อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อสัทธรรมปกาสินี ในขุททกนิกาย (ตอนที่ ๒/๗)
อรรถกถาญาณกถามาติกา (ตอนที่ ๒)
๑. อรรถกถาสุตมยญาณุทเทส
ว่าด้วยสุตมยญาณ
ในอุทเทสนั้นเบื้องแรก พึงทราบโสตศัพท์ ในคำนี้ว่า โสตาวธาเน ปญฺญา สุตมเย ญาณํ มีประเภทแห่งอรรถเป็นอเนก.
จริงอย่างนั้น โสตศัพท์นั้นย่อมปรากฏในอรรถว่า มังสโสตะ, โสตวิญญาณ, ญาณโสตะ, กระแสแห่งตัณหาเป็นต้น, สายธารแห่งกระแสน้ำ, อริยมรรค และแม้ในความสืบต่อแห่งจิต.
ก็โสตศัพท์นี้ย่อมปรากฏในอรรถว่ามังสโสตะ ได้ในคำเป็นต้นว่า โสตายตนะ, โสตธาตุและโสตินทรีย์.๑-
ปรากฏในอรรถว่าโสตวิญญาณ ได้ในคำเป็นต้นว่า ได้ยินเสียงด้วยโสตะ.๒-
ปรากฏในอรรถญาณโสตะ ได้ในคำเป็นต้นว่า ได้ยินเสียงด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์.๓-
ปรากฏในธรรมทั้ง ๕ มีตัณหาเป็นต้น ได้ในคำเป็นต้นว่า
คำว่า กระแสเหล่าใดในโลก ความว่า กระแสเหล่านี้ใด เราบอกแล้ว กล่าวแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ตื้นขึ้นแล้ว ประกาศแล้ว, นี้อย่างไร? คือ กระแสตัณหา, กระแสทิฏฐิ, กระแสกิเลส, กระแสทุจริต, กระแสอวิชชา.๔-
ปรากฏในอรรถว่าสายธารแห่งกระแสน้ำ ได้ในคำเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วแล ซึ่งท่อนไม้ท่อนใหญ่ถูกกระแสน้ำพัดไปในแม่น้ำคงคา.๕-
ปรากฏในอรรถว่าอริยมรรค ได้ในคำเป็นต้นว่า ดูก่อนอาวุโส คำนี้เป็นชื่อของอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ คือโสตะ.
ปรากฏในอรรถว่าความสืบต่อแห่งจิต ได้ในคำเป็นต้นว่า และย่อมรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งขาดแล้วโดยส่วน ๒ คือทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ในปรโลก.๖-
ก็โสตศัพท์ในที่นี้ พึงหมายเอามังสโสตะ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๐ ๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๓๓
๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๔๓๑ ๔- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๗๖
๕- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๒๕ ๖- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๗๙
ชื่อว่า โสตาวธาน เพราะอรรถว่าทรงไว้ กำหนดไว้ ตั้งไว้ ด้วยโสตะนั้น เป็นเหตุ หรือเป็นเหตุให้สำเร็จ.
ชื่อว่า โสตาวธาน นั้นอย่างไร?
คือสุตะ. ก็ธรรมชาติที่รู้แจ้ง กำหนดได้โดยครรลองแห่งโสตทวาร ชื่อว่าสุตะ ดุจในคำเป็นต้นว่า เป็นผู้สดับมาก เป็นผู้ทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ.๖-
สุตะนั้น ในที่นี้ท่านกล่าวว่า โสตาวธาน. ปัญญาที่เป็นไปในสุตะกล่าวคือโสตาวธานนั้น ชื่อว่า โสตาวธาเน ปญฺญา.
____________________________
๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๗๖
ก็บทว่า ปญฺญา ได้แก่ ปัญญาโดยอรรถว่าเป็นเครื่องทำให้รู้ชัด กล่าวคือเป็นเครื่องทำอรรถะนั้นๆ ให้ปรากฏ.
อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการนั้นๆ คือโดยอนิจจลักษณะเป็นต้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าปัญญา.
พึงทราบ สุตศัพท์ทั้งที่มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรคในคำนี้ว่า สุตมเย ญาณํ ดังนี้ก่อน
สุตศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่า ไป, ปรากฏ, กำหนัด, ประกอบเนืองๆ, สั่งสม, สัททารมณ์, รู้ได้ตามครรลองแห่งโสตทวาร.
จริงอย่างนั้น สุตศัพท์มีอรรถว่าไป ได้ในคำเป็นต้นว่า เสนาย ปสุโต เสนาเคลื่อนไป.
