กัมมจตุกกะ (ตอนที่สอง)

   ว่าด้วยกรรม ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับปริยาย (ลำดับ) การให้ผล

   ชื่อว่า กรรมมี ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับปริยายการให้ผล คือ ครุกกรรม ๑ อาสันนกรรม ๑, อาจิณณกรรม ๑, กตัตตากรรม ๑.

   คำอธิบายกรรม ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับปริยายการให้ผล คำว่า โดยเกี่ยวกับปริยายการให้ผล คือโดยมีความเป็นไปเกี่ยวกับปริยาย คือลำดับการให้วิบาก โดยนัยว่า หากกรรมนี้มี กรรมนี้ย่อมให้วิบากก่อน หากกรรมนี้ไม่มี กรรมนี้ย่อมให้วิบากก่อน ก็ในคำว่า ย่อมให้วิบากก่อน นี้ พึงทราบ ว่า ท่านเล็งถึงการให้วิบากปฏิสนธิเป็นสำคัญ มิได้เล็งถึงการให้ปวัตติวิบากเป็นสำคัญ แม้ว่ากรรมที่ให้วิบากในปฏิสนธิกาล ย่อมให้วิบากในปวัตติกาลด้วยเสมอก็ตาม.


อธิบายครุกกรรม

   กรรมชื่อว่า ครุกกรรม เพราะมีความหมายว่าเป็นกรรมที่หนัก, ชื่อว่า กรรมที่หนัก ได้แก่ กรรมที่มีโทษมาก และมีอานุภาพมาก อันกรรมอื่นๆ ทั้งหลายเท่าที่ทำไว้แล้ว ไม่อาจขัดขวางการให้วิบากได้.

   ในบรรดากุศลกรรม และอกุศลกรรมทั้งหลาย อนันตริยกรรม ๕ อย่าง เหล่านี้ คือ:

    - มาตุฆาต - การฆ่ามารดา

    - ปิตุฆาต - การฆ่าบิดา

    - อรหันตฆาต - การฆ่าพระอรหันต์

    - โลหิตุปบาท - การทำพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อขึ้น

    - สังฆเภท - การยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน

   ชื่อว่าเป็นครุกกรรมฝ่ายอกุศล เพราะเป็นกรรมหนัก โดยเกี่ยวกับมีโทษมาก กล่าว คือ ย่อมยังวิบากปฏิสนธิให้ตั้งขึ้นในนรกในภพถัดไปแน่นอน อันกรรมอื่น ๆ ไม่ อาจขัดขวางได้ เพราะฉะนั้น บุคคลใดทำอนันตริยกรรมเหล่านี้ไว้ แม้เพียงอย่าง เดียวเท่านั้น บุคคลนั้น หลังจากตาย ย่อมเข้าถึงนรกในภพถัดไปแน่นอน เหมือน อย่างบุคคลทั้งหลาย มีพระเจ้าอชาตศัตรู พระเทวทัต เป็นต้น ก็กรรม ๕ อย่าง มี การฆ่ามารดาเป็นต้น ท่านเรียกว่า “อนันตริยกรรม” ก็เพราะความเป็นกรรมที่มี ผลในลำาดับถัดไป คือในชาติถัดไป นั่นเอง.

   ในฝ่ายกุศล มหัคคตกรรม คือสมาบัติ ๘ หรือ ๙ ชื่อว่า ครุกกรรม เพราะเป็นกรรมหนัก โดยเกี่ยวกับมีอานุภาพ บุคคลรักษาไว้ดีไม่เสื่อม ย่อมยังวิบากปฏิสนธิให้ตั้งขึ้นในพรหมโลกชั้นนั้น ๆ ตามสมควรแก่กรรม โดยที่กรรม อื่นไม่อาจขัดขวางการให้วิบากได้ เพราะฉะนั้น บุคคลใดก็ตาม หากสำเร็จฌาน สมาบัติ เมื่อฌานนั้นไม่เสื่อม หลังจากกายแตกทำลายตายไป เขาย่อมเข้าถึง พรหมโลกในภพถัดไปแน่นอน เหมือนอย่างบุคคลทั้งหลาย มีกาลเทวิลดาบส อาฬารดาบสเป็นต้น

