อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อสัทธรรมปกาสินี ในขุททกนิกาย (ตอนที่ ๖/๗)
๔๑. อรรถกถาขันติญาณุทเทส
ว่าด้วยขันติญาณ
บัดนี้ เพื่อจะแสดงวิปัสสนาญาณ ๒ ประการอันให้สำเร็จทัสนวิสุทธิ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกขันติญาณและปริโยคาหณญาณขึ้นแสดงต่อจากทัสนวิสุทธิญาณนั้น.
ในขันติญาณนั้น คำว่า วิทิตตฺตา ปญฺญา - ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏ.
ความว่า ปัญญาอันเป็นไปแล้ว เพราะรู้แจ้งซึ่งธรรมมีรูปขันธ์เป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
คำว่า ขนฺติ ญาณํ - ขันติญาณ ความว่า ธรรมชาติใดย่อมรู้ธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยงนั่นเอง ฉะนั้นจึงชื่อว่าขันติ,
ญาณคือขันติ ชื่อว่าขันติญาณ. ด้วยขันติญาณนี้ ย่อมห้ามอธิวาสนขันติ. ขันติญาณนี้เป็นตรุณวิปัสสนาญาณอันเป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งสัมมสนญาณ มีการพิจารณาสังขารธรรมโดยความเป็นกลาป๑- เป็นต้น.
____________________________
๑- คือยังทำลายฆนสัญญาไม่ได้.
๔๒. อรรถกถาปริโยคาหณญาณุทเทส
ว่าด้วยปริโยคาหณญาณ
คำว่า ผุฏฺฐตฺตา ปญฺญา - ปัญญาอันถูกต้องซึ่งธรรม.
ความว่า ปัญญาอันเป็นไปแล้วเพราะความที่แห่งธรรมทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้น เป็นธรรมอันญาณผัสสะถูกต้องแล้วด้วยสามารถแห่งการพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
คำว่า ปริโยคาหเณ ญาณํ - ญาณในการหยั่งลง.
ความว่า ญาณใดย่อมหยั่งลง ย่อมเข้าไปสู่ธรรมอันญาณผัสสะถูกต้องแล้วนั่นเอง ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่าปริโยคาหณญาณ.
อาจารย์บางพวกทำรัสสะ คาอักษรเสียบ้างแล้วสวด.
ปริโยคาหณญาณนี้เป็นติกขวิปัสสนาญาณ เป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งภังคานุปัสนา.
แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิปัสสนาญาณนั่นแหละเป็นขันติญาณสำหรับผู้มีสัทธาเป็นพาหะ, เป็นปริโยคาหณญาณสำหรับผู้มีปัญญาเป็นพาหะ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ญาณทั้ง ๒ นี้ย่อมไม่เกิดพร้อมกันแก่คนๆ หนึ่ง, ญาณที่สาธารณะแก่พระสาวก ๖๗ ย่อมไม่เกิดขึ้นพร้อมกันแก่พระสาวกรูปหนึ่งในการเกิดขึ้นพร้อมกันแห่งญาณนั้น, เพราะฉะนั้น คำของอาจารย์บางพวกนั้น จึงไม่ถูก.
๔๓. อรรถกถาปเทสวิหารญาณุทเทส
ว่าด้วยปเทสวิหารญาณ
ประเทสวิหารญาณอันให้สำเร็จทัสนวิสุทธิญาณของพระอรหันต์ อันพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวญาณอันเป็นเหตุให้สำเร็จทัสนวิสุทธิญาณว่า ปุถุชนและพระเสกขบุคคลทั้งหลายพิจารณาอยู่ซึ่งธรรมทั้งสิ้นมีขันธ์เป็นต้นอันเข้าถึงวิปัสสนา, ไม่พิจารณาเอกเทสแห่งธรรมเหล่านั้น, เพราะฉะนั้น ปเทสวิหารญาณย่อมไม่ได้แก่ปุถุชนและพระเสกขบุคคลเหล่านั้น แต่ย่อมได้ตามชอบใจแก่พระอรหันต์เท่านั้นดังนี้ แล้วจึงยกขึ้นแสดงต่อจากปริโยคาหณญาณ.
ในปเทสวิหารญาณ คำว่า สโมทหเน ปญฺญา - ปัญญาในการประมวลมา.
ความว่า ปัญญาในการประมวลมา คือปัญญาในการรวบรวมมา ได้แก่ปัญญาในการกระทำซึ่งธรรมคือเวทนาอันเป็นธรรมพวกเดียวกันให้เป็นกอง บรรดาธรรมมีขันธ์เป็นต้น.
