อธิบายในบาลีข้อที่ ๓ ที่แสดงถึงจริต ๖ มี "ราคจริตา" เป็นต้น จนถึง "ฉพฺพิเธน จริตสงฺคโห"


      คำว่า "จริตา" นั้นได้แก่ บุคคลที่มีกุศลธรรม หรือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นบ่อยๆ สำหรับในที่นี้เป็นการแสดงถึงประเภททั้ง  ของจริต ฉะนั้น ควรจะแสดงเป็นคำว่า "ราคจริยา โทสจริยา" เป็นต้น จึงจะถูก เพื่อจะได้ตรงกันกับวิสุทธิมรรคอรรถถาจริยา หมายความว่า เกิดเสมอๆ ดังแสดงวจนัตถะว่า 

      "จรณํ ปวตฺตนํ = จริยา" ความเกิดขึ้นเสมอๆ ชื่อว่า จริยา 

      "ราคสฺส จริยา = ราคจริยา" ความเกิดขึ้นเสมอ ๆ แห่งราคะ ชื่อว่า ราคจริยา 

      "ราคจริยา เอตสฺส อตฺถีติ = ราคจริโต" ความเกิดขึ้นเสมอๆ แห่งราคะมีอยู่แก่บุคคลนั้น ฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ราคจริตา

      การแสดงวจนัตถะของจริตอื่น ๆ ก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้

      สำหรับจริตทั้ง ๖ อย่างนี้ เป็นการแสดงรวบรวมโดยสังเขป แต่เมื่อจะแสดงโดยพิสดารแล้ว ก็มีจำนวนถึง ๖๓ จริต

      โดยพิสดารมีจำนวน ๖๓ นั้น มีดังนี้ คือ

            ก. สุทธจริต มี ๑๔ 

            ข. มิสสกจริต มี ๔๕

      ก. สุทธจริต ๑๔ คือ ราคจริต, โทสจริต, โมหจริต, ราคโทสจริต, ราคโมหจริต, โทสโมหจริต, ราคโทสโมหจริต, ศรัทธาจริต, พุทธิจริต, วิตกจริต, ศรัทธาพุทธิจริต, ศรัทธาวิตกจริต, พุทธิวิตกจริต, ศรัทธาพุทธิวิตกจริต

      ข. มิสสกจริต ๔๘ คือ ในเอกมูล ๒๑ ในทวิมูล ๒๑ ในติมูล ๗

         ใน เอกมูล มีจริต ๒๑ คือ

      - ราคมูละ ๑. ราคศรัทธาจริต ๒. ราคพุทธิจริต ๓. ราควิตกจริต ๔. ราคศรัทธาพุทธิจริต ๕. ราคศรัทธาวิตกจริต ๖. ราคพุทธิวิตกจริต ๗. ราคศรัทธาพุทธิวิตกจริต

      - โทสมูล ๑. โทสศรัทธาจริต ๒. โทสพุทธิจริต ๓. โทสวิตกจริต ๔. โทสศรัทธาพุทธิจริต ๕. โทสศรัทธาวิตกจริต ๖. โทสพุทธิวิตกจริต ๗. โทสศรัทธาพุทธิวิตกจริต

      - โมหมูล ๑. โมหศรัทธาจริต ๒. โมหพุทธิจริต ๓. โมหวิตกจริต ๔. โมหศรัทธาพุทธิจริต . โมหศรัทธาวิตกจริต ๖. โมหพุทธิวิตกจริต ๗. โมหศรัทธาพุทธิวิตกจริต


      ใน ทวิมูล มีจริต ๒๑ คือ

      ราคโทสมูล ๑. ราโทสศรัทธาจริต ๒. ราคโทสพุทธิจริต ๓. ราคโทสวิตกจริต ๔. ราคโทสศรัทธาพุทธิจริต  ๕. ราคโทสศรัทธาวิตกจริต ๖. ราคโทสพุทธิวิตกจริต ๗. ราคโทสศรัทธาพุทธิวิตกจริต

      ราคโมหมูล ๑. ราคโมหศรัทธาจริต ๒. ราคโมหพุทธิจริต ๓. ราคโมหวิตกจริต ๕. ราคโมหศรัทธาพุทธิจริต ๕. ราคโมหศรัทชาวิตกจริต ๖. ราคโมหพุทธิวิตกจริต ๗. ราคโมหศรัทธาพุทธิวิตกจริต

      โทสโมหมูล ๑. โทสโมหศรัทธาจริต ๒. โทสโมหพุทธิจริต ๓. โทสโมหวิตกจริต ๔. โทสโมหศรัทธาพุทธิจริต.โทสโมหศรัทธาวิตกจริต ๖. โทสโมหพุทธิวิตกจริต ๗. โทสโมหศรัทธาพุทธิวิตกจริต


ใน ติมูล มี จริต ๗ คือ

      ราคโทสโมหมูล ๑. ราคโทสโมหศรัทธาจริต ๒. ราคโทสโมหพุทธิจริต ๓. ราคโทสโมหวิตกจริต ๔. ราคโทสโมหศรัทธาพุทธิจริต ๕. ราคโทสโมหศรัทธาวิตกจริต ๖. ราคโทสโมหพุทธิวิตกจริต ๗. ราคโทสโมหศรัทธาพุทธิวิตกจริต 

ดังมีบาลี"(ฉ. อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา กัมมัฏฐานปริจเภทวัณณนา หน้า ๒๕๖) แสดงว่า

