การขยายปฏิภาคนิมิต เพื่อทำรูปฌาน ๕ ให้เกิดขึ้น

      เมื่อพระโยคีบุคคลรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ได้เป็นอย่างดีแล้ว จากนั้นก็ควรขยายปฏิภาคนิมิตนี้ ให้ค่อย ๆ กว้างใหญ่ขึ้นไป ๆ ทีละน้อยจนแผ่ตลอดไปถึงภูเขา จักรวาลเพื่อเป็นการอบรมสมาธิให้มีกำลังแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับอุคคหนิมิตนั้นไม่ควรขยาย เพราะการขยายอุคคหนิมิตนั้นไม่ได้รับประโยชน์อันใด กลับจะทำให้สมาธิที่มีกำลังดีอยู่แล้วนั้นเสื่อมถอยลงไป หากจะขยายให้แผ่กว้างออกไปเหมือนกับการขยายปฏิภาคนิมิต ก็คงทำได้เช่นกัน แต่จิตใจนั้นมิอาจตั้งมั่นอยู่ในอุคคหนิมิตนี้ให้ตลอดทั่วถึงได้ การที่กล่าวว่าค่อยๆ แผ่กว้างออกไป ๆ ทีละน้อยนั้น คือการขยายปฏิภาคนิมิตที่มีอยู่จากเดิมนั้นออกไปทีละ ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว ๔ นิ้ว ๘ นิ้ว ๑ ศอก ๒ ศอก จนถึงรอบบริเวณสถานที่แล้วก็ ค่อย ๆ ขยายให้กว้างใหญ่ออกไป จนถึงหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดประเทศ กระทั่งถึงที่สุดจดขอบเขตภูเขาจักรวาล การขยายปฏิภาคนิมิตนี้ พระโยคีบุคคลจะขยายในขณะที่สมาธิยังเป็นอุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ใกล้ต่อฌานก็ได้ หรือภายหลังจากที่ได้สำเร็จอัปปนาสมาธิ คือ ฌานก็ได้


ปฐมฌานเกิด

      เมื่อพระโยคีคลได้ปฏิบัติถูกต้องดังที่ได้พรรณนามาแล้วนี้ รูปาวจรปฐมฌานที่มีองค์ฌาน ๕ ก็เกิดขึ้นแก่พระโยคีเป็นไปดังนี้ คือ มโนทวาราวัชชนะที่มีปถวีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นตัดกระแสภวังค์ขาด ในลำดับนั้นมหากุศลญาณสัมปยุตตชวนะดวงใดดวงหนึ่งก็เกิดขึ้น ๔ ขณะ แก่มันทบุคคล หรือ ๓ ขณะ แก่ติกขบุคคล ซึ่งมีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ในฐานที่เป็น ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู หรือ อุปจาร อนุโลม โคตรภู เรียกว่า อุปจารสมาธิชวนะในฌานวิถีแล้วก็ดับไป ต่อจากนั้น ปฐมฌานกุศล ที่เป็นอัปปนาสมาธิ ที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ เกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วก็ดับลง จากนั้น ภวังคจิตก็เกิดต่อไป หลังจากภวังคจิต ปัจจเวกขณวิถีที่มีมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ครั้ง มหากุศลชวนะ ๗ ครั้ง ก็เกิดขึ้นหลายๆ รอบทำการพิจารณาองค์ฌานทั้ง  โดยเฉพาะๆ ว่าเป็น วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเสมือนผู้ที่ตื่นจากหลับ แล้วพิจารณาถึงความฝันของตนว่าได้ฝันเรื่องอะไรบ้างเหตุที่ทำให้รู้ได้ว่าเป็นอัปปนาฌานหลังจากฌานวิถีได้ดับลงแล้ว

