อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อสัทธรรมปกาสินี ในขุททกนิกาย (ตอนที่ ๗/๗)
๕๔. อรรถกถาทิพจักขุญาณุทเทส
ว่าด้วยทิพจักขุญาณ
คำว่า โอภาสวเสน - ด้วยสามารถแสงสว่าง.
ความว่า ด้วยอำนาจแสงสว่างแห่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเตโชกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณอันเป็นอารมณ์แห่งจตุตถฌานอันแผ่ไปเพื่อเห็นรูปด้วยทิพยจักษุ.
คำว่า นานตฺเตกตฺตรูปนิมิตฺตานํ - นิมิตคือรูปต่างกันและอย่างเดียวกัน.
ความว่า รูปแห่งสัตว์ต่างๆ หรือรูปสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจำพวกที่มีกายต่างกัน หรือรูปทั้งหลายในทิศต่างๆ หรือรูปทั้งหลายที่ไม่ระคนกัน ชื่อว่า นานตฺตรูป - รูปต่างกัน.
รูปแห่งสัตว์ผู้เดียว หรือรูปแห่งสัตว์ผู้เกิดในจำพวกที่มีกายอย่างเดียวกัน หรือรูปทั้งหลายในทิศเดียว หรือรูปทั้งหลายเข้ากันได้แห่งทิศต่างๆ เป็นต้น ชื่อ เอกตฺตรูป - รูปอย่างเดียวกัน.
ก็ในคำว่า รูปํ นี้ ได้แก่ วัณณายตนะ (สี) เท่านั้น. เพราะวัณณายตนะนั้นย่อมแตกดับไป ฉะนั้นจึงชื่อว่ารูป.
อธิบายว่า วัณณายตนะนั้น เมื่อถึงซึ่งวรรณวิการ - ความเปลี่ยนไปแห่งวรรณะ ก็ย่อมประกาศความถึงซึ่งหทัย. รูปนั่นแหละชื่อว่านิมิตคือรูป. แห่งนิมิตคือรูปต่างกันและอย่างเดียวกันเหล่านั้น.
คำว่า ทสฺสนฏฺเฐ ปญฺญา - ปัญญาในอรรถว่าเห็น ได้แก่ปัญญาในการเห็นเป็นสภาวะ.
คำว่า ทิพฺพจกฺขุญาณํ - ญาณในทิพจักขุ ชื่อว่าทิพย์ เพราะเป็นเช่นกับด้วยของทิพย์.
ปสาทจักขุอันเป็นทิพย์ของทวยเทพอันเกิดขึ้นด้วยสุจริตกรรม อันไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินทั้งหลายมีน้ำดีเสมหะและโลหิตเป็นต้น สามารถรับอารมณ์แม้ในที่ไกลได้เพราะพ้นจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง.
ญาณจักขุแม้นี้อันเกิดเพราะกำลังแห่งวีริยภาวนา ก็เป็นเช่นนั้นนั่นเอง ฉะนั้นจึงชื่อว่าทิพย์ เพราะเป็นเช่นกับของทิพย์,
ชื่อว่าทิพย์ แม้เพราะเป็นธรรมอันตนอาศัยทิพวิหารธรรม เพราะได้เฉพาะด้วยอำนาจทิพวิหารธรรม, ชื่อว่าทิพย์ เพราะเป็นของรุ่งเรืองมากด้วยการกำหนดอาโลกะ - แสงสว่าง, ชื่อว่าทิพย์ แม้เพราะมีทางไปมาก ด้วยการเห็นรูปภายในฝาเรือนเป็นต้นได้.
คำทั้งหมดนั้น พึงทราบตามครรลองแห่งคัมภีร์ศัพทศาสตร์.
เพราะอรรถว่าเห็น จึงชื่อว่าจักขุ, ญาณนั้นเหมือนกับจักขุ แม้เหตุนั้นจึงชื่อว่าจักขุ, จักขุนั้นด้วยเป็นเพียงดังทิพย์ด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่าทิพจักขุ. ทิพจักขุนั้นด้วย ญาณด้วย รวมกันเป็นทิพจักขุญาณ - ญาณในทิพจักขุ.