   ก็ถ้าหากว่า ทํากรรมทั้ง ๒ ฝ่าย คือ สําเร็จมหัคคตกรรมก่อน ต่อมาภาย หลังกระทำอนันตริยกรรม มหัคคตกรรมย่อมเสื่อมไป อนันตริยกรรมนั่นเทียว ย่อมทำวิบากให้บังเกิดในนรก เหมือนอย่างอนันตริยกรรมของพระเทวทัต ฉะนั้น ก็คำว่า “ทำอนันตริยกรรมก่อน ต่อมาภายหลังได้สำเร็จมหัคคตกรรม” ดังนี้ ไม่อาจมีได้ เพราะอนันตริยกรรมเป็นทั้งสัคคาวรณ์ (ห้ามการไปสวรรค์) เป็นทั้งมัคคาวรณ์ (ห้ามการบรรลุมรรค) เพราะฉะนั้น ย่อมห้ามคือย่อมขัดขวางไว้ไม่ให้ผู้นั้นได้บรรลุฌานสมาบัติหรือมรรค ก็ถ้าหากว่าครุกกรรมเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ครุกกรรมนี้ย่อมให้วิบากปฏิสนธิก่อนกรรมอื่น.


อธิบายอาสันนกรรม

   กรรมชื่อว่า อาสันนกรรม เพราะมีความหมายว่า เป็นกรรมที่บุคคลระลึกได้ตอนใกล้ตาย หรือว่าได้ทำไว้ในเวลาใกล้ตายนั้น ก็คำว่า กรรมที่บุคคลระลึกได้ตอนใกล้ตาย นี้ คือกรรมที่บุคคลทำไว้ครั้งเดียวก็ตาม หลายครั้งก็ตาม แล้วหวนระลึกได้ในเวลาใกล้ตาย คือในมรณาสันนกาล ก่อนหน้ามรณาสันนวิถีจิตนิดหน่อย เหมือนอย่างกรรมของพระนางมัลลิกาเทวีเป็นต้น ส่วนคำว่า ได้ทำไว้ในเวลาใกล้ตายนั้น นี้ มีความหมายว่า มิได้ทำมาก่อนหน้านี้ ทว่า ปรารภ ทำเอาในเวลาใกล้ตาย คือในมรณาสันนกาลนั่นแหละ เหมือนอย่างกรรมของคน เฝ้าประตูเมืองชาวทมิฬ ที่ประกอบอาชีพเป็นพรานเบ็ดติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕๐ ปี ผู้ตั้งใจสมาทานศีลในเวลาใกล้ตาย ตามที่ท่านเล่าไว้ในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย นั้น ฉะนั้น.

   ในการให้วิบากปฏิสนธิ ถ้าหากว่าครุกกรรมมิได้มีอยู่ คือสัตว์มิได้ทำไว้ อาสันนกรรมนั่นแหละจะให้ผลก่อน เพราะอยู่ใกล้ปากทางคือความตาย

   เปรียบเหมือนว่า เมื่อเขาเปิดประตูคอกอันเต็มไปด้วยฝูงโค โคอื่นๆที่แข็งแรง แม้ว่าจะเป็นโคงานหรือโคหนุ่มก็ตาม แต่อยู่บริเวณท้ายคอก ย่อมออก ไปจากคอกทันทีทันใดก่อนโคอื่นมิได้ โคที่อยู่ใกล้ปากคอกนั่นเที่ยว ย่อมออกไปได้ก่อน แม้ว่าจะเป็นโคชราอ่อนแอก็ตาม ทั้งนี้เพราะเหตุที่อยู่ใกล้ประตูออกนั่นแหละ ฉันใด, ในบรรดากุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย เมื่อครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมย่อมให้ผลคือ วิบากปฏิสนธิก่อน เพราะเหตุไร เพราะอยู่ใกล้ปาก ทางคือความตาย ฉันนั้น


อธิบายอาจิณณกรรม

   กรรมชื่อว่า อาจิณณกรรม เพราะมีความหมายว่า เป็นกรรมที่สัตว์ทำไว้ หรือว่าแม้ทำไว้ครั้งเดียวก็มีการร้องเสพอยู่บ่อยๆ คําว่า ที่สัตว์ทําไว้ บ่อยๆ คือ ทำอยู่เสมอ ๆ เป็นปกติ เป็นกรรมที่ทำไว้มาก เพราะเหตุนั้น ใน อรรถกถา ท่านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พาหุลลกรรม แปลว่ากรรมที่สัตว์ทำไว้มากนั่นแหละ คำว่า แม้ทำไว้ครั้งเดียวก็มีการร้องเสพอยู่บ่อยๆ คือทำไว้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็ตาม ก็มีการร้องเสพ คือระลึกถึงอยู่บ่อยๆ ที่เป็นกุศลก็สร้างปีติ โสมนัสให้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ระลึกถึง ที่เป็นอกุศลก็สร้างความเดือดร้อนใจให้เกิดขึ้น ถึงความเป็นกรรมที่มีกำลังมากกว่ากรรมนอกนี้ (คือกรรมที่มิได้ทำไว้บ่อย ๆ หรือ กรรมที่มิได้มีการส้องเสพอยู่บ่อยๆ) เพราะเหตุที่ทำซ้ำอยู่บ่อยๆ หรือระลึกถึงอยู่บ่อย ๆ นั่นเทียว ย่อมครอบงำกรรมที่อ่อนกำลังนอกนี้เสีย แล้วให้วิบาก เหมือนอย่างที่นักรบ ๒ ฝ่าย หยั่งลงสู่สมรภูมิ ฝ่ายที่มีกำลังเข้มแข็งกว่า ย่อมทำ อีกฝ่ายหนึ่งให้พ่ายแพ้ไป แล้วยึดเอาชัยภูมิได้ ฉะนั้น