ปาฐะว่า สโมธาเน ปญฺญา - ปัญญาในการประชุมดังนี้ก็มี.
ใจความก็อันนั้นนั่นแหละ.
คำว่า ปเทสวิหาเร ญาณํ - ญาณในวิหารธรรมส่วนหนึ่ง.
ความว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ด้วยอังคาพยพส่วนหนึ่ง โดยส่วนแห่งธรรมมีขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าปเทสวิหาระ - ธรรมเป็นเครื่องอยู่ส่วนหนึ่ง, ญาณในปเทสวิหารธรรมนั้น.
ในคำว่า ปเทสวิหาระนั้น ปเทสะมีอย่างต่างๆ คือ ขันธปเทสะ, อายตนปเทสะ, ธาตุปเทสะ, สัจจปเทสะ, อินทริยปเทสะ, ปัจจยาการปเทสะ, สติปัฏฐานปเทสะ, ฌานปเทสะ, นามรูปปเทสะ, ธัมมปเทสะ ชื่อว่าปเทสะ.
ก็ปเทสะมีอย่างต่างๆ อย่างนี้ ก็คือเวทนานั่นเอง.
อย่างไร? เวทนานั่นเองเป็นปเทสะแห่งธรรมมีขันธ์เป็นต้น อย่างนี้คือ
ขันธ์ ๕ เอกเทสแห่งขันธ์ คือเวทนาขันธ์,
อายตนะ ๑๒ เอกเทสแห่งธรรมายตนะ คือเวทนา,
ธาตุ ๑๘ เอกเทสแห่งธรรมธาตุ คือเวทนา,
สัจจะ ๔ เอกเทสแห่งทุกขสัจ คือเวทนา,
อินทรีย์ ๒๒ เอกเทสแห่งอินทรีย์ คือเวทนินทรีย์ ๕,
ปฏิจจสมุปปาทังคะ ๑๒ เอกเทสแห่งปัจจยาการ คือเวทนามีผัสสะเป็นปัจจัย,
สติปัฏฐาน ๔ เอกเทสแห่งสติปัฏฐาน คือเวทนานุปัสสนา,
ฌาน ๔ เอกเทสแห่งฌาน คือสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา,
นามรูป เอกเทสแห่งนามรูป คือ เวทนาเจตสิก.
ธรรมทั้งปวงมีกุศลธรรมเป็นต้น, เอกเทสแห่งธรรมคือเวทนา ชื่อว่าปเทสวิหาระ ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาเวทนานั้นนั่นแล.
๔๔. อรรถกถาสัญญาวิวัฏญาณุทเทส
ว่าด้วยสัญญาวิวัฏญาณ
เพราะเหตุที่ปุถุชนและพระเสกขบุคคลทั้งหลาย เมื่อเจริญญาณอันสำเร็จแล้วด้วยสมาธิภาวนา กระทำภาวนาธรรมที่ควรเจริญนั้นๆ ให้เป็นอธิบดี ให้เป็นใหญ่ พิจารณาธรรมทั้งหลายที่ตรงกันข้ามกับภาวนาธรรมนั้นมีสภาวะต่างๆ มีโทษเป็นเอนก โดยความเป็นธรรมมีโทษ แล้วตั้งจิตไว้ด้วยสามารถแห่งภาวนาธรรมนั้นๆ ก็ย่อมละปัจนิกธรรมเหล่านั้นๆ เสียได้.
และเมื่อละก็เห็นสังขารธรรมทั้งปวงโดยความเป็นของว่างในกาลแห่งวิปัสสนาภายหลัง ย่อมละได้ด้วยสมุจเฉทปหาน.
ก็แลเมื่อละอยู่อย่างนั้น ย่อมแทงตลอดสัจจะทั้งหลายละได้ด้วยการตรัสรู้ในขณะเดียว.
พระอริยะทั้งหลายแม้ทั้งปวงย่อมปฏิบัติตามควรด้วยอาการทั้งหลายตามที่กล่าวแล้วนั่นแล, ฉะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกญาณทั้ง ๖ มีสัญญาวิวัฏญาณเป็นต้นขึ้นแสดงต่อจากปเทสวิหารญาณตามลำดับ ณ บัดนี้.
ในสัญญาวิวัฏญาณนั้น คำว่า อธิปตตฺตา ปญฺญา - ปัญญามีกุศลเป็นอธิบดี.