            ราคาทิเก ติเก สตฺต     สตฺต สทฺธาทิเก ติเก

            เอกทฺวิติกมูลมฺหิ         มิสฺสโต สตฺตสตฺตกํ ฯ

      ในจริตทั้ง ๓ มีราคจริต  เป็นตัน มีจำนวน ๗ ในจริตทั้ง ๓ มีศรัทธาจริต เป็นตัน มีจำนวน ๗ ในเอกมูล ทวิมูล ติมูล นั้น มีจำนวน ๔๙ โดยประเภทที่ปะปนกัน

      การแสดงจริตพิสดาร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าในคนหนึ่งๆ นั้น ย่อมมีจริตหลายอย่างปะปนกันได้ คือ ๒ - ๓ - ๔ บ้าง แต่การให้กรรมฐานนี้จะให้หลายอย่างไปตามจำนวนจริตที่มีอยู่นั้น ย่อมให้ไม่ได้ เพียงแต่เลือกให้กรรมฐานอย่างใด อย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับจริตอันหนึ่งที่ใด้ปรากฏชัดมากที่สุดกว่าบรรดาจริตอื่นๆ ที่มีอยู่เท่านั้น


ข้อสังเกตในจริตต่างๆ

      ยกเว้น ปรจิตตวิชานนอภิญญาลาภีเสียแล้ว ผู้ที่จะรู้ถึงอัธยาศัยจิตใจของบุคคลอื่นอย่างจริงจัง โดยแน่นอนนั้น ย่อมไม่มี จะมีก็เพียงสังเกตดูตามลักษณะที่มีอยู่ภายในร่างกาย หรือ ดวงชะตา แล้วก็ทายไปตามหลักของโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์เท่านั้น นี้ป็นไปตามโลกียปกรณ์ที่ปรากฏมีอยู่โดยทั่วไป

      สำหรับในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักที่จะพึงยึดถือเอาไว้เป็นเครื่องสังเกตรู้ได้ ในจริตต่างๆ ๖ ประการดังต่อไปนี้

            อิริยาปถโต กิจฺจา      โภชนา ทสฺสนาทิโต

            ธมฺมปฺปวตฺติโต เจว     จริยาโย วิภาวเยติ ฯ

                  (มาในวิสุทธิมรรคอรรถกถา)*(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๑๐๑)

      บัณฑิตพึงทราบจริตต่างๆ 

      - โดยอาศัย อิริยาบถ คือ การเดิน ยืน นั่ง นอน ประการหนึ่ง 

      - โดยอาศัย กิจ คือ การงานที่กระทำ ประการหนึ่ง 

      - โดยอาศัย โภชนะ คือ อาหาร ประการหนึ่ง 

      - โดยอาศัย ทัศนะ เป็นต้น คือ การดู การฟัง การดม การกิน การลูบไล้ แต่งตัว ประการหนึ่ง 

      - โดยอาศัย ความเป็นไปแห่งธรรม ต่างๆ คือ ความประพฤติดีหรือเลว ประการหนึ่ง 

         รวมเป็น ๕ ประการดังนี้


ผู้มี ราคจริต มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

      ๑. ว่าโดยอิริยาบถ ผู้มีราคจริต เมื่อจะเดินไปนั้น ย่อมจะเดินไปตามปกติธรรมดา มีกิริยาท่าทางอันชดช้อย ค่อยๆ วางเท้าและยกขึ้น เมื่อจะวางลงนั้น ก็วาลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อจะยกขึ้นนั้น ยกขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มีรอยเท้ากระโหย่ง เมื่อยืนหรือ นั่ง ก็น่าดู มีอาการอันละมุนละม่อม เวลานอนก็ไม่รีบร้อน การจัดที่นอนก็เรียบร้อยสม่ำเสมอ แล้วจึงค่อยๆ เอนตัวลงนอน มีการวางอวัยวะส่วนต่างๆ น้อยใหญ่ให้เรียบร้อย นอนอยู่ในอาการอันน่าดู เมื่อถูกปลุกให้ลูกก็ค่อยๆ ลุก ให้คำตอบเหมือนกับไม่ใคร่เต็มใจ

      ๒. ว่าโดยกิจ ผู้มีราคจริต เมื่อจะทำการงานใด ย่อมกระทำไปอย่างเรียบร้อย เช่น การปัดกวาด เป็นต้น สะอาดเตียน หมดจดดี ไม่ให้มีฝุ่นละอองปลิวฟุ้งตลบขึ้นมา มือที่ถือไม้กวาดนั้น ก็ถือไว้เป็นอย่างดี ค่อยๆ กวาดไปๆ อย่างแช่มช้าไม้รีบร้อน

      ๓. ว่าโดยโภชนะ ผู้มีราคจริต ชอบอาหารนละมุนละไม มีสอร่อยสนิทหวานมัน เมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวให้กลมกล่อมพอเหมาะพอควร ไม่เล็กเกินไป หรือโตเกินไป ชอบลิ้มรสแปลกๆ รับประทานไปโดยไม่รีบร้อน ได้อาหารดีที่ถูกปากอย่างเดียวเท่านั้น ก็มีความพอใจมาก

