กามาวจรกุศลจิต คือ ปริตตกุศล
***
มหากุศลจิตนั้น ก็คือ กามาวจรกุศล จัดเป็นจิตประเภทปริตตะ ธรรมเล็กนัอย, รูปาวจรกุศลจิตและอรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตประเภทมหัคคตะ ธรรมทึ่ถึงความเป็นใหญ่ และโลกุตรจิตเป็นจิตประเภทอัปปมาณะธรรมที่ไม่มีกิเลสอันสร้างข้อจำกัด
ข้อที่กล่าวมานี้มีมาในคัมภีร์อภิธรรมมาติกาว่า
(ก) ปริตฺตา ธมฺมาฯ
(ข) มหคฺคตา ธมฺมาฯ
(ค) อปฺปมาณา ธมฺมาฯ
สภาวธรรมที่เป็นปริตตะ คือ ธรรมที่อานุภาพน้อย
สภาวธรรมที่เป็นมหัคคตะ คือ ธรรมที่มีถึงความเป็นใหญ่
สภาวธรรมที่เป็นอัปปมาณะ คือธรรมที่ไม่มีกิเลสตัวกำหนด
(อภิ.สํ.มาติกา.ปริตฺตติก ๓๔/ ๑๒)
ก. ปริตตะธรรมที่อานุภาพน้อย
กลุ่มธรรมที่เป็นประเภทปริตตะ ได้แก่ ธรรมประเภทกุศล อกุศล และอัพยากตะ (วิบากและกิริยา) ที่เป็นกามาวจร ทั้งหมด ดังข้อความในพระบาฬีอภิธรรมปิฏก ธรรมสังคณี นิทเทสวาระว่า
กตเม ธมฺมา ปริตฺตา? สพฺเพว กามาวจรา กุสลากุสลาพฺยากตา ธมฺมา; รูปกฺขนฺโธ…เป.… วิญฺญาณกฺขนฺโธ – อิเม ธมฺมา ปริตฺตาฯ (อภิ.สํ.๓๔/๑๐๒๖)
สภาวธรรมที่เป็นปริตตะเป็นไฉน? สภาวธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤตซึ่งเป็นกามาวจรทั้งหมด ได้แก่ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นปริตตะ(อภิ.สํ.๓๔/๑๐๒๖).
...
ปริตตะ ประกอบรูปศัพท์จาก ปริ + อตฺต (อา บทหน้า + ทา ธาตุ + ต ปัจจัย ลบ อา ของ ทา แปลง ทฺ เป็น ตฺ ได้รูปว่า อาตฺต แล้วรัสสะ อา เป็น อ ในเพราะพยัญชนะสังโยคคือ ตฺต ในที่นี้ ปริ อุปสรรคมีความหมายว่า รอบด้าน (สมนฺตโต) และ ทา ธาตุมีความหมายว่า ตัด (อวขณฺฑน) มีความหมายตามศัพท์ว่า
สมนฺตโต อาทียเตติ ปริตฺตํ.
ชื่อว่า ปริตตะ เพราะถูกตัดขาดรอบด้าน ได้แก่ วัตถุชิ้นเล็กๆ. แม้กามาวจรกุศลนี้ ก็เป็นเหมือนกับปริตตะ จึงชื่อว่า ปริตตะ ดังคำอธิบายในอรรถกถาธัมมสังคณี นามว่า อัฏฐสาลินีว่า
วัสดุชิ้นเล็กๆ เรียกว่า ปริตฺต หมายถึง เหตุที่ถูกตัดรอบด้าน เช่นที่กล่าวถึงคำนี้ในบาฬีว่า ปริตฺตํ โคมยปิณฺฑํ ก้อนมูลวัวเล็กๆ. (สํ.ขนฺธ.๑๗/๒๔๙) แม้กามาวจรธรรมนี้ ก็เป็นเหมือนกับว่า ปริตตะนั้น เพราะมีอานุภาพน้อย จึงเรียกว่า ปริตฺต. คำว่า ปริตฺตา ธมฺมา นี้ เป็นชื่อของกามาวจรธรรม[1].
