องค์ศีล (๕)
----------
ศีลข้อที่ ๓
.............
คำบาลีว่า “กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี” (กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (to abstain from sexual misconduct)
ศีลข้อนี้เรียกเป็นคำไทยว่า “กาเมสุมิจฉาจาร” มักเรียกสั้นๆ ว่า “กาเม”
องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นกาเมสุมิจฉาจารมี ๔ ประการ คือ -
(๑) อคมนียวตฺถุ (อะคะมะนียะวัตถุ) บุคคลต้องห้าม คือเป็นผู้ที่มีเจ้าของหวงห้าม และตนไม่มีสิทธิ์ที่จะร่วมอภิรมย์
(๒) ตสฺมึ เสวนจิตฺตํ (ตัส๎มิง เสวะนะจิตตัง) มีจิตเจตนาที่จะเสพสม
(๓) เสวนปฺปโยโค (เสวะนัปปะโยโค) ลงมือปฏิบัติการ
(๔) มคฺเคน มคฺคปฺปฏิปตฺติอธิวาสนํ (มัคเคนะ มัคคัปปะฏิปัตติอะธิวาสะนัง) อวัยวะถึงอวัยวะ
......................
ตรงนี้ขออนุญาต “แวะข้างทาง” เพราะมีเรื่องที่เห็นว่าควรศึกษาเรียนรู้ไว้ หากคิดไม่ออกว่าจะต้องเรียนรู้ไปทำไม ก็คิดแค่ว่า “เรียนไว้ประดับความรู้” ไม่หนักหนาอะไร
องค์ประกอบข้อ (๑) ท่านใช้คำว่า “อคมนียวตฺถุ” คำว่า “วตฺถุ” (วัตถุ) ในภาษาไทยเราเข้าใจกันว่า คือสิ่งของ แต่ในภาษาบาลี “วตฺถุ” มีความหมายกว้างกว่า อย่างในที่นี้ “วตฺถุ” หมายถึงบุคคล ไม่ได้หมายถึงสิ่งของ
“อคมนียวตฺถุ” แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุอันไม่พึงถึง” มองเป็นภาพก็คือ ไม่ควรยื่นมือเข้าไปจับต้อง คือไม่ควรเข้าไปมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย มีสัมพันธ์ทางอื่นได้ แต่สัมพันธ์ทางเพศห้ามมี จึงแปลเป็นไทยว่า “บุคคลต้องห้าม”
ท่านแจกแจง “บุคคลต้องห้าม” ที่เป็นเพศหญิงไว้ ๒๐ ประเภท ขอยกคำบาลีมาให้ดูกันด้วย ดังนี้ -
.........................................................
(๑) มาตุรกฺขิตา = สตรีมีมารดาปกครอง
(๒) ปิตุรกฺขิตา = สตรีมีบิดาปกครอง
(๓) มาตาปิตุรกฺขิตา = สตรีมีมารดาบิดาปกครอง
(๔) ภาตุรกฺขิตา = สตรีมีพี่น้องชายปกครอง
(๕) ภคินีรกฺขิตา = สตรีมีพี่น้องหญิงปกครอง
(๖) ญาติรกฺขิตา = สตรีมีญาติ (นอกจากพ่อแม่พี่น้อง) ปกครอง
(๗) โคตฺตรกฺขิตา = สตรีมีโคตร (คือคนในตระกูลเดียวกัน) ปกครอง
(๘) ธมฺมรกฺขิตา = สตรีมีธรรมคุ้มครอง (คือสตรีที่ครองเพศนักบวช)
(๙) สารกฺขา = สตรีมีคู่หมั้น
(๑๐) สปริทณฺฑา = สตรีมีกฎหมายคุ้มครอง
(๑๑) ธนกฺกีตา = ภรรยาสินไถ่
(๑๒) ฉนฺทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(๑๓) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(๑๔) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(๑๕) โอทปตฺตกินี = ภรรยาที่สมรส
(๑๖) โอภตจุมฺพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(๑๗) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(๑๘) กมฺมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(๑๙) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(๒๐) มุหุตฺติกา = ภรรยาชั่วคราว
ที่มา: สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕ เตรสกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑
พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๔๓๐-๔๓๓
.........................................................