      ๔. ว่าโดยทัศนะ ผู้มีราคจริต เมื่อได้แลเห็นรูปสวยงามที่เป็นการปลาบปลื้มใจ เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสดี เครื่องสัมผัสละเอียดอ่อน ที่เป็นไปอย่างธรรมดาแม้เพียงนิดๆ หน่อยๆ ก็เพ่งมองดู ตั้งใจฟังอย่างสนใจ เหมือนกับเกิดพิศวงงงงวยอย่างจริงๆ จังๆ คล้ายๆ กับว่าไม่เคยพบเคยเห็นสิ่งเหล่านี้ แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ไม่มีการถือสา ไม่หยิบยกขึ้นมาว่าเป็นผิด หรือ ถูกแต่อย่างใด คงติดใจในคุณภาพแม้เพียงนิดเดียวที่มีอยู่ในสิ่งเหล่านี้ เมื่อสิ่งเหล่านี้ผ่านเลยไปแล้วก็ยังไม่ยอมลดละ ยังตามดู ตามฟัง อย่างที่เรียกว่าชะเง้อมอง เมื่อจะจากไปก็จากไปอย่างมีอาลัย บางทีถึงกับกลับหลังหันมองอย่างเสียดาย

      ๕. ว่าโดยธรรมปวัตติ ผู้มีราดจริต ย่อมมีจิตใจต่ำเป็นไปดังนี้ คือ 

            (๑) มายา เป็นผู้เข้าเล่ห์ 

            (๒) สาเฐยย เป็นผู้โอ้อวด 

            (๓) มาน เป็นผู้ถือตัว 

            (๔) ปาปีจฺฉตา เป็นผู้มีความประสงค์ที่เป็นไปในทางทุจริต 

            (๕) มหิจฺฉตา เป็นผู้ต้องการให้ผู้อื่น ยกย่องชมเชย สรรเสริญ ในคุณความดีของตนจนเกินประมาณ 

            (๖) อสนฺตุฏฺฐิตา เป็นผู้ไม่มีความพอใจในเครื่องอุปโภค บริโภค 

            (๗) สิงฺค เป็นผู้แง่งอน 

            (๘) จาปลฺย เป็นผู้ประดิษฐ์ประดอยเครื่องนุ่งห่มพิถีพิลันกับความสวยงามและตกแต่งกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ


ผู้มี ศรัทธาจริต มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

      ๑. ว่าโดยอิริยาบถ ๒. ว่าโดยกิจ ๓. ว่าโดยโภชนะ ๔. ว่าโดยทัศนะ คือการดู การฟัง เป็นต้น เหล่านี้ ย่อมเหมือนกันกับผู้ที่มีราคจริตทั้งสิ้น ต่างกันก็แต่เพียง ธรรมปวัตติ เท่านั้น

         คือผู้ที่มีศรัทธาจริตย่อมเป็นผู้ไม่มีมารยาสาไถย เป็นต้น แต่ประการใด คงมีจิตใจสูงที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีราคจริต เป็นไปดังนี้ คือ 

            (๑) มุตฺตจาคตา เป็นผู้ยอมเสียสละ กังวลห่วงใยในสิ่งทั้งปวง 

            (๒) อริยานํ ทสฺสนกามตา มีความต้องการพบเห็นพระอริยเจ้า 

            (๓) สทฺธมฺมโสตุกามตา ต้องการฟังพระสัทธรรม 

            (๔) ปโมชฺชพหุลตา มีความปรีดาปราโมทย์อย่างสูงในเมื่อได้พบเห็นพระอริยเจ้าและได้ฟังพระสัทธรรมแล้ว 

            (๕) อสฐตา เป็นผู้ไม่โอ้อวด 

            (๖) อมายาวิตา เป็นผู้ไม่มีมารยา

            (๗) ปสาโท เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครู อาจารย์ เป็นอย่างดี


ผู้มี โทสจริต มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

      ๑. ว่าโดยอิริยาบถ ผู้มีโทสจริต เมื่อเดินไปนั้นย่อมเดินไปประดุจจิกปลายเท้า การวางเท้าลงและยกขึ้นอย่างเร็ว ไม่เรียบร้อย ผลีผลาม มีร้อยเท้าจิกปลาย เวลายืนหรือ นั่งอยู่นั้นก็มีกิริยาท่าทางอันกระด้าง เวลานอนก็รีบร้อนมาก การจัดที่นอนก็จัดตามแต่จะได้ แล้วทอดกายลงนอนอย่างเกะกะ ไม่เรียบร้อย เมื่อถูกปลุกให้ลุก ก็ลุกขึ้นอย่างผลุนผลัน มีหน้าตาบูดบึ้ง ให้คำตอบอย่างเดือด ๆ คล้ายกันกับว่าคนโกรธกัน

      ๒. ว่าโดยกิจ ผู้มีโทสจริต ทำการงานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย เช่น การปัดกวาด เป็นต้น มีเสียงดังฉาด ๆ โครมคราม มือกำไม้กวาดไว้แน่นอย่างขึงขัง กวาดไปอย่างรีบร้อน สะอาดเป็นหย่อม ๆ ทำให้ฝุ่นละอองปลิวฟุ้งตลบขึ้นมาทั้งสองข้าง

      ๓. ว่าโดยโภชนะ ผู้มีโทสจริตชอบอาหารหยาบ ๆ รสเปรี้ยว เค็ม ขมฝาดจัด เมื่อบริโภคก็ทำคำโตจนคับปาก ไม่ใช่เป็นนักลิ้มรส รับประทานเร็ว ได้อาหารที่ไม่ถูกใจแม้เพียงอย่างเดียวก็พาลโกรธขึ้นมาได้