      ในฌานวิถีนี้ อารมณ์ของปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู ที่เป็นกามชวนะกับอารมณ์ของอัปปนาฌานที่เป็นปปนาชวนะนั้น แม้ว่าจะมีปถวีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์เหมือนกันก็จริง แต่ขณะที่กามชวนะเกิดอยู่นั้น  อำนาจของกามตัณหา หาได้สงบราบคาบไม่ จิตใจก็ยังไม่มีกำลังเต็มที่ ต่อเมื่อปฐมฌานเกิดขึ้นนั้น แม้ว่าเกิดเพียงขณะจิตเดียวก็จริง แต่สามารถข่มกามตัณหาให้สงบลงได้อย่างราบคาบเป็นพิเศษ จิตใจก็มีกำลังกล้าแข็งเต็มที่ องค์ฌานทั้ง ๕ ก็ปรากฎขึ้นมาอย่างเด่นชัด อุปมาเหมือนกับการตอกตะปูลงไปบนแผ่นกระดานจนแน่น ฉันใด การเข้าสู่อารมณ์ของปฐมฌานก็ไม่หวั่นไหวคลอนแคลน ฉันนั้น ฉะนั้น จึงทำให้รู้ได้ว่า ฌานเกิดขึ้นแล้วแก่ตน ส่วนจะบอกได้หรือไม่นั้น เกี่ยวกับความรู้ในด้านพระอภิธรรมโดยตรง กล่าวคือถ้าได้รับการศึกษาดีพอก็พูดได้ ถ้าไม่ได้รับการศึกษาดีพอก็อาจพูดไม่ถูก 


ปฐมฌานที่ได้ชื่อว่ารูปาวจรจิต และ การปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ทุติยฌานเป็นต้นเกิดขึ้น

      เจตนาที่อยู่ในปฐมฌานกุศลนี้ไม่มีกามตัณหา คือ ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ ฉะนั้น จึงไม่มีการส่งผลให้ปฐมฌานลาภีบุคคลได้บังเกิดในกามภูมิอีก แต่กลับส่งผลให้ไปบังเกิดในรูปภูมิ ฉะนั้น ปฐมฌานกุศลนี้จึงได้ชื่อว่า รูปาวจรจิตสำหรับการปฏิบัติเพื่อจะให้ทุติยฌาน เป็นต้น เกิดขึ้นได้นั้น ในขั้นแรกฌานลาภีบุคคลพึงกระทำ ปฐมฌานกุศลชวนะ ให้เกิดติดต่อกันอยู่ตลอด ๑ วัน ถึง ๗ วันเสียก่อน เพื่อะได้อบรมจิตใจให้มีสมาธิกล้าแข็งขึ้น เพื่อเป็นบาทแห่งการฝึกหัดวสีภาวะ ๕ ประการต่อไป ที่ต้องกระทำดังนี้ เพราะการเจริญทุติยฌาน หรือ ตติยจตุตถ-ปัญจมฌาน ให้เกิดต่อไปตามลำดับได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยวสีภาวะทั้ง ๕ นี้เป็นเหตุสำคัญ ถ้าขาดวสีภาวะทั้ง ๕ นี้เสียแล้ว ฌานเบื้องบนก็เกิดขึ้นไม่ได้ สีภาวะทั้งจะสำเร็จลงได้ก็ต้องอาศัย การเข้าปฐมฌานอยู่เสมอๆ เสียก่อน จนจิตใจมีสมาธิกล้าแข็งขึ้น ความสามารถเข้าปฐมฌานได้ติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ ตลอด ๑ วัน หรือ ๗ วัน นี้แหละเป็นจิตใจที่มีสมาธิกล้าแข็งอันเป็นเหตุสำคัญขั้นแรก

      การที่จะให้ปฐมฌานกุศลชวนะเกิดขึ้นได้เสมอๆ นั้น ก็ต้องเพ่งปฏิภาคนิมิตเสียก่อนทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อเพ่งปฏิภาคนิมิตเวลาใด เวลานั้นฌานจิตก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ทว่าในวิถีหนึ่งๆ นั้น คงมีปฐมฌานกุศลชวนะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ หรือ ๒ - ๓ ขณะ แล้วภวังคจิตก็เกิดต่อไป เป็นไปอยู่ดังนี้ ฉะนั้น ขณะใดที่รู้สึกว่าฌานจิตที่เกิดขึ้นนั้นได้ดับไปแล้ว ขณะนั้นต้องรีบเพ่งปฏิภาคนิมิตอีก เพื่อจะได้กลับเข้าปฐมฌานอีก อย่านิ่งนอนใจและอย่าสนใจในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น จงพยายามเข้าปฐมฌานไว้เสมอๆ อย่าให้ขาดสาย เพื่อเป็นการอบรมจิตใจให้สมาธิกล้าแข็งขึ้นในระหว่างที่กำลังพยายามเข้าปฐมฌานอยู่ยังเข้าไม่ได้ตลอด ๑ วัน ๒ วัน เป็นต้นนั้น ในเวลานั้นอย่าสนใจในการพิจารณาองค์ฌาน ๕ มี วิตกเป็นต้นให้มากนัก ควรสนใจแต่ในการเพ่งปฏิภาคนิมิต เพื่อจะได้เข้าปฐมฌานประการเดียว เพราะว่า ถ้าพิจารณาองค์ฌานมากไปในขณะนั้น องค์ฌานเหล่านั้นก็จะปรากฏขึ้นเป็นของหยาบและมีกำลังน้อยเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ปฐมฌานที่ได้มาแล้วเสื่อมไป ทุติยฌานที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็เกิดไม่ได้ เมื่อพยายามเข้าปฐมฌานได้เสมอๆ ตลอด  วัน ถึง ๓ วัน ดังนี้แล้ว ต่อจากนั้นก็ควรฝึกหัดในด้านการกระทำ วสีภาวะทั้ง ๕ ให้ชำนาญต่อไป