หมายเลข (๑) - (๑๐) หมายถึงสตรีทั่วไปที่ไม่มีสามี
หมายเลข (๑๑) - (๒๐) หมายถึงสตรีที่มีสามี
สตรีที่มีสามี หรือ “ภรรยา” ท่านระบุไว้ ๑๐ ประเภท ชื่อภรรยาทั้ง ๑๐ ประเภทนี้เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด
ชื่อภรรยาทั้ง ๑๐ ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้
ขอขยายความเฉพาะสตรีหมายเลข (๑๖) คือ “โอภตจุมฺพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด” ซึ่งถ้าไม่อธิบายก็ยากที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าคือภรรยาแบบไหน
คำว่า “เทริด” อ่านว่า เซิด (ทร = ซ ไม่ใช่ เท-ริด) แปลจากคำบาลีว่า “จุมฺพฏ” (จุม-พะ-ตะ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -
“เทริด : (คำนาม) เครื่องประดับศีรษะ รูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า.”
โปรดทราบว่า “จุมฺพฏ” หรือใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “จุมพฏ” (จุม-พด) ที่ท่านแปลว่า เทริด ในที่นี้ ไม่ใช่เครื่องประดับศีรษะอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย แต่หมายถึง ผ้ารองศีรษะ ซึ่งอาจทำเป็นแผ่นผ้ากลมๆ หรือเป็นวงกลมวางบนศีรษะเมื่อใช้ศีรษะทูนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อกันไม่ให้ของนั้นกระทบศีรษะตรงๆ
“จุมพฏ” หรือ “เทริด” ในความหมายนี้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการทำงานแบกขนสิ่งของ ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปมักใช้วิธีวางของนั้นไว้บนศีรษะ ที่มีคำเรียกว่า “ทูน” แล้วเดินไป สตรีที่ทำงานบ้าน เช่น ตักน้ำ หาฟืน เป็นต้น จะต้องมี “จุมพฏ” วางไว้บนศีรษะเสมอ “จุมพฏ” จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่าสตรีผู้นั้นเป็นคนงาน คือคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือมีหน้าที่ทำงานรับใช้หรือรับจ้างทั่วไป ยังไม่มีชายใดรับเลี้ยงดูเป็นภรรยา
ชายที่เห็นสตรีมี “จุมพฏ” บนศีรษะ หากพอใจจะรับเป็นภรรยา ก็จะใช้วิธีเข้าไปหยิบ “จุมพฏ” ออกจากศีรษะ เป็นอันบอกให้รู้ว่า บัดนี้เธอไม่ต้องทำงานเช่นนี้อีกแล้ว ฉันขอรับเธอเป็นภรรยา
ภรรยาเช่นนี้แหละเรียกว่า “โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด”
......................
