บาลีไทย
----------
หัวม้วน
--------
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อ่านไม่สนุก เพราะเป็นวิชาการ เขียนเพื่อเผยแพร่ความรู้ ไม่ใช่เขียนเอายอดถูกใจ ขอให้ญาติมิตรอดทนอ่านเอาหน่อย โดยเฉพาะนักเรียนบาลีและชาวบ้านที่สนับสนุนชาววัดให้เรียนบาลี เรายังต้องอยู่กับบาลีไปอีกนาน แต่นับวันคนเข้าใจบาลีก็จะยิ่งมีน้อยลงทั้งๆ ที่เราสนับสนุนให้เรียนบาลีกันมากขึ้น
ที่น่าเป็นห่วงกว่าอะไรอื่นหมดก็คือ การเรียนบาลีที่เบี่ยงเบนไปจนแทบจะไม่เห็นเป้าหมายที่ถูกต้องแท้จริง
เป้าหมายที่ถูกต้องแท้จริงของการเรียนบาลีก็คือ สามารถอ่านคัมภีร์บาลีรู้เรื่อง เข้าใจหลักคำสอนถูกต้อง เอาหลักคำสอนที่ถูกต้องมาปฏิบัติ และเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไปได้อีก - เวลานี้คนเรียนบาลีเพื่อเป้าหมายนี้แทบจะไม่มีแล้ว ส่วนมากตั้งเข็มไปที่-เรียนเพื่อให้สอบได้ เพื่อได้ศักดิ์และสิทธิ์จากการสอบได้ และจบแค่สอบได้
เรามีคนเรียนบาลีเยอะ สอบได้ก็เยอะ แต่เชื่อหรือไม่ว่าการใช้คำบาลีผิดๆ ก็มีเยอะตามไปด้วย
ที่มากที่สุดก็คือคำบูชาตามสถานที่เคารพนับถือของผู้คน ลองแวะเข้าไปอ่านดูเถิด หาถ้อยคำที่ถูกต้องบริสุทธิ์ได้ยากที่สุด
หนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์เผยแพร่กันทั่วไปมีคำบาลีที่ผิดๆ แทรกแซมอยู่ทั่วไปหมด-ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจที่จะปรับแก้ให้ถูกต้อง
แต่ที่ประหลาดที่สุดก็คือ ปัญหาการใช้คำบาลีผิดๆ เหล่านี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของเรื่องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใครเดือดร้อน ใครจะทำอะไรกับคำบาลีก็ทำได้ตามสบาย ภาษาบาลีอยู่ในสภาพ-ไม่มีใครเป็นเจ้าของคอยดูแล ทั้งๆ ที่คนเรียนบาลีและคนสนับสนุนให้เรียนบาลีมีอยู่เต็มเมือง
อุปมาเหมือนคนเรียนหมอ จบหมอออกมาเยอะแยะไปหมด คนป่วยก็มีเยอะแยะไปหมด แต่ไม่มีหมอรักษา
เรื่อง “บาลีไทย” ที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นเรื่องไกลตัวชาวบ้าน แต่ใกล้ตัวคนเรียนบาลีรวมทั้งคนที่ใช้คำบาลีในชีวิตประจำวัน เช่นคนที่นำทำพิธีที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ศาสนพิธีกร” และคนที่ไหว้พระสวดมนต์ทุกวันเป็นต้น ถ้าท่านเหล่านี้จะกรุณามองคำบาลีให้มีค่าขึ้นมาอีกสักหน่อย ไม่ใช่เห็นเป็นเพียงถ้อยคำที่กล่าวหรือที่สวดไปตามพิธีกรรม หากแต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมายในแง่ “ภาษาศาสตร์” อีกด้วย ถ้าจะกรุณามองในแง่นี้บ้าง ท่านก็จะได้กุศลคือความฉลาดเพิ่มขึ้นจากการได้บุญคือความดีงามเพียงอย่างเดียว-อย่างที่คนทั่วไปเขาทำกัน
--------
เข้าเรื่อง
--------
เริ่มด้วยการมองภาพรวมหรือภาพกว้างๆ เพื่อให้เข้าใจว่า ภาษาบาลีที่เราเอามากล่าวเอามาสวดกันในชีวิตประจำวันจนมองเห็นเป็นเพียงถ้อยคำที่กล่าวที่สวดตามพิธีกรรมทำพอให้จบๆ เสร็จๆ นั้น มีแหล่งที่ไปที่มา และเป็นวิชาที่คณะสงฆ์กำหนดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนอย่างเป็นกิจสำคัญมาแต่โบราณนานไกล-สำคัญถึงระดับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อุปถัมภ์บำรุงในฐานะเป็นงานสำคัญระดับชาติทีเดียว เมื่อรู้แล้วจะได้ตระหนักสำนึกว่าภาษาบาลีไม่ใช่ถ้อยคำที่ควรจะเอามาใช้เอาพูดกันผิดๆ ถูกๆ เหมือนเป็นของเล่น
การเรียนบาลีในเมืองไทยตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ มีวิชาหลักอยู่ ๒ วิชา คือ ๑ แปลมคธเป็นไทย และ ๒ แปลไทยเป็นมคธ
“มคธ” ในที่นี้หมายถึงภาษาบาลี คนไทยทั่วไปคุ้นกับคำว่า “บาลี” มากกว่าคำว่า “มคธ” เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ขออนุญาตใช้คำว่า “บาลี”
๑ วิชาแปลมคธเป็นไทยหรือแปลบาลีเป็นไทยนั้น มีคัมภีร์ภาษาบาลี ๕ คัมภีร์เป็นแบบเรียน คือ
๑) คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา
๒) คัมภีร์มังคลัตถทีปนี
๓) คัมภีร์สมันตปาสาทิกา
๔) คัมภีร์วิสุทธิมรรค
๕) คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี
แต่ละคัมภีร์เป็นคัมภีร์อะไร ว่าด้วยเรื่องอะไร เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ควรศึกษาหาความรู้กันต่อไปอีก
ชั้นไหนเรียนคัมภีร์ไหน เป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
คัมภีร์เหล่านี้เป็นภาษาบาลี วิธีเรียนคือฝึกหัดแปลข้อความในคัมภีร์เป็นภาษาไทย
วิธีสอบคือ กรรมการยกข้อความตอนใดตอนหนึ่งที่มีความยาวพอประมาณมาให้ผู้เข้าสอบแปลเป็นภาษาไทย
๒ วิชาแปลไทยเป็นมคธหรือแปลไทยเป็นบาลี วิธีเรียนคือ เอาคัมภีร์ทั้ง ๕ ที่แปลเป็นภาษาไทยไว้แล้วในตำราเรียนมาฝึกหัดแปลกลับเป็นภาษาบาลีให้ตรงตามต้นฉบับของคัมภีร์นั้นๆ
วิธีสอบคือ กรรมการแปลข้อความตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์ออกเป็นภาษาไทย แล้วให้ผู้เข้าสอบแปลกลับเป็นภาษาบาลี
วิธีการเช่นนี้ วงการเรียนบาลีจึงมักเรียกวิชานี้ว่า “วิชากลับ”
คำว่า “วิชากลับ” ไม่ได้หมายความว่าวิชาความรู้กลับไปหาครูบาอาจารย์หรือกลับเข้าไปอยู่ในตำราหมดแล้ว คือที่เรียนมานั้นลืมหมดแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น
แต่ “วิชากลับ” หมายความว่า เป็นวิชาที่ให้แปลข้อความกลับไปเป็นบาลีเหมือนเดิม
แต่พอเรียนไปถึงชั้น ป.ธ.๘ และ ป.ธ.๙ (เปรียญธรรม ๘ ประโยคและเปรียญธรรม ๙ ประโยค) จะมีวิชาเพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่ง เรียกว่า “วิชาแต่งไทยเป็นมคธ” หรือแต่งไทยเป็นบาลี บางทีเรียกกันสั้นๆ ว่า “วิชาแต่ง” วิชานี้ก็คล้ายกับ “วิชากลับ” แต่วิธีการเป็นคนละแนวกัน
“วิชากลับ” นั้น มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีในคัมภีร์อยู่แล้ว กรรมการแปลออกมาเป็นภาษาไทย แล้วให้นักเรียนแปลกลับเป็นบาลี
ส่วน “วิชาแต่ง” นั้น กรรมการจะคัดเลือกสรรหาข้อความที่มีกำเนิดเป็นภาษาไทย ไม่ได้แปลมาจากคัมภีร์บาลีใดๆ อาจเป็นสำนวนพระธรรมเทศนา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือบทความที่มีผู้เขียนไว้ เอามาให้นักเรียนแปลเป็นภาษาบาลีขึ้นใหม่ล้วนๆ
ขั้น ป.ธ.๘ กำหนดให้แปลเป็นกลอนบาลี เรียกว่า “แต่งฉันท์”
ชั้น ป.ธ.๙ กำหนดให้แปลเป็นเรียงความ เรียกว่า “แต่งไทย”
คำว่า “บาลีไทย” ที่ผมเอามาตั้งชื่อบทความนี้มีเหตุมาจากวิชาแต่งหรือ “แต่งไทย” นี่แหละครับ
..................