      ๔. ว่าโดยทัศนะ ผู้มีโทสจริต เมื่อได้แลเห็นรูปที่ไม่ค่อยสวยไม่ค่อยงามไม่เป็นการปลาบปลื้มใจ เสียงไม่ค่อยไพเราะ กลิ่นไม่ค่อยหอม รสไม่ค่อยดี เครื่องสัมผัสหยาบ ที่เป็นไปอย่างธรรมดา เม้เพียงนิดๆ หน่อยๆ ก็หงุดหงิดใจ ไม่อยากดูดูได้ไม่นาน ถ้ามีข้อบกพร่องประกอบอยู่บ้างเพียงนิดหน่อยในสิ่งเหล่านี้ก็ขัดใจ แม้ว่าความดีจะมีอยู่อย่างชัดแจ้งก็ตามที แต่ไม่มีความสนใจในคุณความดีนี้ แต่อย่างใดๆเมื่อสิ่งเหล่านี้ผ่านเลยไปก็ไม่รู้สึกเสียดาย เมื่อจะจากหรือหลีกไป ก็ใคร่จะพ้นออกไปอย่างเดียว ไม่มีการแลเหลียวคิดพะวงหลงอาลัยติดใจถึงเลย

      ๕. ว่าโดยธรรมปวัตติ ผู้มีโทสจริต ย่อมมีจิตใจต่ำเป็นไปดังนี้ คือ 

          (๑) โกธ เป็นผู้มักโกรธ 

          (๒) อุปนาท เป็นผู้ผูกโกรธ 

          (๓) มกฺข เป็นผู้ลบหลู่บุญคุณ 

          (๔) ปลาส เป็นผู้ตีเสมอ 

          (๕). อิสฺสา เป็นผู้มีความอิจฉาริษยาในคุณสมบัติของผู้อื่นที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน 

          (๖) มจฺฉริย เป็นผู้มีความตระหนึ่


ผู้มี พุทธิจริต มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

      ๑. ว่าโดยอิริยาบถ ๒. ว่าโดยกิจ ๓. ว่าโดยโภชนะ ๔. ว่าโดยทัศนะ คือการดู การฟัง เป็นตัน เหล่านี้ย่อมเหมือนกันกับผู้มีโทสจริตทั้งสิ้น ต่างกันก็แต่เพียงธรรมปวัตติ เท่านั้น

         คือผู้มีพุทธิจริตนั้น โกธะ อุปนาทะ มักขะ เป็นต้น เหล่านี้ไม่ค่อยจะปรากฏเกิดขึ้นแต่ประการใด คงมีจิตใจสูงที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ที่มีโทสจริต เป็นไปดังนี้ คือ

            ๑) โสวจสฺสตา เป็นผู้ว่าง่ายในการสั่งสอนที่มีประโยชน์ ถึงแม้ผู้นั้นจะมิใช่เป็นบิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหายก็ตาม ถ้าคำตักเตือนแนะนำสั่งสอนใดๆ

ประกอบไปด้วยประโยชน์แล้วก็ยอมรับฟังทั้งสิ้น 

            ๒) กลฺยาณมิตฺตตา เป็นผู้เลือกคบแต่คนดีเป็นเพื่อน  โดยไม่มีการถือชั้นวรรณะ 

            ๓) โภชเนมตฺตญฺญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับอาหารที่เขาให้และในการบริโภค 

            ๔) สติสมฺปชญฺญํ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ 

            ๕) ชาคริยานุโยโค เป็นผู้หมั่นประกอบความเพียร มีจิตใจตื่นอยู่เป็นนิจในกิจที่ดี 

            ๖) สํเวโค เป็นผู้มีความเบื่อหน่ายและเห็นโทษในการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย 

           ๗) โยนิโสปธาน เป็นผู้มีความเพียรโดยเหมาะควร คือ หมั่นประกอบใน ทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้ได้คติที่ดีในภพข้างหน้าต่อๆ ไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง 


ผู้มี โมหจริต มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

           ๑) ว่าโดยอิริยาบถ ผู้มีโมหจริต เมื่อเดินไปนั้นย่อมเดินไปโดยเปะปะ เมื่อวางเท้าลงและยกขึ้น ดุจดังคนขย่มตัว มีรอยเท้าจิกปลายและส้น เวลายืน หรือ นั่ง ก็มีอาการบ่ง เซ่อ เหม่อ ๆ ลอย ๆ เมื่อนอนก็ไม่น่าดู คือ นอนขว้างมือและเท้าเหวี่ยงกะกะไปโดยไม่รู้ตัว การจัดปูที่นอนก็ไม่เรียบร้อย ส่วนมากชอบนอนคว่ำหน้า เมื่อถูกปลุกให้ลุก ก็ลุกช้า มีการงัวเงีย หาวเรอ ทำอาการกระบิดกระบวนไปมาน่ารำคาญ

           ๒) ว่าโดยกิจ ผู้มีโมหจริต เมื่อจะทำการงานอันใดมักกระทำไปโดยหยาบๆไม่ถี่ถ้วน ดั่งค้าง เอาดีไม่ได้ เช่น การปัดกวาด เป็นต้น มือที่จับไม้กวาดก็จับไว้อย่างหลวมๆ ทำการกวาดไปตามแต่จะได้ ไม่สะอาด ทั้งไม่เรียบร้อย ทำให้มูลฝอยกระจุยกระจายเกลื่อนขึ้นมาในขณะที่กำลังกวาดอยู่