ความว่า ปัญญาที่กระทำกุศลธรรมมีเนกขัมมะเป็นต้น ให้เป็นธรรมอันยิ่งโดยความเป็นแห่งอธิบดีแห่งกุศลธรรมทั้งหลายมีเนกขัมมะเป็นต้น แล้วเป็นไปโดยความเป็นธรรมอันยิ่งในกุศลธรรมมีเนกขัมมะเป็นต้นนั้น.
คำว่า สญฺญาวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในความหลีกออกจากนิวรณ์ด้วยสัญญา.
ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า การหลีกออก การหมุนออก ความเป็นผู้หันหลังให้นิวรณ์มีกามฉันทะเป็นต้นได้ด้วยสัญญา ฉะนั้นจึงชื่อว่าสัญญาวิวัฏฏะ, ญาณในการหลีกออกจากนิวรณ์มีกามฉันทะเป็นต้นนั้นๆ ด้วยสัญญาที่กระทำภาวนาธรรมนั้นๆ ให้เป็นอธิบดี เป็นเหตุ เป็นกรณะ.
สัญญา แม้จะมิได้กล่าวไว้ว่า เอตฺโต วิวฏฺโฏ - หมุนกลับจากภาวนาธรรมนี้ แต่ก็เป็นเหตุให้สัญญาหมุนกลับ เหมือนอย่างวิวัฏนานุปัสสนา.
ก็สัญญานั้นมีความจำอารมณ์เป็นลักษณะ,
มีการจำอารมณ์ได้และทำนิมิตไว้เป็นกิจ เหมือนช่างไม้ทำเครื่องหมายไว้ที่ไม้เป็นต้น.
มีความจำได้ในสิ่งที่หมายไว้เป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนคนตาบอดคลำช้าง.
อีกอย่างหนึ่ง มีการตั้งอยู่ไม่นานเพราะหยั่งลงในอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนสายฟ้าแลบ,
มีอารมณ์ที่กำหนดไว้เป็นปทัฏฐาน เหมือนสัญญาในหุ่นที่ทำด้วยหญ้าเกิดแก่ลูกเนื้อว่าเป็นบุรุษ.
๔๕. อรรถกถาเจโตวิวัฏญาณุทเทส
ว่าด้วยเจโตวิวัฏญาณ
คำว่า นานตฺเต ปญฺญา - ปัญญาในนานัตตธรรม.
ความว่า ปัญญาที่เป็นไปแล้วในสภาวธรรมต่างๆ โดยความเป็นภาเวตัพพธรรม - ธรรมที่ควรเจริญ และในสภาวธรรมอื่นมีกามฉันทะเป็นต้น โดยเห็นว่าเป็นธรรมมีโทษ.
และคำว่า นานตฺเต เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งนิมิตตสัตตมี.
อีกอย่างหนึ่ง ละความเป็นต่างๆ ชื่อว่านานัตตะ,
อธิบายว่า เหตุแห่งการละนานัตตธรรม เป็นนิมิตแห่งการละนานัตตธรรม เป็นปัญญาในกุศลธรรมมีเนกขัมมะเป็นต้น.
คำว่า เจโตวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในการหลีกออกจากนิวรณ์ด้วยใจ.
ความว่า การออกจากนิวรณ์มีกามฉันทะเป็นต้นได้ด้วยใจเป็นญาณในกุศลธรรมมีเนกขัมมะเป็นต้น.
ก็ในคำว่า เจโต นี้ ท่านประสงค์เอาเจตนา.
เจตนานั้นมีการชักชวน เป็นลักษณะ
อีกอย่างหนึ่ง มีการไหลออกแห่งผล เป็นลักษณะ,
มีการรวบรวมมา เป็นกิจ,
มีการจัดแจง เป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนนายช่างใหญ่ผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ ทำกิจของตนและกิจของคนอื่นให้สำเร็จฉะนั้น.
ก็และเจตนานี้ย่อมปรากฏโดยความยกสัมปยุตธรรมทั้งหลายในกิจมีการระลึกถึงการงานอันเร่งรีบ.
๔๖. อรรถกถาจิตวิวัฏญาณุทเทส
ว่าด้วยจิตวิวัฏญาณ
คำว่า อธิฏฺฐาเน ปญญฺา - ปัญญาในการอธิฏฐาน.
ความว่า ปัญญาในการตั้งมั่นแห่งจิตด้วยสามารถแห่งคุณมีเนกขัมมะเป็นต้น.