ข. มหัคตตะ ธรรมที่มีถึงความเป็นใหญ่
กลุ่มธรรมที่เป็นประเภทมหัคคตะ ได้แก่ จิตประเภทรูปาวจรกุศลจิตและอรูปาวจรกุศลจิต รวมไปถึงจิต ๒ อย่างนั้นที่เป็นวิบาก และ ที่เกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ (รวมเรียกจิตสองประเภทหลังนี้ว่า นามขันธ์ ๔ ที่เป็นอัพยากตะ อันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร) ดังข้อความในพระบาฬีอภิธรรมสังคณี นิทเทสวาระว่า
กตเม ธมฺมา มหคฺคตา? รูปาวจรา, อรูปาวจรา, กุสลาพฺยากตา ธมฺมา; เวทนากฺขนฺโธ…เป.… วิญฺญาณกฺขนฺโธ – อิเม ธมฺมา มหคฺคตาฯ (อภิ.สํ.๓๔/๑๐๒๗).
สภาวธรรมที่เป็นมหัคคตะ เป็นไฉน? สภาวธรรมที่เป็นกุศล และอัพยากฤต ซึ่งเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์. สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นมหัคคตะ.
....
คำว่า มหัคคตะ มีความหมายว่า ธรรมที่ถึงความเป็นใหญ่ ประกอบรูปศัพท์จาก มหา ใหญ่ ที่แปลงมาจาก มหนฺต = ใหญ่, ไพบูลย์ + ตฺต ภาวปัจจัย + คต = ถึง (ลบ ตฺต ภาวปัจจัยใน มหนฺตตฺต = มหัคคตะ) มีความหมายตามศัพท์ว่า
มหนฺตตฺตํ คตาติ มหคฺคตา.
ธรรมอันถึงความเป็นใหญ่ ชื่อว่า มหัคคตะ
ความยิ่งใหญ่ หรือไพบูลย์ ในที่นี้ คือ ความสามารถในการข่มกิเลสโดยวิกขัมภนปหาน, มีผลไพบูลย์และสืบต่อยาวนาน.
อีกนัยหนึ่ง
มหัคคตะ มีความหมายว่า ธรรมอันผู้ประเสริฐบรรลุแล้ว นัยหลังนี้ ประกอบรูปศัพท์จาก มหา = ผู้ประเสริฐ + คต = อธิคต บรรลุ มีความหมายตามศัพท์ว่า
มหนฺเตหิ คตาติ มหคฺคตา.
ธรรมที่ผู้ประเสริฐบรรลุแล้ว ชื่อว่า มหัคตะ
ทั้งสองนัยนี้ เป็นคำอธิบายที่มาในอรรถกถาอัฏฐสาลินีว่า
ธรรมที่ถึงความเป็นใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลส, เพราะมีผลไพบูลย์ และสืบต่อกันอย่างยาวนาน. อีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ธรรมที่ผู้ประเสริฐยิ่งใหญ่ คือ ผู้มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสาที่โอฬาร (เลิศล้น) ถึง คือ บรรลุแล้ว(อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์)[2]
...
เกี่ยวกับคำนิยามว่า ธรรมที่ถึงความเป็นใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลส, เพราะมีผลไพบูลย์ และสืบต่อกันอย่างยาวนาน นี้ ถือเป็นคุณสมบัติทั่วไปของมหัคคธรรมทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นกุศล วิบาก กิริยา จะพึงมี. ส่วนนัยแรกจำกัดเฉพาะมหัคคตกุศลเท่านั้นที่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ครบถ้วน, แต่สำหรับมหัคคตะวิบากและกิริยานั้น มีคุณสมบัติเฉพาะการมีความสืบต่ออย่างยาวนานเท่านั้น (มูลฏีกา)[3].
ความจริง ความเป็นมหัคคตะนี้ มิเพียงแต่สามารถข่มกิเลสได้เท่านั้น ที่แท้แล้ว ยังสามารถข่มปฏิปักขธรรมต่อฌานมีวิตกเป็นต้นอีกด้วย เพราะเหตุนั้น คุณสมบัติข้อที่สามารถข่มกิเลสนี้เป็นการแสดงโดยเป็นตัวอย่างแห่งการข่มปฏิปักขธรรมเท่านั้น.
