อธิบายในบาลีข้อที่ ๕ ที่แสดงถึงนิมิต ๓ มี "ปริกมฺมนิมิตฺตํ" เป็นต้น จนถึง "ตีณิ นิมิตฺตานิ จ เวทิตพฺพานิ" 

      

"บริกรรมนิมิต" 

      อารมณ์กรรมฐานต่างๆ มี ปถวีกสิณ เป็นต้น ชื่อว่า "นิมิต" ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

      "อารมฺมณิกธมฺเมหิ นิมิยเต ฌานิยเต = นิมิตฺตํ" 

       ธรรมอันใดพึงรู้เป็นนิจ โดย จิต เจตสิก ซึ่งเป็นอารัมณณิกธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า "นิมิต" ได้แก่อารมณ์

      คำว่า "บริกรรมนิมิต" นี้ ก็คือนิมิตของบริกรรมนั้นเอง เหมือนกับคำบาลีที่ว่า "ราชปุตฺโต" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า โอรสของพระราชา ข้อนี้ฉันใด คำว่าบริกรรมนิมิตก็เช่นเดียวกัน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "ปริกมฺมสฺส นิมิตฺตํ = ปริกมฺมนิมิตฺตํ" อารมณ์ของบริกรรมภาวนา ชื่อว่า "บริกรรมนิมิต" ได้แก่รูปารมณ์ หรือ โผฏฐัพพารมณ์หรือ ธัมมารมณ์ ซึ่งเป็นองค์กรรมฐานที่พระโยคีบุคคลใช้เจริญ


"อุคคหนิมิต" 

      อารมณ์กรรมฐานมี ปถวีกสิณ เป็นต้น ที่ปรากฏขึ้นแล้วทางใจโดยไม่ต้องอาศัยตาเพ่งนั้น ชื่อว่า "อุคคหนิมิต" ดังมีวจนัตถะแสดงว่า 

      "อุคฺคเหตพฺพนฺติ= อุคฺคหํ, อุคฺคหญฺจ ตํ นิมิตฺตญฺจาติ - อุคฺคหนิมิตฺตํ" 

       อารมณ์ใดพึงยึดแล้วโดยมโนทวาริกกุศล หรือ กริยาชวนะ ฉะนั้น อารมณ์นั้นชื่อว่า อุคคหะ อารมณ์ใดที่พึงยึดแล้วโดย มโนทวาริกกุศล หรือ กริยาชวนะด้วย เป็นนิมิตด้วย ฉะนั้น อารมณ์นั้นชื่อว่า อุคฺคหนิมิต 

       หรืออีกนัยหนึ่ง "อุคฺคณาตีติ - อุคฺคโห, อุคฺคหสฺส นิมิตฺตํ = อุคฺคหนิมิตฺตํ" วิถีจิตอันใด ย่อมยึดไว้ซึ่งอารมณ์กรรมฐาน ฉะนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า อุคคหะ ได้แก่ มโนทวารวิถี ที่มีกุศล หรือ กริยาชวนะ อารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตชื่อว่า อุคคหนิมิต

      ความแตกต่างกันระหว่าง บริกรรมนิมิต กับ อุคคหนิมิตอารมณ์กรรมฐานที่เป็น บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ทั้งสองนี้ ต่างกันก็แต่เพียงว่า บริกรรมนิมิตนั้น พระโยดีบุคคลเห็นได้ด้วยตา เป็นปัจจุบันรูปารมณ์ ส่วนอุคคหนิมิตนั้น เป็นภาพที่พระโยคีบุคคลเห็นได้ด้วยใจ เป็นอตีตรูปารมณ์ เมื่อว่าโดยรูปร่างสัณฐาน สีสรร วรรณะ ตลอดจนประมาณความเล็ก หรือ ใหญ่แล้ว ก็คงเหมือนกันทั้งสิ้น

      ปฏิภาคนิมิต อารมณ์กรรมฐานที่มีส่วนคล้าย ชื่อว่าปฏิภาค ฉะนั้น ปฏิภาคนิมิต นั้น จึงเป็นอารมณ์กรรมฐาน ที่มีสภาพคล้ายกันกับอุคคหนิมิต ดังมีวจนัตถะ แสดงว่า "ปฏิภาคํ นิมิตฺตํ - ปฏิภาคนิมิตฺตํ" อารมณ์กรรมฐานที่มีสภาพคล้ายกันกับอุคคหนิมิต ชื่อว่า "ปฏิภาคนิมิต"


ความแตกต่างกันระหว่าง อุคคหนิมิต กับ ปฏิภาคนิมิต

      อารมณ์กรรมฐานที่เป็นอุคคหนิมิต กับ ปฏิภาคนิมิตทั้งสองนี้ เป็นอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นทางใจด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันก็เพียงแต่ รูปารมณ์ที่เป็นอุคคหนิมิตนั้น มีสภาพคงที่เหมือนกันกับของเดิมทุกประการ ส่วนรูปารมณ์ที่เป็นปฏิภาคนิมิตนั้นไม่เหมือนกันกับของเดิม คือ องค์กสิณที่พระโยคีบุคคลจัดทำขึ้นนั้นมีรอยนิ้วจับต้องติดอยู่ก็ดีหรือ ดินนั้นมีผงธุลีแปดเปื้อนติดอยู่เล็ก ๆ น้อยๆ ก็ดี เมื่อปรากฏเป็นอุคคหนิมิตขึ้นทางใจนั้น สิ่งเหล่านี้ก็คงปรากฏเห็นได้ทุกอย่างเหมือนกับของเดิม ไม่มีการผิดแผกแปลกแต่อย่างใด สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น ถึงแม้จะปรากฏทางใจเช่นเดียวกันก็ตาม แต่รูปารมณ์นี้มีความใสสะอาด บริสุทธิ์หมดจดมากกว่าอุคคหนิมิตร้อยเท่า เหมือนกับความบริสุทธิ์ หมดจด ใสสะอาดปราศจากเมฆหมอกของดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ทั้งชี้ขาดลงไปไม่ได้อีกด้วยว่า ปฏิภาคนิมิตนั้นมีสีสรรวรรณะอย่างนั้นๆ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปฏิภาคนิมิตนั้น เป็นรูปารมณ์แทนอุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ จึงคงมีแต่ความใสสะอาดปราศจากมลทินประการเดียว และปฏิภาคนิมิตนี้ก็ไม่มีปรมัตถสภาวะรองรับอยู่แต่อย่างใดอีกด้วย ดังที่ท่านอาจารย์ธัมมปาลเถระ ได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า "ตญฺเจ โข ปฏิภาคนิมิตตํ เนว วณฺณวนฺตํ น สณฺฐานวนฺตํ อปรมตฺถสภาวตฺตา"

      ถ้าว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่มีรูปร่างสัญฐาน ไม่มีสีสรร วรรณะ แต่อย่างใด เพราะมิใช่เป็นปรมัตถสภาวะ เพียงแต่มีสภาพเป็นบัญญัติ 

      กถํ ? คำว่า "กถํ" นี้เป็นคำปุจฉาที่พระอนุรุทธาจารย์ได้ตั้งขึ้น เพื่อท่านเองจะได้ขยายความต่อไปเรียกว่า กเถตุกมฺยตาปุจฺฉา หมายความว่า เมื่อมีความประสงค์จะวิสัชนาด้วยตนเองแล้ว ก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นก่อน (กเถตุํ กาโม ปุจฺฉา = กเถตุกมฺยตาปุจฺฉา)