           ๓) ว่าโดยโภชนะ ผู้มีโมหจริต เป็นผู้ชอบในรสอาหารไม่แน่นอน เมื่อบริโภคก็ทำคำเล็กๆ ไม่กลมกล่อม เมีดข้าวตกเรี่ยราด เกลื่อนลาดกระจายไป ปากเลอะจิตใจฟุ้งซ่าน คิดไปบริโภคไปอย่างคนใจลอย

           ๔) ว่าโดยทัศนะ ผู้มีโมหจริต เมื่อได้เห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ว่าโดยเนื้อแท้ของตนเองแล้วก็เป็นคนเฉยๆ เพราะความซึมที่ไม่รู้นั้นเอง ต่อเมื่อมีผู้หนุนข้างขึ้นมา จึงมีการคล้อยตามเขาไป คือ คนอื่นเขาติก็พลอยติกับเขาด้วย ถ้าเขาชมก็พลอยชมกับเขาด้วย การได้ยิน การรู้กลิ่น เป็นต้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้

           ๕) ว่าโดยธรรมปวัตติ ผู้มีโมหจริต ย่อมมีจิตใจโง่เขลางมงาย เป็นไปดังนี้ ถือ 

              (๑) ถีนมิทฺธ เป็นผู้มีจิตใจง่วงเหงา หดหู่ ท้อถอย ไม่เข็มแข้ง 

              (๒) กุกฺกุจฺจ เป็นผู้มีความรำคาญ 

              (๓) วิจิกิจฺฉา เป็นผู้มีความลังเล สงสัย สนเท่ห์ 

              (๔) อาทานคาหิตา เป็นผู้มีการยึดถือมั่น โดยปราศจากเหตุผล 

              (๕) ทุปฺปฏินิสฺสคฺคิตา เป็นผู้อบรมสั่งสอนปลด เปลื้องความเห็นผิดนั้นๆ ได้ยาก 


    ผู้มี วิตกจริต มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ดังต่อไปนี้

          ๑. ว่าโดยอิริยาบถ ๒. ว่าโดยกิจ ๓. ว่าโดยโภชนะ ๔ ว่าโดยทัศนะ คือ การดู การฟัง เป็นต้น เหล่านี้ย่อมเหมือนกันกับผู้มีโมหจริตทั้งสิ้น ต่างกันก็แต่เพียง ธรรมปวัตติ เท่านั้น 

         คือผู้มีวิตกจริต ย่อมมีจิตใจเป็นไปดังนี้ คือ 

              (๑) ภสฺสพหุลตา เป็นคนพูดพร่ำ 

              (๒) คณารามตา เป็นคนชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ 

              (๓) กุสลานุโยเค อรติ เป็นผู้ไม่มีความยินดีในการบุญ  บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา 

              (๔) อนวฏฺฐิตกิจฺจตา เป็นคนชอบพลุกพล่านไปทางโน้นทางนี้ เปลี่ยนงานเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

              (๕) รตฺติธุมายนา กลางคืนชอบคิดวางโครงการแบบสร้างวิมานในอากาศที่จะทำในวันรุ่งขึ้น 

              (๖) ทิวาปชฺชลนา พอถึงกลางวันเข้าก็ลงมือทำงานตามโครงการที่ตนได้คิดไว้ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกแต่ประการใด 

              (๗) ราริธาวนา เป็นคนเข้าความคิดไปในเรื่องร้อยแปด


ข้อที่จะพึงสังเกตรู้ในจริตต่างๆ 

      ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ พระพุทธองค์มิได้ทรวางหลักเกณฑ์ไว้แต่ประการใด ทั้งท่านอรรถกถาจารย์ที่เป็นปฏิสัมภิทาปัตตะ ฉฬาภิญญะ เตวิชชะ ก็ไม่ได้วางไว้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ท่านโบราณาจารย์ได้วางหลักไว้สืบต่อเนื่องกันมา เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาที่จะให้กรรมฐานเท่านั้น

      ด้วยเหตุนี้จะถือเอาตามข้อสังเกต ดังที่ได้กถ่าวมาแล้วนี้ว่าเป็นที่ถูกต้องแน่นอนลงไปทีเดียวก็ยังไม่ได้ เพียงแต่อาศัยใช้สังเกตดูอัธยาศัยใจคอตามควรแก่ภูมิชั้นของกันและกันอย่างธรรมดาสามัญเท่านั้น เพราะบางคนนั้นหาใช่มีแต่เพียงจริตเดียวไม่มีถึง ๒-๓-๔ จริตปนกันก็มีอยู่ ดังที่ได้แสดงไว้ในจริตพิสดารนั้น ฉะนั้น จึงยากที่จะสังเกตให้รู้ชัดลงไปว่าคน ๆ นี้เป็นคนมีจริตชนิดไหน

      อนึ่งผู้ที่เป็นพหูสูตร ที่มีความรู้ดีเฉลี่ยวฉลาดมาก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีจริตไม่ดีมาก็ตามที แต่สามารถอาจข่มจริตเหล่านั้นไว้มิให้ปรากฎออกมาด้วยอำนาจสติสัมปชัญญะก็ได้ ดังนั้น ยกเว้นปรจิตตวิชานนอภิญญาลาภีเสียแล้ว ผู้อื่นนอกนี้ที่จะล่วงรู้ถึงจริตของแต่ละบุคคลโดยแน่นอนถูกต้องหามีไม่


