สรุปลักษณะสัมมสนญาณ

การพิจารณาเพียงย่อๆ โดยลักษณะสัมมสนญาณมี ๔ อย่าง คือ :

      ๑. กลาปสัมมสนะ คือ การพิจารณารูปนามที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน,ภายนอก ภายใน, หยาบ ละเอียด, เลว ประณีต, ไกล ใกล้ ทั้งหมดนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เพราะหมดไปสิ้นไปถ่ายเดียว ไม่มีกลับ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นของน่ากลัว และไม่มีแก่นสาร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครๆ ทั้งสิ้น

      ๒. อัทธานสัมมสนะ คือ การพิจารณารูปนามที่เกิดดับ ล่วงลับไปเป็นเวลานาน คือพิจารณารูปนามในอดีต ไม่กลับมาเป็นรูปนามปัจจุบัน รูปนามปัจจุบันไม่กลับไปเป็นรูปนามอนาคต รูปนามภายในไม่เป็นรูปนามภายนอก รูปนามอดีตก็เกิดดับในอดีต รูปนามอนาคตก็เกิดดับในอนาคต รูปนามปัจจุบันไม่กลับเกิดในชาติหน้า แต่มีเหตุปัจจัยสืบต่อกันอยู่ เมื่อปัจจุบันดี อนาคตก็ดี เมื่อปัจจุบันชั่วอนาคตก็ชั่ว อุปมาเหมือนดวงตรา เมื่อประทับลงไปบนกระดาษนั้น รูปดวงตรายังปรากฏติดอยู่ที่กระดาษ แต่ดวงตราหาติดอยู่กับกระดาษไม่ ข้อนี้ฉันใด ความดีความชั่วก็ฉันนั้น ถ้าเราทำดีความดีก็ประทับตราไว้ ไม่หายสูญไปไหนเลย... ดังนั้น รูปนามจึงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

      ๓. สันตติสัมมสนะ คือ การพิจารณาเห็นความสืบต่อของรูปนาม เช่น รูปร้อนดับไปรูปเย็นเกิดขึ้น รูปเย็นดับไปรูปร้อนเกิดขึ้น หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออย่างนี้... ดังนั้น รูปนามจึงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจริงๆ

      ๔. ขณสัมมสนะ คือ การพิจารณาเห็นความเป็นไปของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ คือพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนามซึ่งเรียกว่า อุปปาทะ ฐีติ ภังคะ จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีรูปนามเกิดดับอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ตลอดวันตลอดคืน... ดังนั้น รูปนามจึงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

      การเห็นรูปนามเกิดดับดังกล่าวนี้ ชื่อว่า "สัมมสนญาณ" การเห็นรูปนามเกิดดับของสัมมสนญาณนี้ เห็นเมื่อรูปใหม่เกิดขึ้นแล้วจึงเห็นรูปเก่าดับไป เช่น พิจารณาอิริยาบถนั่ง จะเห็นว่าอิริยาบถนั่งนั้นดับไปก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนอิริยาบถนั่งนั้นเป็นอิริยาบถอื่นไป จึงจะเห็นว่าอิริยาบถนั่งนั้นดับไป ดังนี้เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าปัญญาในญาณนี้ยังอ่อนอยู่

      อนึ่ง ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ นามรูปปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณทั้ง ๓ นี้ ล้วนเป็นญาณที่อาศัยสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ก็สัมมสนญาณนี้ ว่าโดยวิสุทธิสงเคราะห์เข้าในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ และเป็นญาณที่ ๑ ในวิปัสสนาญาณ ๑๐ เป็นญาณที่ ๓ ในญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ)



[right-side]

สัมมสนญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.