สุตศัพท์มีอรรถว่ามีธรรมอันปรากฏแล้ว ได้ในคำเป็นต้นว่า สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต มีธรรมอันสดับแล้วเห็นอยู่.๗-
สุตศัพท์มีอรรถว่ากำหนัดและไม่กำหนัด ได้ในคำเป็นต้นว่า อวสฺสุตา อวสฺสุตสฺส ปุริสปุคฺคลสฺส๘- ภิกษุณีกำหนัดยินดีแล้วต่อบุรุษบุคคลผู้ไม่กำหนัดยินดีแล้ว.
สุตศัพท์มีอรรถว่าประกอบเนืองๆ ได้ในคำเป็นต้นว่า เย ฌานปสุตา ธีรา๙- กุลบุตรเหล่าใดประกอบเนืองๆ ในฌาน กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่านักปราชญ์.
สุตศัพท์มีอรรถว่าสั่งสม ได้ในคำเป็นต้นว่า ตุมฺเหหิ ปุญญํ ปสุตํ อนปฺปกํ๑๐- บุญมิใช่น้อยอันท่านทั้งหลายสั่งสมไว้แล้ว.
สุตศัพท์มีอรรถว่าสัททารมณ์ ได้ในคำเป็นต้นว่า ทิฏฺฐํ สุตํ มุตํ วิญญาตํ๑๑- รูปอันเราเห็นแล้ว เสียงอันเราได้ยินแล้ว หมวด ๓ แห่งอารมณ์อันเราทราบแล้วอารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว.
สุตศัพท์มีอรรถว่าทรงไว้ซึ่งสัททารมณ์อันตนรู้แล้วโดยครรลองแห่งโสตทวาร ได้ในคำเป็นต้นว่า พหุสฺสุโต โหติ สุตธโร สุตสนฺนิจโย๑๒- เป็นผู้สดับมาก เป็นผู้ทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ.
แต่ในที่นี้ สุตศัพท์มีอรรถว่า อันตนรู้แล้ว, เข้าไปทรงไว้แล้วโดยครรลองแห่งโสตทวาร.
____________________________
๗- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๕๑ ๘- วิ. ภิกฺขุนี. เล่ม ๓/ข้อ ๑ ๙- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๔
๑๐- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๘ ๑๑- ม.มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๘๑ ๑๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๗๖
บทว่า สุตมเย ญาณํ ความว่า ปัญญานี้ได้ ปรารภพระสัทธรรม คือสุตะนี้ที่รู้แล้ว ทรงจำไว้ได้แล้ว กระทำให้เป็นอารมณ์ เป็นไปแล้วในครั้งแรกและครั้งต่อๆ มา, ปัญญาญาณนั้นย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้วว่า สุตมเย ญาณํ ญาณอันสำเร็จแล้วด้วยการฟัง.
อธิบายว่า สุตมยํ ญาณํ นั่นเอง.
ก็คำว่า สุตมเย นี้เป็นปัจจัตตวัจนะ, ปัจจัตตวัจนะ ในคำเป็นต้นว่า น เหวํ วตฺตพฺเพ ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น, วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค พุ่มไม้ในไพรมียอดคือดอกบานสะพรั่ง, นตฺถิ อตฺตกาเร การกระทำของตน ไม่มี, นตฺถิ ปรกาเร การกระทำของคนอื่น ไม่มี, นตฺถิ ปุริสกาเร การกระทำของบุรุษ ไม่มี ดังนี้ฉันใด แม้ในที่นี้ บทว่า สุตมเย ก็พึงเข้าใจฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า สุตมยํ ญาณนฺติ อตฺโถ อธิบายว่า ญาณอันสำเร็จแล้วด้วยการฟัง ดังนี้.
อีกอย่างหนึ่ง หมวดธรรมมีผัสสะเป็นต้นอันสำเร็จแล้วด้วยการฟัง จึงชื่อว่าสุตมยะ, ญาณเป็นไปในหมวดแห่งธรรมที่ชื่อว่าสุตมยะนั้น คือสัมปยุตกับด้วยสุตมยะนั้น ชื่อว่า สุตมเย ญาณํ.
ญาณนั้นนั่นแล ท่านกล่าวว่าปัญญา เพราะไม่กำหนดก็เพื่อจะอธิบายโดยปริยาย ภายหลังจึงกล่าวกำหนดว่าญาณ ท่านสาธุชนพึงทราบตามที่กล่าวมานี้.
ก็ชื่อว่าญาณ มีการแทงตลอดสภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดอย่างไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ เหมือนการยิงลูกศรอันนายขมังธนูผู้ชาญฉลาดยิงไปแล้วฉะนั้น.
มีการส่องซึ่งอารมณ์เป็นรส เหมือนดวงประทีปส่องสว่างฉะนั้น.