สมุฏฐานของจริต

      ในเรื่องนี้มีข้อน่าอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่งว่า คนเราในโลกนี้ล้วนแต่เกิดมาเป็นคนด้วยกันทั้งสิ้น แต่เหตุไฉนอัธยาศัยจิตใจจึงไม่เหมือนกัน แม้ที่สุดจนกระทั่งพี่น้องท้องเดียวกัน ก็ยังมีอัธยาศัยจิตใจแตกต่างกันไปได้ คือ บางคนมีอัธยาศัยใจคอดี บางคนก็ไม่ดี คนที่มีอัธยาศัยใจคอดีก็มี ความประพฤติทางกาย วาจา ดีได้ด้วย ส่วนคนที่มีอัธยาศัยใจคอไม่ดี มีความประพฤติทางกาย วาจา ไม่ดีไปด้วย การที่เป็นไปดังนี้นั้น เพราะเหตุอันใดมากระทำให้อัธยาศัยใจคอของคนเราแตกต่างกันไปเช่นนี้ ที่เป็นเช่นนี้นั้น ก็เพราะเนื่องมาจากการกระทำกุศลของคนทั้งกลายที่ในชาติปางก่อน ซึ่งเป็นตัวเหตุนั้น ได้กระทำลงไปโดยไม่เหมือนกันนั้นเอง กล่าวคือ ในขณะที่กำลังบริจาคทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาอยู่นั้น กระแสจิตในขณะนั้น ย่อมปรารภไปในการมีชื่อเสียงบ้าง มีหน้ามีตาบ้าง อยากได้เสวยผลที่เป็นทิพยสมบัติ มนุษยสมบัติบ้าง อันเป็นตัวตัณหา มีการถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่บ้างอันเป็นตัวมานะ มี การถือว่า  เป็นตัวตนบ้าง อันเป็นตัวทิฏฐิ กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ผู้นั้นเป็นคนมีราคจริตในภพต่อไป ถ้ากระแสจิตในขณะนั้นเกิด ความโกรธ ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความเดือดร้อนใจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วย โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เช่นนี้แหละ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีโทสจริตในภพต่อไป

      ถ้ากระแสจิตในขณะนั้นมีความโง่เขลา ไม่รู้ในเหตุผลของการกระทำกุศลของตนแต่ประการใด หากแต่กระทำไปตามสมัยนิยมตามกาลเวลา หรือบางทีก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เคลือบแคลงสงสัยใน ทาน ศีล ภาวนา ที่ตนกำลังทำอยู่หรือบางทีก็มีจิตใจฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น มิได้ตั้งใจในการกุศลที่ตนกระทำไปในขณะนั้นเกี่ยวเนื่องด้วยโมหะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ เช่นนี้แหละ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีโมหจริตในภพต่อไป

      ถ้ากระแสจิตในขณะนั้นมัวแต่คิดไปในความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ในเรื่องกามคุณอารมณ์ที่เป็นกามวิตก หรือ คิดไปในการปองร้ายผู้อื่นที่เป็นพยาบาทวิตก หรือคิดไปในทางเบียดเบียนทำลายความสุขคนอื่น สัตว์อื่น ให้ได้รับความเดือดร้อนที่เป็นวิหิงสาวิตก กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เช่นนี้แหละจึงเป็นเหตุทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีวิตกจริตในภพต่อไป

      ถ้ากระแสจิตในขณะนั้น ประกอบด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส ในกรรมและผลของกรรม คุณของพระรัตนตรัย ตายแล้วเกิดใหมเรื่อย ๆ ไป ในเมื่อยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระรหันต์ ที่เป็นตัวศรัทธา กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยศรัทธาเช่นนี้แหละ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีศรัทธาจริตในภพต่อไป

      ถ้ากระแสจิตในขณะนั้น ประกอบไปด้วยปัญญา คือ รู้ดีในเหตุผลของกุศลกรรมที่ตนกำลังกระทำอยู่ พร้อมกับความฉลาดในการกระทำกุศลนั้นๆ แล้วปรารภว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ทรัพย์สิน เงินทอง ภรรยา สามี บิดา มารดามิใช่เป็นของของตนโดยแท้ ที่เป็นกัมมัสสกตาญาณ ตัวของตนก็ดี คนอื่นก็ดี ล้วนแต่เป็นรูป นาม ขันธ์ ๕ ทั้งสิ้นอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปอยู่ ที่เรียกกันว่านี้เป็นสัตว์เดรัจฉาน นี้เป็น มนุษย์ นี้เป็นชาย เป็นหญิง คนนั้น คนนี้ เหล่านี้ก็เพียงแต่สมมุติเรียกขึ้นตามโวหารของโลกเท่านั้น โดยความจริงแล้วหามีไม่ และรูปนามขันธ์ ๕ ที่อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปอยู่นั้น ก็มีความเกิดดับที่เป็นตัววิปัสสนาญาณ หรือ มีการพิจารณาเห็นว่า สัปบุรุษ ทั้งหลายย่อมตั้ง กาย วาจา ใจ ไว้ใน ทาน ศีล ภาวนาและตนก็ได้เอาเยี่ยงอย่าง เจริญรอยตามความประพฤติอันดีงามของท่านสัปบุรุษเหล่านี้อยู่ นับว่าเป็นโชคดีเป็นที่พึ่งของตนได้ ทั้งในภพนี้และกพหน้าอย่างแน่แท้ ที่เป็นตัวปัจจเวกขณญาณ หรือ ตั้งใจปรารถนาว่า ด้วยอำนาจแห่งกุศลผลบุญนี้ ขอให้ตนได้เป็นคนมีปัญญา กุศลที่เกี่ยวเนื่องด้วยปัญญาต่างๆ ดังกล่าวแล้วเช่นนี้แหละจึงเป็นเหตุทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีพุทธิจริตในภพต่อไป

      เมื่อสรุปแล้วก็คงได้ความว่า คนทั้งหลายที่มีจริตต่างๆ กันโดยดีบ้าง ไม่ดีบ้างนั้น ก็เพราะเนื่องมาจากกุศลกรรมในภพก่อน ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกระแสจิตต่างๆเกิดขึ้นแวดล้อมเป็นบริวาร ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้นเอง เป็นเหตุที่ทำให้คนทั้งหลายมีจริตประจำตัวแตกต่างกัน

      ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนผู้มีความประสงค์จะให้ตนเป็นคนมีนิสัยใจคอที่เป็นจริตฝ่ายดีในภพข้างหน้าต่อ ๆ ไปแล้ว จำเป็นยิ่งที่จะต้องหมั่นรักษาจิตใจตนไว้ให้ดีในขณะที่ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่าให้มีจิตใจต่ำเกิดขึ้นแทรกแซงได้ในขณะนั้น

      อนึ่ง เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา และยังมีชีวิตเป็นไปอยู่ในบัดนี้นั้น ถ้าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอย่างดีแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุง หรือเพิ่มเติมภาวะความเป็นอยู่ของตน ซึ่งเป็นผลกำไรที่จะได้รับในภพต่อไป โดยการสร้างกุศลต่างๆ กล่าวคือ ถ้าเห็นว่าตนเป็นคนโง่ก็จงเร่งศึกษาวิชาธรรมะ หรือช่วยอุปการะสนับสนุนแก่ผู้ที่กำลังศึกษาวิชาธรรมะ โดยสร้างตำราและสถานที่ศึกษา ถ้าเป็นคนขัดสนก็จงเร่งสร้างทานกุศล ถ้าเป็นคนขี้ริ้วก็จงพยายามทำความสะอาดปูชนียสถาน ตลอดจนกระทั่งการถวายทานก็จัดอย่างสะอาดเรียบร้อยทุกสัดส่วน และจงระวังอย่าให้ความโกรธ ความเสียใจ เกิดขึ้นในขณะนั้น ถ้าเป็นคนขี้โรคก็จงงดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความลำบาก แล้วจงช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่ผู้ที่มีโรคโดยการให้ยา ให้เงิน ตลอดจนเครื่องกิน เครื่องใช้ ตามสมควรแก่กำลังของตนในเมื่อพอที่จะช่วยเหลือได้ ถ้าเป็นนสกุลต่ำก็จงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อท่านที่มีคุณวุฒิวัยวุฒิ อย่าได้เย่อหยิ่งถือตัวแก่คนทั่วไป การประพฤติตนเป็นไปตามดังที่กล่าวแล้วนี้เป็นการแก้ไข ปรับปรุง ความเป็นอยู่ของตนให้ดีในภพต่อไป

      ส่วนการเพิ่มเติมความเป็นอยู่ของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ต้องเป็นคนไม่ลืมตัวโดยมาคำนึงถึงตนเองอยู่เสมอว่า การที่ตนมีปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี เป็นคนมั่งมีศรีสุขก็ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนแต่ประการใดๆ ก็ดี มีผิวพรรณเปล่งปลั่งสวยงามก็ดี และเป็นคนมีตระกูลสูงก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่ได้มาจากการกระทำกุศลที่ปราศจากกิเลสรบกวนในภพก่อนทั้งสิ้น แล้วพยายามสร้างกุศลต่าง ๆที่จะทำให้เกิดปัญญา ทรัพย์สินเงินทอง มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรค รูปร่างสวยงาม สกุลสูง ต่อไปในภพหน้าให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก นี้แหละเป็นการเพิ่มเติมความเป็นอยู่ของตน การสร้างกุศลเพื่อแก้ไขปรับปรุง และเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วนี้ ล้วนแต่กระทำให้สำเร็จได้ตามความประสงค์ทั้งนั้น ฉะนั้น จึงกล่าวว่าผู้ที่มีสติสัมปชัญญะทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้ได้รับผลกำไรจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ถ้าหากว่าผู้ใดขาดสติสัมปชัญญะในการที่จะแก้ไขปรับปรุง หรือ เพิ่มเติมความเป็นอยู่ของตนให้ดีแล้ว ก็ชื่อว่าผู้นั้นไม่ได้รับผลกำไรจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาเสียเลย


อธิบายในบาลีข้อที่ ๔ ที่แสดงถึงภาวนา ๓ มี "ปริกมฺมภาวนา" เป็นต้น จนถึง "ติสฺโส ภาวนา" 


บริกรรมภาวนา 

      มหากุศล มหากริยาที่เกิดขึ้นก่อนๆ นับตั้งแต่ได้เริ่มต้นเจริญสมถกรรมฐานใหม่ ๆ ตลอดมา จนถึงจดขอบเขตแห่งอุคคหนิมิตนั้น ชื่อว่า บริกรรม 

      "อปฺปนํ ปริกโรติ ปริสงฺขโรตีติ = ปริกมฺมํ" (วา) "ปริอาทิภูตํ กมฺมํ = ปริกมฺมํ"

      วิถีจิตอันใดย่อมจัดแจงปรุงแต่งอัปปนา ฉะนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า บริกรรม 