๕๕. อรรถกถาอาสวักขยญาณุทเทส
ว่าด้วยอาสวักขยญาณ
คำว่า จตุสฏฺฐิยา อากาเรหิ - ด้วยอาการ ๖๔.
ความว่า ด้วยอาการแห่งอินทรีย์อย่างละ ๘ ในมรรคผลหนึ่งๆ ทั้ง ๘ ในมรรคผลละ ๘ ละ ๘ จึงรวมเป็น ๖๔.
คำว่า ติณฺณนฺนํ อินฺทฺริยานํ - อินทรีย์ ๓.
ความว่า ในอินทรีย์ ๓ เหล่านี้คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์, อัญญินทรีย์, อัญญาตาวินทรีย์.
คำว่า วสิภาวตา ปญฺญา - ปัญญาคือความเป็นผู้มีความชำนาญ.
ความว่า ปัญญาอันเป็นไปแล้วโดยความเป็นผู้มีความชำนาญ, ปัญญาอันเป็นไปแล้วโดยความเป็นผู้มีความชำนาญแห่งอัญญาตาวินทรีย์นั่นแหละด้วยอาการ ๘ ด้วยสามารถแห่งอินทรีย์ ๘ ในอรหัตผล.
คำนี้พึงทราบว่าท่านกล่าวแล้ว เพราะความสำเร็จผลนั้นด้วยสามารถแห่งการสำเร็จเหตุ แม้เพราะความไม่มีในขณะแห่งอรหัตมรรค.
บทว่า อาสวานํ ขเย ญาณํ - ญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
ความว่า อรหัตมรรคญาณอันกระทำความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายอันตนฆ่าเสียแล้ว.
๔๖-๕๙. อรรถกถาทุกขสมุทยนิโรธมรรคญาณุทเทส
ว่าด้วยญาณในอริยสัจ
บัดนี้ เพื่อแสดงความตรัสรู้ด้วยญาณอันเดียวกันแห่งมรรคญาณหนึ่งๆ บรรดามรรคญาณทั้ง ๔ ด้วยการเกี่ยวเนื่องกับด้วยอรหัตมรรคญาณกล่าวคืออาสวักขยญาณ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงได้ยกญาณทั้ง ๔ มีคำว่า ปริญฺญฏฺเฐ ปญฺญา - ปัญญาในอรรถว่ารู้รอบเป็นต้นขึ้นแสดง.
บรรดาสัจจะทั้ง ๔ นั้น ทุกขสัจจะ ท่านกล่าวก่อน เพราะทุกขสัจจะเป็นของหยาบ เพราะมีอยู่ทั่วไปแก่สัตว์ทั้งปวงและเป็นของที่รู้ได้โดยง่าย, แล้วแสดงสมุทยสัจจะต่อจากทุกขสัจจะนั้น เพื่อแสดงเหตุแห่งทุกขสัจจะนั้น, ต่อจากนั้นก็แสดงนิโรธสัจจะ เพื่อจะให้รู้ว่า ผลดับก็เพราะเหตุดับ แล้วแสดงมรรคสัจจะในที่สุด เพื่อจะแสดงอุบายเป็นเครื่องบรรลุถึงซึ่งนิโรธสัจจะนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวทุกข์ก่อนก็เพื่อจะให้เกิดความสังเวชแก่สัตว์ทั้งหลายผู้ติดอยู่ด้วยความยินดีสุขในภพ, ทุกข์นั้นมิใช่มีมาโดยไม่มีเหตุ มิใช่มีเพราะพระอิศวรนิรมิตเป็นต้น, แต่มีมาจากสมุทัยนี้ ฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวสมุทยสัจจะไว้ในลำดับแห่งทุกข์นั้น เพื่อจะให้รู้เนื้อความนี้, แล้วกล่าวนิโรธไว้เพื่อให้เกิดความยินดีแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีใจสลดแล้ว ผู้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ เพราะถูกทุกข์อันเป็นไปกับด้วยเหตุ คือสมุทัยครอบงำ, แล้วกล่าวมรรคอันให้ถึงนิโรธเพื่อให้บรรลุนิโรธ. ท่านได้ยกญาณทั้งหลายอันเป็นวิสัยแห่งสัจจะทั้ง ๔ นั้นขึ้นแสดงตามลำดับ ณ บัดนี้.
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ปริญฺญฏฺเฐ - ในอรรถว่ารู้รอบ.