คำว่า จิตฺตวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในการออกไปแห่งจิต.
ความว่า ญาณในการหลีกออกแห่งจิตด้วยสามารถแห่งการละนิวรณ์มีกามฉันทะเป็นต้น.
ก็ในที่นี้ จิต
มีการรู้นิวรณ์ เป็นลักษณะ,
มีการเกิดก่อนและเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ,
มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นปัจจุปัฏฐาน,
มีนามรูป เป็นปทัฏฐาน.
๔๗. อรรถกถาญาณวิวัฏญาณุทเทส
ว่าด้วยญาณวิวัฏญาณ
คำว่า สุญฺญเต ปญฺญา - ปัญญาในความว่าง.
ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องตามความเห็นโดยความเป็นอนัตตาอันเป็นไปแล้วในอนัตตธรรมและธรรมอันเนื่องด้วยอนัตตะ เพราะอัตตะและธรรมะอันเนื่องด้วยอัตตะเป็นของว่าง.
คำว่า ญาณวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในความหลีกออกด้วยญาณ.
ความว่า ญาณนั่นแหละย่อมหลีกออกจากความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นจึงชื่อว่าวิวัฏฏะ - ญาณอันเป็นเหตุแห่งการหลีกออกด้วยญาณนั้น.
๔๘. อรรถกถาวิโมกขวิวัฏญาณุทเทส
ว่าด้วยวิโมกขวิวัฏญาณ
ในคำนี้ว่า โวสฺสคฺเค ปญฺญา - ปัญญาในการสละ.
พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
ธรรมใดย่อมสลัดออก ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าโวสสัคคะ - การสลัดออก, การสละเสียได้ซึ่งกามฉันทะเป็นต้น เป็นปัญญาในคุณมีเนกขัมมะเป็นต้น.
คำว่า วิโมกฺขวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในการหลีกออกแห่งจิตด้วยวิโมกข์.
ความว่า ธรรมใดย่อมพ้นจากนิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้น ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าวิโมกข์, การหลีกออกคือวิโมกข์ ชื่อว่าวิโมกขวิวัฏฏะ, วิโมกขวิวัฏฏะนั้นนั่นแหละเป็นญาณ.
๔๙. อรรถกถาสัจวิวัฏญาณุทเทส
ว่าด้วยสัจวิวัฏญาณ
คำว่า ตถฏฺเฐ ปญฺญา - ปัญญาในสภาวะที่เป็นจริง.
ความว่า ปัญญาที่เป็นไปโดยไม่หลงด้วยสามารถแห่งกิจในสภาวธรรมอันไม่วิปริตในสัจจะหนึ่งๆ สัจจะละ ๔ๆ .
คำว่า สจฺจวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในการหลีกออกด้วยสัจจะ.
ความว่า ธรรมใดย่อมหลีกออกด้วยสามารถแห่งการออกจากส่วนสุดทั้ง ๒ ในสัจจะทั้ง ๔ ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าสัจวิวัฏฏะ, สัจวิวัฏฏะนั่นแหละเป็นญาณ.
ญาณเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวไว้ถึง ๔ ประการอย่างนี้ คือ
๑. สัญญาวิวัฏฏะ ด้วยสามารถแห่งกุศลธรรมเป็นอธิบดี,
๒. เจโตวิวัฏฏะ ด้วยสามารถแห่งธรรมที่ควรประหาณ,
๓. จิตวิวัฏฏะ ด้วยสามารถแห่งการตั้งมั่นแห่งจิต,
๔. วิโมกขวิวัฏฏะ ด้วยสามารถแห่งการละปัจนิกธรรม.
อนัตตานุปัสนาแล ท่านกล่าวว่า ญาณวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในการหลีกออกด้วยญาณ ด้วยสามารถแห่งอาการอันว่างจากอัตตา, ภายหลังท่านก็กล่าวมรรคญาณไว้ ๒ อย่างคือ มคฺเค ญาณํ - ญาณในมรรค และ อานนฺตริกสมาธิมฺหิ ญาณํ - ญาณในอานันตริกสมาธิ, ท่านกล่าวคำว่า สจฺจวิวฏฺเฏ ญาณํ - ญาณในการหลีกออกด้วยสัจจะ.
๕๐. อรรถกถาอิทธิวิธญาณุทเทส
ว่าด้วยอิทธิวิธญาณ
บัดนี้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรยกอภิญญา ๖ ที่เป็นไปด้วยสามารถแห่งญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เป็นไปด้วยอำนาจสัจวิวัฏญาณนั้นขึ้นแสดงโดยลำดับ.