มีความไม่หลงเป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนพรานป่าบอกทางแก่คนหลงทางฉะนั้น.
มีสมาธิเป็นปทัฏฐาน ตามพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง.๑๓-
____________________________
๑๓- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๔๗
ก็ในลักษณะเป็นต้น พึงทราบว่า สภาวะก็ดี สามัญญะก็ดี ชื่อว่าลักษณะ, กิจก็ดี สมบัติก็ดี ชื่อว่ารส, อาการที่ปรากฏก็ดี ผลก็ดี ชื่อว่าปัจจุปัฏฐาน, เหตุใกล้ ชื่อว่าปทัฏฐาน ดังนี้.
๒. อรรถกถาสีลมยญาณุทเทส
ว่าด้วยสีลมยญาณ
คำว่า สุตฺวาน สํวเร ปญฺญา ความว่า :-
ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ ปาฏิโมกข์ ๑ สติ ๑
ญาณ ๑ ขันติ ๑ และ วิริยะ ๑ ท่านแสดงว่าสังวร.
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
เป็นผู้เข้าถึง, เข้าถึงพร้อม, เข้ามา, เข้ามาพร้อม,
ถึงแล้ว, ถึงพร้อมแล้ว, ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย
ปาฏิโมกขสังวรนี้.๑-
ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวร.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๒
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต
ไม่ถืออนุพยัญชนะ, เธอย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวม
จักขุนทรีย์ เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้
อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส
ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์, ชื่อว่าถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์.๒-
ชื่อว่าสติสังวร.
____________________________
๒- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๒
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
กระแสทั้งหลายเหล่าใดในโลก มีอยู่,
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่า
เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย, กระแสเหล่านั้น
อันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา๓- ดังนี้.
ชื่อว่าญาณสังวร.
____________________________
๓- ขุ. ส. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๒๕
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวร๔- ดังนี้.
ชื่อว่าปัจจยปฏิเสวนาสังวร.
ปัจจยปฏิเสวนาสังวรแม้นั้น ท่านสงเคราะห์ด้วยญาณสังวรนั่นแล.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๔
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
เป็นผู้อดกลั้นต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย
สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เลื้อยคลาน
เป็นผู้มีชาติแห่งผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าว
ชั่วร้ายแรง ต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัวซึ่งบังเกิดขึ้นเป็น
ทุกข์กล้า แข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่
ชอบใจ อันจะคร่าชีวิตเสียได้๕- ดังนี้.
ชื่อว่าขันติสังวร.
____________________________
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
ภิกษุ ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา
กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมกระทำให้สิ้นสูญไป
ให้ถึงความไม่มี๖- ดังนี้.
ชื่อว่าวิริยสังวร.
____________________________
๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗
สังวรที่มาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า
พระอริยสาวกในพระศาสนานี้ ละมิจฉาอาชีวะ
เสียแล้ว สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ๗- ดังนี้
ชื่อว่าอาชีวปาริสุทธิสังวร.
____________________________
๗- สํ. มหา เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๘
อาชีวปาริสุทธิสังวรแม้นั้น ท่านสงเคราะห์ด้วยวิริยสังวรนั่นแล.
ในสังวร ๗ เหล่านั้น สังวร ๔ คือ ปาฏิโมกขสังวร, อินทรียสังวร, อาชีวปาริสุทธิสังวรและปัจจยปฏิเสวนาสังวร ท่านประสงค์เอาในที่นี้, และในสังวร ๔ เหล่านั้น ปาฏิโมกขสังวร ท่านประสงค์เอาเป็นพิเศษ. ก็สังวรนี้แม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่าสังวร เพราะกั้นทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น ที่จำต้องสังวรตามธรรมดาของตน.
ปัญญาของกุลบุตรผู้ฟังธรรมตามที่กล่าวแล้วในสุตมยญาณแล้วสังวรอยู่ ทำการสังวร เป็นไปแล้วในการสังวรนั้น สัมปยุตกับสังวรนั้น ท่านกล่าวแล้วว่า สุตฺวาน สํวเร ปญฺญา.
อีกอย่างหนึ่ง มีความว่า ปัญญาในการสังวรเพราะมีการฟังเป็นเหตุบ้าง เพราะมีคำว่า เหตุอตฺเถ สุตฺวา ฟังเหตุและผลปรากฏอยู่ด้วย.
บทว่า สีลํ ในคำนี้ว่า สีลมเย ญาณํ ความว่า ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่าสำรวม.
ชื่อว่าการสำรวมนี้ อย่างไร? คือการตั้งมั่น. อธิบายว่า ความเป็นกายกรรมเป็นต้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้สำรวมด้วยดี. หรือความเข้าไปตั้งมั่น. อธิบายว่า ความที่แห่งกุศลธรรมทั้งหลายเป็นที่รองรับด้วยสามารถเป็นที่ตั้ง.