ความว่า ในสภาวะที่ควรรู้รอบ ๔ อย่างมีการเบียดเบียนเป็นต้นแห่งทุกข์.
คำว่า ปหานฏฺเฐ - ในอรรถว่าละ.
ความว่า ในสภาวะที่ควรละ ๔ อย่างมีการประมวลมาเป็นต้นแห่งสมุทัย.
คำว่า สจฺฉิกิริยฏฺเฐ - ในอรรถว่ากระทำให้แจ้ง.
ความว่า ในสภาวะที่ควรทำให้แจ้ง ๔ อย่าง มีการออกจากทุกข์เป็นต้นแห่งนิโรธ.
คำว่า ภาวนฏฺเฐ - ในอรรถว่าเจริญ.
ความว่า ในสภาวะที่ควรเจริญ ๔ อย่างมีการนำออกเป็นต้นแห่งมรรค.
๖๐-๖๓. อรรถกถาทุกขทุกขสมุทัยทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณุทเทส
ว่าด้วยทุกขทุกขสมุทัยทุกขนิโรธทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ
บัดนี้ เพื่อจะแสดงสัจญาณเป็นแผนกๆ ไปด้วยสามารถแห่งการพิจารณาถึงมรรคที่ได้เจริญแล้วก็ดี ด้วยอำนาจการได้ยินได้ฟังของผู้ไม่ได้อบรมมรรคก็ดี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกเอาญาณ ๔ มีทุกขญาณเป็นต้นขึ้นแสดง.
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ทุกฺเข - ในทุกข์.
ทุ ศัพท์ ในคำนี้ย่อมปรากฏในอรรถว่าน่าเกลียด. ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุตรน่าเกลียดว่า ทุปุตตะ - บุตรชั่ว.
ข ศัพท์นั้นย่อมปรากฏในอรรถว่าว่างเปล่า.
จริงอยู่ ท่านเรียกอากาสที่ว่างว่า ขํ.
ก็สัจจะที่ ๑ นี้ชื่อว่าน่าเกลียด เพราะเป็นที่ตั้งแห่งอุปัทวะเป็นอเนก, ชื่อว่าว่างเปล่า เพราะเว้นจากความยั่งยืน, ความงาม, ความสุขและอัตตาอันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาของพาลชน. เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าทุกข์ เพราะความเป็นของน่าเกลียดและเพราะเป็นความว่างเปล่า.
ในคำว่า ทุกฺขสมุทเย - ในทุกขสมุทัยนี้
สํ ศัพท์นี้แสดงถึงสังโยคะ - การประกอบพร้อมกัน ดุจในคำเป็นต้นว่า สมาคโม - มาประชุมพร้อมกัน สเมตํ - มาถึงพร้อมกัน.
อุ ศัพท์นี้แสดงถึงการอุบัติ ดุจในคำเป็นต้นว่า อุปฺปนฺนํ - เกิดขึ้นแล้ว อุทิตํ - ตั้งขึ้นแล้ว.
อย ศัพท์ก็ย่อมแสดงถึงการณะ - เหตุ.
ก็สัจจะที่ ๒ นี้ เมื่อการประชุมพร้อมแห่งปัจจัยที่เหลือมีอยู่ก็เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าทุกขสมุทัย เพราะเหตุที่สัจจะที่ ๒ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ในเมื่อมีการประกอบ.
ในคำว่า ทุกฺขนิโรเธ - ในความดับแห่งทุกข์นี้ นิศัพท์แสดงถึงอภาวะ - ความไม่มี, และโรธศัพท์ แสดงถึงการเที่ยวไปในวัฏสงสาร. เพราะฉะนั้น ความไม่มีแห่งการเที่ยวไปแห่งทุกข์ กล่าวคือการเที่ยวไปในสังสารทุกข์ เพราะว่างจากคติทั้งปวง,
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบรรลุนิโรธนั้นแล้ว ทุกขนิโรธอันท่องเที่ยวไปในสงสารย่อมไม่มี เพราะความที่ทุกขนิโรธเป็นปฏิปักษ์ต่อการท่องเที่ยวไปในสังสาร แม้เพราะเหตุนี้ ก็เรียกว่าทุกขนิโรธ.
อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าทุกขนิโรธ เพราะเป็นปัจจัยแก่การดับไม่เกิดแห่งทุกข์.
ในคำว่า ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย - ในปฏิปทาเป็นเหตุถึงซึ่งทุกขนิโรธนี้ มรรคมีองค์ ๘ นี้ย่อมถึงซึ่งทุกขนิโรธ เพราะมุ่งหน้าต่อทุกขนิโรธนั้น โดยการกระทำให้เป็นอารมณ์ และเป็นปฏิปทาแห่งการบรรลุทุกขนิโรธ ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
มรรคญาณ ๔ เท่านั้น ในเบื้องต้นท่านกล่าวว่า มรรคญาณด้วยสามารถแห่งการแสดงอาการคือการออก, ท่านกล่าวว่า อานันตริกสมาธิญาณด้วยสามารถแห่งการแสดงเหตุแห่งการให้ผลในลำดับ, ท่านกล่าวสัจวิวัฏญาณด้วยอำนาจการแสดงซึ่งการหลีกออกจากวัฏฏะด้วยสัจจะ, ท่านกล่าวอาสวักขยญาณเพื่อแสดงความเกิดขึ้นแห่งอรหัตมรรคญาณตามลำดับแห่งมรรค และเพื่อแสดงความรู้ยิ่งแห่งญาณนั้น,
ท่านแสดงญาณ ๔ เป็นต้นว่า ปัญญาในปริญเญยยธรรม ชื่อว่าทุกขญาณ เพื่อแสดงความที่มรรคญาณทั้ง ๔ เป็นญาณที่ตรัสรู้ โดยความเป็นอันเดียวกันซ้ำอีก ท่านยกญาณทั้ง ๔ มีทุกขญาณเป็นต้นด้วยสามารถแห่งการแสดงการเกิดขึ้นแยกกันในสัจจะหนึ่งๆ อีก ฉะนั้น พึงทราบความต่างกันทั้งในเบื้องต้นและเบื้องปลาย ดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้แล.
๖๕-๖๗. อรรถกถาอัตถปฏิสัมภิทาธัมมปฏิสัมภิทา
นิรุตติปฏิสัมภิทาปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณุทเทส
ว่าด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔
บัดนี้ เพื่อจะแสดงว่า ปฏิสัมภิทาญาณสำเร็จแก่พระอริยบุคคลทั้งปวงได้ด้วยอานุภาพแห่งอริยมรรคเท่านั้น ท่านจึงยกปฏิสัมภิทาญาณ ๔ มีอรรถปฏิสัมภิทาญาณเป็นต้นขึ้นแสดงอีก.
ก็ปฏิสัมภิทาญาณเหล่านี้เป็นสุทธิกปฏิสัมภิทาญาณทั่วไปแก่พระอริยบุคคลทั้งปวง แม้ในเมื่อไม่มีการแตกฉานในปฏิสัมภิทาด้วยกัน, แต่ที่ท่านยกขึ้นแสดงในภายหลัง พึงทราบว่าเป็นปฏิสัมภิทาญาณอันถึงความแตกฉานของผู้มีปฏิสัมภิทาแตกฉานแล้ว นี้เป็นความต่างกันของอรรถวจนะทั้ง ๒ แห่งคำเหล่านั้น.
หรือญาณที่ท่านแสดงในลำดับมีทุกข์เป็นอารมณ์และมีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นอรรถปฏิสัมภิทา, ญาณมีสมุทัยเป็นอารมณ์และมีมรรคเป็นอารมณ์ เป็นธรรมปฏิสัมภิทา, ญาณในโวหารอันแสดงอรรถและธรรมนั้นเป็นนิรุตติปฏิสัมภิทา, ญาณในญาณทั้ง ๓ เหล่านั้นเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ท่านยกสุทธิกปฏิสัมภิทาญาณขึ้นแสดง เพื่อจะชี้แจงความแปลกกันแห่งเนื้อความแม้นั้น. ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวให้แปลกกันด้วยนานัตตศัพท์ในภายหลัง, ในที่นี้จึงไม่กล่าวให้แปลกกันเหมือนอย่างนั้นดังนี้.