ในอภิญญา ๖ แม้นั้น ท่านยกอิทธิวิธญาณแสดงก่อน คือความแปลกประหลาด เพราะเป็นอานุภาพอันปรากฏแก่โลก, ยกทิพโสตญาณขึ้นแสดงเป็นอันดับที่ ๒ คือ ทิพโสตญาณอันเป็นโอฬาริกวิสัย เพราะเป็นอารมณ์ของเจโตปริยญาณ, ยกเจโตปริยญาณขึ้นแสดงเป็นอันดับที่ ๓ เพราะเป็นสุขุมวิสัย.
บรรดาวิชชา ๓ ท่านยกบุพเพนิวาสานุสติญาณขึ้นแสดงเป็นอันดับที่ ๑ เพราะบรรเทาความมืดในอดีตที่ปกปิดบุพเพนิวาสคือการเกิดในชาติก่อน, ยกทิพจักขุญาณขึ้นแสดงเป็นอันดับที่ ๒ เพราะบรรเทาความมืดทั้งในปัจจุบันและอนาคต, ยกอาสวักขยญาณขึ้นแสดงเป็นอันดับที่ ๓ เพราะตัดความมืดทั้งหมดเสียได้เด็ดขาด.
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า กายมฺปิ - แม้กาย ซึ่งได้แก่ แม้ซึ่งรูปกาย.
คำว่า จิตฺตมฺปิ - แม้ซึ่งจิต ได้แก่ แม้ซึ่งจิตอันมีฌานเป็นบาท.
คำว่า เอกววตฺถานตา - เพราะการกำหนดเข้าเป็นอันเดียวกัน.
มีคำอธิบายว่า ด้วยทิสมานกายหรืออทิสมานกาย เพราะตั้งไว้โดยความเป็นอันเดียวกันกับบริกรรมจิต และเพราะกระทำกายและจิตให้ระคนกันตามที่จะประกอบได้ ในคราวที่ประสงค์จะไป.
ก็คำว่า กาโย - กาย ในที่นี้ ได้แก่ สรีระ.
จริงอยู่ สรีระ ท่านเรียกว่ากาย เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งอวัยวะทั้งหลายมีเกสา - ผม เป็นต้นอันน่าเกลียดเพราะสั่งสมไว้ซึ่งอสุจิ และเป็นบ่อเกิดแห่งโรคหลายร้อย มีโรคทางจักษุเป็นต้น.
จ ศัพท์ ท่านประกอบไว้ในคำนี้ว่า สุขสญฺญญฺจ ลหุสญฺญญฺจ - ซึ่งสุขสัญญาด้วย ซึ่งลหุสัญญาด้วย เป็นสมุจจยัตถะ ควบสัญญาศัพท์เดียวเท่านั้น อันสัมปยุตกับจตุตถฌานให้เป็น ๒ บทเพราะต่างกันโดยอาการ.
จริงอยู่ อุเบกขาในจตุตถฌาน ท่านกล่าวว่า สนฺตํ - สงบ สุขํ - เป็นสุข, สัญญาที่สัมปยุตกับอุเบกขานั้น ชื่อว่าสุขสัญญา. สุขสัญญานั่นแหละ ชื่อว่าลหุสัญญา เพราะพ้นนิวรณ์ทั้งหลายและปัจนิกธรรมมีวิตกเป็นต้น.
คำว่า อธิฏฺฐานวเสน - ด้วยสามารถแห่งการตั้งไว้.
ความว่า ด้วยสามารถแห่งการตั้งไว้อย่างยิ่ง.
อธิบายว่า ด้วยสามารถแห่งการเข้าไป.
จ ศัพท์ในคำว่า อธิฏฺฐานวเสน จ ท่านนำมาเชื่อมเข้าไว้. เหตุตามที่ประกอบได้ของอิทธิวิธมีประการทั้งปวง ท่านกล่าวไว้แล้วเพียงเท่านี้.
คำว่า อิชฺฌนฏฺเฐ ปญฺญา - ปัญญาในการสำเร็จ. ความว่า ปัญญาในสภาวะคือการสำเร็จ.
คำว่า อิทฺธิวิเธ ญาณํ - ญาณในการแสดงฤทธิได้ต่างๆ
มีคำอธิบายท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่า อิทฺธิ - ฤทธิ ในอรรถว่าสำเร็จ, และในอรรถว่าได้เฉพาะ เพราะอรรถว่าสำเร็จ.