ก็ในศีลนี้ นักปราชญ์ผู้รู้ลักษณศัพท์ รับรู้ตามๆ กันมาซึ่งอรรถะทั้ง ๒ นี้เท่านั้น. แต่อาจารย์พวกอื่นพรรณนาว่า ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าเสพยิ่ง เพราะอรรถว่าเป็นที่รองรับ เพราะอรรถว่าเป็นปกติ เพราะอรรถว่าเป็นศีรษะ เพราะอรรถว่าเย็น เพราะอรรถว่าเกษม.
ศีลนั้นแม้จะมีประเภทต่างๆ หลายอย่างก็มีการสำรวมเป็นลักษณะ เหมือนรูป๘- มีประเภทต่างๆ เป็นอันมาก ก็มีการเห็นได้ด้วยตาเป็นลักษณะฉะนั้น.
____________________________
๘- หมายเอารูปารมณ์.
เหมือนอย่างว่า ความที่รูปายตนะแม้มีประเภทต่างๆ เป็นอันมาก โดยประเภทแห่งสีมีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น ก็มีการเห็นได้ด้วยตาเป็นลักษณะ เพราะไม่ก้าวล่วงความที่แห่งรูปายตนะมีประเภทต่างๆ โดยประเภทแห่งสีมีสีเขียวเป็นต้น ก็เป็นรูปายตนะที่เห็นได้ด้วยตาฉันใด
ความสำรวมแห่งศีลแม้มีประเภทต่างๆ หลายอย่างโดยประเภทแห่งวิรัติมีเจตนาวิรัติเป็นต้น ท่านกล่าวแล้วว่าเป็นที่รองรับกายกรรมเป็นต้นและเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมนี้ได้, การสำรวมนั้นนั่นแหละเป็นลักษณะของศีลแม้มีประเภทต่างๆ หลายอย่างโดยประเภทแห่งวิรัติมีเจตนาวิรัติเป็นต้น เพราะไม่ก้าวล่วงความเป็นที่รองรับและเป็นที่ตั้ง.
ก็การกำจัดความเป็นผู้ทุศีล และคุณคือความไม่มีโทษ ท่านเรียกว่าเป็นรส เพราะอรรถว่าเป็นกิจและสมบัติของศีลนั้นมีลักษณะดังที่ได้กล่าวมาแล้วอย่างนี้.
เพราะฉะนั้น ธรรมดาว่าศีลนี้ บัณฑิตพึงทราบว่ามีการกำจัดความเป็นผู้ทุศีลเป็นรส เพราะรสมีอรรถว่ากิจ, มีความไม่มีโทษเป็นรส เพราะรสมีอรรถว่าสมบัติ.
ศีลนี้นั้น วิญญูชนทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า
มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐาน มีโอตตัปปะและ
หิริเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น.
ศีลนี้นั้นมีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐานตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า
ความสะอาดกาย, ความสะอาดวาจา, ความสะอาดใจ๙- ย่อมถึงซึ่งความนับว่าปรากฏโดยความเป็นของสะอาด.
____________________________
๙- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๒๘
ส่วนหิริและโอตตัปปะ วิญญูชนทั้งหลายพรรณนาไว้ว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น.
อธิบายว่า เป็นเหตุใกล้.
เพราะเมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลก็ย่อมเกิดขึ้นและตั้งอยู่. เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลก็ย่อมไม่เกิดขึ้นและไม่ตั้งอยู่ฉะนั้น ญาณที่สหรคตด้วยศีล สัมปยุตด้วยศีลนั้น โดยวิธีที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ ชื่อว่า สีลมเย ญาณํ.
อีกอย่างหนึ่ง ศีลนั่นแหละสำเร็จแล้วชื่อว่าสีลมัย. ญาณในสีลมัยนั้นคือสัมปยุตด้วยสีลมัยนั้น.
การพิจารณาโทษในการไม่สำรวม ๑, การพิจารณาอานิสงส์ในการสำรวม ๑, การพิจารณาความบริสุทธิ์ในการสำรวม ๑, การพิจารณาความขาวสะอาดจากสังกิเลสในเพราะการสำรวม ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสีลมยญาณนั่นแล.