๖๘. อรรถกถาอินทริยปโรปริยัตตญาณุทเทส
ว่าด้วยอินทริยปโรปริยัตตญาณ
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ครั้นยกญาณอันทั่วไปแก่พระสาวก ๖๗ ญาณขึ้นแสดงตามลำดับอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงญาณอันมีเฉพาะพระตถาคตเจ้าเท่านั้นไม่ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย จึงได้ยกอสาธารณญาณ ๖ มีอินทริยปโรปริยัตตญาณขึ้นแสดง ณ บัดนี้.
แม้บรรดาอสาธารณญาณทั้ง ๖ นั้น พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเมื่อจะทรงตรวจดูความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีภาชนะเป็นเครื่องรองรับพระธรรมเทศนา ก็ย่อมตรวจดูด้วยพุทธจักษุ. อินทริยปโรปริยัตตญาณและอาสยานุสยญาณทั้ง ๒ นี้เท่านั้น ชื่อว่าพุทธจักษุ.
สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๑-
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรวจดูสัตว์โลกด้วย
พุทธจักษุได้ทรงเห็นแล้วแล ซึ่งสัตว์ทั้งหลาย
บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลี
คือกิเลสในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า
บางพวกมีอินทรีย์อ่อน ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๙
และเมื่อตรวจดูสัตว์โลกทั้งหลาย ก็ทรงตรวจดูความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ในสันดานของสัตว์ก่อน. ครั้นทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์แล้ว ต่อแต่นั้นก็ทรงตรวจดูอาสยานุสัยและจริต เพื่อแสดงธรรมตามสมควรแก่อาสยะเป็นต้น, แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงยกอินทริยปโรปริยัตตญาณขึ้นแสดงก่อน, ในลำดับต่อจากนั้นก็ยกอาสยานุสยญาณขึ้นแสดง.
ก็เมื่อจะทรงแสดงธรรม ย่อมทรงกระทำปาฏิหาริย์แก่ผู้ควรแนะนำด้วยปาฏิหาริย์, เพราะเหตุนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกญาณในยมกปาฏิหาริย์ขึ้นแสดงในลำดับต่อจากอาสยานุสยญาณ, เพื่อจะแสดงเหตุแห่งญาณทั้ง ๓ เหล่านี้จึงยกมหากรุณาญาณขึ้นแสดง แล้วยกสัพพัญญุตญาณขึ้นแสดงเป็นลำดับต่อไป เพื่อแสดงความบริสุทธิ์แห่งมหากรุณาญาณ.
พึงทราบว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้ยกอนาวรณญาณขึ้นแสดงในลำดับแห่งสัพพัญญุตญาณนั้น เพื่อแสดงความที่พระสัพพัญญุตญาณเป็นญาณที่เนื่องด้วยการระลึกถึงธรรมทั้งปวง และเพื่อแสดงความที่พระสัพพัญญุตญาณเป็นอนาวริยภาพ คือไม่มีอะไรขัดข้อง.
ในคำว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตญาณํ - ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายนี้.
บทว่า สตฺตานํ - แห่งสัตว์ทั้งหลาย.
ข้างหน้าพึงนำมาประกอบในที่นี้ด้วยเป็น สตฺตานํ อินฺทฺริยปโรปริยตฺตญาณํ.
เมื่อควรจะกล่าวว่า ปรานิ จ อปรานิ จ ปราปรานิ ท่านก็เรียกเสียว่า ปโรปรานิ เพราะทำให้เป็น โรอักษรด้วยสนธิวิธี.
ภาวะแห่งปโรประ ชื่อว่าปโรปริยะ, ปโรปริยะนั่นแหละชื่อว่าปโรปริยัตตะ, ความอ่อนและความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ๕ มีสัทธาเป็นต้นของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอินทริยปโรปริยัตตะ, ญาณในอินทริยปโรปริยัตตะ ชื่อว่าอินทริยปโรปริยัตตญาณ.
อธิบายว่า ญาณในความที่อินทรีย์ทั้งหลายเป็นคุณสูงและต่ำ
ปาฐะว่า อินฺทฺริยวโรวริยตฺตญาณํ - ญาณในความที่อินทรีย์เป็นคุณประเสริฐและไม่ประเสริฐ ดังนี้ก็มี.