อีกนัยหนึ่ง ก็เพราะกุศลเป็นธรรมชาติกำจัดอกุศลเป็นกิจ ดังนั้น การที่ท่านกล่าวว่า เพราะมีความสามารถในการข่มกิเลส ดังนี้ ก็เพื่อแสดงความที่มหัคตะนี้มีกิจที่ดีเลิศกว่าธรรมพวกปริตตะ ในเพราะกิจคือการกำจัดอกุศลนั้น (อนุฏีกา)[4].
...
สรุปคุณสมบัติข้อที่ว่า สามารถข่มกิเลส ได้เป็น ๒ ประการ ด้วยกันคือ
๑. ถึงความเป็นใหญ่เพราะข่มกิเลสนิวรณ์และเพราะข่มปฏิปักขธรรมอื่นมีวิตกเป็นต้น
๒. ถึงความเป็นใหญ่กว่าปริตตกุศล ในความมีกิจที่กำจัดกิเลสได้ดีกว่าปริตตธรรม โดยกำจัดกิเลสโดยวิกขัมภนปหาน ต่างจากปริตตกุศล ที่เป็นการกำจัดโดยตทังคปหาน.
คุณสมบัติข้อว่า มีผลไพบูลย์ คือ ถ้ามองว่า คำนี้หมายถึง มหัคคกุศล ก็จะมีความหมายว่า มีผลไพบูลย์ เพราะสามารถให้ผลเป็นภพสมบัติคือการอุบัติในพรหมโลก และ มีโภคสมบัติ คือ การได้เสวยทิพยสมบัติอันประณีตในพรหมโลกนั้น. แต่กรณีที่มองว่า คำนี้หมายถึง มหัคตวิบาก คำนี้ ก็จะมีความหมายว่า เป็นผลที่ไพบูลย์ของมหัคคตกุศล.
แต่ทว่า มีเงื่อนไขที่ควรกำหนดเพิ่มเติมคือ หากกำหนดความหมายของคุณสมบัติข้อว่า ผลไพบูลย์ (แปลตรงศัพท์จากคำบาฬีว่า วิปุลผลตา โดยยังไม่คิดถึงความหมายที่ประสงค์) ว่า เป็นผลอันไพบูลย์ โดยไม่ใช่เป็นธรรม "มีหรือให้ผลไพบูลย์" แม้วิบากนั่นเอง ก็มีคุณสมบัติตรงตามข้อนี้ได้ เพราะวิบากผลแห่งมหัคคตกุศลนั้นเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่โดยการเสวยพรหมสมบัติที่ประณีตกว่าเทวสมบัติในกามสุคติภูมิ.
แม้การกำหนดความหมายเช่นนี้ในอรรถกถา ถือว่า ท่านกล่าวไว้โดยเอกเสสนัย โดยเลือกแสดงเพียงคำเดียวโดยไม่เอาคำที่ซ้ำกันออกไป แต่คงความหมายสองอย่างคือ มีผลไพบูลย์ และ เป็นผลไพบูลย์ เพราะทั้งสองต่างก็ใช้คำบาฬีว่า วิปุลผลตา เหมือนกัน แต่ความหมายมี ๒ อย่างดังกล่าวมานี้ (อนุฏีกา)[5].
หมายเหตุ : กรณีนี้ คำว่า มหา ในคำว่า มหัคคตะ นี้ มีความหมายต่างจากคำว่า มหา ในมหากุศลจิตที่เป็นประเภทกามาวจรกุศลจิต ที่มีความหมายว่า กุศลจิตอันใหญ่ เพราะมีความบริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบต่างๆเป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วนั้น แต่ คำว่า มหัคตะ นั้น ชื่อว่า ใหญ่ เพราะใหญ่กว่าปริตตะเป็นธรรมที่ไม่สามารถข่มกิเลส, ไม่มีผลไพบูลย์ และมีความสืบต่อได้ไม่ยาวนาน.
...
