แบกกลดไปไหน ปักกลดตรงไหน
----------------------------------
อันดับแรก โปรดทราบก่อนว่า คำว่า “กลด” ใช้ ล ลิง ไม่ใช่ กรด ร เรือ
ถ้าเขียนว่า “ปักกรด” แล้วอ้างว่า เขียนอย่างนี้คนอ่านก็รู้ว่าหมายถึงอะไร
ภาษาไทยก็เปรอะ
“กลด” กับ “กรด” เป็นคนละคำ คนละความหมาย
ภาษาไทยที่ดีไม่ใช่มีแค่-เขียนให้คนอ่านเข้าใจว่าสื่อถึงอะไร-เท่านั้นพอ
แต่ยังมีหลักเกณฑ์อื่นๆ อีกด้วย-เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและงดงาม
วิธีง่ายๆ เบื้องต้น คือศึกษาจากพจนานุกรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -
.......................................................
กรด ๑
[กฺรด] น. สารอย่างหนึ่ง มีรสเปรี้ยว โดยปรกติกัดหรือทําให้สิ่งอื่นแปรไป; (เคมี) มีความหมายหลายอย่าง สุดแล้วแต่ทฤษฎีที่ใช้เป็นหลักกําหนด คือ เป็นสารเคมีที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน และเมื่อสารนี้ละลายนํ้าเป็นสารละลายแล้ว ไฮโดรเจนที่มีอยู่ทั้งหมดหรือบางส่วนต้องแปรสภาพออกมาเป็นไฮโดรเนียมไอออน (H3O+) สารละลายที่ได้มีรสเปรี้ยวเปลี่ยนสีลิตมัสสีนํ้าเงินเป็นสีแดงได้; สารเคมีที่มีสมบัติจ่ายโปรตอนให้แก่สารอื่นได้; สารเคมีที่มีสมบัติรับอิเล็กตรอนคู่หนึ่งมาจากสารอื่นได้. (อ. acid).
กรด ๒
[กฺรด] ว. คมมีลักษณะที่กัดกร่อนหรือตัดสิ่งของได้ เช่น นํ้ากรด = นํ้าที่คม ลมกรด = ลมที่คม.
กรด ๓
[กฺรด] น. ชื่อไม้เถาชนิด Combretum tetralophum C.B. Clarke ในวงศ์ Combretaceae มักขึ้นในที่นํ้าท่วม เช่น ตามฝั่งนํ้าลําคลอง ใบโดยมากออกรอบข้อ ๒ หรือ ๓ ใบ ใบอ่อนสีม่วงดํา เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียว ผลมีสันแข็งเป็น ๔ ครีบ, เถาวัลย์กรด ก็เรียก; อีกชนิดหนึ่ง คือ C. trifoliatum Vent. มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ผลมี ๕ ครีบ เช่น กรดกระถินอินจันพรรณไม้. (นิ. อิเหนา), สีเอยเจ้าสีสด เจ้าปลูกต้นกรดไว้ริมท่า. (กล่อมเด็ก).
กรด ๔
[กฺรด] น. ภาชนะใส่นํ้าเทพมนตร์ของพราหมณ์ ลักษณะเหมือนคนโทมีฝาปิด มีพวยอย่างกานํ้า. (เลือนมาจาก ป. กลส; ส. กลศ).
กรด ๕
[กฺรด] (ปาก) ว. ยิ่ง, มาก, เช่น ไวเป็นกรด ฉลาดเป็นกรด.
.......................................................
กลด ๑
[กฺลด] น. เครื่องกั้นกันแดดหรือฝน ลักษณะคล้ายร่มขนาดใหญ่ ขอบมีระบาย คันยาว ใช้ถือกั้นเจ้านาย, ราชาศัพท์ว่า พระกลด, เรียกร่มขนาดใหญ่มีด้าม สำหรับพระธุดงค์โดยเฉพาะ, เรียกดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่มีแสงสีรุ้งเป็นวงกลมล้อมรอบ ว่า ดวงอาทิตย์ทรงกลด ดวงจันทร์ทรงกลด. (ข. กฺลส).
.......................................................