พึงประกอบคำว่า วรานิ จ อวริยานิ จ วโรวริยานิ - ประเสริฐด้วย ไม่ประเสริฐด้วย ชื่อว่าประเสริฐและไม่ประเสริฐ, ภาวะแห่งวโรวริยะ ชื่อว่าวโรวริยัตตะ.
คำว่า อวริยานิ - ไม่ประเสริฐ. ความว่า ไม่สูงสุด.
อีกอย่างหนึ่ง ปร-อินทรีย์ที่ใช้ได้ด้วย, โอปร-อินทรีย์ที่ใช้ไม่ได้ด้วย ชื่อว่าปโรประ.
พึงประกอบความว่า ภาวะแห่งปโรประ ชื่อว่าปโรปริยัตตะ - ความเป็นแห่งอินทรีย์ที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ดังนี้.
คำว่า โอปรานิ - อินทรีย์ที่ใช้ไม่ได้. มีคำอธิบายว่า ต่ำทราม.
ความว่า ลามก ดุจในคำเป็นต้นว่า๑- พิจารณาธรรมอันลามกของผู้ใดอยู่ ดังนี้.
ท่านตั้งปาฐะไว้เป็นสัตตมีวิภัตติว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺเตญาณํ ดังนี้ก็มี.
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕๙
๖๙. อรรถกถาอาสยานุสยญาณุทเทส
ว่าด้วยอาสยานุสยญาณ
สัตว์ทั้งหลายข้องอยู่ด้วยฉันทราคะในขันธ์ทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้น เรียกว่า สตฺตา - สัตว์ทั้งหลาย ในคำนี้ว่า สตฺตานํ อาสยานุสเย ญาณํ - ญาณในอาสยานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย.
สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
ดูก่อนราธะ เพราะเหตุที่ความพอใจ ความ
กำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากใน
รูปแล เป็นผู้ข้องในรูป เป็นผู้เกี่ยวข้องในรูปนั้น
ฉะนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ เพราะเหตุที่ความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยาน
อยากในเวทนา... ในสัญญา... ในสังขาร... ใน
วิญญาณ เป็นผู้ข้องในวิญญาณ เป็นผู้เกี่ยวข้อง
ในวิญญาณนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- สํ. ขนฺธ. ๑๗/๓๖๗
ส่วนอาจารย์ผู้เพ่งเฉพาะตัวอักษร ไม่ใคร่ครวญถึงอรรถะ ก็ลงความเห็นว่า คำนี้เป็นเพียงคำนามเท่านั้น.
ฝ่ายอาจารย์เหล่าใดใคร่ครวญถึงอรรถะ, อาจารย์เหล่านั้นก็ย่อมประสงค์ความว่า ชื่อว่าสัตว์ เพราะประกอบกับสิ่งทั้งปวง. สิ่งใดอาศัยอยู่ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งสัตว์เหล่านั้น ฉะนั้นสิ่งนั้นจึงชื่อว่าอาสยะ,
คำนี้เป็นชื่อของสันดานอันมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิอบรมแล้ว, หรือว่าอันโทษทั้งหลายมีกามเป็นต้น หรือคุณทั้งหลายมีเนกขัมมะเป็นต้น อบรมแล้ว.
กิเลสใดๆ ที่นอนเนื่องเป็นไปตาม อยู่ในสันดานของสัตว์ ฉะนั้น กิเลสนั้นๆ จึงชื่อว่าอนุสยา. คำนี้เป็นชื่อของกิเลสทั้งหลายมีกามราคะเป็นต้นอันมีกำลัง.
อาสยะด้วย อนุสยะด้วย ชื่อว่าอาสยานุสยะ. พึงทราบว่าเป็นเอกวจนะ โดยชาติศัพท์และด้วยสามารถแห่งทวันทวสมาส.
อธิมุติกล่าวคือจริต สงเคราะห์เข้าในอาสยานุสยะ เพราะเหตุนั้น ในอุทเทสท่านจึงสงเคราะห์ญาณในจริตาธิมุติ เข้าด้วยอาสยานุสยญาณแล้วจึงกล่าวว่า อาสยานุสเย ญาณํ - ญาณในอาสยานุสยะ.
ก็ท่านทำอุทเทสไว้ด้วยประสงค์ใด, นิทเทสท่านก็ทำไว้ด้วยประสงค์นั้นนั่นแล.