ค. อัปปมาณะ ธรรมที่ไม่มีปมาณะ (กิเลสสร้างการกำหนดหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสนี้)
กลุ่มธรรมที่เป็นประเภทอัปปมาณะ ได้แก่ จิตประเภทโลกุตระ กล่าวคือ มรรคจิต ผลจิต และ นิพพาน ดังข้อความในพระบาฬีธรรมสังคณี นิทเทสวาระว่า
กตเม ธมฺมา อปฺปมาณา? อปริยาปนฺนา มคฺคา จ, มคฺคผลานิ จ, อสงฺขตา จ ธาตุ – อิเม ธมฺมา อปฺปมาณา.
สภาวธรรมที่เป็นอัปปมาณะเป็นไฉน? มรรค, ผลของมรรค และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งซึ่งไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอัปปมาณะ (อภิ.สํ.๓๔/๑๐๒๘).
...
อัปปมาณะ ประกอบรูปศัพท์จาก อ = อภาว ไม่มี + ปมาณ กิเลสเป็นตัวสร้างข้อจำกัด มีความหมายตามศัพท์ว่า
นตฺถิ ปมาณํ เอเตสนฺติ อปฺปมาณา.
อัปปมาณะ คือ ธรรมที่ไม่มีกิเลสที่สร้างการกำหนด.
อีกนัยหนึ่ง ประกอบรูปศัพท์จาก อ = วิรุทฺธ ขัดแย้ง, ปฏิปกฺข ตรงข้าม + ปมาณ กิเลสเป็นตัวสร้างการกำหนด มีความหมายตามศัพท์ว่า
น ปมาณํ อปฺปมาณา.
อัปปมาณะ คือ ธรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสนั้น
ทั้ง ๒ นัยนี้มีคำอธิบายที่มาในอรรถกถาอัฏฐสาลินีว่า
ธรรมอันสร้างการกำหนด คือ กิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า ปมาณะ. ปมาณะนั้น ย่อมไม่มีแก่ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะโดยเป็นอารมณ์หรือโดยการประกอบร่วมกัน และ ธรรมเหล่านี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อปมาณะนั้น เหตุนั้น ธรรมดังกล่าวนั้น ชื่อว่า อัปปมาณะ(อรรถกถา)[6].
ก็กิเลสที่สามารถสร้างข้อจำกัดได้ดังกล่าวนั้น ได้แก่ กิเลสชั้นหยาบ เพราะมีสภาพปรากฏเหมือนกับว่า กำลังทำข้อจำกัดให้แก่สัตว์ทั้งหลายโดยคุณสมบัติว่า "ผู้นี้มีประมาณเท่านี้" (อนุฏีกา)[7].
***
ความจริงแล้ว หากอาศัยกิเลสตัวที่เป็นตัวสร้างการกำหนด (ปมาณกรธรรม) มาจำแนกให้ธรรมสามกลุ่มนี้ต่างกัน ก็จะได้ความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า
ปริตตะ คือ ธรรมที่ถูกกิเลสสร้างข้อจำกัดอย่างหยาบ มีกามตัณหาเป็นต้นกำหนดไว้[8] ประกอบรูปศัพท์จาก ปริ = ปริจฺเฉท + ทา อวขณฺฑน ตัด + ต[9]แต่ประสงค์ความว่า กำหนด มีความหมายตามศัพท์ว่า
เตหิ ปริโต ขณฺฑิตา ปริจฺฉินฺนาติ ปริตฺตา
ธรรมอันถูกกิเลสสร้างข้อจำกัดอย่างหยาบเหล่านั้น กำหนดไว้ ชื่อว่า ปริตตะ[10].
มหัคคตะ คือ ธรรมที่ถูกกิเลสชนิดละเอียดมีรูปตัณหาเป็นต้นกำหนดไว้ แม้ไม่ถูกกิเลสหยาบมีราคะเป็นต้นกำหนดไว้ ถึงความเป็นใหญ่[11]หมายความว่า ถึงจะถูกกิเลสบางพวกกำหนดไว้ก็ตาม ก็ยัง เป็นไป ทั้งที่มีกิเลสตัวสร้างข้อจำกัดที่ใหญ่[12] ประกอบรูปศัพท์จาก มหาปมาณการภาว = กิเลสสร้างข้อจำกัดที่ใหญ่ + คต = ปวตฺตา เป็นไป มีความหมายตามศัพท์ว่า
มหาปมาณภาเวน คตา ปวตฺตาติ มหคฺคตาฯ
ธรรมอันถึง คือ เป็นไป โดยเป็นความมีกิเลสชนิดที่สร้างข้อกำหนดอย่างใหญ่ ชื่อว่า มหัคคตะ.
