สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
สัตว์บุคคลย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม 5 หรือ สิกขา 3
" กมฺมํ วิชฺชา จ ธมฺโม จ สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ
เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ น โคตฺเตน ธเนน วา."
แปลว่า " กรรม 1 วิชชา 1 ธรรม 1 ศีล 1 ชีวิตอันอุดม 1
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม 5 ประการนี้ หาใช่บรืสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพยไม่."
(สํ.ส.อนาถบิณฑิกสูตร, เชตวนสูตร ข้อ 275,147 มจร.ข้อ 101,47)
ความเป็นมาแห่งเทวดาภาษิต
อนาถบิณฑิกเทพบุตรเข้าเฝ้าในพระเชตวัน แล้วกราบทูลภาษิตต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นอันมาก มีภาษิตนี้เป็นต้น ซึ่งเทพบุตรนี้ในอดีตก็คือ ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ผู้ถวายพระเชตวันวิหาร
รุ่งเช้าพระศาสดาได้ตรัสเล่าให้พวกภิกษุฟัง
กรรม ได้แก่ มรรคเจตนา จริงอยู่ มรรคเจตนานั้น ย่อมนำมาซึ่งความหมดจดแก่สัตวบุคคลทั้งหลาย เพราะเป็น " อปจยคามี " คือ ถึงความไม่สะสม,เป็นไปเพื่อความไม่สะสม (ทำให้สัตว์ไม่เข้าถึงจุติและปฏิสนธิ โดยความหมาย ให้ถึงนิพพาน :-อาจยคามิติก ธัมมสังคณี) สักแต่ว่าเป็นเจตนา ไม่เป็นกรรม เหตุเพราะละตัณหาได้หมดสิ้น ประดุจทาส เป็นไท เพราะ สิ้นนายทาสแล้ว
วิชชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ
ศีล ได้แก่ สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ
ชีวิตที่อุดม ได้แก่ สัมมาอาชีวะ
ธรรม ได้แก่ อริยมรรคธรรม 4 ที่เหลือ
อีกอย่าง กรรม ถือเอาสัมมากัมมันตะ
วิชชา ถือเอา สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เพราะมีคำพูดในจูฬเวทัลลสูตร ม.มู ว่า " ดูก่อน ท่านวิสาขะ สัมมาทิฏฐิอันใดก็ดี สัมมาสังกัปปะอันใดก็ดี ธรรมเหล่านี้ สงเคราะห์เข้าเป็นพวกปัญญาขันธ์ "
ธรรม ได้แก่ สมาธิ ถือเอาด้วยศัพท์ว่าธรรมนั่นเอง เหมือนอย่างคำพูดที่มีมา ในอัจฉริยอัพภูตสูตร ม.อุ ที่ว่า จะทรงทราบพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตที่ปรินิพพานไปแล้ว ผู้ตัดขาดธรรมเนิ่นช้าได้แล้ว ฯลฯ ว่า พระผู้มีพระภาคทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้มี ธรรม อย่างนี้ " เป็นต้น พึงทราบว่าถือเอาทั้งสัมมาวายามะ และสัมมาสติด้วย เพราะมีคำพูด ในจูฬเวทัลลสูตร ม.มู ว่า ดูก่อนท่านวิสาขะ สัมมาวายามะอันใดก็ดี สัมมาสติอันใดก็ดี สัมมาสมาธิอันใดก็ดี ธรรมเหล่านี้ สงเคราะห์เข้าเป็นพวกสมาธิขันธ์ "
ศีล ถือเอาสัมมาวาจา และสัมมาอาชีวะ
ชีวิตที่อุดม ความว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพระอริยบุคคลผู้เห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า " ชีวิตที่อุดม "
โดยประการที่กล่าวแล้วอย่างนี้ พึงทราบเถิดว่า คาถานี้ กล่าวถึงพระอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นแล
(มหาฎีกาวิสุทธิมรรค)
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