๓. อรรถกถาสมาธิภาวนามยญาณุทเทส
ว่าด้วยสมาธิภาวนามยญาณ
คำว่า สํวริตฺวา สมาทหเน ปญฺญา ความว่า ปัญญาของกุลบุตรผู้สำรวมด้วยสีลสังวรตามที่กล่าวไว้ในสีลมยญาณ แล้วทำการสำรวมตั้งอยู่ในศีลมีจิตตั้งไว้ด้วยดี กระทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยสามารถแห่งอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เป็นไปแล้วในสมาธิจิตนั้นคือสัมปยุตกับด้วยสมาธิจิตนั้น. การวางไว้ ตั้งไว้ ด้วยดีโดยชอบ ฉะนั้นจึงชื่อว่า สมาทหนํ - การตั้งไว้ด้วยดี. คำนี้เป็นคำเรียกสมาธิโดยปริยาย.
กุศลจิตเอกัคคตา ชื่อว่าสมาธิ ในคำนี้ว่า สมาธิภาวนามเย ญาณํ
ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร? ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่าตั้งมั่น (สมาธานํ).
ชื่อว่าสมาธาน นี้อย่างไร? มีคำอธิบายว่า การวาง การตั้ง ซึ่งจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์เดียวโดยชอบด้วยดี เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิก ไม่ฟุ้งไป ไม่เกลื่อนกล่น ตั้งอยู่โดยชอบด้วยดีในอารมณ์เดียว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมใด,
คำที่กล่าวมาแล้วนี้ พึงทราบว่าเป็นสมาธาน.
ก็ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ การกำจัดความ
ฟุ้งซ่านเป็นรส การไม่หวั่นไหวเป็นปัจจุปัฏฐาน
และมีความสุขเป็นปทัฏฐานของสมาธินั้นแล.
ธรรมชาติใดอันพระโยคีบุคคลอบรมอยู่ เจริญอยู่ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าภาวนา, ภาวนาคือสมาธิ ชื่อว่าสมาธิภาวนา.
อีกอย่างหนึ่ง การอบรมการเจริญซึ่งสมาธิ ชื่อว่าสมาธิภาวนา. ห้ามภาวนาอื่นด้วยคำว่าสมาธิภาวนา. ญาณอันสำเร็จด้วยสมาธิภาวนาด้วยสามารถแห่งอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิดุจในก่อน.
๔. อรรถกถาธัมมัฏฐิติญาณุทเทส
ว่าด้วยธรรมฐิติญาณ
ชื่อว่าปัจจัย ในคำนี้ว่า ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา มีวจนัตถะว่า ผลย่อมอาศัยธรรมนั้นเกิด ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าปัจจัย.
คำว่า ปฏิจฺจ ได้แก่ ไม่เว้นจากธรรมที่เป็นปัจจัยนั้น. อธิบายว่า ไม่บอกคืน.
บทว่า เอติ ความว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นไปด้วย.
อีกอย่างหนึ่ง มีความว่าอุปการะ มีอรรถว่าเป็นแดนเกิด, ปัญญาในการกำหนดคือกำหนดได้ซึ่งปัจจัยทั้งหลาย เพราะปัจจัยนั้นมีมากอย่าง ชื่อว่า ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา แปลว่า ปัญญาเป็นเครื่องกำหนดปัจจัย.
ธมฺมศัพท์ ในบทว่า ธมฺมฏฺฐิติญาณํ นี้ย่อมปรากฏในอรรถว่า สภาวะ, ปัญญา, บุญ, บัญญัติ, อาบัติ, ปริยัติ, นิสสัตตตา, วิการ, คุณ, ปัจจัย, ปัจจยุปบันเป็นต้น.
ก็ธมฺมศัพท์นี้ย่อมปรากฏในอรรถว่าสภาวะ ได้ในติกะว่า กุสลา ธมฺมา สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล, อกุสลา ธมฺมา สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล, อพฺยากตา ธมฺมา สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากตะ.๑-
ธมฺมศัพท์ ย่อมปรากฏในอรรถว่าปัญญา ได้ในคำเป็นต้นว่า
บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วย
สัทธา มีธรรม ๔ ประการเหล่านี้ คือ สัจจะ,
ธรรมะ, ธิติ, และจาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้
ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก๒- ดังนี้.
____________________________
๑- อภิ.สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑ ๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๔๕
ธมฺมศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าบุญ ได้ในคำเป็นต้นว่า
ธรรมและอธรรมทั้ง ๒ นี้ มีผลเสมอกันหามิได้เลย
อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ๓- ดังนี้.
ธมฺมศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าบัญญัติ ได้ในคำเป็นต้นว่า บัญญัติธรรม, นิรุตติธรรม, อธิวจนธรรม๔- ดังนี้.
ธมฺมศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าอาบัติ ได้ในคำเป็นต้นว่า ธรรมคือปาราชิก๕-, ธรรมคือสังฆาทิเสส๖- ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๓๒ ๔- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๕
๕- วิ.มหาวิภงฺค. เล่ม ๑/ข้อ ๓๐๐ ๖- วิ.มหาวิภงฺค. เล่ม ๑/ข้อ ๖๓๐
ธมฺมศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าปริยัติ ได้ในคำเป็นต้นว่า ภิกษุในธรรมวินัยย่อมเรียนธรรมคือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ๗- ดังนี้.
____________________________
๗- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๗๓
ธมฺมศัพท์ปรากฏในอรรถว่านิสสัตตตา - ความไม่มีสัตว์ ได้ในคำเป็นต้นว่า ก็สมัยนั้นแล ธรรมทั้งหลายย่อมมี.๘-
และในคำเป็นต้นว่า พระโยคีบุคคลตามพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่๙- ดังนี้.
____________________________
๘- อภิ.สํ เล่ม ๓๔/ข้อ ๙๙ ๙- ที.มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๗๓
ธมฺมศัพท์ปรากฏในอรรถว่าวิการ - ธรรมชาติที่ผันแปร ได้ในคำเป็นต้นว่า ชาติธรรม ชราธรรม มรณธรรม๑๐- ดังนี้.
ธมฺมศัพท์ปรากฎในอรรถว่าคุณ ได้ในคำเป็นต้นว่า พุทธธรรม ๖#-ดังนี้.
ธมฺมศัพท์ปรากฏในอรรถว่าปัจจัย ได้ในคำเป็นต้นว่า ความรู้แตกฉานในเหตุ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา๑๑- ดังนี้.
ธมฺมศัพท์ปรากฏในอรรถว่าปัจจยุปบัน ได้ในคำเป็นต้นว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่แล ชื่อว่าธรรมฐิติ ธรรมนิยาม๑๒- ดังนี้.
____________________________
๑๐- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๐๗ #- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๒๓๑
๑๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๗๗๙ ๑๒- สํ.นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๖๑
ธมฺมศัพท์นี้นั้นพึงเห็นว่าลงในอรรถว่าปัจจยุปบัน แปลว่า ธรรมที่เกิดแต่ปัจจัย. โดยอรรถท่านเรียกว่าธรรมะ เพราะทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน, หรืออันปัจจัยทรงไว้, หรือย่อมทรงไว้ซึ่งผลของตน, หรือผู้ใดบำเพ็ญธรรมให้บริบูรณ์ก็ทรงผู้นั้นไว้ ไม่ให้ตกไปในอบายทั้งหลาย, หรือทรงไว้ในลักษณะของตนๆ, หรือว่าย่อมตั้งลงไว้ได้ด้วยจิต, ตามสมควร.
แต่ในที่นี้ ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่าอันปัจจัยทั้งหลายของตนทรงไว้, ธรรมทั้งหลายอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ย่อมตั้งขึ้นคือย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นไปด้วยธรรมชาติใด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าธรรมฐิติ,
คำนี้เป็นชื่อของปัจจัยธรรมทั้งหลาย,
ญาณในธรรมฐิตินั้น ชื่อว่าธัมมัฏฐิติญาณ.
ก็ธัมมัฏฐิติญาณนี้มีปริยายแห่งการกำหนดปัจจัยแห่งนามรูปทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีบุคคลผู้ปรารภความเพียร เพื่อยถาภูตญาณทัสสนะ ด้วยจิตอันตั้งมั่นด้วยสมาธิตามที่กล่าวไว้ในสมาธิภาวนามยญาณ แล้วกำหนดนามรูป.
หากจะมีปุจฉาว่า ญาณนี้ ทำไมท่านไม่กล่าวว่า นามรูปววัตถานญาณอย่างเดียว แต่กลับกล่าวว่าธัมมัฏฐิติญาณเล่า?
ก็มีวิสัชนาว่า เพราะการกำหนดธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นล้วนสำเร็จด้วยการกำหนดปัจจัยอย่างเดียว. เพราะว่าธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น อันพระโยคีบุคคลไม่ได้กำหนดแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำการกำหนดปัจจัยได้.
เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า นามรูปววัตถานญาณอันเป็นเหตุแห่งปัจจยปริคคหญาณนั้นสำเร็จแล้วในก่อน ก็ย่อมเป็นญาณอันท่านกล่าวแล้วด้วย ศัพท์ว่าธัมมัฏฐิติญาณนั่นแล.
หากจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจะไม่กล่าว สมาทหิตฺวา ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา แปลว่า ปัญญาในการกำหนดปัจจัย เพราะมีจิตตั้งมั่น เหมือนญาณที่ ๑ และญาณที่ ๒ เล่า?
ตอบว่า เพราะสมถะและวิปัสสนาเป็นธรรมคู่กัน.