   ก็กรรมที่บุคคลทำซ้ำอยู่บ่อย ๆ ได้ชื่อว่า อาจิณณกรรม มีกำลังกว่ากรรม อื่น สามารถให้ปฏิสนธิก่อนกรรมที่เหลือก็พอมองเห็นชัดอยู่ละ แต่ว่ากรรมที่ทำ เพียงครั้งเดียวก็ได้ชื่อว่า อาจิณณกรรม ด้วยเหตุสักว่าระลึกถึงอยู่บ่อยๆ เท่านั้น นั้น มองเห็นนัยยาก เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงนำเอาเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถา มีเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัยผู้ปราชัยในการรบมาสาธก เพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้งในความข้อนี้เถิด

   เมื่อครุกกรรมไม่มี และเมื่ออาสันนกรรมไม่มี อาจิณณกรรมนี้ นี่แหละ เป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม ย่อมทำวิบากปฏิสนธิให้บังเกิดในภพถัดไป ก่อนกรรม ที่เหลือ.


อธิบายกตัตตากรรม

   กรรมชื่อว่า กตัตตากรรม เพราะมีความหมายว่าเป็นกรรมที่สัตว์สักแต่ว่าได้ทำไว้ ความว่า เป็นกรรมที่ไม่ถึงความเป็นครุกกรรมเป็นต้น เรียกได้ว่า กรรม ก็โดยสักว่าสัตว์ได้ทําไว้เท่านั้น ขยายความอีกหน่อยได้ว่าเป็นกรรมอีกอย่างหนึ่ง ต่างหากที่ไม่อาจนับเนื่องเข้าในกรรม ๓ อย่างข้างต้นที่ได้กล่าวแล้ว เป็นกรรมที่ สัตว์ทำไว้ด้วยอำนาจความไม่รู้ หรือเผลอทำ

   คำว่า ด้วยอำนาจความไม่รู้ หรือเผลอทำ คือ ด้วยอำนาจความไม่รู้ คือ ความไม่รับรู้ ไม่ใส่ใจ ไม่เล็งเห็นเป็นสำคัญในการกระทำ หรือเผลอทำคือมิได้มี ความตั้งใจ มิได้มีความดำริจะทำมาก่อนหน้านั้น เปะปะทำไปแล้วก็ลืมเลือนกันไป ไม่นึกถึงอีก ถึงกระนั้นก็มีกำลังในอันให้วิบากปฏิสนธิ

   เปรียบเหมือนว่า ไม้แห้งถูกคนบ้าขว้างไป ย่อมลอยเปะปะไปตกลง ณ ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ฉันใด, กตัตตากรรมนี้ก็ฉันนั้น ได้โอกาสก็ย่อมให้วิบากของตน กล่าว คือ ถ้าหากกรรม ๓ อย่างข้างต้นไม่มี ก็ย่อมให้วิบากปฏิสนธิในภพหน้า ภพใด ภพหนึ่ง ตามสมควรแก่กรรม รวมความว่า ถ้าครุกกรรมมีอยู่ ครกกรรมก็จะให้ผลเกี่ยวกับปฏิสนธิก่อน ถ้าครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมก็จะให้ผล ถ้าอาสันนกรรมไม่มี อาจิณณกรรมก็จะให้ผล ถ้าอาจิณณกรรมไม่มีอีก คราวนี้ก็จะเป็นวาระของกตัตตากรรม แล.

   ส่วน ท่านอาจารย์พุทธทัตตะ ผู้แต่งปกรณ์อภิธัมมาวตาร เห็นชอบการให้ ผลของอาจิณณกรรมก่อนอาสันนกรรม เรื่องนี้ บัณฑิตถึงความตกลงใจได้ด้วย คำอุปมาด้วยฝูงโคที่เขาปล่อยออกจากคอกที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเถิด

[full-post]

อภิธัมมัตถสังคหะ,กัมมจตุกกะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.