      วจนัตถะของคำว่า วสีภาวะ "วสนํ สมตฺถนํ - วโส, วโส ยสฺส อตฺถีติ = วสี" ความสามารถชื่อว่า วสะ ความสามารถที่มีอยู่แก่ผู้ใด ฉะนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า วสี "วสิโน ภาโว = วสีภาโว" ความเป็นผู้มีความสามารถ ชื่อว่า วสีภาวะ

วสี ๕ อย่าง คือ

      ๑. อาวัชชนวสี สามารถในการพิจารณาองค์ฌานของมโนทวาราวัชชนะ

      ๒. สมาปัชชนวสี สามารถในการเข้าฌาน

      ๓. อธิฏฐานวสี สามารถในการกำหนดเวลาเข้า

      ๔. วุฏฐานวสี สามารถในการกำหนดเวลาออก

      ๕. ปัจจเวกขณวสี สามารถในการพิจารณาองค์ฌานของชวนะ


    ความสามารถในวสีทั้ง ๕ ที่ได้ชื่อว่า วสีภาวะ นั้น มีอังนี้

      ๑. อาวัชชนวสีภาวะ

      "อาวชฺชเน วสิภาโว = อาวชฺชนวสิภาโว" ความเป็นผู้สามารถในการพิจารณาองค์ฌาน ชื่อว่า อาวัชชนวสีภาวะ

      พระโยคีบุคคลได้เข้าปฐมฌานก่อน เมื่อออกจากปฐมฌานแล้วก็พิจารณาองค์ฌาน ๕ มีวิตก เป็นต้น เฉพาะๆ ไป โดยมีมหากุศลชวนะเกิดขึ้นไม่ถึง ๗ ขณะ มีแต่เพียง ๔ หรือ ๕ ขณะ ตามสมควรแก่ติกขะและมันทะ เมื่อสุดวิถีหนึ่งๆ ลงแล้วนั้นไม่มีภวังค์เกิดมากดวง คงมีแต่ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ๒ ดวงเท่านั้น ต่อแต่นั้นวิถีจิตก็เกิดต่อไป โดยมีมโนทวาราวัชชนะ ชวนะ ๔ หรือ ๕ ขณะเช่นเดียวกันเรียกว่า อาวัชชนวสีภาวะ ที่เป็นวสีภาวะอย่างสูงสุด บุคคลอื่นๆ ไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ คงทำได้เฉพาะแต่พระพุทธองค์และพระอัครสาวกเท่านั้น สำหรับบุคคลอื่นๆนอกนั้น แม้ว่าสิ้นวิถีหนึ่งๆ จะมีภวังค์เกิดขึ้น ๔ หรือ ๕ ขณะก็ตาม ก็คงได้ชื่อว่าสำเร็จในอาวัชชนวสีภาวะ เช่นเดียวกัน

      ๒. สมาปัชชนวสีภาวะ

      "สมาปชฺชเน วสิภาโว = สมาปชฺชนวสิภาโว" ความเป็นผู้สามารถในการเข้าฌาน ชื่อว่า สมาปัชชนวสีภาวะ

      เมื่อมีความประสงค์จะเข้าฌานเวลาใด ก็สามารถเข้าได้โดยฉับพลัน โดยไม่ต้องเพ่งปฏิภาคนิมิตนาน เพียงแต่เพ่งเล็กน้อย ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดขึ้นต่อแต่นั้น มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู หรือ อุปจาร อนุโลม โคตรภู ฌาน เรื่อยๆ ไปก็เกิดขึ้น ดังนี้แหละ เรียกว่า สมาปัชชนวสีภาวะที่เป็นวสีภาวะอย่างสูงสุดของพระพุทธองค์และพระอัครสาวก สำหรับบุคคลอื่นนอกนั้น แม้ว่าจะมีภวังค์เกิด ๔ หรือ ๕ ขณะ แล้วมโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจารอนุโลม โคตรภู หรือ อุปจาร อนุโลม โคตรภู เกิดขึ้นก็ตาม ก็คงได้ชื่อว่าสำเร็จในสมาปัชชนวสีภาวะ เช่นเดียวกัน