อธิบายในบาลีข้อที่ ๖ ที่แสดงถึงกสิณ ๑๐

      มี "ปถวีกสิณ" เป็นต้น จนถึง "อิมานิ ทส กสิณานํ นาม ปถวีกสิณํ" คำว่า "ปถวี" ในที่นี้มิได้มุ่งหมายเอา สภาวปถวี ที่มีลักษณะแข็งหรือ อ่อนแต่ประการใด หากแต่มุ่งหมายเอา สสัมภารปถวี คือ ดินที่มีสัฐานกลมถ้าเป็นชนิดเล็กก็โตประมาณเท่าจานข้าว หรือ ตะแกรงเล็กที่มีขนาดกว้าง ๑ คืบกับ ๔ องคุลี ถ้าเป็นชนิดใหญ่ก็โตประมาณเท่ากับลานข้าว นี้แหละเรียกว่า ปถวีคำว่า "กสิณ" แปลว่า ทั้งหมด หมายความว่า ผู้ที่เพ่งกสิณนั้นจะต้องเพ่งองค์กสิณให้ทั่วไปพร้อมๆ กัน ดังที่ท่านอาจารย์เลดีมหาเถระแสดงไว้ในปรมัตถทีปนีมหาฎีกาว่า "อเสสผริตพฺพฏฺเฐน กสิณํ" ชื่อว่า กสิณ เพราะอรรถว่า เป็นสิ่งที่พึงแผ่ทั่วไปโดยไม่มีเหลือ

      ดังนั้น ปถวีนั้นก็ได้แก่ ดินที่มีปริมณฑลกลม โดยจัดทำขึ้นบ้าง หรือ เป็นดินที่มีปริมณฑลกลมอยู่แล้วโดยมิได้จัดทำขึ้นแต่อย่างใด ที่เป็นชนิดเล็ก หรือ ใหญ่ซึ่งพระโยคีบุคคลควรเพ่งโดยทั่วไปพร้อมๆ กันนั้นเอง ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "ปถวีเยว กสิณนฺติ = ปถวีกสิณํ " ดินที่มีสัญฐานกลมนั้นแหละเป็นดินที่พระโยคีบุคคลต้องเพ่งโดยทั่วไปพร้อม ๆ กัน  มิใช่เพ่งเฉพะแต่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยใช้บริกรรมว่า ปถวีๆ ด้วยภาวนาจิต ฉะนั้น จึงชื่อว่า "ปถวีกสิณ"

      การที่กล่าวว่า ดินมีปริมณฑลกลมอยู่แล้วโดยมิได้จัดทำขึ้น แต่ใช้เป็นองค์กสิณได้นี้ มุ่งหมายเอาเฉพาะแต่ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย คือ มีบุญบารมีที่เกี่ยวกับการเคยได้รูปวจรฌานมาแล้วจากภพก่อนใกล้ ๆ กันกับภพนี้ โดยการเพ่งปถวีกสิณเท่านั้น เพราะผู้ที่เคยได้รูปาจวรฌานมาแล้วจากภพก่อนใกล้ ๆ กันกับภพนี้ โดยการเพ่งปวีกสิณนั้น ครั้นมาในภพนี้เมื่อได้แลเห็นดินที่มีปริมณฑลกลม หรือ ลานข้าวเข้าแล้วก็เพ่งดูโดยบริกรรมว่า ปถวีๆ เพียงเท่านี้ ภาพปถวีกสิณนั้นก็ปรากฎติดอยู่กับใจได้ ที่เรียกว่าเป็น อุคคหนิมิต เมื่อได้อุคีคหนิมิตแล้ว ก็ไม่จำเป็นอย่างใดที่จะต้องมาเพ่งดินหรือลานข้าวนั้นอีก คงเพ่งแต่อุคคหนิมิตที่ตนได้มาแล้วนั้นอยู่กับบ้าน หรือ กุฎีต่อไปจนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิตและได้รูปฌาน


บุพพกิจ คือ กิจเบื้องต้นของผู้ที่จะเข้าปฏิบัติ

      พุทธศาสนิกชนที่เป็นคฤหัสถ์ ชาย หญิง และบรรพชิตทั้งหลายที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เมื่อมีความเชื่อ ความเลื่อมใส ในคุณของพระรัตนตรัยเชื่อบุญ เชื่อบาป ผลของบุญ บาป โลกนี้ โลกหน้า นรก สวรรค์ เหล่านี้ เป็นต้นแล้วสมควรที่จะแสวงหาอมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย


การแสวงหาอมตธรรมนี้มีอยู่ ๒ ประการ คือ

      ๑. ทางตรง ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานทั้ง ๘

      ๒. ทางอ้อม ได้แก่ การเจริญสมถภาวนาก่อน ต่อเมื่อได้สำเร็จเป็นฌานลาภีแล้ว จึงจะเจริญวิปัสสนาต่อไป

      ในการเจริญทั้ง ๒ นี้ การเจริญสมถภาวนาก็ดี การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ดี กิจเบื้องต้นก่อนที่จะลงมือเจริญนั้นมีอยู่ ๗ ประการ คือ 

      ๑. ตั้งตนอยู่ในศีล 

      ๒. ตัดมหาปลิโพธ เครื่องกังวลใหญ่ ๑๐ ประการ 

      ๓. แสวงหากัลยาณมิตรที่มีความรู้ในการให้กรรมฐาน 

      ๔. ทำการศึกษาอบรมในกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริตของตน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปริยัติที่เนยยบุคคลทั้งหลายเว้นเสียมิได้ 

      ๕. เว้นจากสถานที่ที่เป็นโทษแก่การปฏิบัติ 

      ๖. อยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบายแก่การปฏิบัติ 

      ๗. ตัดขุททกปลิโพธเครื่องกังวลเล็กๆ น้อย ๆ แล้วก็ลงมือปฏิบัติ


ขยายความในบุพพกิจทั้ง ๓ ตามลำดับดังต่อไปนี้

๑. ตั้งตนอยู่ในศีล

      - ศีล ๕ หรือ อาชีวัฏฐมกศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์

      - ศีล ๘ ธรรมดา เป็นศีลของชี

      - ศีล ๑๐ เป็นศีลของสามเณร

      - ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นศีลของพระ


๒. มหาปลิโพธ ๑๐ ประการ

           (ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค ทสปลิโพธวัณณนา หน้า ๘๖)

            อาวาโส จ กุลํ ลาโภ      คโณ กมุมญฺจ ปญฺจมํ

            อทฺธานํ ญาติ อาพาโธ     คนฺโถ อิทฺธีติ เต ทสาติ ฯ 

      แปลความว่า เครื่องก่อกวนให้เกิดความกังวลมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ ที่อยู่ ที่อาศัย มีวัด กุฎี บ้านเป็นต้น 

      ทายกทายิกา ลาภสักการะ หมู่คณะ นวกรรม การงานที่จัดซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ซึ่งเป็นที่ ๕ 

