เห็นใครเขียนผิด ช่วยกันสะกิดทันที
-------------------------------
ผมขอเชิญชวนญาติมิตรให้ช่วยกันเปิดมิติใหม่ในโลกสื่อสารเฟซบุ๊ก
นั่นคือ “เห็นใครเขียนผิด ช่วยกันสะกิดทันที”
เรื่องจริงที่ปรากฏในขณะนี้คือ ในเฟซบุ๊กนี้ ใครเขียนคำผิดหรืออ้างเรื่องราวผิดความจริงโพสต์เผยแพร่ ใครเห็นใครอ่าน ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด แต่ก็ไม่ทักท้วง ปล่อยเฉยเลยผ่านเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เหตุผลสำคัญที่อ้างกันก็คือ การทักท้วง --
- เป็นการเสียมารยาท
- เป็นการจับผิดชาวบ้าน
- เป็นการดูถูกกัน
- ทำให้ผู้ถูกทักท้วงเสียหน้า
- ทำให้ผู้ถูกทักท้วงได้รับความอับอาย
- ทำให้ผู้ถูกทักท้วงโกรธเกลียดผู้ทักท้วง
- เป็นที่มาแห่งการขัดแย้ง
- เป็นที่มาแห่งการทะเลาะวิวาท
- ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน
- เป็นการสร้างศัตรู
- อ้างว่าไม่ใช่ธุระของเรา
เหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ผู้เขียนผิดพูดผิดนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว หรือเป็นคนสำคัญในสังคม อยู่ในฐานะที่ใครๆ ไม่ควรจะไปทักท้วง ไม่ควรไปแตะต้อง
ผลจากการมีท่าทีเช่นนี้ก็คือ
- คำผิด-ข้อมูลผิดปรากฏให้คนเห็นอยู่ทั่วไป
- เป็นตัวอย่างให้เขียนตามอ้างอิงตามๆ กันต่อไปอีก
- เผยแพร่คำผิด-ข้อมูลผิดให้กระจายกว้างขวางยิ่งๆ ขึ้น
- ผู้เขียนผิดพูดผิดเองก็ไม่รู้ว่าตนเขียนผิดพูดผิด เขียนคำนั้นอ้างเรื่องนั้นทีไร ก็เขียนผิดอ้างผิดอยู่นั่นเอง ไม่มีโอกาสแก้ไข
- เท่ากับช่วยกันเอาขยะมาทิ้งไว้ในสังคม
- เท่ากับช่วยกันทำร้ายและทำลายภาษาอันเป็นวัฒนธรรมของชาติให้เสื่อมทรามลงไป-อย่างเลือดเย็น
- บ่มเพาะนิสัยไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
- บ่มเพาะนิสัยปล่อยปละละเลยให้พอกพูนในใจผู้คนยิ่งๆ ขึ้น จากเรื่องถ้อยคำภาษา ต่อไปก็ลามไปถึงเรื่องอื่นๆ อีก กลายเป็นคนไม่รับผิดชอบในทุกๆ เรื่อง
....................
เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทำผิดก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด จึงยังคงทำผิดเรื่อยไปเพราะไม่รู้ ไม่มีใครเตือน ครั้นพอจะมีใครเตือน ก็ถูกสกัดด้วยคำว่า “เอาแต่จับผิดชาวบ้าน” เท่ากับช่วยกันปกป้องการทำผิดให้ดำรงอยู่และขยายตัวต่อไป
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า -
...........
นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย.
แปลเป็นไทยว่า -
พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่มขี่ มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด
เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ
หามีโทษที่เลวทรามไม่
ที่มา: บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖
...................
ในคัมภีร์อรรถกถา (ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๔ เรื่องที่ ๖๐ ราธเถรวตฺถุ) อธิบายพุทธภาษิตบทนี้ ยกตัวอย่างพระภิกษุที่เป็นพระอุปัชฌาย์ไม่อบรมสั่งสอนภิกษุที่เป็นศิษย์
ภิกษุที่เป็นศิษย์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย หรือทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอย่างไร ก็ไม่ว่าไม่กล่าว เพราะกลัวศิษย์จะโกรธบ้าง กลัวศิษย์จะไม่รักบ้าง และเพราะกลัวศิษย์จะไม่อำนวยประโยชน์ให้ตนบ้าง
ท่านบอกว่าพระอุปัชฌาย์ชนิดนี้เปรียบเหมือนผู้เอาขยะมาเทไว้ในพระศาสนา
ในการอยู่รวมกันเป็นสังคมก็มีคติอย่างเดียวกัน รู้เห็นว่าใครทำอะไรผิดแล้วปล่อยปละละเลย อ้างว่าไม่ใช่ธุระของเรา ซ้ำอ้างว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้มองหาความผิดของคนอื่น ก็เท่ากับปล่อยให้มีคนทิ้งขยะรกสังคมนั่นเอง
เห็นคนทำผิดแล้วไม่ทักท้วง กำลังกลายเป็นมารยาทที่คนนิยมประพฤติกันทั่วไป คนทักท้วงจะถูกมองว่าเสียมารยาท
เหมือนเห็นคนทิ้งขยะเกลื่อนไปทุกถนนหนทาง แล้วไม่มีใครบอก ไม่มีใครเตือน ไม่มีใครเก็บ นับว่าเป็นค่านิยมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
...................
ผมจึงขอเชิญชวนญาติมิตรให้ช่วยกันเปิดมิติใหม่ในโลกสื่อสารเฟซบุ๊ก
“เห็นใครเขียนผิด ช่วยกันสะกิดทันที”
เริ่มจากผมเอง-ขอปวารณาว่า -
......................................................
ญาติมิตรผู้ใดใครผู้หนึ่งอ่านพบว่า ผมเขียนสะกดการันต์ผิด อ้างหลักวิชาผิดพลาดคลาดเคลื่อน อ้างเอ่ยเรื่องราวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง-เป็นต้น รวมทั้งเห็นว่าเรื่องและภาพที่นำมาเผยแพร่นั้นไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการใดๆ ขอได้โปรดทักท้วงชี้แนะ อย่าได้เกรงใจเป็นอันขาด
และถ้าจะกรุณาชี้แนะโดยเปิดเผยทางหน้าเฟซนี้เลย ก็จะเป็นการดี ช่วยทำให้ญาติมิตรอื่นๆ ที่ไม่ทันรู้เห็นจะได้รู้ได้เห็น เกิดสติและปัญญากว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้กันและกันด้วยไมตรีจิต สมด้วยพุทธภาษิตที่ยกมาแสดงข้างต้นนั้นทุกประการ
......................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ มกราคม ๒๕๖๖
๑๖:๕๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