      ๓. อธิฏฐานวสีภาวะ

      "ภวงฺคํ อภิภุยฺย ฌานํ ฐปนํ = อธิฏฺฐานํ" การทำให้กระแสฌานเกิดอยู่เรื่อยๆ โดยข่มภวังคจิตไว้ไม่ให้เกิด ชื่อว่า อธิฏฐานะ "อธิฏฺฐาเน วสิภาโว =อธิฏฺฐานวสิภาโว" ความเป็นผู้สามารถในการตั้งอยู่ในกระแสฌานไม่ให้หย่อนไป โดยข่มภวังคจิตไม่ให้เกิด ชื่อว่า อธิฏฺฐานวสีภาวะ

      กระแสแห่งฌานเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสายนี้เรียกว่า เข้าฌาน กระแสแห่งฌานขาดไปโดยลงสู่ภวังค์นั้นเรียกว่า ออกจากฌาน ผู้มีความสามารถในอธิฏฐานวสีนั้น เมื่อมีความประสงค์จะเข้าฌาน ประมาณชั่วขณะดีดนิ้วครั้งหนึ่งก็สามารถเข้าได้หรือ ถ้าจะต้องเข้าถึง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงเป็นต้นขึ้นไป ฌานจิตก็เกิดอยู่ได้ตลอดเวลาที่ต้องการนั้น เรียกว่า อธิฏฐานวสีภาวะ

      ๔. วุฏฐานวสีภาวะ

      "วุฏฺฐาเน วสิภาโว = วุฏฺฐานวสิภาโว" ความเป็นผู้สามารถออกจากฌานได้ทันทีตามเวลาที่ได้อธิฏฐานไว้โดยไม่ให้ยิ่งไปนั้น ชื่อว่า วุฏฐานวสีภาวะ ผู้ที่มีความสามารถในวุฏฐานวสีนั้นเมื่อได้ตั้งใจว่าจะออกจากฌานในเวลาประมาณเท่าใด ครั้นถึงเวลาที่ได้กำหนดไว้ก็สามารถออกได้ทันทีโดยไม่เลยไป ดังนี้แหละเรียกว่า วุฏฐานวสีภาวะ ฉะนั้น ความต่างกันระหว่าง อธิฏฐานวสีภาวะ กับวุฏฐานวสีภาวะ ก็คือ ความสามารถตั้งอยู่ในฌานได้ตามเวลาที่ได้กำหนดไว้โดยไม่ให้หย่อนไป ชื่อว่า "อธิฏฐานวสีภาวะ" ความสามารถออกจากฌานได้ตามเวลาที่ได้กำหนดไว้โดยไม่ให้ยิ่งไป ชื่อว่า "วุฏฐานวสีภาวะ"

      ๕. ปัจจเวกขณวสีภาวะ

      "ปจฺจเวกฺขณํ วสิภาโว = ปจฺจเวกฺขณวสิภาโว" ความเป็นผู้สามารถในการพิจารณาองค์ฌาน ชื่อว่า ปัจจเวกขณสีภาวะ

      เมื่ออกจากฌานแล้ว ก็มีการพิจารณาองค์ฌานโดยเฉพาะๆ ปัจจเวกขณะชวนะ ๔ หรือ ๕ ขณะ ย่อมเกิดขึ้น และในระหว่างวิถีหนึ่งๆ ที่เกิดต่อเนื่องกันอยู่นี้มีแต่ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ๖ ดวงเท่านั้นที่เกิดขึ้น เรียกว่า ปัจจเวกขณวสีภาวะที่เป็นวสีภาวะอย่างสูงสุดของพระพุทธองค์และพระอัครสาวก สำหรับบุคคลอื่นๆ นอกนั้นแม้ว่าในระหว่างวิถีหนึ่งๆ จะมีภวังค์เกิดถึง ๔ หรือ ๕ ขณะก็ตาม ก็คงได้ชื่อว่าสำเร็จในปัจจเวกขณวสีภาวะเช่นเดียวกัน