จริงอยู่ สิ่งใดจะเกิดขึ้น และจะได้เฉพาะ สิ่งนั้นท่านเรียกว่า อิชฺฌติ - ย่อมสำเร็จ.
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
ถ้าว่า เมื่อบุคคลปรารถนากามอยู่
และกามก็ย่อมสำเร็จแก่ผู้นั้น ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๐๘
อนึ่ง ดุจดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
เนกขัมมะย่อมสำเร็จ ฉะนั้นจึงชื่อว่า อิทฺธิ - ฤทธิ
เนกขัมมะย่อมกำจัดกามฉันทะ ฉะนั้นจึงชื่อว่าปาฏิหาริย์,
อรหัตมรรคย่อมสำเร็จ ฉะนั้นจึงชื่อว่า อิทฺธิ 2- ฤทธิ,
อรหัตมรรคนั้นย่อมทำลายกิเลสทั้งหมดได้ ฉะนั้นจึงชื่อว่า
ปาฏิหาริย์ ดังนี้.
____________________________
๒- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๒๒
นัยอื่นอีก
ชื่อว่า อิทฺธิ - ฤทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ, คำนี้เป็นชื่อของอุบายสัมปทา.
จริงอยู่ อุบายสัมปทาย่อมสำเร็จ เพราะประสบผลที่ตนประสงค์.
สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒-
จิตตคฤหบดีนี้แล เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม,
ถ้าเธอจักปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ราชในอนาคตกาลไซร้ ความปรารถนาด้วยใจของเธอผู้
มีศีล จักสำเร็จ เพราะความปรารถนานั้นบริสุทธิ์ ดังนี้.
____________________________
๒- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๕๘๔
นัยอื่นอีก
สัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จได้ด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า อิทฺธิ - ฤทธิ คือธรรมชาติเป็นเหตุให้สำเร็จ.
คำว่า อิชฺฌนฺติ - ย่อมสำเร็จ.
มีคำอธิบายว่า สำเร็จ คือเจริญ คือย่อมถึงความโด่งดัง.
วิธะ คือ อิทฺธิ - ฤทธิ นั่นแหละชื่อว่าอิทธิวิธะ - แสดงฤทธิต่างๆ.
อธิบายว่า อิทธิโกฏฐาสะ - ส่วนแห่งฤทธิ อิทธิวิกัปปะ - ฤทธิสำเร็จได้ต่างๆ.
มีคำอธิบายท่านกล่าวไว้ว่า อิทธิวิธญาณ - ญาณในการแสดงฤทธิได้ต่างๆ .
๕๑. อรรถกถาโสตธาตุวิสุทธิญาณุทเทส
ว่าด้วยโสตธาตุวิสุทธิญาณ
คำว่า วิตกฺกวิปฺผารวเสน - ด้วยสามารถแห่งการแผ่วิตกไป.
ความว่า ด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปคือด้วยกำลังแห่งวิตกของตน ในสัททนิมิตในเวลาทำบริกรรมเพื่อให้เกิดทิพโสตธาตุ
ก็ในคำว่า วิตกฺโก นี้มีวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมตรึก ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าวิตก.
อีกอย่างหนึ่ง ความตรึกชื่อว่าวิตก, มีคำอธิบายท่านกล่าวไว้ว่า การพิจารณา.
วิตกนี้นั้น-
มีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ,
มีการประคองจิตไว้ในอารมณ์ เป็นกิจ.
จริงอย่างนั้น ท่านกล่าวว่า พระโยคีบุคคลย่อมกระทำอารมณ์ให้ถูกกระทบด้วยวิตก.
มีจิตที่ทรงอยู่ในอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน,
และท่านกล่าวว่า มีอารมณ์อันมาถึงซึ่งคลอง เป็นปทัฏฐาน เพราะเกิดขึ้นโดยอินทรีย์ที่มาประชุมพร้อมซึ่งอารมณ์นั้น และโดยไม่มีอันตรายในอารมณ์อันแวดล้อมแล้ว.
คำว่า นานตฺเตกตฺตสทฺทนิมิตฺตานํ - ซึ่งเสียงเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว. ความว่า ซึ่งเสียงเป็นนิมิตมีสภาวะต่างๆ และมีสภาวะเดียว.