สมจริงดังคาถาประพันธ์อันโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า
หากว่าพระโยคีบุคคลมีจิตตั้งมั่นย่อมเห็นแจ้ง
ได้โดยประการใดไซร้, และหากพระโยคีบุคคลเมื่อ
เห็นแจ้งอยู่ ย่อมมีจิตตั้งมั่นได้โดยประการนั้น, ใน
กาลนั้น วิปัสสนาและสมถะเป็นธรรมมีส่วนเสมอกัน
เป็นธรรมคู่กันเป็นไป.
เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา ธมฺมฏฺฐิติญาณํ แปลว่า ปัญญาในการกำหนดปัจจัยเป็นธัมมัฏฐิติญาณดังนี้ไว้ ก็เพื่อจะให้รู้ว่า ตราบใดที่อริยมรรคยังไม่ละสมาธิทำสมาธิกับปัญญาให้เป็นธรรมคู่กัน, พระโยคีบุคคลก็จำต้องขวนขวายอยู่ตราบนั้น.
๕. อรรถกถาสัมมสนญาณุทเทส
ว่าด้วยสัมมสนญาณ
ชื่อว่าอดีต เพราะอรรถว่าถึงแล้ว ถึงยิ่งแล้ว ก้าวล่วงแล้วซึ่งสภาวะของตน หรือขณะมีอุปปาทขณะเป็นต้น.
ชื่อว่าอนาคต เพราะอรรถว่าไม่ถึงแล้ว ไม่ถึงพร้อมแล้ว แม้ซึ่งสภาวะของตนและขณะมีอุปาทขณะเป็นต้นทั้ง ๒ นั้น.
ชื่อว่าปัจจุบัน เพราะอรรถว่าบรรลุแล้ว ถึงแล้ว เป็นไปแล้วเพราะอาศัยเหตุนั้นๆ จนล่วงขณะมีอุปาทขณะเป็นต้น.
ในคำนี้ว่า อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนานํ ธมฺมานํ สงฺขิปิตฺวา ววตฺถาเน ปญฺญา. ในกาล ในขณะสืบต่อและในปัจจุบัน ในที่นี้ประสงค์เอาปัจจุบันสันตติ คือปัจจุบันที่กำลังสืบต่อ.
ปัญญาในการรวบรวมเอาธรรมคือขันธ์ ๕ ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตปัจจุบันเหล่านั้นเข้าไว้ในขันธ์หนึ่งๆ แล้วทำให้เป็นกองด้วยสามารถกลาปะคือหมวดหมู่แล้ว กำหนด วินิจฉัย ตัดสินได้.
ญาณคือปัญญาในการถูกต้อง เลือกเฟ้น เพ่งพินิจด้วยดี.
อธิบายว่า ญาณในการพิจารณาในเบญจขันธ์โดยความเป็นหมวดหมู่ (กลาปะ) ชื่อว่า สมฺมสเน ญาณํ แปลว่า ญาณในการพิจารณาเบญจขันธ์.
จริงอยู่ กลาปสัมมสนญาณนี้ย่อมเกิดแก่พระโยคีบุคคลผู้ได้ธัมมัฏฐิติญาณเป็นเครื่องกำหนดปัจจัยของนามรูป ในลำดับแห่งนามรูปววัตถานญาณ ยกแต่ละขันธ์ๆ ที่กำหนดไว้แล้วในก่อนขึ้นสู่พระไตรลักษณ์แล้วเห็นแจ้งอยู่ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาตามที่กล่าวแล้ว โดยนัยแห่งพระบาลีเป็นต้นว่า
พระโยคีบุคคลกำหนดรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม เลวก็ตาม ประณีตก็ตาม มีในที่ไกลก็ตาม ในที่ใกล้ก็ตาม โดยความเป็นของไม่เที่ยง การกำหนดนี้เป็นสัมมสนญาณประการหนึ่ง, กำหนดโดยความเป็นทุกข์ การกำหนดนี้เป็นสัมมสนญาณประการหนึ่ง, กำหนดโดยความเป็นอนัตตา การกำหนดนี้ก็เป็นสัมมสนญาณประการหนึ่ง.๑-
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๙๙
๖. อรรถกถาอุทยัพพยานุปัสสนาญาณุทเทส
ว่าด้วยอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
คำว่า ปจฺจุปฺปนฺนานํ ธมฺมานํ วิปริณามานุปสฺสเน ปญฺญา ความว่า ปัญญาในการเห็นความแปรไป คือความดับไปแห่งธรรมคือเบญจขันธ์ ในภายในที่เป็นปัจจุบันด้วยอำนาจสันตติ. จิตแม้กำหนดความเกิดขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไปดังนี้ ก็ชื่อว่าตั้งอยู่ในความแตกดับไปเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า การเกิดขึ้นแม้ไม่ได้กล่าวไว้แล้วก็เป็นอันกล่าวไว้เหมือนกัน.