หลักการใช้ภาษาก็คือ พูดหรือเขียนภาษาใด ก็ใช้สำนวนให้ตรงตามหลักนิยมในภาษานั้น
เมื่อคนไทยเรียนภาษาอังกฤษหรือไปเรียนเมืองฝรั่ง ก็เอาสำนวนฝรั่งมาใช้ในภาษาไทย เช่นพูดว่า -
“จับแท็กซี่ไปหัวลำโพง แต่พลาดรถไฟ”
นี่คือพูดเป็นคำไทย แต่สำนวนเป็นภาษาฝรั่ง
“จับแท็กซี่” “พลาดรถไฟ” เป็นสำนวนฝรั่ง
ข้อความเดียวกันนี้ ภาษาไทยพูดว่า -
“โดยสารแท็กซี่ไปหัวลำโพง แต่ไม่ทันรถไฟ”
คราวนี้มาดูภาษาบาลีกันบ้าง
ภาษาไทยพูดว่า “กินข้าวกินปลา”
แปลเป็นบาลีว่า “โอทนํ จ มจฺฉํ จ ภุญฺชติ” แปลว่า “ย่อมกิน ซึ่งข้าวสุกด้วย ซึ่งปลาด้วย” อย่างนี้คือ “บาลีไทย” คือถ้อยคำเป็นบาลี แต่ความหมายไม่ตรงกับภาษาไทย
“กินข้าวกินปลา” ในภาษาไทยหมายถึง “รับประทานอาหาร”
พูดเป็นบาลีว่า “ภตฺตกิจฺจํ กโรติ” แปลว่า “ย่อมทำ ซึ่งภัตกิจ” (“ภัจกิจ” แปลว่า “การกินอาหาร”) อย่างนี้คือ “บาลีบาลี” หรือ “บาลีแท้” คือถ้อยคำก็เป็นบาลี สำนวนภาษาก็เป็นสำนวนบาลี แต่ความหมายตรงตามคำไทย
อีกตัวอย่างหนึ่ง คำไทยพูดว่า “ออกเรือน”
ถ้าแปลเป็นคำบาลีแบบซื่อๆ -
“ออก” ก็คือ “นิกฺขมติ” แปลว่า “ย่อมออก”
“เรือน” ก็คือ “ฆร” ประกอบวิภัตติเป็น “ฆรา” แปลว่า “จากเรือน”
“ฆรา นิกฺขมติ” แปลว่า “ย่อมออก จากเรือน” = ออกเรือน
“ฆรา นิกฺขมติ” นี่แหละคือ “บาลีไทย” คือได้ความตามตัวอักษรในคำไทย แต่ไม่ได้ความตามความหมายในภาษาไทย
“ออกเรือน” ในภาษาไทยหมายถึง “แยกจากเรือนพ่อแม่ไปอยู่เรือนใหม่เนื่องในการมีผัว” คือชายหญิงอยู่ครองคู่กัน
ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปนั้น เมื่อพ่อแม่มีลูก และลูกเจริญวัยสมควรจะมีคู่ครองได้แล้ว พ่อแม่ก็จะจัดการแต่งงานให้ นี่คือ “ออกเรือน” ตามความหมายที่ประสงค์
ตามความหมายที่ว่านี้ สำนวนภาษาบาลีพูดว่า “ฆรพนฺเธน พนฺธึสุ” แปลว่า “ผูกด้วยเครื่องผูกคือเรือน” ตรงกับคำเก่าของไทยที่พูดว่า “ออกเรือน” หรือ “มีเรือน” หรือคำปัจจุบันว่า “แต่งงาน”
คำว่า “บาลีไทย” นี้ รวมถึงถ้อยคำที่เรียกชื่อสิ่งต่างๆ ด้วย
ยกตัวอย่างคำหนึ่ง - รถไฟ