      การเดินทาง ญาติโยม อาพาธ การศึกษา การสอนพระปริยิติธรรม การแสดงอิทธิฤทธิ์

      เครื่องตัดปลิโพชทั้ง ๑๐ ประการมีชื่อตามภาษาบาลี ดังนี้

            อาวาสปลิโพธ กุลปลิโพธ ลาภปลิโพธ คณปลิโพธ กมฺมปลิโพธ

            อทฺธานปลิโพธ ญาติปลิโพธ อาพาธปลิโพธ คนฺถปลิโพธ อิทฺธิปลิโพธ


๓. แสวงหากัลยาณมิตร

(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค กัมมัฏฐานทายกวัณณนา หน้า ๙๔ - นิโยชโกติ) 

            ปีโย ครุ ภาวนีโย       วตฺตา จ วจนกฺขโม

            คมภีรญฺจ กถํ กตฺตา    โน จาฏฺฐาเน นิโยชเย" ฯ

      แปลความว่า ผู้ที่จะเป็นอาจารย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรของผู้ปฏิบัติสมถะวิปัสสนา ทั้งหลายนี้ ต้องประกอบด้วยคุณ ๗ ประการ คือ

      ๑) ปีโย เป็นผู้ที่น่ารัก น่าเลื่อมใส เพราะมีศีลบริสุทธิ์ อย่างหนึ่ง

      ๒) ครุ เป็นผู้ที่น่าเคารพ เพราะประกอบด้วยคุณธรรมมีศีล สมาธิ และการถือธุดงค์ มีปังสุกูลิกังคธุดงค์ เตจีวริกังคธุดงค์ ปีณฑปาติกังคธุดงค์ เอกาสนิกังคธุดงค์เหล่านี้ เป็นต้น อย่างหนึ่ง

      ๓) ภาวนีโย เป็นที่น่าสรรเสริญ เพราะมีจิตใจเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงในบรรดาสหและลูกศิษย์ อย่างหนึ่ง

      ๔) วตฺตา เป็นผู้ที่สามารถอบรมลูกศิษย์ให้ดี อย่างหนึ่ง

      ๕) วจนกฺขโม เป็นผู้ยอมรับคำตักเตือนจากสหธรรมิก และลูกศิษย์ อย่างหนึ่ง

      ๖) คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา เป็นผู้สามารถแสดงธรรมอันลึกซึ้ง กล่าวคือ ความเป็นไปของรูป นาม ขันธ์ ๕ มีสัจจะ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เหล่านี้ เป็นต้นได้อย่าง แจ่มแจ้งชัดเจน อย่างหนึ่ง

      ๗) อฏฐาเน โน จ นิโยชเย เป็นผู้เว้นจากการชักชวนในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แม้ที่สุดเพียงครั้งเดียวก็ไม่ทำ มีแต่การคอยชักนำให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ของพระพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ อย่างหนึ่ง

      คุณ ๗ ประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  ย่อมมีคุณแก่ตนและผู้ปฏิบัติตลอดทั่วไปในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ถ้าหากว่าผู้ที่เป็นอาจารย์ขาดคุณ ๗ ประการนี้ไปเพียงประการใดประการหนึ่งแล้ว จะเรียกว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกัลยาณมิตรที่แท้นั้นยังไม่ได้โดยเหตุนี้แหละ ผู้ที่เป็นอาจารย์ สมถะ วิปัสสนา ของผู้ปฏิบัติทั้งหลายควรพยายามอบรม ตั้งตนไว้ให้สมบูรณ์ด้วยคุณทั้ง ๗ ประการนี้ เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ถูก ที่แท้ พร้อมมูล โดยอาการทั้งปวง สำหรับผู้ที่ปฏิบัติ สมถะ วิปัสสนา ทั้งหลายนั้นเล่า ก็ต้องแสวงหาอาจารย์ที่ประกอบด้วยคุณธรรม ๗ ประการนี้ด้วยเช่นกันจึงจะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัตินี้อย่างสมบูรณ์ได้

๔. ทำการศึกษาอบรมในกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริตของตน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปริยัติที่เนยยบุคคลทั้งหลายจะเว้นเสียไม่ได้คำอธิบายขยายความของข้อที่  นี้ จักขอระงับเอาไว้ไม่อธิบาย เพราะเนื้อความในข้อนี้ มีอยู่แล้วในหมวดสัปปายเภท ซึ่งเป็นหลักของอภิธัมมัตถสังคหะที่ได้แสดงมาแล้วแต่ตอนต้น

      สำหรับเนื้อความพิเศษนั้นจะได้ทราบโดยถี่ถ้วนในเมื่อถึงตอนอธิบายขยายความในหมวดสัปปายเภทต่อไป

๕. เว้นจากสถานที่ที่เป็นโทษแก่การปฏิบัติ

         ในที่นี้สถานที่ที่เป็นโทษแก่การปฏิบัติมีอยู่ ๑๘ ประการ คือ

            ๑.) มหาวาสํ ที่อยู่อาศัย กว้างขวางใหญ่โตมาก

            ๒.) นวาวาสํ ที่อยู่อาศัย ที่พึ่งสร้างขึ้นใหม่

            ๓.) ชราวาสํ ที่อยู่อาศัย ที่ชำรุดทรุดโทรมเก่าแก่

            ๔.) ปนฺถนิสฺสิตํ สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับหนทาง

            ๕.) โสณฺที สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับบ่อน้ำ สระน้ำ

            ๖.) ปณฺณํ สถานที่ที่อยู่ ใกลักับสวนผักต่างๆ

            ๗.) ปุปฺผํ สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับสวนดอกไม้

            ๘.) ผลํ สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับสวนผลไม้

            ๙.) ปฏฺฐนียตา สถานที่ที่อยู่ เป็นสโมสร

            ๑๐.) นครสนฺนิสฺสิตา สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับตัวเมือง

            ๑๑.) ทารุสนฺนิสฺสิตา สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับป่าฝืน

            ๑๒.) เขตฺตสนฺนิสฺสิตา สถานที่ที่อยู่ ใกล้กับนา

            ๑๓.) วิสภาคานํ ปุคฺคลานํ อตฺถิตา สถานที่ที่อยู่ของบุคคลที่ไม่ถูกกันกับตน

            ๑๔.) ปฏฺฏนสนฺนิสฺสิตา สถานที่ที่อยู่ใกล้กับท่าเรือสถานีรถไฟ สนามบิน

            ๑๕.) ปจฺจนฺตสนฺนิสฺสิตา สถานที่ที่อยู่ในชนบท ซึ่งชนเหล่านั้น ไม่เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

            ๑๖.) รชฺชสีมสนฺนิสฺสิตา สถานที่ที่อยู่ในระหว่างพรมแดนแวดล้อมไปด้วยราชภัย

            ๑๗.) อสปฺปายตา สถานที่ไม่สบาย ซึ่งเนื่องมาจากยักขภัย โจรภัย

            ๑๘.) กลฺยาณมิตฺตานํ อลาโภ สถานที่ไม่มีกัลยาณมิตร คือครูอาจารย์ ที่ประกอบด้วยคุณ ๗ ประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น

      สถานที่ทั้ง ๑๘ ประการนี้ ล้วนแต่เป็นโทษแก่การปฏิบัติทั้งสิ้น เหตุนั้น ผู้ปฏิบัติ ทั้งหลายพึงเว้นเสีย เหมือนกับพ่อค้าเวันจากทางที่มีภัยเสียฉะนั้น ดังนั้นท่านอรรถกถาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา*(ฉ. ปฐมภาค หน้า ๑๑๘)  ว่า

