ได้บุญเหมือนกัน?
-----------------
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่แน่ใจว่าเคยเล่าแล้วหรือยัง เป็นเรื่องที่พระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุราชบุรีเล่าให้ผมฟัง แล้วผมก็เอามาเล่าต่อ
หลายเรื่องหลวงพ่อท่านเล่าซ้ำหลายรอบ คงจะเป็นอย่างที่ว่า-คนแก่ชอบเล่าความหลัง ผมก็ต้องใช้ศิลปะในการฟัง คือตั้งอารมณ์เหมือนเพิ่งเคยฟังเป็นครั้งแรกทุกรอบไป
นึกถึงธัมมัสสวนานิสงส์ คืออานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง ที่เรียนมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี มีอยู่ในหนังสือ “นวโกวาท” ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนบาลี อ่านแต่ภาษาไทยที่ท่านเรียบเรียงไว้ ตอนนี้พอจะอ่านบาลีได้บ้างแล้ว ก็เลยตามไปดู
ผมเชื่อว่านักเรียนนักธรรม-หรือแม้แต่นักเรียนบาลีก็เถอะ-ยังไม่เคยเห็นต้นฉบับบาลีของธัมมัสสวนานิสงส์
ดูเหมือนจะเป็นธรรมดาของการศึกษาพระธรรมวินัยในเมืองไทย คือไปไม่ถึงต้นฉบับ ทั้งๆ ที่เราส่งเสริมการเรียนบาลีกันมาก คือเรียนเพื่อไปให้ถึงต้นฉบับบาลีคือพระไตรปิฎก แต่ส่วนใหญ่ก็ไปไม่ถึง
ไปไม่ถึง ไม่ได้แปลว่าเรียนไม่จบ เรียนจบครับ จบกันเยอะด้วย แต่จบแล้วไม่ศึกษาต่อไปให้ถึงพระไตรปิฎก ชอบกลแท้ๆ
เพราะฉะนั้น ขออนุญาตอัญเชิญต้นฉบับบาลีมาให้ศึกษากัน ดังนี้
...............................................
ปญฺจิเม ภิกฺขเว อานิสํสา ธมฺมสฺสวเน กตเม ปญฺจ อสฺสุตํ สุณาติ สุตํ ปริโยทเปติ กงฺขํ วิหนติ ทิฏฺฐึ อุชุํ กโรติ จิตฺตมสฺส ปสีทติ อิเม โข ภิกฺขเว ปญฺจ อานิสํสา ธมฺมสฺสวเนติ ฯ
ที่มา: อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๒๐๒
...............................................
แปลดังนี้ (ความในข้อ ๑.-๕. ตามหนังสือ “นวโกวาท”) -
...............................................
ปญฺจิเม ภิกฺขเว อานิสํสา ธมฺมสฺสวเน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่างเหล่านี้คืออานิสงส์การฟังธรรม
กตเม ปญฺจ
๕ อย่างคืออะไรบ้าง
อสฺสุตํ สุณาติ
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
สุตํ ปริโยทเปติ
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
กงฺขํ วิหนติ
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
ทิฏฺฐึ อุชุํ กโรติ
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
จิตฺตมสฺส ปสีทติ
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
อิเม โข ภิกฺขเว ปญฺจ อานิสํสา ธมฺมสฺสวเน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์การฟังธรรมมี ๕ อย่างเหล่านี้แล
...............................................
เพราะฉะนั้น ถ้าเรื่องนี้เคยเล่าแล้ว ท่านฟังอีก ก็คงไมเปล่าประโยชน์
........................
โยมผู้หญิงคนหนึ่ง บ้านอยู่ใกล้วัด ใส่บาตรทุกเช้า สามเณรรูปหนึ่งมารับบาตรที่บ้านทุกวัน
...............................................
“รับบาตร” หมายถึง ไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านโยม
อาหารที่โยมใส่บาตร เรียกว่า “อาหารบิณฑบาต”
โยมเอาอาหารถวายพระที่มาบิณฑบาต เรียกว่า “ใส่บาตร” คำมาตรฐานว่า “ตักบาตร”
พระเอาบาตรไปรับอาหารตามบ้านโยม เรียกว่า “บิณฑบาต” หรือ “ออกบิณฑบาต” คำไทยเก่าเรียกว่า “ออกโปรด” หรือ“ไปโปรด”
ที่ต้องอธิบายแบบนี้ เพราะผมไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่ฟังคำพวกนี้แล้วจะเข้าใจหรือเปล่า ท่านที่เข้าใจแล้วกรุณาอย่ารำคาญ
อ้อ “บิณฑบาต” - เขียนอย่างนี้นะครับ
ไม่ใช่ “บิณฑบาตร”
บาตร กับ บิณฑบาต สะกดต่างกัน
ภาษาก็มีวินัย ไม่เหลือวิสัยที่จะศึกษาสังเกตนะครับ
...............................................
สามเณรรูปนี้ไปรับบาตรที่บ้านโยมผู้หญิงคนนี้ทุกวัน บางวันโยมผู้หญิงก็ทำกับข้าวเอาไปถวายถึงกุฏิ มีของขบฉันหรือผลไม้พิเศษก็เอาไปถวายอยู่เนืองๆ โยมผู้หญิงทราบว่าสามเณร “กำลังเรียนอยู่” ก็ยิ่งมีศรัทธา อุปถัมภ์บำรุงเต็มกำลัง
โยมผู้หญิงมีหลานคนหนึ่ง อายุไล่เลี่ยกับสามเณร กำลังเรียนอยู่เหมือนกัน
วันหนึ่ง สามเณรไปรับบาตรตามปกติ โยมผู้หญิงใส่บาตรแล้วก็ถามสามเณรว่า ตอนนี้เรียนไปถึงไหนแล้ว
“ใกล้จบ ม.ปลายแล้วโยม ปีหน้าคงได้เข้า ม... อีกไม่กี่ปีก็คงได้ปริญญาตรี” สามเณรตอบอย่างภาคภูมิ
โยมผู้หญิงนิ่งฟัง มีท่าทีตรึกตรอง
“อย่างนั้นเณรก็เรียนเหมือนหลานฉันนะสิ” โยมผู้หญิงเอ่ยขึ้นเรียบๆ “แบบนี้ฉันไม่ต้องใส่บาตรให้เณรก็ได้ เอาไปให้หลานกินก็น่าจะได้บุญเหมือนกัน”
----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๕ มกราคม ๒๕๖๖
๑๕:๑๗
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