สตรีทั้ง ๒๐ ประเภทดังแสดงมานี้เป็นบุคคลต้องห้ามสำหรับชาย ถ้าชายไปมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย-ไม่ว่าชายนั้นจะมีภรรยาหรือยังโสด-ก็เข้าข่ายองค์ประกอบข้อแรก - “อคมนียวตฺถุ”
แต่ในกรณีที่สตรีเป็นฝ่ายไปมีสัมพันธ์กับชาย ท่านว่า จะเข้าข่ายเป็น “กาเมสุมิจฉาจาร” เฉพาะสตรีที่มีสามี นั่นคือภรรยาทั้ง ๑๐ ประเภท (๑๑ ถึง ๒๐) กับสตรีมีคู่หมั้น (๙) และสตรีมีกฎหมายคุ้มครอง (๑๐) อีก ๒ รวม ๑๒ ประเภทนี้เท่านั้น
สตรีที่มีสามีและสตรีที่มีคู่หมั้น ไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ผิดเห็นๆ เป็นมิจฉาจาร
ส่วนสตรีมีกฎหมายคุ้มครอง ท่านหมายถึงสตรีที่ทางบ้านเมืองออกประกาศว่า “หญิงนี้ห้ามใครใดมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย” (สตรีประเภทนี้ในบ้านเมืองเราน่าจะยังไม่มีใครเคยเห็น แต่ในสังคมชมพูทวีปโบราณมีอยู่) ถ้าหญิงนั้นไปมีสัมพันธ์ทางเพศ ก็เป็นมิจฉาจารในฐานะละเมิดคำสั่งของบ้านเมือง
แต่สตรี ๘ ประเภท คือสตรีในข้อ (๑) ถึง (๘) ไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับชาย ท่านว่าฝ่ายสตรีไม่เป็นมิจฉาจาร คือไม่ผิดศีลข้อกาเม เหตุผลของท่านคือ ท่านว่าสตรีทั้ง ๘ ประเภทนี้ยังคงเป็นเจ้าของ “ผัสสะ” ของตัวเอง จะเอาผัสสะของตัวไปให้ใครแตะต้องย่อมเป็นสิทธิ์ของตน
แต่เฉพาะสตรีมีธรรมคุ้มครอง (คือสตรีที่ครองเพศนักบวช) (๘) ยังต้องพิจารณาถึงข้อห้ามตามเพศนักบวชของตนอีกด้วย ถ้าศีลในเพศนักบวชของตนมีข้อห้ามไว้ ไปทำเช่นนั้นเข้าก็ผิดศีล นั่นหมายถึงว่า แม้จะไม่เป็นมิจฉาจารข้อกาเม แต่ก็ผิดศีลของเพศนักบวช เพียงแต่ต้องแยกให้ชัดว่าผิดหรือไม่ผิดตามกรอบไหน
แต่เมื่อมองด้านฝ่ายชาย จะเห็นว่ากรอบกว้างมาก กล่าวคือ สตรีทั้ง ๒๐ ประเภทนั้น ฝ่ายชายไปละเมิดเข้า ย่อมผิดทั้งหมด เช่น สตรีในข้อ (๑) ถึง (๘) ไปมีสัมพันธ์กับชาย ฝ่ายสตรีเองไม่ผิด (ตามเหตุผลที่กล่าวข้างต้น) แต่ฝ่ายชายก็ยังผิดอยู่นั่นเองเพราะสตรีในข้อ (๑) ถึง (๘) ก็คือสตรีต้องห้ามของฝ่ายชาย
เป็นอันว่า ศีลข้อนี้เมื่อทำเข้าแล้วต้องเกิด “มิจฉาจาร” แน่นอน ไม่กับฝ่ายหญิงก็ต้องกับฝ่ายชาย
.........................................................
ข้อที่น่าคำนึงก็คือ หญิงมีสามีไปมีสัมพันธ์กับชายอื่น ผิดศีล นี่ชัดเจน แต่ชายที่มีภรรยา ไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น-นอกจากหญิงต้องห้ามทั้ง ๒๐ ประเภทนั้น จะผิดศีลด้วยหรือไม่
ขอฝากเป็น “ปัญหาลองภูมิ” ให้ญาติมิตรช่วยขบคิดกันครับ
.........................................................
หมายเหตุ: ศีลข้อ ๑ และ ๒ คือปาณาติบาตและอทินนาทาน ทั้งในศีล ๕ ศีล ๘ และในกรรมบถตรงกัน แต่ศีลข้อ ๓ ในศีล ๕ กับในศีล ๘ มีข้อเยื้องแย้งกันเล็กน้อย ขอยกไปพูดตอนหน้าอีกตอนหนึ่งครับ
(ยังมีต่อ)
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ มกราคม ๒๕๖๖
๑๘:๒๒
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