            มหาวาสํ นวาวาสํ           ชราวาสํ จ ปนฺถนี

            โสณฺทึ ปณฺณญฺจ ปุปฺผญฺจ    ผลํ ปฏฺฐิตเมว จ

            นครํ ทารุนา เขตฺตํ           วิสภาเคน ปฏฺฏนํ

            ปจฺจนฺตสีมาสปฺปาย           ยตฺถ มิตฺโต น ลพฺภติ

            ตานิฏฺฐารส ฐานานิ           อิติ วิญญาย ปณฺฑิโต

            อารกา ปริวชฺเชยฺย            มคฺคํ ปฏิภยํ(1) ยถาติ ฯ (1)ฉ. - สปฺปฏิภยํ


      ๖. อยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบายแก่การปฏิบัติ สถานที่ที่สะดวกสบายแก่การปฏิบัตินั้นมีอยู่ ๕ ประการ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า

           กถญฺจ ภิกฺขเว เสนาสนํ ปญฺจงฺคสมนฺนาคตํ โหติ อิธ ภิกฺขเว เสนาสนํ ฯ

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ซึ่งเหมาะสมแก่การปฏิบัตินั้น เป็นไฉน

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ในศาสนาของตถาคตนั้นมีดังนี้  คือ

            ๑.) นาติทูรํ โหติ นาจฺจาสนฺนํ คมนาคมนสมฺปนฺนํ ฯ มีหนทางไปมาสะดวกสบาย คือ ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากหมู่บ้าน

            ๒.) ทิวา อปฺโปกิณฺณํ รตฺตึ อปฺปสทฺทํ อปฺปนิคโฆสํ ฯ ไม่มีเสียงอีกทึก คือ กลางวันก็ไม่จอแจด้วยผู้คน กลางคืนก็เงียบสงัด

            ๓.) อปฺปธํสมกสวาตตปสรีสปสมฺผสฺสํ โหติ ฯ" (ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๑๑๙ - อปฺปฑํสมกสวาตาตปสรีสปสมฺผสฺสํ) ไม่มีแมลงวัน ยุง สัตว์เลื้อยคลานมารบกวนกัดต่อย ไม่ถูกลม แดด

            ๔.) ตสฺมึ โข ปน เสนาสเน วิหรนฺตสฺส อปกสิเรเนว อุปฺปชฺชนฺติ จีวรปีณฺฑปาตเสนาสนคิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารา ฯ สถานที่ที่บริบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม อาหาร ที่พักอาศัย ยารักษาโรค ซึ่งผู้ปฏิบัติแสวงหาได้โดยง่ายไม่ลำบาก

            ๕.) ตสฺมึ โข ปน เสนาสเน เถรา ภิกขู วิหรนฺติ พหุสฺสุตา อาคตาคมา ธมฺมธรา วินยธรา มาติกาธรา เต กาเลน กาลํ อุปสงฺกมิตฺวา ปริปุจฺฉติ ปริปญฺหติ "อิทํ ภนฺเต กถํ อิมสฺส โก อตฺโถติ" ตสฺส เต อายสมนฺโต อวิวฏํ เจว วิวรนฺติ อนุตฺตานีกตญฺจ อุตฺตานีกโรนฺติ อเนกวิหิเตสุ จ กงฺขฏฺฐานิเยสุ ธมฺเมสุ กงฺขํ ปฏิวิโนเทนฺติ ฯ ในสถานที่นั้น มีพระภิกษุผู้เป็นพระเถระที่เป็นพหูสูตร มีความรู้อย่างกว้างขวาง เป็นผู้มีความท่องจำไว้ได้ คือ พระสูตร พระอภิธรรม พระวินัย และหัวข้อในพระไตรปีฎก พำนักอาศัยอยู่ พระโยคีบุคคลเข้าไปหาท่านตามกาลเวลาอันสมควร แล้วไต่ถามสอบสวนข้อความเหล่านั้นว่า บทนี้จะต้องทำความเข้าใจอย่างไร มีความหมายว่ากระไร ดังนี้ ท่านเหล่านั้นจะเปิดเผยข้อลี้ลับ และข้อธรรมที่ยังไม่กระจ่างท่านก็ทำให้กระจ่าง และบรรเทาความสังสัยในข้อธรรมที่สุขุมลุ่มลึกที่เป็นเหตุให้เกิดความสังสัย อันจะทำให้โยคีบุคคลนั้นได้รับประโยชน์อย่างใหญ่ไพศาล

             ๖) เอวํ โข ภิกฺขเว เสนาสนํ ปญฺจงฺคสมนฺนาคตํ โหติ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ดังนี้แล ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ประกอบด้วยองค์ ๕

๗. ตัดขุททกปลิโพธ เครื่องกังวลเล็กๆ น้อยๆ แล้วลงมือปฏิบัติ การตัดความกังวลหยุมหยิมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนหน้าจะทำการปฏิบัติที่ได้ชื่อว่า ขุททกปลิโพธนั้น มีดังนี้ คือ

            ๑.) ทีฆานิ เกสนขโลมานิ ฉินทิตพุพานิ ฯ ตัดผม ตัดเล็บโกนหนวดที่ยาวเสียใหม่ให้เรียบร้อย

            ๒.) ชิณฺณจีวเรสุ ทฬฺทีกมฺมํ วา ตุนฺนกมฺมํ วา กาตพฺพํ ฯ จัดการปะชุนจีวรที่ใช้สึกหรือคร่ำไปแล้วนั้น ให้มั่นคงเรียบร้อยดีขึ้น ถ้าเนื้อผ้าฉีกขาดไปก็จัดการเย็บเสียใหม่

            ๓.) กิลิฏฺฐานิ จีวรานิ รชิตพฺพานิ  เมื่อสีของจีวรนั้นเก่าจางไปก็ต้องจัดการย้อมสีเสียใหม่ให้เรียบร้อย

            ๔.) สเจ ปตฺเต มลํ โหติ ปตฺโต ปจิตพฺโพ ฯ ถ้าในบาตรมีสนิมก็ต้องทำการระบมบาตรเสียใหม่ให้ดีขึ้น

            ๕.) มญฺจ ปีฐาทีนิ โสเธตพฺพานิ ฯ ต้องปัดกวาด เช็ดถู เตียงและดั่ง เป็นต้นให้สะอาดหมดจด

      การตัดผม ตัดเล็บ โกนหนวดเครา ปะชุนเย็บจีวร ย้อมจีวร ระบมบาตรที่เป็นสนิม ปัดกวาด เช็ดถู เตียงและดั่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องกังวลหยุมหยิมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ผู้ปฏิบัติควรต้องจัดทำให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน จึงจะสบาย เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล ถึงเรื่องเหล่านี้ในเวลาที่กำลังทำการปฏิบัติอยู่ 