อีกอย่างหนึ่ง การเกิดขึ้นแห่งปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นอันกล่าวแล้วด้วยทัสนะ เพราะสำเร็จการเห็นความเกิดขึ้น.
จริงอยู่ เว้นอุทยะคือการเกิดขึ้นเสีย ความเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลายก็ย่อมไม่สำเร็จ. เพราะฉะนั้น แม้เมื่อไม่กล่าวว่า ปัญญาในการตามเห็นความเกิดขึ้นและความแปรไปแห่งปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ก็พึงทราบว่าเป็นอันกล่าวแล้วเหมือนกัน.
อุทยัพพยานุปัสสนาญาณย่อมเกิดแก่พระโยคีบุคคลผู้บรรลุสัมมสนญาณ ตามที่กล่าวแล้วในลำดับว่า ก็การเห็นความเกิดขึ้นย่อมสำเร็จเพราะคำนั้นกำหนดตามพระบาลีว่า อุทยพฺพยานุปสฺสเน ญาณ แปลว่า ปัญญาในการตามเห็นการเกิดและความดับไป ดังนี้แล้วก็กำหนดการเกิดขึ้นและความดับไปในสังขารธรรมที่กำลังปรากฏในสัมมสนญาณนั่นเอง แล้วปรารภอุทยัพพยานุปัสสนาเพื่อทำการกำหนดสังขารธรรมทั้งหลาย. เพราะว่าญาณนั้น ท่านเรียกว่าอุทยัพพยานุปัสสนา เพราะตามเห็นความเกิดและความดับ.
๗. อรรถกถาวิปัสสนาญาณุทเทส
ว่าด้วยวิปัสสนาญาณ
คำว่า อารมฺมณํ ปฏิสงฺขา ความว่า รู้ เห็น อารมณ์มีรูปขันธ์เป็นต้น เพราะพิจารณาโดยความเป็นภังคะ คือแตกดับไป.
คำว่า ภงฺคานุปสฺสเน ปญฺญา วิปสฺสเน ญาณํ ความว่า ปัญญาใดรู้ในการตามเห็นความดับแห่งญาณที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะพิจารณาอารมณ์ของญาณนั้นโดยความเป็นภังคะ คือแตกดับไป, ญาณนั้น ท่านกล่าวว่า วิปสฺสเน ญาณํ แปลว่า ญาณในวิปัสสนา.
บทว่า วิปสฺสนา ได้แก่ เห็น เห็นแจ้งโดยประการต่างๆ.
ปาฐะว่า อารมฺมณปฏิสงฺขา ดังนี้ก็มี.
เนื้อความแห่งวิปัสสนาญาณนั้นดังต่อไปนี้
คำว่า ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกดับไป เป็นวิปัสสนาญาณ ท่านกล่าวไว้แล้วเพราะพิจารณาอารมณ์โดยนัยตามที่กล่าวแล้วว่า การพิจารณา การรู้ การเห็นซึ่งอารมณ์. ก็วิปัสสนาย่อมถึงยอดแห่งภังคานุปัสสนานั่นแหละ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้เป็นพิเศษว่า วิปสฺสเน ญาณํ แปลว่า ญาณในวิปัสสนา.
มัคคามัคคญาณทัสนะย่อมเกิดแก่พระโยคีบุคคลผู้ได้อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ, เพราะฉะนั้น เมื่ออุทยัพพยานุปัสสนาสำเร็จแล้ว มัคคามัคคญาณทัสนะนั้นก็ย่อมสำเร็จด้วย คำนั้นท่านมิได้กล่าวไว้เลย พึงทราบว่า ญาณมีวิปัสสนาเป็นยอด ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยภังคานุปัสสนาญาณ.
เมื่อสังขารทั้งหลายอันพระโยคีบุคคลผู้กำหนดซึ่งอุทยัพพยะอันตนเห็นแจ้งแล้วด้วยอุทยัพพยานุปัสสนาแล้ว ก็ปรากฏขึ้นโดยพลันทีเดียว เมื่อญาณแก่กล้าอยู่ สติก็ละอุทยะความเกิด แล้วตั้งอยู่ในภังคะความดับอย่างเดียว.
ภังคานุปัสสนาญาณก็ย่อมเกิดขึ้นได้ในฐานะนี้แก่พระโยคีบุคคลนั้นผู้เห็นอยู่ว่า ธรรมดาสังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ก็ย่อมดับไปอย่างนี้.
-------------------------------
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