ก็ในคำว่าสัททนิมิตนี้ สัททะคือเสียงนั่นแหละเป็นนิมิต เพราะเป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นแห่งวิตก และเพราะเป็นนิมิตแห่งสังขาร. เสียงที่กลมกล่อมเป็นอันเดียวกัน เช่นเสียงกลอง หรือหลายเสียงมากมาย, เสียงในทิศต่างๆ หรือเสียงสัตว์ต่างๆ ชื่อว่านานัตตสัททา - เสียงต่างๆ, เสียงในทิศเดียว, หรือเสียงสัตว์ตัวเดียว, หรือเสียงแต่ละเสียงเช่นเสียงกลองเป็นต้น ชื่อว่าเอกัตตสัททา - เสียงเดียว.
ก็ในคำว่า สทฺโท นี้มีวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมแผ่ไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสัททะ - เสียง.
อธิบายว่า เสียงที่เปล่งว่าออก
คำว่า ปริโยคาหเณ ปญฺญา - ปัญญาในการกำหนด.
ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องเข้าถึง. อธิบายว่า ปัญญาเป็นเครื่องรู้.
คำว่า โสตธาตุวิสุทฺธิญาณํ - ญาณในโสตธาตุอันบริสุทธิ์
ความว่า ชื่อว่าโสตธาตุ เพราะอรรถว่าได้ยิน และเพราะอรรถว่ามิใช่ชีวะ, และชื่อว่าโสตธาตุเพราะปัญญาทำกิจดุจโสตธาตุด้วยสามารถแห่งการทำกิจของโสตธาตุ, ชื่อว่าวิสุทธิ เพราะโสตธาตุนั้นหมดจดแล้ว เพราะปราศจากอุปกิเลส, โสตธาตุนั่นแหละบริสุทธิ์ ชื่อว่าโสตธาตุวิสุทธิ, ญาณคือความรู้ในโสตธาตุวิสุทธินั่นแหละ ชื่อว่าโสตธาตุวิสุทธิญาณ.
๕๒. อรรถกถาเจโตปริยญาณุทเทส
ว่าด้วยเจโตปริยญาณ
คำว่า ติณฺณํ จิตฺตานํ - แห่งจิต ๓ ดวง.
ความว่า แห่งจิต ๓ ดวง คือ โสมนัสสหคตจิต ๑ โทมนัสสสหคตจิต ๑ อุเปกขาสหคตจิต ๑.
คำว่า วิปฺผารตฺตา - ด้วยความแผ่ไป.
ความว่า ด้วยความเป็นแห่งความแผ่ไป. อธิบายว่า ด้วยความเร็ว.
คำว่า วิปฺผารตฺตา นี้เป็นปัญจมีวิภัตติลงในอรรถแห่งเหตุ.
ความว่า เพราะเหตุแห่งความแผ่ไปแห่งจิต ๓ ดวงของบุคคลเหล่าอื่น ในกาลเป็นที่กระทำบริกรรมเพื่อให้เจโตปริยญาณเกิดขึ้น.
คำว่า อินฺทฺริยานํ ปสาทวเสน - ด้วยสามารถแห่งความผ่องใสของอินทรีย์ทั้งหลาย.
ความว่า ด้วยสามารถความผ่องใสของอินทรีย์ ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น,
ก็ในที่นี้โอกาสเป็นที่ตั้งแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ท่านกล่าวด้วยคำว่า อินฺทฺริยานํ โดยผลูปจารนัย๑- ดุจคำว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง๒- ดังนี้.
หทัยวัตถุนั่นแหละ ท่านประสงค์แล้วในที่นี้ แม้ในโอกาสแห่งอินทรีย์ประดิษฐานแล้ว.
____________________________
๑- ผลูปจารนัย - พูดเหตุแต่หมายถึงผล.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๑
คำว่า ปสาทวเสน - ด้วยสามารถแห่งความผ่องใส.
ความว่า ด้วยสามารถแห่งความไม่ขุ่นมัว.
เมื่อกล่าวว่า ปสาทปฺปสาทวเสน - ด้วยสามารถแห่งความเลื่อมใสและเลื่อมใสยิ่ง คำนี้พึงทราบว่า ท่านทำการลบ อปฺปสาท ศัพท์เสีย.
อีกอย่างหนึ่ง คำนี้พึงทราบว่า แม้ความไม่เลื่อมใส เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยคำว่า ปสาทวเสน - ด้วยสามารถแห่งความเลื่อมใส นั่นเอง เพราะศัพท์ว่า อปฺปสนฺนํ - ไม่ผ่องใสแล้ว เป็นศัพท์ที่ไม่เพ่งถึงความเลื่อมใส.๓-
____________________________
๓- เลื่อมใสกินความถึงไม่เลื่อมใสด้วย แต่ไม่ผ่องใส ไม่กินความถึงความเลื่อมใส.