มีเรื่องเล่ากันเงียบๆ มาว่า พระมหาเถระระดับสูงมากรูปหนึ่งของไทยเป็นเปรียญเอกอุ ท่านไปแสวงบุญที่อินเดีย ท่านสนทนาเป็นภาษาบาลีกับคนอินเดียที่รู้ภาษาบาลี ท่านเล่าถึงการเดินทางตอนหนึ่งว่า เดินทางโดย “อคฺคิรถ” (อัก-คิ-ระ-ถะ) = รถไฟ
คำว่า “รถไฟ” ถ้าแปลเป็นคำบาลีตามความเข้าใจทั่วไป
“รถ” เป็นคำบาลีอยู่แล้ว คือ “รถ” (บาลีอ่านว่า ระ-ถะ)
“ไฟ” คำบาลีที่เราคุ้นก็คือ “อคฺคิ” = ไฟ
“อคฺคิรถ” = รถไฟ ตรงตัวพอดี
“รถไฟ” เราเรียกมาจากคำอังกฤษว่า train
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล train เป็นบาลีว่า “ธูมรถปนฺติ” (dhūmarathapanti) อ่านว่า ทู-มะ-ระ-ถะ-ปัน-ติ แปลตามศัพท์ว่า “ขบวนรถที่พ่นควัน”
คำว่า “ธูม” (ทู-มะ) แปลว่า ควัน หรือไอที่ลอยออกมาจากของที่ถูกความร้อนทําให้ระเหย เอามาใช้กับรถไฟก็คือไอน้ำที่ถูกต้มจนเดือดและมีแรงดันทำให้รถเคลื่อนไปได้ สมัยที่ใช้หัวรถจักร เรายังเรียกกันว่า หัวรถจักรไอน้ำ และสมัยหนึ่งเราเรียกรถไฟว่า “รถไอ” คือรถไอน้ำ
รถไฟ คำบาลีคือ “ธูมรถปนฺติ” หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “ธูมรถ” = รถไอ
ไม่ใช่ “อคฺคิรถ”
“อคฺคิรถ” หมายถึง รถที่บรรทุกไฟ หรือรถที่ถูกไฟไหม้
“อคฺคิรถ” นี่ก็คือ “บาลีไทย” คือเอาคำไทยไปแปลเป็นบาลีคำต่อคำ ได้คำ แต่ไม่ได้ความตามความหมายของคำว่า “รถไฟ”
คำว่า “สังฆะทานานิ” ที่ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองในคำถวายสังฆทานก็เป็น “บาลีไทย” คำหนึ่ง
สำนวนบาลีท่านว่า “ถวายทานให้แก่สงฆ์”
คนไทยเอามาพูดว่า “ถวายสังฆทาน”
คนไม่เข้าใจบาลีคว้าเอาไปพูดเป็นคำบาลีว่า “สังฆะทานานิ ... โอโณชะยามะ” = น้อมถวายสังฆทาน
“อคฺคิรถ” = รถไฟ ฉันใด
“สังฆะทานานิ ... โอโณชะยามะ” = น้อมถวายสังฆทาน ก็ฉันนั้น
---------
หมดม้วน
---------
หมดคำพูดครับ
นอกจากขอร้องนักเรียนบาลีว่า ช่วยออกไปรักษาคนป่วยกันมั่งนะขอรับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๒:๑๓
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