ควรพยายามเอาร่างกายที่มีความตายไม่มี

            ที่สิ้นสุดนั้นแลกกับพระนิพพานที่มีสันติ ไม่มีความตาย เหมือนหนึ่งพ่อค้าที่

            แลกเปลี่ยนสินค้ากัน

      ผู้ฉลาด ควรพยายามเอาร่างกายที่มีความแก่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น แลกกับพระนิพพาน ที่มีสันติ ไม่มีความแก่ เหมือนหนึ่งพ่อค้าที่แลกเปลี่ยนสินค้ากันผู้ฉลาค ควรพยายามเอาร่างกายที่มีความเคือคร้อนด้วยกิเลสเป็นนิจนั้นแลกกับพระนิพพานที่มีสันติไม่มีความเดือคร้อนด้วยกิเลสเป็นนิจ เหมือนหนึ่งพ่อค้าที่แลกเปลี่ยนสินค้ากัน


แสดงการเกิดขึ้นของกัมมภวะและอุปปัตติภวะโดยอาศัยกามุปาทาน 

      ตามธรรมดา จิตใจของปถุชนทั้งหลายนั้น ย่อมชอบยึดถือในความเห็นของตนเป็นใหญ่ไม่ค่อยมีการพิจารณาถึงเหตุผลที่สมควร เหมือนความเป็นไปของคนที่เสียสติ สมคังที่กล่าวไว้ว่า "ปุถุชฺชโน อุมฺมตฺตโก วิย ความเป็นอยู่ของปุถุชนนั้นเหมือนคนบ้า" ดังนั้น ในการกระทำต่างๆ ของชนทั้งหลายที่มีความหวังต่อความสุขความสบายในมนุษย์และเทวดา ด้วยอำนาจแห่งกามุปาทานนั้น บางพวกก็เชื่อถือในคำแนะนำสั่งสอนของอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เคยศึกษาในพระสูตร พระอภิธรรม พระวินัยแล้ว ย่อมกระทำการงานที่เกี่ยวกับทุจริตมีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เสพสุรา เป็นต้น แล้วใช้เป็นเครื่องบูชาบวงสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การกระทำเช่นนี้เป็นอกุศลกัมมภวะซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยกามุปาทานเป็นเหตุ บุคคลจำพวกนี้เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปบังเกิดในอบายภูมิ ๔ ซึ่งเป็นอุปปัตติภวะอย่างหนึ่ง

      บางพวกก็เชื่อถือคำแนะนำสั่งสอนของครูอาจารย์ ที่มีความเห็นถูกต้องแล้วก็ปฏิบัติในการงานที่เกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ซึ่งเป็นกุศลกัมมภวะ อาศัยกามุปาทานเป็นเหตุ บุคคลจำพวกนี้เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็ย่อมได้ไปบังเกิดในกามสุคติภูมิเป็นมนุษย์เทวดา ซึ่งเป็นอุปปัตติภวะอย่างหนึ่ง

      บางพวกก็ได้รับการอบรมแนะนำว่า การทำสมถะจนกระทั่งได้ฌานนั้นสามารถทำให้ไปบังเกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ได้รับความสุขกาย สุขใจพิเศษไปกว่าความสุขในมนุษย์และเทวดา เมื่อได้รับการแนะนำดังนี้แล้วก็พยายามเจริญสมถกรรมฐาน จนได้ถึงรูปฌานบ้าง อรูปฌานบ้าง ซึ่งเป็นกุศลกัมมภวะอาศัยกามุปาทานเป็นเหตุ บุคคลจำพวกนี้เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วก็ย่อมได้ไปบังเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ ซึ่งเป็นอุปปัตติภวะอย่างหนึ่ง


แสดงการเกิดขึ้นของกัมมภวะและอุปปัตติภวะโดยอาศัยทิฏฐุปาทาน 

      ๑. ผู้ที่มีความเห็นผิดเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิอย่างใด อย่างหนึ่ง คือนัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่าทำอะไรก็ตาม ผลที่จะได้รับข้างหน้านั้นไม่มีเช่น ในอันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ เป็นต้น และผู้ที่มีนัตถิกทิฏฐินี้ จะต้องมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วจะต้องสูญ

      ๒. อเหตุกทิฏฐิ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลาย ที่กำลังได้รับความลำบากหรือสบายอยู่ก็ตาม ไม่ได้อาศัยอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้นเลย ลำบากหรือสบายเหล่านี้ปรากฎขึ้นเอง