อัปปมาณะ คือ ธรรมที่ไม่ถูกกิเลสแม้เหล่านั้น (ตามข้อที่ ๑ และ ๒) กำหนดไว้[13] หมายความว่า เป็นธรรมที่ไม่ถูกกิเลสที่สร้างข้อจำกัดใดๆมานับหรือวัดได้ กล่าวคือ ล่วงพ้นจากกิเลสเหล่านั้นได้แล้ว เนื่องจากไม่เป็นอารมณ์แห่งกิเลสนั้นถึงจะเป็นอย่างละเอียดก็ตาม. อนึ่ง ธรรมพวกอัปปมาณะนี้ ก็ยังจัดเป็นธรรมพวกอปริยาปันนะ คือ สภาวธรรมที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ดังนี้อีกด้วย[14]ประกอบรูปศัพท์จาก น ไม่ + ปมาณ (ป + มา ธาตุ มีความหมายว่า ปริมาณ (การนับหรือวัด) + ยุ ปัจจัยในอรรถกรรม) ปมาณศัพท์ มีความหมายเท่ากับ ปริจฺฉินฺน กำหนด มีความหมายตามศัพท์โดยนัยที่เรียบเรียงจากมูลฏีกาว่า
น เตหิ ปมาณกเรหิ มินิตา ปริจฺฉินฺนาติ อปฺปมาณา
ธรรมอันไม่ถูกกิเลสสร้างข้อกำหนดเหล่านั้นมากำหนดนับ ชื่อว่า อัปปมาณะ.
...
บทสรุปความหมายของปริตตะเป็นต้นมี ๒ นัย คือ อรรถกถานัยและฏีกานัย
อรรถกถานัย
ปริตตะ คือ สภาวะที่เป็นเหมือนกับของเล็กน้อย เพราะมีอานุภาพน้อย ได้แก่ กามาวจรธรรม.
มหัคคตะ มี ๒ นัย คือ
ก. สภาวะที่ถึงความเป็นใหญ่ เพราะละกิเลสโดยวิกขัมภนปหาน, มีผลไพบูลย์ และสืบต่อยาวนาน ได้แก่ รูปาวจรธรรมและอรูปาวจรธรรม.
ข. สภาวะที่ผู้ประเสริฐบรรลุแล้ว ได้แก่ โลกุตรธรรม กล่าวคือ มรรค ผล และนิพพาน.
อัปปมาณะ คือ
ก. สภาวะที่ไม่กิเลสสร้างข้อกำหนดใดๆ
ข. เป็นสภาวะที่ขัดแย้งต่อกิเลสนั้น
ฏีกานัย
ปริตตะ คือ ธรรมที่ถูกกิเลสสร้างข้อกำหนดอย่างหยาบ มีกามตัณหาเป็นต้นกำหนดไว้
มหัคคตะ คือ ธรรมอันถึง คือ เป็นไป โดยมีกิเลสชนิดที่สร้างข้อกำหนดอย่างใหญ่กำหนดไว้.
อัปปมาณะ คือ ธรรมที่ไม่ถูกกิเลสแม้เหล่านั้น (ตามข้อที่ ๑ และ ๒) กำหนดไว้
***
หยั่งลงสู่พระอภิธรรม ครั้งที่ ๒๕
กามาวจรกุศลจิต คือ ปริตตกุศล
มีเพียงเท่านี้
....
