“สงฺฆทาน” ไม่มีในพระไตรปิฎก
--------------------------------
เมื่อวันพระที่แล้ว (๘ ธันวาคม ๒๕๖๕) ผมไปทำบุญที่วัดมหาธาตุราชบุรีตามปกติ เสร็จพิธีที่ศาลาผมก็ไปไหว้พระที่วิหารหลวง พบว่ามีท่านผู้มีจิตศรัทธาสร้างป้ายคำถวายสังฆทานมาตั้งไว้บนวิหาร
ผมอนุโมทนาในศรัทธาของท่านที่สร้างป้าย
แต่ไม่อนุโมทนาข้อความในป้ายที่เป็นคำถวายสังฆทานเป็นคำบาลี เพราะใช้คำว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานานิ ...”
.................
คำถวายสังฆทานนั้นแต่เดิมคือคำถวายภัตตาหารให้แก่สงฆ์ คำถวายจึงใช้คำว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” ซึ่งแปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งภัตตาหาร...”
ต่อมา เมื่อเรียกว่า “ถวายสังฆทาน” กันจนติดปาก พอจะถวายสังฆทานก็ใช้คำว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” กันทั่วไป จนเกลายเป็นความเข้าใจผิดว่า ถวายสังฆทานไม่ว่าจะถวายอะไร ต้อง “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” ทั้งนั้น
แม้กระทั่งถวายสังฆทานตอนบ่าย ก็ยัง “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” กันอยู่นั่นแหละ (หลังเที่ยงแล้วถวายภัตตาหารไม่ได้)
จึงเกิดมีคนทักท้วงขึ้น
คนนำถวายเข้าใจว่า คำไทยพูดกันว่า “ถวายสังฆทาน” อยู่แล้ว ก็เลยเอาคำว่า “สังฆทาน” มาแต่งตัวเป็นบาลี
ตอนแรกๆ ใช้ว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานิ ...”
“สังฆะทานิ” อย่างนี้จริงๆ ผมได้ยินกับหูและได้เห็นตัวหนังสือกับตา สันนิษฐานได้ไม่ยากว่า คนเปลี่ยนไม่มีความรู้ภาษาบาลี
ของเดิม “ภัตตานิ”
เปลี่ยนใหม่เป็น “สังฆะทานิ” เข้าใจเอาเองว่าใช้ได้
พอถูกคนรู้บาลีทักเข้า-คงไม่ได้ทักอย่างเดียว แต่เสนอแนะด้วยว่า “สังฆะทานิ” ไม่มี ไม่ถูกหลักบาลี ถ้าจะให้ถูกต้องเป็น “สังฆะทานานิ”
“อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานานิ ...” แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งสังฆทาน...” รองรับกันพอดิบพอดี
“สังฆะทานานิ” ก็เลยแจ้งเกิดตั้งแต่บัดนั้นมา
แล้วก็แพร่ระบาดไปทุกวัด-เหมือนโควิดนั่นเลย
ที่หนักขึ้นไปอีกก็คือ นักเรียนบาลีก็ออกมารับรองว่า ถูกต้องแล้ว ใช้ได้ “สังฆะทานานิ” แปลว่า “ทานที่จะพึงถวายแก่สงฆ์” ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เข้ากันได้สนิทแนบแน่นไปเลย
.................
ว่ากันตามสัตย์จริง ผมเอาใจช่วยอย่างยิ่ง ขอให้คำว่า “สังฆะทานานิ” มีในใช้ในคัมภีร์
“สังฆะทานานิ” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆทานานิ” รูปคำเดิมคือ “สังฆทาน” อ่านว่า สัง-คะ-ทา-นะ คือที่เราทับศัพท์เรียกว่า “สังฆทาน” นั่นเลย
ทีแรกผมค้นพระไตรปิฎกแปลเป็นไทยก่อน
เชื่อหรือไม่ว่า พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยมีคำว่า “สังฆทาน” เยอะแยะไปหมด
ผมดีใจสุดๆ เออ พ้นทุกข์ไปที “สังฆทาน” มีในพระไตรปิฎก คนคิดคำว่า “สังฆะทานานิ” สอบผ่านแล้ว
แต่วิสัยนักเลงบาลีต้องไปให้ถึงต้นธาตุต้นธรรม นั่นคือค้นไปให้ถึงต้นฉบับ คือพระไตรปิฎกภาษาบาลี
เชื่อหรือไม่ว่า พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ๔๕ เล่ม ไม่มีคำว่า “สงฺฆทาน” ที่นักเรียนบาลีออกมาแปลรับรองว่า “ทานที่จะพึงถวายแก่สงฆ์” แม้แต่แห่งเดียว
พบแต่คำว่า
“สงฺฆคตา ทกฺขิณา” = ของอุทิศที่เป็นของสงฆ์
“สงฆสฺส ทานํ” = ถวายทานแก่สงฆ์
“สงฺเฆ ทานํ” “สงฺเฆ ทานานิ” = ถวายทานในสงฆ์
พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยท่านแปลศัพท์พวกนี้ตามความเข้าใจที่พูดกันในภาษาไทยว่า “สังฆทาน”
แต่ไม่มีคำบาลีว่า “สงฺฆทาน”
“สงฆสฺส ทานํ” = “ทานเพื่อสงฆ์” หรือ “ทานแก่สงฆ์” มี
“สงฺเฆ ทานํ” = “ทานในสงฆ์” มี
แต่ “สงฺฆทานํ” = “สังฆทาน” ไม่มี
.................
แล้ว “สงฆสฺส ทานํ” หรือ “สงฺเฆ ทานํ” กับ “สงฺฆทานํ” ความหมายต่างกันอย่างไร?
ต่างกันสุดขั้วโลกเลยครับ
ไว้หายเหนื่อยแล้วจะอธิบายให้ฟัง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า -
อย่าอ่านแต่คำแปลอย่างเดียว
ให้นึกเฉลียวถึงคำบาลีต้นฉบับไว้ด้วย
------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๙ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๙:๕๗
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