      ๓. อกิริยทิฏฐิ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลาย ทำดีก็ตาม ทำชั่วก็ตามไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ผลเกิดข้างหน้า ผลที่จะได้รับข้างหน้าก็ไม่มี แม้จะทำดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ไม่เรียกว่าทำดี ทำไม่ดี ผู้ที่ทำเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทำก็ดี ก็ไม่เรียกว่าทำเช่นเดียวกัน

      ผู้ที่มีความเห็นผิดดังกล่าวแล้วนี้ ได้ชื่อว่ามีทิฏฐุปาทาน บุคคลพวกนี้ย่อมประพฤติไปตามความพอใจของตน และมักจะเป็นไปในทางอกุศลเป็นส่วนมาก สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า "ปาปสมึ รมตี มโน" (*ขุ. ๒๕/ข้อ ๑๕) ตามธรรมดาจิตใจของชนทั้งหลายนั้น ย่อมยินดีในการงานที่เป็นอกุศลอยู่เสมอ" และผู้ที่มีทิฏฐุปาทานนี้ย่อมกล้ากระทำในสิ่งที่เป็นทุจริต ทุราชีพต่างๆ อันเป็นอกุศลกัมมภวะโดยอาศัยทิฏฐุปาทานเป็นเหตุ แม้ว่าบุคคลจำพวกนี้จะมีการทำกุศลบ้างก็เป็นไปได้โดยอาศัยกามุปาทานเป็นเหตุ คือหวังในชื่อเสียงเกียรติยศ และหวังผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์แก่ตนในปัจจุบันเท่านั้น

      กุศลกัมมภวะที่เกิดขึ้น โดยอาศัยทิฏจุปาทานเป็นเหตุนั้นเกิดขึ้นได้เฉพาะแต่พวกที่มีอุจเฉททิฏฐิเท่านั้น เพราะบุคคลพวกนี้เห็นว่าตัวตนนี้ถ้าจะไปสูญสิ้นในเทวภูมิหรือพรหมภูมิได้ ก็จะเป็นการดีมาก เมื่อเห็นคังนี้แล้วก็ทำกุศลมี ทาน ศีล สมถภาวนา ให้เกิดขึ้นเพื่อหวังความสูญสิ้นในภูมิที่ตนต้องการ ถ้าการทำกุศลนั้นเป็นไปโดยถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ หรือรูปภูมิอรูปภูมิ ซึ่งเป็นอุปปัตติภวะได้ แต่ถ้าการทำกุศลนั้นไม่เป็นโดยสมบูรณ์ก็ไม่อาจไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิได้ คงได้แต่เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาซึ่งเป็นอุปปัตติภวะเท่านั้น

      สำหรับอกุศลกัมมภวะนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยทิฏฐุปาทานได้ทั้งหมด


แสดงการเกิดขึ้นของกัมมภวะและอุปปัตติภวะโดยอาศัยสีลัพพตุปาทาน

      ผู้ที่กำลังปฏิบัติเยี่ยงโคเยี่ยงสุนัขอยู่นั้น โดยมากมีความคิดเห็นว่า ที่ตนกำลังปฏิบัติอยู่อย่างนี้เป็นการดำเนินอยู่ในแนวทางของสัปบุรุษซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและมีความเชื่อมั่นว่า การปฏิบัติของตนนี้จะส่งผลให้ตนไปเกิดในเทวภูมิพรหมภูมิ อย่างแน่นอน และมองเห็นการปฏิบัติของผู้อื่น มีทาน ศีล ภาวนาเหล่านั้นเป็นการที่ไม่ถูกต้อง และบุคคลเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติอย่างตนได้ ด้วยเหตุนี้บุคคลเหล่านี้จึงไม่สามารถจะไปเกิดในเทวภูมิและพรหมภูมิตามความประสงค์ได้

      ความคิดเห็นของบุคคลที่ประพฤติผิดแนวทางเช่นนี้ ย่อมเป็นมิจฉาธิโมกข์คือตัวทิฏฐิที่มีการตัดสินผิด และเป็นโทสะที่มีการดูหมิ่นต่อการปฏิบัติของผู้อื่นความเห็นของบุคคลนี้เป็นอกุศลกัมมภวะที่เกิดขึ้น โดยอาศัยสีลัพพตปาทานเป็นเหตุ และบุคคลพวกนี้เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปบังเกิดเป็นอบายสัตว์อันเป็นอุปปัตติภวะอย่างหนึ่ง