เชิงอรรถ
[1] สมนฺตโต ขณฺฑิตตฺตา อปฺปมตฺตกํ ปริตฺตนฺติ วุจฺจติ; ‘ปริตฺตํ โคมยปิณฺฑ’นฺติอาทีสุ วิยฯ อิเมปิ อปฺปานุภาวตาย ปริตฺตา วิยาติ ปริตฺตา; กามาวจรธมฺมานเมตํ อธิวจนํฯ (อรรถกถาธัมมสังคณี)
[2] กิเลสวิกฺขมฺภนสมตฺถตาย วิปุลผลตาย ทีฆสนฺตานตาย จ มหนฺตภาวํ คตา, มหนฺเตหิ วา อุฬารจฺฉนฺทวีริยจิตฺตปญฺเญหิ คตา ปฏิปนฺนาติปิ มหคฺคตา(อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์)ฯ
[3] ‘‘กิเลส…เป.… ตายา’’ติ อตฺถตฺตยมฺปิ กุสเลสุ ยุชฺชติ, วิปากกิริเยสุ ทีฆสนฺตานตาวฯ (มูลฏีกา)
[4] ๑๒. กิเลสวิกฺขมฺภนสมตฺถตายาติ อิทํ นิทสฺสนมตฺตํ ทฏฺฐพฺพํฯ วิตกฺกาทิวิกฺขมฺภนสมตฺถตาปิ เหตฺถ ลพฺภตีติฯ อกุสลวิทฺธํสนรสตฺตา วา กุสลานํ ตตฺถ สาติสยกิจฺจยุตฺตตํ ปริตฺตธมฺเมหิ มหคฺคตานํ ปกาเสตุํ ‘‘กิเลสวิกฺขมฺภนสมตฺถตายา’’ติ วุตฺตํฯ
[5] อกุสลวิทฺธํสนรสตฺตา วา กุสลานํ ตตฺถ สาติสยกิจฺจยุตฺตตํ ปริตฺตธมฺเมหิ มหคฺคตานํ ปกาเสตุํ ‘‘กิเลสวิกฺขมฺภนสมตฺถตายา’’ติ วุตฺตํฯ วิปากกิริเยสุ ทีฆสนฺตานตาว, น กิเลสวิกฺขมฺภนสมตฺถตา วิปุลผลตา จาติ อตฺโถฯ ‘‘วิปุลํ ผลํ วิปุลผล’’นฺติ เอวํ ปน อตฺเถ คยฺหมาเน วิปาเกสุปิ วิปุลผลตา ลพฺภเตวฯ โสปิ เอกเสสนเยน อฏฺฐกถายํ วุตฺโตติ เวทิตพฺโพฯ มหนฺเตหิ คตา ปฏิปนฺนาติ อยํ ปนตฺโถ ติณฺณมฺปิ สาธารโณติฯ (อนุฏีกา)
[6] ปมาณกรา ธมฺมา ราคาทโย ปมาณํ นามฯ อารมฺมณโต วา สมฺปโยคโต วา นตฺถิ เอเตสํ ปมาณํ, ปมาณสฺส จ ปฏิปกฺขาติ อปฺปมาณาฯ (อรรถกถา)
[7] คุณโต อยํ เอตฺตโกติ สตฺตานํ ปมาณํ กโรนฺตา วิย ปวตฺตนฺตีติ โอฬาริกา กิเลสา ‘‘ปมาณกรา’’ติ วุตฺตาฯ (อนุฏีกา)
[8] ปมาณกเรหิ วา โอฬาริเกหิ กามตณฺหาทีหิ ปริจฺฉินฺนา ปริตฺตาฯ (มูลฏีกา)
[9] ปริตฺตนฺติ สมนฺตโต ขณฺฑิตตฺตา ปริตฺตํฯ อปฺปมตฺตกญฺหิ โคมยปิณฺฑํ ปริตฺตนฺติ วุจฺจติฯ ตสฺมา ปริตฺตนฺติ อปฺปกสฺส นามํ กามาวจรสฺส จ ธมฺมสฺส อปฺเปสกฺขตฺตาฯก็ในที่นี้ บทว่า ปริตฺตํ มีรูปวิเคราะห์ว่า ชื่อว่า ปริตฺต เพราะเป็นสภาพที่ถูกตัด รอบด้าน. ก็ก้อนมูลโคแม้เพียงเล็กน้อย ก็เรียกว่า ปริตฺต.74เพราะเหตุนั้น คําว่า ปริตฺต จึงเป็นชื่อของวัตถุเล็กน้อย และกามาวจรธรรม เพราะมีอานุภาพน้อย. (นีติ.