การจัดทำองค์ปถวีกสิณและการเพ่งนั้น มีดังนี้

      พุทธศาสนิกชนที่เป็นคฤหัสถ์ทั้งชาย หญิง และบรรพชิตทั้งหลาย เมื่อมีความประสงค์ใคร่ที่จะเจริญสมถกรรมฐาน โดยการเพ่งปถวีกสิณนั้น จะต้องจัดการหาดินมาทำเป็นองค์กสิณขึ้นเสียก่อน โดยเลือกใช้ดินที่มีสีอรุณและมีความเหนียวพอประมาณ เพื่อจะได้ทำให้จิตใจแจ่มใสชุ่มชื่นเบิกบาน ทั้งจะได้ป้องกันไม่ให้ไปปะปนกันกับวัณณกสิณทั้ง ๔ คือ นีลกสิณ ปีตกสิณ โหิตกสิณ โอทาตกสิณ แต่อย่างใดๆ อีกด้วย เสร็จแล้วจัดการเก็บสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มีติดอยู่กับดินนั้นออกเสียให้หมด เมื่อเห็นว่าดินนั้นมีความสะอาดดี  เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยนำมาผสมกับน้ำทำการบีบยำนวดเฟ้นเคล้าคลึงไปมา จนกว่าดินนั้นจะละเอียดอ่อนสะอาดหมดจดจากฝุ่นละอองธุลีที่มีแปดเปื้อน แล้วก็คลึงแผ่ออกไปให้เป็นแผ่นวงกลมกว้างประมาณ ๑ คืบ กับ ๔ องคุลี เสร็จแล้วเอาสีเขียวหรือขาวมาทาลงรอบ ๆ ของวงกลมให้ใหญ่เท่ากับเศษหนึ่งส่วนสี่ของนิ้ว หรือมิฉะนั้น จะใช้หนังหรือไม้กระดานเป็นต้นก็ได้ มาตัดทำเป็นวงกลม แล้วเอาดินดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ทาลงไปที่แผ่นหนังหรือกระดานนั้น ตามรอบๆ ของวงกลมก็คงใช้สีเขียว หรือ สีขาวให้ใหญ่เท่ากับเศษหนึ่งส่วนสี่ของนิ้วเช่นเดียวกัน สำหรับทางด้านที่จะใช้เพ่งนั้น ต้องจัดทำให้สะอาดเรียบร้อย สม่ำเสมอ เกลี้ยงเกลา เป็นพิเศษให้เหมือนกับหน้ากลอง

      อนึ่ง ถ้าต้องการจะทำองค์กสิณให้เล็กกว่า หรือ ใหญ่กว่าจากที่กำหนดไว้แล้วนั้นก็ได้ คือ จะให้เล็กลงไปอีกประมาณ  หรือ ๓ องคุลี หรือ ใหญ่กว่าไปอีกประมาณ ๔ หรือ ๙ องคุดี ก็ได้ ทั้งนี้ถ้าหากว่าองค์กสิณนั้นเล็ก จะทำให้จิตใจของพระโยคีตั้งมั่นอยู่กับองค์กสิณได้เร็ว และอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ทั้งสองอย่างนี้ก็ปรากฎได้เร็วเช่นเดียวกัน แต่สำหรับจิตใจของพระโยคีบุคคลนั้นไม่สู้จะกว้างขวางนักคือ สมาธิไม่ค่อยมีกำลังแรง ถ้าองค์กสิณใหญ่ จะทำให้จิตใจของพระโยคีตั้งมั่นได้ช้าและอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ทั้งสองนั้น ก็ปรากฏได้ช้าเช่นเดียวกัน แต่สำหรับจิตใจของพระโยคีบุคคลนั้นกว้างขวางยิ่ง คือ สมาธิกำลังแรงมาก

      สำหรับองค์กสิณที่ใช้เพ่งอยู่นี้ พระโยดีบุคคลจะต้องทำการเคารพนับถือให้เหมือนๆ กันกับการเคารพนับถือในพระบรมธาตุ แล้วต้องหมั่นดูแลพิทักษ์รักษา เช็ดถูให้สะอาดมิให้มีฝุ่นละอองธุลีใดๆ มาแปดเปื้อนอีกด้วย เหมือนกับการรักษาพระพุทธรูปฉันนั้น

      เมื่อพะโยบุคคล ได้จัดการทำองคักสิณเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ต่อแต่นั้นก็พึงแสวงหาสถานที่ห่างจากหมู่คณะและเสียงต่างๆ จะเป็นภายในบริเวณบ้าน หรือภายในบริเวณวัด ตามเรือกสวน ป่า เขา ก็ได้ อันเป็นสถานที่ที่เงียบสงัด สะดวกสบายแก่การที่จะเข้าไปพักอาศัยอยู่ แล้วก็เริ่มต้นลงมือปฏิบัติต่อไป การลงมือปฏิบัติเพ่งปถวีกสิณนี้ต้องตั้งองค์ปถวีกสิณไว้ในที่จำเพาะหน้า โดยไม่ให้สูงไปหรือต่ำไปจากสายตาของตนนักเพราะว่าถ้าตั้งสูงไปก็จะต้องแหงนหน้าเพ่งดู ถ้าต่ำไปก็จะต้องก้มหน้าเพ่งดู ซึ่งจะทำให้ตนได้รับความลำบากในการเพ่งดูนั้น ครั้นเมื่อจะเข้าไปนั้งขัดสมาธิทำการเพ่งอยู่ก็จงนั่งลงภายในหัตถบาส คือ ๒ ศอก กับ  คืบ ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากองค์กสิณเพราะว่าถ้าหากนั่งไกลเกินไป จะทำให้การเห็นปริมณฑลขององค์กสิณไม่ได้ชัด ถ้าหากว่านั้งใกล้ไป ก็จะทำให้แลเห็นรอยนิ้วมือ หรือ รอยไม้ที่ใช้ทำการกดคลึงองค์กสิณนั้นได้อย่างแจ้งชัด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นอุปสรรคแก่สมาธิ คือ ทำให้สมาธิหย่อนไปทั้งในขณะที่กำลังเพ่งอยู่ และเมื่อเวลาที่อุคคหนิมิตปรากฏเกิดขึ้น โดยเหตุนี้แหละจึงต้องนั่งภายในระยะที่ไม่ให้ใกล้ หรือ ไกลออกไปจากองค์กสิณดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น ภายหลังจากที่ได้นั่งลงโดยเรียบร้อยแล้ว ต่อแต่นั้นก็จงเริ่มปรารภความพอใจที่จะได้มาซึ่งฌานที่จะทำตนให้พ้นออกไปจากกามคุณอารมณ์ต่างๆ อันเป็นตัวฉันทะที่ประกอบด้วยเนกขัมมสังกัปปะ  แล้วจงพิจารณาในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปจนกว่าจิตใจจะบังเกิดความรู้สึกแช่มชื่นอิ่มเอิบปราโมทย์ในพระคุณนั้นๆ จากนั้นก็จงทำการแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลาย มีเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น พอสมควรเสร็จแล้วจึงค่อยน้อมใจมาพิจารณาถึงตัวของตนว่า คนนี้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยตนให้พ้นไปจากความตายได้ ฉะนั้นก่อนที่ความตายจะมาถึงตน ตนจึงจำเป็นที่จะต้องพยายามขวนขวายหาสรณะที่พึ่งให้แก่ตัวของตนให้จงได้ พร้อมกับมีความคิดเห็นว่า การปฏิบัติโดยเพ่งกสิณนี้ เป็นวิธีปฏิบัติของบัณฑิตทั้งหลาย มีพระสัมมาสมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ตลอดจน พระอริยสาวก เป็นต้น และท่านทั้งหลายเหล่านี้ที่ท่านได้พ้นออกไปจากวัฏฏทุกข์ มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้นั้นก็เพราะอาศัยการเพ่งกสิณนี้เอง ดังนั้นการที่ตนจะพ้นออกไปจากสังสารวัฏฏ์ซึ่งมี การเกิดแก่ เจ็บ ตาย ได้ก็โดยอาศัยการเพ่งกสิณนี้เช่นเดียวกัน เมื่อคิดเห็นเช่นนี้แล้ว ก็จงยกมือขึ้นทำการอัญชลีกรรมแด่องค์กสิณนั้น แล้วทำการเพ่งดู พร้อมกับแผ่ใจตลอดทั่วไปภายในขอบเขตแห่งองค์กสิณนั้น  อย่าได้ใช้สายตาเพ่งดู หรือ ใช้ใจไปจดจ่อแต่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์กสิณเป็นอันขาด