      บางพวกก็มีความเห็นว่า การปฏิบัติเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัขอย่างนี้เท่านั้น ที่สามารถทำลายกิเลสโดยตรง และให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ การปฏิบัติอย่างอื่นมีทาน ศีล ภาวนา เหล่านั้น เพียงแต่ให้ได้ไปเกิดในเทวภูมิ พรหมภูมิเท่านั้นแต่การปฏิบัติเช่นนี้ ปฏิบัติในมนุษยภูมิ จะถึงความสำเร็จได้ยาก เพราะไม่สะดวกสบาย ถ้าได้ไปปฏิบัติในเทวภูมิ หรือพรหมภูมิแล้วจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ง่าย เมื่อมีความเห็นดังนี้แล้ว ก็พยายามบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาอันเป็นกุศลกัมมภวะ เพื่อให้ได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ พรหมภูมิ บางคนปฏิบัติได้ถึงฌาน บางคนก็ไม่ได้ถึงมาน ผู้ปฏิบัติได้ถึงฌานนั้นเมื่อตายแล้วก็ได้ไปบังเกิดเป็นพรหม ผู้ที่ไม่ได้มานนั้น เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา อันเป็นอุปปัตติภวะ


แสดงการเกิดขึ้นของกัมมภวะและอุปปัตติภวะโดยอาศัยอัตตวาทุปาทาน

      อัตตวาทุปาทานนี้ เกิดขึ้นได้ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย เพราะบุคคลจำพวกนี้มองไม่เห็นความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ที่เป็นสภาพอนัตตะเห็นไปว่าเป็นตัวตน เรา เขา เป็น สัตว์ บุคคล ชาย หญิง กล่าวคือมีความรู้สึกในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นว่าในขณะเห็น การเห็นนั้นแหละเป็นเรา เราเป็นผู้เห็น ในขณะได้ยิน การได้ยินนั้นแหละเป็นเรา เราเป็นผู้ได้ยิน ในขณะคิดการคิดนั้นแหละเป็นเรา เราเป็นผู้คิด ในขณะยืน เดิน นั่ง นอน การยืน เดินนั่ง นอนนั้นแหละเป็นเรา เราเป็นผู้ยืน เดิน นั่ง นอน ความรู้สึกความเห็นดังกล่าวแล้วนี้ เกิดขึ้นจากอัตตวาทุปาทานทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงแลเห็นได้ว่าในการกระทำกุศลและอกุศลที่คนทั้งหลายกระทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอาศัยอัตตวาทุปาทานนั้นเป็นเหตุ โดยมีการนึกคิดว่าตัวเรานี้มีความสุขความสบายยังน้อยอยู่ หรือมีทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียงยังน้อยอยู่ จะต้องพยายามให้ได้สิ่งเหล่านี้มาให้มากขึ้น แล้วก็ทำกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ตามอัธยาศัยจิตใจของตนๆ หรือแล้วแต่การ ได้รับการอบรมจากบิดา มารดา ครู อาจารย์ คือถ้าผู้ใดมีอัธยาศัยจิตใจไม่ดีหรือไม่ได้รับการอบรมที่ดี ผู้นั้นย่อมแสวงหาสิ่งที่ตนต้องการไปในทางที่ ไม่ดี เป็นทุจริต ทุราชีพ ซึ่งจัดเป็นอกุศลกัมมภวะ และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมได้ไปเกิดเป็นอบายสัตว์อันเป็นอุปปัตติภวะ และถ้าผู้ใดมีอัธยาศัยจิตใจดี หรือได้รับการอบรมที่ดี ผู้นั้นย่อมแสวงหาสิ่งที่ตนต้องการไปในทางที่ดีเป็นทุจริต และสัมมาชีพ มีการสร้างทาน รักษาศีล เจริญสมถกรรมฐาน ซึ่งจัดเป็นกุศลกัมมภวะ และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมได้ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง รูปพรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง อันเป็นอุปปัตติภวะ