๗๐. อรรถกถายมกปาฏิหีรญาณุทเทส
ว่าด้วยยมกปาฏิหีรญาณ
พึงทราบคำวินิจฉัยในคำว่า ยมกปาฏิหีเร ญาณํ - ญาณในยมกปาฏิหีระ นี้ดังต่อไปนี้.
ชื่อว่ายมกะ เพราะทำกองไฟและท่อธารแห่งน้ำเป็นต้น ให้เป็นไปในคราวเดียวกันไม่ก่อนไม่หลังทีเดียว, ชื่อว่าปาฏิหีระ เพราะกำจัดเสียซึ่งปฏิปักขธรรมทั้งหลายมีความไม่เชื่อเป็นต้น, ยมกะนั้นด้วย ปาฏิหีระด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่ายมกปาฏิหีระ.
๗๑. อรรถกถามหากรุณาสมาปัตติญาณุทเทส
ว่าด้วยมหากรุณาสมาปัตติญาณ
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า มหากรุณาสมาปตฺติยา ญาณํ - ญาณในมหากรุณาสมาบัติ นี้ดังต่อไปนี้.
ธรรมชาติใด ครั้นเมื่อทุกข์ของผู้อื่นมีอยู่ ย่อมทำความหวั่นใจแก่สาธุชนทั้งหลาย หรือว่าย่อมรื้อคือย่อมเบียดเบียนทำลายทุกข์ของผู้อื่น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากรุณา.
อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมเรี่ยไร คือย่อมแผ่ไปด้วยอำนาจการแผ่ไปในเหล่าทุกขิตสัตว์ - สัตว์ผู้มีทุกข์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากรุณา.
กรุณาใหญ่ ชื่อว่ามหากรุณา ด้วยอำนาจกรรมคือการแผ่ไปและด้วยอำนาจกรรมอันเป็นคุณ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณา ย่อมเข้าสู่สมาบัตินี้ได้ ฉะนั้นจึงชื่อว่าสมาปัตติ - สมาบัติ. พระมหากรุณานั้นด้วย เป็นสมาบัติด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่ามหากรุณาสมาบัติ. ในมหากรุณาสมาบัตินั้น, ญาณอันสัมปยุตกับด้วยมหากรุณาสมาบัตินั้น.
๗๒-๗๓. อรรถกถาสัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณุทเทส
ว่าด้วยสัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณ
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สพฺพญฺญุตญาณํ อนาวรณญาณํ - ญาณเป็นเครื่องรู้ธรรมทั้งปวง ญาณอันไม่มีอะไรติดขัด นี้ดังต่อไปนี้
พระพุทธะพระองค์ใดทรงรู้ธรรมทั้งปวงมีประเภทแห่งคลองอันจะพึงแนะนำ ๕ ประการ ฉะนั้น พระพุทธะพระองค์นั้น ชื่อว่าสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวง, ความเป็นแห่งพระสัพพัญญู ชื่อว่าสัพพัญญุตา,
ญาณคือพระสัพพัญญุตาญาณนั้น ควรกล่าวว่าสัพพัญญุตาญาณ ท่านก็กล่าวเสียว่า สัพพัญญุตญาณ.
จริงอยู่ ธรรมทั้งปวงต่างโดยเป็นสังขตธรรมเป็นต้น เป็นครรลองธรรมที่จะพึงแนะนำมี ๕ อย่างเท่านั้น#- คือสังขาร ๑, วิการ ๑, ลักขณะ ๑, นิพพาน ๑ และบัญญัติ ๑.
____________________________
#- ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาเรียกธรรม ๕ มีสังขารเป็นต้นนี้ว่าไญยธรรม.
คำว่า สพฺพญฺญู - รู้ธรรมทั้งปวง ความว่า สัพพัญญูมี ๕ อย่างคือ
๑. กมสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวงตามลำดับ,
๒. สกิงสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวงในคราวเดียวกัน,
๓. สตตสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวงติดต่อกันไป,
๔. สัตติสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวงด้วยความสามารถ,
๕. ญาตสัพพัญญู - รู้ธรรมทั้งปวงที่รู้แล้ว.