      เมื่อทำการเพ่งแผ่ใจโดยทั่วๆ ไปอยู่นั้น ก็จงอย่าได้ไปสนใจกับสีของปถวี ที่เป็นองค์กสิณ และสภาวลักษณะของปถวี ที่มีความแข็ง อ่อน แต่อย่างใด ฯ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า มิได้ทำการเพ่งวัณณกสิณ แต่กำลังทำการเพ่งปถวีกสิณอยู่ ทั้งไม่ต้องไปทำการพิจารณาถึงปรมัตถปถวีแต่ประการใดอีกด้วย หากแต่ต้องตั้งใจเพ่งดูอยู่เฉพาะแต่ในบัญญัติปถวีอย่างเดียวเท่านั้น โดยเหตุนี้แหละพระโยคีบุคคลจึงไม่ควรไปสนใจในสีของปถวี และ ปรมัตถสภาวปถวีแต่อย่างใดๆ

      ฝ่ายภายในด้านจิตใจนั้น ก็จงทำความพอใจ อิ่มใจ ตั้งมั่นอยู่อย่างจริงใจในองค์กสิณ ให้เหมือนกันกับเสือที่กำลังกัดดึงดูดเอาแต่เฉพาะเนื้อเต่าออกมาจากกระดองเต่าฉันนั้น เมื่อกำลังเพ่งดูอยู่ก็จงลืมตาดูอยู่อย่างธรรมดา อย่าลืมตาให้โตหรือหรี่ตาให้เล็กลงไปแต่อย่างใดนัก พร้อมกันนั้นก็จงใช้ปากบริกรรมว่า ปถวีๆ หรือ ดินๆ เป็นระยะ ๆ ไป ไม่จำเป็นจะต้องบริกรรมโดยไม่หยุดหย่อน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นการเสกคาถาไป และจงพยายามลืมตาบริกรรมให้มากที่สุดที่จะมากได้ ส่วนการหลับตาบริกรรมนั้น ก็จงใช้เป็นบางครั้งบางคราว แต่อย่าให้บ่อยนัก ทำอยู่เช่นนี้เรื่อยๆ ไปจนกว่าอุคคหนิมิตจะปรากฏขึ้น

      หมายเหตุ การงานที่จะพึงปฏิบัติในการเพ่งองค์กสิณที่เหลืออีก ๙ นั้นก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ทุกประการ ที่พิเศษ ๆ นอกออกไปจากนี้ก็จะได้แสดงให้ทราบโดยเฉพาะ ๆ ไป ในเมื่อถึงเรื่องขององค์กสิณนั้นๆ


วิธีป้องกันอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากใจในระหว่างที่อุคคหนิมิตยังไม่ปรากฏ

      ในระหว่างที่กำลังเพ่งดูสสัมภารปถวี หรือ อุตุชปถวีองค์กสิณ พร้อมกับใช้ปากบริกรรมว่า ปถวีๆ อยู่นั้น พระโยคีบุคคลนั้น ย่อมมีความต้องการให้อุคคหนิมิตปรากฏเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ แต่อุคคหนิมิตนั้นก็มิปรากฏได้โดยเร็วตามความประสงค์ของพระโยคี ฉะนั้น จิตใจของพระโยดีจึงรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เมื่อจิตใจรู้สึกเหน็ดเหนื่อยขึ้นมาแล้ว ร่างกายก็พลอยอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยตามใจไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ถีนมิทธนิวรณ์ ก็ได้โอกาสเกิดขึ้นครอบงำ โดยทำให้อยากหยุดพัก หรือไปทำกิจการอื่นๆ มีการปัดกวาด ทำความสะอาด สวดมนต์ไหว้พระ เป็นต้น ที่เป็นปลิโพธเครื่องกังวลต่างๆ ดังนั้น ถ้าอาการดังกล่าวแล้วนี้ บังเกิดขึ้นแก่พระโยดีบุคคลแล้วไซร้ ก็จงเตือนตนเองว่า มิวันใดก็วันหนึ่ง ความตายก็จะบังเกิดมีแก่ตนอย่างแน่แท้ทั้งอุคคหนิมิตก็ยังมิได้เกิดขึ้นเลย ถ้าตนขืนหยุดพัก หรือ มัวไปกังวลอยู่กับการงานอื่น ๆ แล้ว สมาธิของตนก็จะเสียไป ทั้งการงานเหล่านี้ตนก็เคยกระทำมาแล้วหลายภพหลายชาติ จนกระทั่งถึงภพนี้ก็ยังต้องทำอยู่ ะนั้น ในขณะที่ตนกำลังเพ่งปถวีกสิณอยู่นี้ ไม่บังควรที่จะไปกระทำกิจต่าง เหล่านี้เลย แล้วจงมีความพยายามอดทนเพ่งดูอยู่ต่อไปให้มาก และอย่ากะพริบตาบ่อยนัก ประมาณ ๒ หรือ ๓ นาที จึงค่อยใช้ปากบริกรรมว่า ปถวี ๆ หรือ ดินฯ เสียครั้งหนึง เป็นระยะห่างกันไปตามสมควร จนกว่าอุคคหนิมิตจะปรากฏขึ้น