แสดงความแตกต่างกันระหว่างสังขารกับกัมมภวะ

      สังขารที่เป็นผลของอวิชชา (อวิชชาปจฺจยา สงฺขารา) และกัมมภวะที่เป็นผลของอุปาทาน (อุปาทานปจฺจยา ภโว) ทั้ง ๒ นี้ เมื่อว่าโคยองค์ธรรมแล้วได้แก่ เจตนา ๒๙ ที่ในอกุศลจิต ๑๒ และโลกียกุศลจิต ๑๗ เหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกันนั้น คือ

      ในนัยอัทธา ๓ เจตนา ๒๙ ที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ซึ่งเป็นเหตุให้อุปาทานขันธ์เกิดขึ้นในภพนี้ ชื่อว่า "สังขาร" ดังมีบาลีแสดงว่า "อวิชฺชา สงฺขารา อตีโต อทฺธา"

      เจตนา ๒๙ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันภพ ซึ่งเป็นเหตุให้อุปาทานขันธ์เกิดขึ้นในภพหน้า ชื่อว่า "กัมมภวะ" ดังมีบาลีแสดงว่า "มชฺเฌ อฏฺฐ ปจฺจุปนฺโน อทฺธา"

      สำหรับการแสดงในอาการ ๒๐ คือ ประเภท ๒๐ นั้น ความเป็นไปของสังขารและกัมมภวะทั้ง ๒ นี้ ไม่ต่างกันโดยกาล กล่าวคือ ในอดีตเหตุ ๕ นั้น สังขารและกัมมภวะก็เข้าร่วมอยู่ในธรรมที่เป็นอดีตเหตุด้วยเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงรู้ได้ว่าความต่างกันระหว่างสังขารกับกัมมภวะที่ว่าโดยกาลจึงไม่มีในที่นี้ แต่ความแตกต่างกันนั้น มีดังนี้ คือ

      ปุพพเจตนา ที่เกิดก่อนการกระทำกุศล อกุศล ชื่อว่า สังขาร

      มุญจเจตนา ที่เกิดขึ้นขณะกำลังกระทำกุศล อกุศล ชื่อว่า กัมมภวะ

หรืออีกนัยหนึ่ง ในกุศล อกุศลชวนะ ๗ ครั้งนั้น

      กุศล อกุศล เจตนา ที่เกิดขึ้นในชวนะดวงที่ ๑ ถึงดวงที่ ๖ ชื่อว่า สังขาร

      กุศล อกุศล เจตนา ที่เกิดขึ้นในชวนะดวงที่ ๗ ชื่อว่า กัมมภวะ

หรืออีกนัยหนึ่ง

      จิต เจตสิก ที่เกิดพร้อมกันกับ กุศล อกุศล เจตนา ชื่อว่า สังขาร

      กุศล อกุศล เจตนาเจตสิก ชื่อว่า กัมมภวะ ดังมีบาลีแสดงว่า

            สงฺขารา ปุรเจตนา       ภโว ตุ มุญฺจสตฺตมา

            สพฺพา วา เจตนา ภโว   สงขารา สมฺปยุตฺตกา ฯ

      ปุพพเจตนาก็ดี เจตนาที่ประกอบกับชวนะก่อน ๆ ๖ ครั้งก็ดี ชื่อว่า สังขาร

      มุญจนเจตนาก็ดี เจตนาที่ประกอบกับชวนะดวงที่ ๗ ชื่อว่า กัมมภวะ

หรือ 

      อกุศลและ โลกียกุศลเจตนาทั้งหมด ชื่อว่า กัมมภวะ

      จิตเจตสิกที่ประกอบกับกุศล อกุศล เจตนา เหล่านี้ ชื่อว่า สังขาร


หรืออีกนัยหนึ่ง

      สังขาร ได้แก่ กุศล อกุศล เจตนาเจตสิกอย่างเดียว

      กัมมภวะ ได้แก่ กุสล อกุศล เจตนา พร้อมด้วยนามขันธ์ ๔ ที่เหลือ


หรืออีกนัยหนึ่ง

      สังขาร ได้แก่ กุศล อกุศล เจตนา ๒๙ ที่เป็นเหตุของโลกียวิปากวิญญาณที่เป็นปฏิสนธิและปวัตติอย่างเดียว

      กัมมภวะ ได้แก่ กุศล อกุศล เจตนา ๒๙ ที่เป็นเหตุของโลกียวิปากวิญญาณที่เป็นปฏิสนธิ ปวัตติ และอสัญญีภพ


