องค์ศีล (๙)

----------

ศีลข้อที่ ๕ 

.............

คำบาลีว่า “สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี” (สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (to abstain from intoxicants causing heedlessness)

ศีลข้อนี้เรียกเป็นคำไทยว่า “สุราเมรยะ” (สุ-รา-เม-ระ-ยะ) มักเรียกสั้นๆ ว่า “สุรา” บางทีก็เรียกตัดคำเป็น “สุราเม”

คนที่ไม่ได้เรียนบาลีมักเอาน้ำหนักของคำหรือจังหวะของเสียงเป็นตัวแบ่งคำ ที่มักได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า “นัจจะคี” และ “นัจจะคีตะวา” เมื่อเรียกศีลข้อ ๗ ในศีล ๘

ขอยกศีลข้อ ๗ ในศีล ๘ ซึ่งตั้งใจว่าจะอธิบายข้างหน้ามาแยกศัพท์ให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน 

ศีลข้อ ๗ มีคำเต็มๆ เขียนแบบบาลีว่าดังนี้ 

.........................................................

นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนมาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี

.........................................................

ศีลข้อนี้ คนที่ไม่ได้เรียนบาลี อย่าว่าถึงขั้นแยกคำเลย แค่อ่านก็ตะกุกตะกักอย่างยิ่งแล้ว เพราะฉะนั้น เขียนแบบคำอ่านไว้ให้ด้วยดังนี้ 

.........................................................

นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะมาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี

.........................................................

แยกคำ (สะกดตามหลักภาษาไทย)

.........................................................

(๑) นัจจะ = การฟ้อนรำ

(๒) คีตะ = ขับร้อง

(๓) วาทิตะ = บรรเลงดนตรี

(๔) วิสูกทัสสนะ = ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์

(๕) มาลา = ดอกไม้

(๖) วิเลปนะ = เครื่องทาเครื่องย้อม

(๗) ธารณะ = การทัดทรง

(๘) มัณฑนะ = การประดับ

(๙) วิภูสนะ = การตกแต่งร่างกาย

.........................................................

จะเห็นว่า “นัจจะ” “คีตะ” “วาทิตะ” เป็นคนละคำกัน

แต่เรามักเรียกตามความคล่องปากว่า “นัจจะคี” และ “นัจจะคีตะวา”

เอา “จะ” ของคำหนึ่ง กับ “คี” ของอีกคำหนึ่งมาพูดรวมกัน เป็น “-จะคี”

เอา “ตะ” ของคำหนึ่ง กับ “วา” ของอีกคำหนึ่งมาพูดรวมกัน “-ตะวา”

“สุราเม” ก็ทำนองเดียวกัน

เอา “รา” ของคำหนึ่ง กับ “เม” ของอีกคำหนึ่งมาพูดรวมกัน “สุราเม”

..................

ศีลข้อ ๕ แยกคำเป็นดังนี้ -

สุรา + เมรย + มชฺช + ปมาท + (ฏฺ) + ฐาน = สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน (สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานะ) 

“สุรา” แปลว่า เหล้า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุรา” ว่า drink (เครื่องดื่ม), spirituous (intoxicating) liquor (สุรา) 

“เมรย” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “เมรัย” (เม-ไร) หมายถึง น้ำเมาที่เกิดจากการหมักดอง ยังไม่ได้ต้มกลั่น 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เมรย” ว่า a sort of intoxicating liquor, spirits, rum (น้ำเมา, เหล้า, เมรัย)

“มชฺช” แปลว่า ของมึนเมา, ของที่เป็นเหตุให้มึนเมา, ความมึนเมา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มชฺช” ว่า -

(๑) intoxicant, intoxicating drink, wine, spirits (น้ำเมา, เครื่องดองของเมา, เหล้า, สุรา) 

(๒) drinking place (ร้านเหล้า)

“ปมาทฏฺฐาน” แปลว่า ที่ตั้งแห่งความประมาท

วิธีแปล :

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน แบ่งคำเป็น 2 กลุ่ม คือ -

(๑) สุราเมรยมชฺช คำแปลตามมติเดิมว่า ของเมา (มชฺช) คือ สุรา (สุรา) และ เมรัย (เมรย)

มติใหม่ของผู้รู้บางท่านแปลว่า สุรา (สุรา) เมรัย (เมรย) และ ของเมาอื่นๆ (มชฺช)

(๒) ปมาทฏฺฐาน แปลว่า “ที่ตั้งแห่งความประมาท”

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน แปลรวมกันว่า “ของเมาคือสุราและเมรัย (สุรา เมรัย และของเมาอื่นๆ) อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท”

..................

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน” มี ๔ ประการ คือ -

(๑) มชฺชภาโว (มัชชะภาโว) = สิ่งนั้นเป็นของเมา เช่นสุราและยาเสพติดอื่นๆ

(๒) ปาตุกมฺยตาจิตฺตํ (ปาตุกัมยตาจิตตัง) = มีเจตนาจะดื่ม/เสพ

(๓) ตชฺโช  วายาโม (ตัชโช วายาโม) = ปฏิบัติการดื่ม/เสพ

(๔) ตสฺส  ปานํ (ตัสสะ ปานัง) = ของเมาเข้าสู่ร่างกาย ถ้าเป็นการดื่มก็ล่วงลำคอเข้าไป

.........................................................

ปัญหาลองภูมิ : 

อนุศาสนาจารย์ไปร่วมงานเลี้ยง มีการเลี้ยงเหล้าด้วย

ไม่ดื่ม ก็เสียมารยาท

ดื่ม ก็เสียจรรยาบรรณ (จรรยาบรรณของอนุศาสนาจารย์คือต้องรักษาศีล ๕ ตลอดชีวิต)

เมื่อพนักงานเสิร์ฟยกถาดเหล้ามายื่นให้ เจ้าภาพขอร้องให้ดื่ม

อนุศาสนาจารย์หยิบแก้วเหล้ามา กระดกเหล้าเข้าปาก แต่ยังไม่กลืน

ศีลข้อ ๕ ของอนุศาสนาจารย์ขาดหรือยัง เพราะเหตุไร

.........................................................

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ มกราคม ๒๕๖๖

๑๘:๒๕

[full-post]

องค์ศีล, ศีลห้า

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.