เมื่ออุคคหนิมิตปรากฎขึ้นแล้ว

      พระโยคีบุคคล เมื่อกำลังเพ่งปถวีองค์กสิณ ที่ยังเป็นบริกรรมนิมิตอยู่นั้น บางท่านก็ได้อุคคหนิมิตเร็ว บางท่านก็ได้ช้า คือ ต้องพยายามอดทนต่อสู้อยู่นานกับนิวรณ์ซึ่งเป็นตัวอุปสรรคคอยขัดขวางอย่างยิ่ง อุคคหนิมิตจึงปรากฏขึ้นได้ เมื่อุคคหนิมิตปรากฏขึ้นทางใจได้ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเพ่งปถวีองค์กสิณที่เป็นบริกรรมนิมิต ซึ่งเป็นอารมณ์ภายนอกอีก แต่กลับเพ่งอุคคหนิมิต อันเป็นอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นทางใจ และ ในเวลานั้น ความเป็นไปของปถองค์กสิณที่เป็นอุคคหนิมิต กับจิตใจของพระโยคีบุคคลนั้น เสมือนแม่เหล็กที่มีกำลัง ดึงดูดเอาสิ่งของที่เป็นเหล็กด้วยกันให้มาติดอยู่ได้ฉันใดจิตใจของพระโยคีบุคคลก็ดึงดูดเอาปถวีองค์กสิณ ที่เป็นอุคคหนิมิตให้ติดแนบอยู่กับใจได้ฉันนั้น ฉะนั้น การเห็นสิ่งของอื่นๆ ได้ก็เฉพาะแต่ในเวลาที่พระโยคีลืมตาดูอยู่เท่านั้น ครั้นหลับตาลงก็คงเห็นแต่เพียงภาพปถวีองค์กสิณอยู่อย่างเดียว อารมณ์ต่างๆ ที่ได้เห็นมาด้วยตาก็ไม่มีการมาปรากฏทางใจได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือในขณะที่หลับตานอนอยู่ก็ดี ก็คงเห็น แต่ภาพปถวีองค์กสิณเท่านั้นมาปรากฏอยู่เบื้องบน เมื่อลุกขึ้นนั่งก็ปรากฏให้เห็นอยู่ข้างหน้า เมื่อก้มหน้าลงก็เห็นอยู่ข้างล่าง เมื่อเงยหน้าขึ้นก็เห็นอยู่ข้างบน จะเหลียวซ้ายแลขวา ก็คงเห็นมาปรากฏอยู่ข้างๆ ตัว เมื่อเดินหลับตาจงกรมก็คงเห็นอยู่ข้างหน้าเรื่อยๆ ไป แม้ที่สุดจะลืมตาอยู่ในที่มืด จักขุทวารวิถีก็ไม่เกิด คงเห็นแต่ภาพปถวีองค์กสิณที่เป็น อุคคหนิมิตเท่านั้น อุปมาดังเช่นคนที่กลัวผี บังเอิญเดินไปพบซากศพ หรือ มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยจัดช่วยทำความสะอาดให้แก่ศพบ้างบางประการ ครั้นถึงยามเข้านอนพอหลับตาลงก็เห็นแต่ภาพศพที่ตนได้ไปพบเห็น หรือ จับต้องจัดแจงมานั้น ปรากฏขึ้นติดตาอยู่ไม่รู้หาย ข้อนี้ฉันใดอุคคหนิมิตที่ปรากฏติดอยู่ทางใจของพระโยคีบุคคลก็ฉันนั้น นอกจากจะหลับลงไปเท่านั้นจึงจะไม่แลเห็น ถ้าตื่นขึ้นเวลาใด ในขณะที่ยังไม่ลืมตา เวลานั้นภาพปถวีองค์กสิณก็จะปรากฏขึ้นทางใจให้แลเห็นได้ทันที กับทำให้ความง่วงเหงาหาวนอนและความเกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อแท้ ซึ่งเป็นตัวถีนมิทธนิวรณ์ก็ค่อยๆ ถอยห่างออกไปพร้อมด้วยนิวรณ์ที่เหลือ นอกนั้นก็ค่อยๆ ทุเลาเบาบางลงไปด้วย

      การเจริญสมถภาวนานี้ บุคคลใดจะได้สำเร็จเป็นฌานลาภี บุคคลนั้นต้องปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ ฉะนั้น จะรู้ได้ว่าพระโยคีบุคคลนี้เป็นติเหตุกะหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ปฏิภาคนิมิต ถ้าการเจริญสมถภาวนาของพระโยคีบุคคลเข้าถึงขั้นปฏิภาคนิมิตได้ก็พึงตัดสินว่า พระโยคีบุคคลนี้มีปฏิสนธิเป็นไตรเหตุ ถ้าหากว่า การเจริญภาวนาของพระโยคีบุคคลมิอาจเข้าถึงปฏิภาคนิมิต เพียงแต่ได้ถึงขั้นอุคคหนิมิตเท่านั้น เช่นนี้แล้วก็พึงตัดสินได้ว่า ไม่ใช่เป็นติเหตุกปฏิสนธิบุคคล จะให้ได้รับผลเป็นฌานลาภีบุคคลในภพนี้นั้นไม่ได้ แต่การเจริญสมถภาวนาของพระโยคีบุคคล ที่จะเข้าถึงขั้นปฏิภาคนิมิตได้นั้นก็เป็นไปต่างๆ กัน คือบางท่านก็ปฏิบัติอยู่ไม่ถึง ๑ เดือน หรือ ๑ ปี ปฏิภาคนิมิตก็ปรากฎขึ้น ต่อไปไม่ช้าก็สำเร็จเป็นฌานลากีบุคคล แต่บางท่านก็ต้องทำการปฏิบัติอยู่เป็นเวลานานประมาณ ๑๐ ปี ถึง ๒๐ ปี ปฏิภาคนิมิตจึงจะปรากฏ ต่อจากนั้นไปไม่ช้าก็สำเร็จเป็นฌานลากี ที่เป็นต่างๆ กันดังนี้ ก็เพราะอำนาจแห่งอินทรีย์ทั้ง ๕ และบารมีในภพก่อน ๆ ไม่เหมือนกันนั้นเอง ฉะนั้น เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งทำการเจริญสมถภาวนาได้เพียง ๑ เดือน หรือ ๒ - ๓ เดือนล่วงแล้ว แต่ปฏิภาคนิมิตก็หาได้ปรากฏกิดขึ้นแต่อย่างใดไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้แนะนำก็ดี ตนเองก็ดี จะถือเอาว่าผู้นั้นมิใช่เป็นติเหตุกปฏิสนธิบุคคล ก็หาเป็นที่ถูกต้องแน่นอนเสมอไปไม่ เหตุนี้จึงควรปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ ไปจนตราบเท่าถึงสิ้นชีวิตนั้นแหละถึงจะเป็นการดี เพราะใครๆ ก็มิอาจทราบได้ว่ บุคคลผู้นี้จะต้องใช้เวลาปฏิบัติอยู่นานเท่าใด จึงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเป็นไตรเหตุหรือมิใช้ไตรเหตุ สำหรับการที่จะสำเร็จเป็นฌานลาภีหรือไม่นั้น ไม่ต้องนำมาคิดนึก ถึงแม้ว่าภพนี้จักไม่สำเร็จก็ตามที ก็ยังเป็นที่ฝึกฝนอบรมสั่งสมอินทรีย์เอาไว้เพื่อจะให้ได้มาในภพข้างหน้าต่อไป


เมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฎขึ้นแล้ว

      พระโยคีบุคคลที่ทำการเพ่งปถวีองค์กสิณ จนถึงได้อุคคหนิมิตปรากฎขึ้นทางใจแล้วนั้น พระโยคีบุคคลก็ไม่ต้องไปนั้งเพ่งปถวีองค์กสิณนั้นอีก แต่ต้องย้ายที่ไปเสียที่อื่น สุดแต่จะเห็นว่าที่ใดจะสะดวกสบายและสมควร ก็จงพักอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้นแล้วตั้งต้นเพ่งอุคคหนิมิตที่ได้มาแล้วนั้นต่อไป หากว่าอุคคหนิมิตที่ตนกำลังเพ่งบริกรรมอยู่นั้น เกิดเลือนหายไปเนื่องมาจากปลิโพธ เครื่องกังวลใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจงรีบกลับไปยังที่เก่า เริ่มต้นเพ่งปถวีองค์กสิณเสียใหม่ ต่อเมื่อได้อุคคหนิมิตแล้วจึงกลับไปยังที่ไหม่ตามเดิม แล้วเริ่มเพ่งอุคคหนิมิตนั้นต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้ายังเพ่งปถวีองค์กสิณเดิมอยู่อีก จะทำให้ปฏิภาคนิมิตปรากฏขึ้นได้โดยยาก ครั้นพยายามเพ่งอุคคหนิมิตอยู่ต่อไปอย่างไม่ขาดสายแล้ว อุคคหนิมิตที่ถูกเพ่งอยู่นั้นก็จะมีสภาพสะอาดปราศจากริ้วรอย ด่างพร้อย ด้วยมลทินต่างๆ มีแต่ความละเอียดประณีตยิ่งขึ้นมามากกว่าอุคคหนิมิตที่ปรากฏเมื่อขณะแรก คือ ค่อย ๆ ใสขึ้นมาเป็นลำดับเหมือนหนึ่งกับเนื้อกระจก จิตใจในขณะนั้นก็มีแต่ความชุ่มชื่นอิ่มเอิบอยู่โดยไม่รู้เบื่อต่อการนั้นเลย