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของกัมมภวะ

      ๑. กมฺมลกฺขโณ มีความเป็นกรรมเป็นลักษณะ

      ๒. ภาวนรโส มีการทำให้เกิดเป็นกิจ (กิจจรส)

      ๓. กุสลากุสลปจฺจุปฏฺฐาโน มีความเป็นกุศล อกุศล เป็นอาการปรากฎแก่ปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย

      ๔. อุปาทานปทฏฺฐาโน มีอุปาทานเป็นเหตุใกล้ 


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของอุปปัตติภวะ

      ๑. กมฺมผลลกฺขโณ มีความเป็นผลของกรรมเป็นลักษณะ

      ๒. ภวนรโส มีการเกิดขึ้นเป็นกิจ (สัมปัตติรส)

      ๓. อพฺยากตปจฺจุปฏฺฐาโน มีความเป็นอพยากตธรรม เป็นอาการปรากฎแก่ปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย

      ๔. กมฺมภวปทฏฺฐาโน มีกัมมภวเป็นเหตุใกล้ 


แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท อุปาทานปจฺจยา ภโว

      ๑. กามุปาทาน เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัมมภวะ ที่ประกอบกับตนนั้นได้อำนาจปัจจัย ๗ คือ

         ๑) เหตุปัจจัย ๒) สหชาติปัจจัย ๓) อัญญมัญญปัจจัย ๔) สหชาตนิสสยปัจจัย ๕) สัมปยุตตปัจจัย ๖) สหชาตัตถิปัจจัย ๗) สหชาตอวิคตปัจจัย

      ๒. ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ทั้ง ๓ นี้เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัมมภวะ ที่ประกอบกับตนนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๗ คือ

         ๑) สหชาติปัจจัย ๒) อัญญมัญญปัจจัย ๓) สหชาตนิสสยปัจจัย ๔) มัคคปัจจัย ๕) สัมปยุตตปัจจัย ๖) สหชาตัตถิปัจจัย ๗) สหชาตอวิคตปัจจัย

      ๓. อุปาทานทั้ง ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัมมภวะ ที่เกิดขึ้นติดต่อกันกับตนโดยไม่มีระหว่างคั่นนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๖ คือ

         ๑) อนันตรปัจจัย ๒) สมนันตรปัจจัย ๓) อนันตรูปนิสสยปัจจัย ๔) อาเสวนปัจจัย ๕) นัตถิปัจจัย ๖) วิคตปัจจัย

      ๔. อุปาทานทั้ง ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัมมภวะและอุปปัตติภวะที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับตน หมายความว่า ตามธรรมดาผู้ที่ไม่มีอุปาทานแล้วนั้นการกระทำของบุคคลนั้นไม่เป็นกุศลอกุศลกัมมภวะ และเมื่อตายจากโลกนี้แล้วอุปปัตติภวะคือการเกิดเป็นสัตว์น้อยใหญ่ก็ย่อมไม่มี แต่การกระทำของสัตว์ทั้งหลายที่สำเร็จเป็นกุศลอกุศลกัมมภวะก็ดี และเมื่อตายจากโลกนี้แล้ว ไปเป็นสัตว์น้อยใหญ่อันเป็นอุปปัตติภวะก็ดี เหล่านี้ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจอุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่แล้วในสันคานของตนนั้นเองเป็นปัจจัย ฉะนั้น ในการช่วขอุปการะของอุปาทานทั้ง ๔ แก่ภวะทั้ง ๒ นี้ ย่อมได้อำนาจปกตูปนิสสยปัจจัยอย่างเดียว

      ๕. ในขณะที่กุศลอกุศลกัมมภวะเกิดขึ้นโดยมีอุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์อย่างสามัญ ขณะนั้นอุปาทานทั้ง ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กุศลอกุศลกัมมภวะนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๑ คือ อารัมมณปัจจัย

      ๖. ในขณะที่กุศลอกุศลกัมมภวะเกิดขึ้นโดยมีอุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์อย่างเอาใจใส่เป็นพิเศษ ขณะที่อุปาทานทั้ง ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กุศลอกุศลกัมมภวะนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๓ คือ

       ๑. อารัมมณปัจจัย ๒. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๓. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย


จบ อุปาทานปจฺจยา ภโว

----------///----------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปัจจยสังคหะ,ปฏิจจสมุปบาท,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.