ธาตุ. ทา อวขณฺฑเน) ท่านแสดงเป็นอุทาหรณ์ของ ทา ธาตุ มีอรรถว่า อวขณฺฑน ตัด ดังนั้น ปริตฺต มาจาก อา บทหน้า + ทา ธาตุ + ต ปัจจัย ลบ อา ของ ทา แปลง ทฺ เป็น ตฺ ได้รูปว่า อาตฺต แล้วรัสสะ อา เป็น อ ในเพราะพยัญชนะสังโยคคือ ตฺต สำเร็จรูปเป็ณ ปริตฺต ความหมายคือ ตัดโดยรอบด้าน ความหมายที่ใช้โดยตรง คือ เล็กน้อย, แต่เมื่อนำมาใช้กามาวจรธรรม จะใช้โดยความหมายโดยอ้อม คือ เหมือนกับสิ่งเล็กน้อย เพราะมีอานุภาพน้อย ได้แก่ กามาวจรธรรม. แต่เมื่อโดยจุดประสงค์ของศัพท์ นิยมใช้ในความหมายว่า กำหนด เพราะถูกตัดออกเป็นช่วงๆ ดังนั้น กามธรรม ที่มีอานุภาพน้อย จึงเรียกว่า ปริตตะ. อีกนัยหนึ่ง ปริ + ทา + ต ปัจจัย ลบ ทา ไปเหลือเพียงปริ + ต รูปนี้อยู่ในสันสกฤต หมายถึง ตัดขาดรอบด้าน แต่ในบาลีเอง กลับถูกใช้ในความหมายว่า เล็กน้อย.(อ้างถึงข้อความในพจนานุกรมบาลีไทยอังกฤษ ฉบับภูมิพโล ว่า [พุทธสัน, ปรีตฺต, ปริ+ต ปัจจัย ของ ทา ในรูปย่อ *ตฺต, เหมือน อาตฺต แทน อาทตฺต. อย่างไรก็ตามวิวัฒนาการด้านความหมายทำให้เกิดความยุ่งยาก, ปริทตฺต หมายความว่า ถูกยกเลิก, ส่งไป, ถ่ายทอดออก, เทียบ ทิวฺ.388,ส่วน บา. ปริตฺต หมายถึง เล็กน้อย. รูป พุทธสัน. ปรีตฺต (อุ.ทิวฺ.204,498,504; อ.ศา.1/329; 22/137) อาจเป็นการแปลกลับของ บา. ปริตฺต, ซึ่งอาจสมนัยกับ สัน. ปฺรริกฺต, ก.กิ. ของ ปฺร+ริจฺ, หมายถึง "สิ่งที่เหลือจากส่วนเกิน", คือเหลืออยู่(เพื่อเก็บไว้หรือทิ้ง)] เล็ก, เล็กน้อย, ด้อยกว่า,ไม่ว่าสำคัญ, จำกัด, นิดหน่อย, นิดเดียว วิ.1/270; ที.1/45;ม.3/148)).
[10] เตหิ ปริโต ขณฺฑิตา ปริจฺฉินฺนาติ ปริตฺตาฯ สติปิ เกหิจิ ปริจฺฉินฺนตฺเต มหาปมาณภาเวน คตา ปวตฺตาติ มหคฺคตาฯ (อนุฏีกา)
[11] เตหิ อปริจฺฉินฺนตฺตา สุขุเมหิ รูปตณฺหาทีหิ ปริจฺฉินฺนา ปมาณมหตฺตํ คตาติ มหคฺคตาฯ (มูลฏีกา)
[12] สติปิ เกหิจิ ปริจฺฉินฺนตฺเต มหาปมาณภาเวน คตา ปวตฺตาติ มหคฺคตาฯ (อนุฏีกา)
[13] อปริจฺฉินฺนา อปฺปมาณาฯ (มูลฏีกา)
[14] ปริจฺเฉทกรานํ กิเลสานํ สุขุมานมฺปิ อโคจรภาวโต เตหิ น กถญฺจิปิ ปริจฺฉินฺนา วีติกฺกนฺตาติ อปริจฺฉินฺนา อปฺปมาณา, ยโต เต ‘‘อปริยาปนฺนา’’ติปิ วุจฺจนฺติฯ (อนุฏีกา)
--------------------------------
โดย อ. สมภพ สงวนพาณิช
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