คำว่า นานตฺเตกตฺตวิญฺญาณจริยาปริโยคาหเณ ปญฺญา - ปัญญาในการกำหนดจริยา คือวิญญาณหลายอย่างหรืออย่างเดียว.
ความว่า ปัญญาในการรู้ความเป็นไปของจิต ๘๙ อันมีสภาวะต่างๆ กันและที่มีสภาวะเดียวกัน ตามสมควรแก่การเกิดขึ้น.
ในวิญญาณจริยาทั้ง ๒ นี้ วิญญาณจริยาของผู้ไม่ได้สมาธิ เป็นนานัตตวิญญาณจริยา, วิญญาณจริยาของผู้ได้สมาธิ เป็นเอกัตตวิญญาณจริยา.
อีกอย่างหนึ่ง จิตมีราคะเป็นต้นเป็นนานัตตวิญญาณจริยา, จิตปราศจากราคะเป็นต้นเป็นเอกัตตวิญญาณจริยา.
ชื่อว่าปริยะ ในคำนี้ว่า เจโตปริยญาณํ นี้ เพราะอรรถว่ากำหนด. อธิบายว่า กำหนดรอบ.
การกำหนดด้วยใจ ชื่อว่าเจโตปริยะ - กำหนดด้วยใจ,
เจโตปริยะนั้นด้วย ญาณด้วย ฉะนั้นชื่อว่าเจโตปริยญาณ - ญาณในการกำหนดด้วยใจ. ปาฐะว่า วิปฺผารตา ดังนี้ก็มี. มีความว่าด้วยการแผ่ไป.
๕๓. อรรถกถาบุพเพนิวาสานุสติญาณุทเทส
ว่าด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ
คำว่า ปจฺจยปฺปวตฺตานํ ธมฺมานํ - ซึ่งธรรมทั้งหลายอันเป็นไปตามปัจจัย. ความว่า ซึ่งปัจจยุปบันธรรมอันเป็นไปแล้วจากปัจจัยด้วยสามารถแห่งการอาศัยกันเกิดขึ้น.
อกุศลกรรม ชื่อว่านานัตตะ - หลายอย่าง, กุศลกรรม ชื่อว่าเอกัตตะ - อย่างเดียว ในคำว่า นานตฺเตกตฺตกมฺมวิปฺผารวเสน นี้.
อีกอย่างหนึ่ง กามาจวรกรรม ชื่อว่านานัตตะ - หลายอย่าง, รูปาวจรและอรูปาวจรกรรม ชื่อว่าเอกัตตะ - อย่างเดียว.
สัมพันธ์ความว่า
ปัญญาในการกำหนดธรรมอันเป็นไปแต่ปัจจัยด้วยสามารถการแผ่ไปแห่งกรรมหลายอย่างหรืออย่างเดียว.
คำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณํ - ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้.
ความว่า ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในก่อนคือในอดีตชาติ ชื่อว่าบุพเพนิวาสะ - ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในชาติก่อน.
คำว่า นิวุตฺถา - ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่.
ความว่า ขันธ์ที่เคยอยู่คือที่มีแล้ว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปในสันดานของตน. หรือธรรมที่เคยอยู่แล้วในก่อนคือในอดีตชาติ ชื่อว่าบุพเพนิวาสะ - ธรรมที่เคยอาศัยอยู่ในก่อน.
บทว่า นิวุตฺถา - ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่.
ความว่า อยู่แล้วด้วยการอยู่เพราะอาศัยธรรมดังกล่าวแล้วเป็นอารมณ์ คือรู้แจ้งได้ด้วยจิตของตน ชื่อว่าการกำหนด ถึงแม้ว่ารู้แจ้งซึ่งจิตของคนอื่น ก็ชื่อว่าการกำหนด แต่ผู้ที่ทรงคุณอย่างหลังนี้ ย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ในบรรดาการระลึกถึงการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งขาดเป็นตอนๆ เป็นต้น.
คำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ - ตามระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้
ความว่า ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในครั้งก่อนได้ด้วยสติใด สตินั้นชื่อว่าบุพเพนิวาสานุสติ.
คำว่า ญาณํ - ญาณ ได้แก่ ญาณอันสัมปยุตด้วยสตินั้น.
-------------------------
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