      ฉะนั้น เมื่ออาวัชชนาสีภาวะได้สำเร็จลงขณะใด ก็เป็นอันว่าได้สำเร็จในปัจจเวกขณวสีภาวะไปด้วยพร้อม ๆ กัน  ในวิถีเดียวกันนั้นเอง เพียงแต่แยกกันเรียกโดยความสามารถเท่านั้น คือ ความสามารถของมโนทวาราวัชชนะ เรียกว่า อาวัชชนวสี ส่วนความสามารถของชวนะ เรียกว่า ปัจจเวกขณวสี ดังนี้


ขั้นสุดท้ายแห่งการปฏิบัติเพื่อให้ทุติยฌานเกิด

      เมื่อปฐมฌานลาภีบุคคลได้ฝึกฝนในวสีภาวะทั้ง ๕ จนชำนาญแล้ว จากนั้น จงเข้าปฐมฌานก่อน ออกจากปฐมฌานแล้วก็พิจารณาปฐมฌานนั้นว่า ปฐมฌานนี้เป็นฌานที่ยังใกล้กับนิวรณ์อยู่ ทั้งวิตกองค์ฌานก็มีสภาพหยาบ ซึ่งเป็นเหตุทำให้องค์ฌานอื่น ๆ มีวิจาร เป็นต้น มีกำลังน้อยไป ทำให้จิตใจมีสมาธิไม่เข้มแข็งพอ นิวรณ์ที่ถูกประหาณไปแล้วนั้น อาจกลับเกิดขึ้นอีกได้ ทำให้ปฐมฌานที่ได้มาแล้วนี้กลับเสื่อมสูญไป ส่วนทุติยฌานนั้นย่อมห่างไกลจากนิวรณ์ ทั้งองค์มานก็มีความประณีตสุขุมอีกด้วยเมื่อได้ใคร่ครวญดูอย่างนี้โดยถี่ถ้วน จนเกิดการเบื่อหน่ายในปฐมฌาน ปราศจากนิกันติตัณหา คือ ไม่มีการติดใจในปฐมฌานแต่อย่างใดแล้ว จากนั้นก็จงเริ่มต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาจิตทั้งสามตามลำดับ อันเป็นวิตักกวิราคภาวนา คือ ในขณะที่กำลังเพ่งปฏิภาคนิมิตพร้อมกับบริกรรมในใจว่า ปถวีๆ เพื่อจะให้ได้มาซึ่งทุติยฌานนั้น ภาวนาจิตในขณะนั้นชื่อว่า บริกรรมภาวนา และนิมิตของบริกรรมภาวนาในระยะนี้ คือ ปฏิภาคนิมิต มิใช่บริกรรมนิมิต หรือ อุคคหนิมิต ซึ่งต่างกับบริกรรมกาวนาที่เป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน ที่มีบริกรรมนิมิตและอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ เมื่อพระโยคีบุคคลทำการเพ่งและบริกรรมอยู่ดังนี้ จะรู้ว่าภาวนาจิตของตนได้เข้าใกล้ในขอบเขตของอัปปนาภาวนา คือ ติยฌานหรือยัง ก็จงเข้าปฐมณานเสียก่อน เมื่อออกจากปฐมฌาน ก็พิจารณาองค์ฌาน ๕ ตามลำดับโดยเฉพาะๆ และในขณะที่มีการพิจารณานี้ ถ้าเห็นสภาพของวิตกว่าเป็นสภาพหยาบ และเห็นสภาพขององค์ฌานนอกนั้นมีความละเอียดสุขุม เช่นนี้ ก็พึงรู้ได้ว่า ภาวนาจิตของตนนี้ได้เข้าถึงขั้นอุปจารภาวนา ซึ่งใกล้เคียงกับอัปปนาภาวนา คือ ติยฌานแล้ว ถ้าหากยังไม่เห็นสภาพหยาบของวิตก และความประณีตสุขุมของวิจาร เป็นต้นแล้ว เวลานั้นภาวนา จิตก็ยังคงเป็นบริกรรมภาวนาอยู่ เป็นอันรู้ได้ว่ายังห่างไกลจากอัปปนาภาวนา คือทุติยฌาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรพยายามเพ่งและบริกรรมต่อไป จนอุปจารภาวนาเกิดขึ้น