      อุคคหนิมิตที่มีคุณภาพเช่นนี้แหละ จึงกลับเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต กามาวจรสมาธิของพระโยคีบุคคล นับจำเดิมตั้งแต่เริ่มเพ่งบริกรรมนิมิตเป็นต้นมา ตลอดจนถึงการเพ่งอุคคหนิมิตนั้น ยังเป็นบริกรรมภาวนา คือ บริกรรมสมาธิอยู่ต่อเมื่อถึงตอนปฏิภาคนิมิต เกิดขึ้นนั้น กามาวจรสมาธิของพระโยดีบุคคลนั้นก็จะถูกเปลี่ยนชื่อ เรียกว่าอุปจารภาวนา หรือ อุปจารสมาธิไป ด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธินี้แหละ นิวรณ์ธรรมต่างๆ ย่อมสงบลงเป็นอย่างดี ไม่มีโอกาสจะปรากฏขึ้นมาเป็นปริยุฏฐานะได้ คือ-

      ๑. ไม่มีกามฉันทนิวรณ์ ที่ไม่มีความยินดีพอใจ ติดใจในการเสวยกามคุณอารมณ์

      ๒. ไม่มีพยาบาทนิวรณ์ ที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเสียใจ กลุ้มใจ

      ๓. ไม่มีถีนมิทธนิวรณ์ ที่ทำให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ท้อถอย

      ๔. ไม่มีอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ที่ทำให้เกิความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

      ๕. ไม่มีวิจิกิจฉานิวรณ์ ที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ลังเลใจ ในครูอาจารย์ที่ทำการแนะนำสั่งสอนถึงวิธีปฏิบัติ พร้อมกับแนวทางที่กำลังปฏิบัติอยู่ กับทำให้อวิชชานิวรณ์และกิเลสอื่น ๆ บรรเทาเบาลงไปด้วย

      เมื่อพระโยคีบุคคลได้พยายามเจริญภาวนาตลอดมา จนปฏิภาคนิมิตได้ปรากฏขึ้นนั้น ถ้าพระโยคีนั้นเป็นติกขบุคคลแล้ว ในไม่ช้าก็จะสำเร็จเป็นฌานลาภีบุคคล คือรูปาวจรปฐมฌานที่ชื่อว่า อัปปนาภาวนา หรือ อัปปนาสมาธิ ได้บังเกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้นเอง แต่ถ้าหากเป็นมันทบุคคลก็จะสำเร็จเป็นฌานลาภีได้ช้า ดังนั้นในระหว่างที่รูปาวจรปฐมฌานยังไม่เกิดนั้น พระโยคีบุคคลจำเป็นต้องมีการระวังรักษาปฏิภาคนิมิตไว้เป็นอย่างดี เสมือนหนึ่งพระราชินีที่กำลังทรงพระครรภ์ อันพราหมณ์ปุโรหิตทั้งหลายได้ทำนายว่า พระกุมารในพระครรภ์นี้เป็นพระโอรส และจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ฉะนั้น จึงทรงทะนุถนอม บำรุงรักษา พระครรภ์นั้นเป็นอย่างดี มิให้มีภัยอันตรายใดๆ มาพ้องพาน กล้ำกลายได้ฉันใด พระโยคีบุคคลก็ต้องระวังรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ให้จงดีเสมือนดังเช่นพระราชินีทรงระวังพระครรภ์ ฉันนั้น ถ้าหากไม่ระวังรักษาไว้ให้ดีแล้วปฏิภาคนิมิตนั้นก็จะเลือนหายไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาวนาจิต หรือ สมาธิของพระโยคี-บุคคลก็จะลดต่ำลงไป กล่าวคือ ภาวนาจิต หรือ สมาธิของพระโยคีบุคคล ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตกำลังปรากฏอยู่นั้น จัดเข้าอยู่ในขั้นอุปจารฌาน หรือ อุปจารสมาธิ เมื่อปฏิภาคนิมิตเลือนหายไป ภาวนาจิต หรือสมาธิของพระโยคีบุคคลนั้นก็จะลดลงไปอยู่ขั้นบริกรรมภาวนา หรือ บริกรรมสมาธิตามไปด้วย ดังนั้น พระมหาพุทธโฆสาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า

            นิมิตฺตํ รกฺขโต ลทฺธํ      ปริหานิ น วิชฺชติ

            อารกฺขมฺหิ อสนฺตมฺหิ      ลทฺธํ ลทฺธํ วินสฺสติ ฯ (๑ ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๑๒๓)

      แปลความว่า พระโยดีบุคคลที่มีการรักษาปฏิภาคนิมิตไว้เป็นอย่างดี ย่อมไม่

      มีการเสื่อมจากอุปจารฌานสมาธิที่ตนได้มาแล้ว ถ้าไม่มีการรักษาปฏิภาคนิมิตให้ดีแล้ว

      อุปจารมานสมาธิที่ตนได้มาๆ นั้นก็ย่อมเสื่อมหายไป


วิธีรักษาปฏิภาคนิมิต

            อาวาโส โคจโร ภสฺสํ     ปุคุคโล โภชนํ อุตุ

            อิริยาปโถติ สตฺเตเต     อสปฺปาเย วิวชฺชเย

            สปฺปาเย สตฺต เสเวถ    เอวญฺหิ ปฏิปชฺชโต

            นจิเรเนว กาเลน         โหติ กสฺสจิ อปฺปนา ฯ๒ (๒ ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๑๒๓)

      แปลความว่า พระโยคีบุคคล เมื่อมีความประสงค์ที่จะรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ให้

      เป็นอย่างดีนั้น พึงเว้นจากอสัปปายะ อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่การภาวนาสมาธิ มี ๗ อย่าง

      คือ อาวาส ที่อยู่อาศัยที่หลับนอน โคจระ หมู่บ้านที่จะต้องเข้าไปบิณฑบาต ภัสสะ ถ้อยคำ 

      ปุคคล บุคคล โภชนะ อาหาร อุตุ ฤดู อิริยาบถ การเดิน นั่ง นอนแล้วพึงเสพ 

      แต่สัปปายะอันเป็นสิ่งที่สมควรแก่ภาวนาสมาธิ  ย่างเช่นเดียวกัน

      เมื่อพระโยคีบุคคลได้ปฏิบัติตามดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ บางท่านก็ได้อัปปนาฌานในกาลไม่นานนัก ฯ

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,นิมิต,สัปปายะ,อสัปปายะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.