จะเห็นได้ว่า “กรด” กับ “กลด” เป็นคนละคำกัน ใช้แทนกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่ามั่ว
มั่วไปแล้วก็กลับตัวได้ อย่าแถ
กลับตัวได้ น่านับถือ
ยิ่งแถ ยิ่งหมดความน่านับถือ
.................
ในที่นี้ จะพูดถึง “กลด” ซึ่งหมายถึง “ร่มขนาดใหญ่มีด้าม สำหรับพระธุดงค์โดยเฉพาะ”
โปรดทราบต่อไปว่า “กลด” เป็นบริขารสำหรับการพักอาศัยชั่วคราว คือเมื่อจำเป็นจะต้องพัก ณ สถานที่ซึ่งไม่ใช่อาคาร ไม่มีเครื่องมุงบัง และอยู่กับพื้น
วิธีใช้คือ ใช้ผ้าหรืออาสนะปูลาดพื้นเป็นที่นั่งที่นอน เบื้องบนมีกลดกางกันแดดและกันฝน ชายกลดเป็นระบายรอบทำหน้าที่เหมือนมุ้งกันเหลือบยุง
เมื่อใช้กลดเป็นบริขารย่อมหมายความว่า -
๑ ไปอยู่ในที่ซึ่งไม่มีอาคารสถานที่มุงบัง
๒ ต้องการความสงบสงัดปลอดจากผู้คน
ธุดงค์ ๑๓ ข้อ มี ๔ ข้อเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้กลด คือ
- อยู่ป่า (อารัญญิกังคะ)
- อยู่โคนไม้ (รุกขมูลิกังคะ)
- อยู่ที่แจ้ง (อัพโภกาสิกังคะ)
- อยู่ป่าช้า (โสสานิกังคะ)
เฉพาะข้ออยู่ป่าช้า ถ้าในบริเวณป่าช้ามีอาคาร ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กลด
บางท่านพักอยู่ในอาคารหรือที่มุงบังแท้ๆ ก็ยังกางกลด
ผมเคยถามว่า ทำไม
ท่านตอบว่า เอาบรรยากาศ!
เอากะท่านสิ?!
สมัยก่อนพระท่านแบกกลดเข้าป่า
สมัยนี้พระแบกกลดเข้าเมือง
แบกกลดเดินเป็นขบวนกลางเมืองก็เคยมี
เป็นเรื่องวิปริตที่ควรรู้ทัน
กลดจึงไม่ใช่อุปกรณ์โฆษณาความเคร่ง หรือความเป็นนักปฏิบัติ
พระที่เป็นนักปฏิบัติที่แท้จริงไม่ต้องการให้ใครรู้ด้วยซ้ำไปว่าท่านเป็นพระปฏิบัติ โปรดสังเกตดูเถิด
เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นพระเดินแบกกลด และเห็นท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งศรัทธาพระแบกกลด ก็อย่าไปขัดคอใคร
เพียงแต่เราเรียนรู้หลักไว้ เพื่อให้ศรัทธาและปัญญาของเราสมดุลกันประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่ง เมื่อเห็นท่านผู้ใดเดินแบกกลด เราก็จะได้รู้ทันว่า ท่านกำลังเดินไปทางไหน
พระพุทธองค์ทรงเตือนไว้นานนักหนาแล้ว
พึงสดับ -
..........................................
อญฺญา หิ ลาภูปนิสา อญฺญา นิพฺพานคามินี
เอวเมตํ อภิญฺญาย ภิกฺขุ พุทฺธสฺส สาวโก
สกฺการํ นาภินนฺเทยฺย วิเวกมนุพฺรูหเย ฯ
ทางหนึ่งแสวงหาลาภ ทางหนึ่งไปนิพพาน
รู้อย่างนี้แล้ว ภิกษุพุทธสาวก ไม่ควรไยดีลาภสักการะ
ควรอยู่อย่างสงบ
One is the way to worldly gain;
To Nibbana another leads.
Clearly realizing this,
The bhikkhu, disciple of the Buddha,
Should not delight in worldly favour,
But devote himself to solitude.
ที่มา: พาลวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๕
คำแปลเป็นไทยและภาษาอังกฤษ:
หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
..........................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๓:๐๔
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