      ครั้นการเพ่งได้เข้าถึงขั้นอุปจารภาวนาเวลาใด หากพยายามเพ่งต่อไป ในไม่ช้าอัปปนาภาวนา คือ ทุดิยฌาน ก็จักเกิดขึ้นโดยลำดับดังนี้ คือ ภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู ทุติยฌาน๑ ครั้ง ภวังคจิตต่อไป จากนั้น ปัจจเวกขณวิถี ที่มีการพิจารณาองค์ฌาน ๔ ตามลำดับโดยเฉพาะ ๆ ก็เกิดขึ้น เป็นอันว่า ได้สำเร็จเป็นทุติยฌานลาภีบุคคล 

      การปฏิบัติในขั้นแรกและขั้นสุดท้าย เพื่อให้ ตติยฌาน เป็นต้นจนถึง ปัญจม-ฌาน เกิดต่อไปนั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ทุกประการ คนต่างกันแต่เพียงการพิจารณาให้เห็นโทษขององค์ฌานนั้นๆ ตามลำดับเท่านั้น คือ ทุติยฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขึ้นตติยฌาน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของวิจาร ที่มีสภาพหยาบกว่า ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วตั้งต้นเพ่งปฏิกาคนิมิตโดยภาวนาทั้งสามตามลำดับ อันเป็นวิจารวิราคภาวนาต่อไป ตติยฌานลาภีบุคคล เมื่อจะขึ้นจตุตถฌาน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของปีติ ที่มีสภาพหยาบกว่า สุข เอกัคคตา แล้วก็ตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาทั้งสามตามลำดับ อันเป็นปีติวิราคภาวนาต่อไป จตุตถฌานลาภีบุคคล เมื่อจะขึ้นปัญจมฌาน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของสุข ที่มีสภาพหยาบกว่า อุเบกขา เอกัคคตาแล้วก็ตั้งต้นเพ่งปฏิกาคนิมิต โดยภาวนาทั้งสามตามลำดับ อันเป็นสุขวิราคภาวนาต่อไป

      เท่าที่ได้พรรณนามานี้ เป็นการพรรณนาโดยปัญจกนัย ตามนัยแห่งปัญญาของมันทบุคคล ที่ไม่อาจพิจารณาเห็นโทษของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ในเวลาเดียวกันได้ สำหรับติกขบุคคลนั้น เมื่อะขึ้นทุติยฌานต่อไปนั้น มีปัญญาสามารถใคร่ครวญเห็นโทษของวิตกและวิจารทั้งสองพร้อมๆ กัน ดังนั้น เมื่อตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิตโดยภาวนาจิตทั้งสาม ตามลำดับ อันเป็นวิตักกวิจารวิราคภาวนาต่อไปนั้น ทุติยฌานที่มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกักคตา ก็ย่อมเกิดขึ้น เมื่อได้ปฏิบัติต่อไป ตติยฌานที่มีองค์ฌาน คือ สุข เอกัคคตา  ก็ย่อมเกิดขึ้น และเมื่อได้ปฏิบัติต่อไปอีก จตุตถฌาน องค์ฌาน  คือ อุเบกขา เอกัคคตา ก็ย่อมเกิดขึ้น เหตุนี้ ฌานเหล่านี้จึงเป็นไปโดยจตุกกนัยตามปัญญาของติกขบุคคล เป็นอันว่าผู้นั้นได้สำเร็จรูปาวจรฌานหมดสิ้นในขณะที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานนั้น หากผู้นั้นได้เคยสร้างบารมีเป็นพิเศษมาแล้ว กล่าวคือ ได้เคยชำนาญในการแสดงอภิญญาในภพก่อน ๆ ที่ใกลักับภพนี้ก็ดีหรือ ได้เคยสร้างทาน ศีล ภาวนาในภพก่อน ๆ  โดยตั้งความปรารถนาไว้จะให้ตนได้อภิญญาในภพต่อไปเหล่านี้ก็ดี เมื่อรูปาวจรปัญจมฌานเกิดขึ้นนั้น ปัญญาที่ประกอบกับจิตดวงนั้นเป็นปัญญาที่มีอำนาจพิเศษอยู่ในตัวเรียกว่า อภิญญา จากนั้นเมื่อต้องการทำอภิญญาเวลาใดก็ทำได้ สำหรับรูปฌานลาภีที่นอกจากบุคคลเหล่านี้ ต้องได้ อรูปฌานทั้ง ๔ พร้อมทั้งมีความชำนาญในสีภาวะ ๕ อย่างที่เกี่ยวกับรูปฌาน อรูปฌาน ที่เป็นสมาบัติ ๘ หรือ ๙ เสียก่อน จึงจะแสดงอภิญญาได้

------------////////----------

 

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,ปฏิภาคนิมิต

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.