      หรืออีกนัยหนึ่ง วิถีจิตที่เป็นเหตุแห่งการเจริญกรรมฐานเบื้องต้นชื่อว่า บริกรรม 

     คำว่า "ปริ" ที่ใน ปริกมฺมํ นี้เป็นอุปสารบท ในวจนัตถะข้อที่ ๑ คำว่า "ปริ" เป็น ธาตุวตฺถานุวตฺตกอุปสารปทํ หมายความว่า ไม่มีแสดงเนื้อความโดยเฉพาะ แต่คงเป็นไปตามเนื้อความของธาตุ ในวจนัตถะข้อที่ ๒ คำว่า "ปริ" เป็น ธาตุวตฺถวิเสสกอุปสารปท หมายความว่า ย่อมกระทำเนื้อความของธาตุให้มีความหมายเป็นพิเศษ คือแสดงให้รู้ว่า การเจริญกรรมฐานนี้เป็นการเจริญเบื้องต้น


บริกรรมภาวนา

      วิถีจิตที่จัดแจงปรุงแต่งอัปปนา หรือ วิถีจิตที่เป็นเหตุแห่งการเจริญกรรมฐานเบื้องต้นนี้ พระโยคีบุคคลควรกระทำให้เกิดขึ้นติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ และทวีมากยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ ฉะนั้นวิถีจิตนั้น ชื่อว่า "บริกรรมภาวนา"

      วิถีจิตที่เกิดขึ้นติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่กำลังบริกรรมว่า ปถวีๆ อยู่ เป็นต้นนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า "บริกรรมภาวนา" ดังมีวจนัตถะแสดงว่า 

      "ปริกมฺมญฺจ ตํ ภาวนา จาติ - ปริกมฺมภาวนา" วิถีจิตใดชื่อว่า บริกรรมด้วย ชื่อว่า ภาวนาด้วย ฉะนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า บริกรรมภาวนา


อุปจารภาวนา 

      มหากุศล มหากริยา ที่เกิดขึ้นใกล้กันกับอัปปนาฌาน ชื่อว่าอุปจาร ดังมีวจนัตถะแสดงว่า 

      "อปฺปนาย สมีเป จรติ ปวตฺตตีติ - อุปจารํ" วิถีจิตอันใดเกิดขึ้นใกล้เคียงกันกับขอบเขตของอัปปนาฌาน ฉะนั้น วิถีจิตนั้น ชื่อว่าอุปจาร 

      วิถีจิตที่ชื่อว่า อุปจารนี้แหละ พระโยคีบุคคลควรกระทำให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ทวีมากยิ่งขึ้นไป ฉะนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า อุปจารภาวนา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

      "อุปจารญฺจ ตํ ภาวนา จาติ - อุปจารภาวนา" วิถีจิตใดชื่อว่า อุปจารด้วยชื่อว่า ภาวนาด้วย ฉะนั้น วิถีจิตนั้น ชื่อว่า "อุปจารภาวนา"


อัปปนาภาวนา 

      ว่า "อัปปนา" นี้เป็นชื่อของวิตกโดยตรง ส่วนมหัคคตจิต โลกุตตรจิต เจตสิก ที่เรียกว่า อัปปนา นั้นเป็นการเรียกโดยอ้อมตามนัยอวยวูปจารนัยหมายความว่า ยกชื่อของวิตกขึ้นมาตั้งไว้ในธรรมที่ประกอบกันกับวิตก ดังมีวจนัตถะแสดงว่า 

      "อปฺเปติ สมุปฺยุตฺตธมฺเม อารมฺมณํ อภินิโรเปตีติ - อปฺปนา" ธรรมชาติใดย่อมยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์เฉพาะหน้า ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "อัปปนา" ได้แก่ วิตกองค์ฌาน ที่ประกอบกับมหัคคต-โลกุตตรธรรม "อปฺปนา จ สา ภาวนา เจติ - อปฺปนาภาวนา" ธรรมชาติใดเป็นอัปปนาด้วย เป็นการกระทำที่ถึงแล้วซึ่งความเจริญนั้นด้วย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "อัปปนาภาวนา"

      ในภาวนาทั้ง ๓ นี้ มหากุศล มหากริยาชวนะ ที่เกิดก่อนมหัคคตฌาน และโลกุตตรฌานนั้นแหละ ชื่อว่า บริกรรมภาวนา แต่บริกรรมภาวนานี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนแรกของมหากุศล มหากริยา ที่เกิดอยู่ห่างไกลจากมหัคคตฌานและโลกุตตรฌานนั้น มหากุศลมหากริยานี้ ชื่อว่า บริกรรมภาวนา เมื่อเกิดอยู่เรื่อยๆ และทวียิ่งๆ ขึ้นมาตามลำดับเกือบใกล้ที่มหัคคตและโลกุตตรฌาน จะเกิด มหากุศล มหากริยานี้ชื่อว่า อุปจารภาวนา เมื่อสรุปแล้วก็คงได้ความว่า บริกรรมภาวนานี้เอง เมื่อเกิดอยู่ใกล้ที่มหัคคตฌานและโลกุตตรฌานจะเกิดนั้นบริกรรมภาวนานี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "อุปจารภาวนา" เหมือนกันกับภวังคจลนะดวงที่ ๒ ที่เกิดขึ้นก่อนวิถีจิต ชื่อว่า "ภวังคุปัจเฉทะ"

-----------////-------------


[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,จริต,ภาวนา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.