สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


อริยธรรมที่กระตุ้นเตือนให้ภิกษุปฏิบัติธรรม มีการสมาทานธุดงค์ เป็นต้น(ธุดงคนิเทส) มี 5 อย่าง คือ

     1.ความมักน้อย(อัปปิจฉตา) ได้แก่ความปราศจากความติดข้องปัจจัย 4 เพราะมีอัชฌาสัยไม่โลภ องค์ธรรมก็คือ อโลภะ ที่เป็นไปขณะแสวงหาปัจจัย 4 นั่นเอง

     2.ความสันโดษ(สันตุฏฐิตา) ได้แก่ ความรู้จักพอกับปัจจัย 4 ตามเท่าที่มี ตามเท่าที่ได้ ไม่ปรารถนาปัจจัยอันอื่นอีก องค์ธรรมก็คือ อโลภะ ที่เป็นไปขณะได้ปัจจัยมาแล้วนั่นเอง

     3.ความประพฤติขูดเกลากิเลส(สัลเลขตา) ได้แก่ ความย่ำยีกิเลสด้วยความไม่ละโมบ(อโลภะ)และความไม่ติดข้อง(อโมหะ) องค์ธรรมก็คือ จิตที่ยิ่งด้วยอโลภะและอโมหะนั่นเอง

     4.ความสงบสงัดจากความคลุกคลี(ปวิเวกตา) ได้แก่ ความปลีกตัวออกจากหมู่คณะ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สงบวุ่นวาย ประสงค์จะเร้นจิตไว้ในกรรมฐาน องค์ธรรมก็คือ จิตที่ปราศจากความติดข้อง(อโลภะ)และความหลงติด(อโมหะ)หมู่คณะนั่นเอง

     5.ภาวรู้คุณประโยชน์ 4 ข้อเหล่านั้น(อิทมัตถิตา) ได้แก่ความรอบรู้คุณประโยชน์ 4 ข้อดังได้กล่าวมาแล้ว องค์ธรรมก็คือ ปัญญานั่นเอง

     องค์ธรรมทั้ง 5 ข้อนี่แหละที่เป็นอริยธรรมกระตุ้นเตือนเพื่อนสหธรรมิก ไม่ให้มัวเมา ยึดติดความเป็นอาจารย์ และชล่าใจ ไม่ปฏิบัติธรรม

     อีกทั้งคุณธรรมพวกนี้จะเป็นข้อบ่งบอกให้ทราบว่า ท่านผู้มีคุณธรรมเหล่านี้เป็นบัณฑิต เพราะสงบเสงี่ยมไม่โอ้อวดภูมิความรู้ตนเอง มีมารยาทงาม

     เหมือนท่านพระอิสิทัตตะสนทนาธรรมกับท่านจิตตคฤหบดีอุบาสก

     เมื่อท่านจิตตะถามในที่สนทนาธรรมว่า " มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายมีเพราะมีอะไรเป็นปัจจัย."

     ท่านพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์นิ่งเก้อเขินเพราะตอบไม่ได้ เพื่อรักษาบรรยากาศการสนทนาธรรม

     ท่านพระอิสิทัตตะผู้รอบรู้ก็ขออนุญาตท่านพระเถระเสียก่อน แล้วตอบว่า

     " มิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย มีเพราะ มีสักกายทิฏฐิ "นั่นแล


[full-post]

อริยธรรม,ธุดงค์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.