กมสัพพัญญุตาย่อมมีไม่ได้ เพราะกาลเป็นที่รู้ธรรมทั้งปวงไม่เกิดขึ้น ตามลำดับ,
สกิงสัพพัญญุตาก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีการรับอารมณ์ทั้งปวงได้ในคราวเดียวกัน,
สตตสัพพัญญุตาก็มีไม่ได้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งจิตในอารมณ์ตามสมควรแก่จิต มีจักขุวิญญาณจิตเป็นต้น และเพราะไม่มีการประกอบในภวังคจิต,
สัตติสัพพัญญุตาพึงมีได้ เพราะสามารถรู้ธรรมทั้งปวงโดยการแสวงหา,
ญาตสัพพัญญุตาก็พึงมีได้ เพราะธรรมทั้งปวงรู้แจ่มแจ้งแล้ว.
ข้อว่าความรู้ธรรมทั้งปวงไม่มีในสัตติสัพพัญญุตาแม้นั้นย่อมไม่ถูกต้อง เพราะท่านกล่าวไว้ว่า๑-
อะไรๆ อันพระตถาคตเจ้านั้นไม่เห็นแล้วไม่มีในโลกนี้
อนึ่ง อะไรๆ ที่ไม่รู้แจ้งและไม่ควรรู้ก็ไม่มี, สิ่งใดที่ควร
แนะนำมีอยู่ พระตถาคตเจ้าได้รู้ธรรมทั้งหมดนั้นแล้ว
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตเจ้าจึงชื่อว่าสมันตจักขุ.
ฉะนั้น ญาตสัพพัญญุตาเท่านั้น ย่อมถูกต้อง.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๗๒๗
ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สัพพัญญุตญาณนั่นแลย่อมมีได้โดยกิจ โดยอสัมโมหะ โดยการสำเร็จแห่งเหตุ โดยเนื่องกับอาวัชชนะ ด้วยประการฉะนี้.
อารมณ์เป็นเครื่องกั้นญาณนั้นไม่มี เป็นญาณที่เนื่องด้วยอาวัชชนะนั่นเอง ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่าอนาวรณะ - ไม่มีการติดขัด, อนาวรณะนั้นนั่นแหละ ท่านเรียกว่าอนาวรณญาณ ด้วยประการฉะนี้.
คำว่า อิมานิ เตสตฺตติ ญาณานิ - ญาณ ๗๓ เหล่านี้.
ความว่า ญาณทั้ง ๗๓ เหล่านี้ ท่านยกขึ้นแสดงด้วยสามารถแห่งญาณอันทั่วไปและไม่ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย.
คำว่า อิเมสํ เตสตฺตติยา ญาณานํ - แห่งญาณ ๗๓ เหล่านี้.
ความว่า แห่งญาณทั้งหลาย ๗๓ ญาณเหล่านี้อันท่านกล่าวแล้วตั้งแต่ต้น.
ก็คำนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถว่าเป็นกลุ่ม.
ปาฐะว่า เตสตฺตตีนํ ดังนี้ก็มี.
เมื่อกล่าวว่า เตสตฺตติยา พึงทราบว่าเป็นพหุวจนะในรูปเอกวจนะ
คำว่า สตฺตสฏฺฐิ ญาณานิ - ญาณ ๖๗ ได้แก่ ญาณ ๖๗ นับตั้งแต่ต้นมา.
คำว่า สาวกสาธารณานิ - ทั่วไปแก่พระสาวก.
ความว่า ชื่อว่าสาวก เพราะเกิดโดยชาติแห่งอริยะในที่สุดแห่งการฟัง, ชื่อว่าสาธารณะ เพราะการทรงไว้มีอยู่แก่ญาณเหล่านั้น,
ญาณ ๖๗ นั้นเป็นญาณที่ทั่วไปแก่พระสาวกของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าสาวกสาธารณะ - ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย.
คำว่า ฉ ญาณานิ - ญาณ ๖ ได้แก่ ๖ ญาณที่ท่านยกขึ้นแสดงในที่สุด.
คำว่า อสาธารณานิ สาวเกหิ - ไม่ทั่วไปแก่พระสาวก.
ความว่า ญาณทั้งหลาย ๖ ญาณเฉพาะของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ไม่ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย ฉะนี้แล.
อรรถกถาญาณกถามาติกุทเทส
ในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อสัทธัมมปกาสินีจบ
----------------------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