ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,858)


อัตตัตถสมบัติ

คนอัตคัดก็มีได้

อ่านว่า อัด-ตัด-ถะ-สม-บัด

ประกอบด้วยคำว่า อัตตัตถ + สมบัติ 

(๑) “อัตตัตถ”

อ่านว่า อัด-ตัด-ถะ แยกศัพท์เป็น อัตต + อัตถ

(ก) “อัตต” เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺต” อ่านว่า อัด-ตะ มาจากรากศัพท์ดังนี้ :

(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย

: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า -

      ๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้) 

      ๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ) 

      ๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต 

: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า -

      ๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

      ๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ

: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

“อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)

“อตฺต” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

ในทางปรัชญา “อตฺต” หรือ “อตฺตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego

“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ในที่นี้คงรูปเป็น “อตฺต” 

(ข) “อัตถ” เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก -

      (1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ) 

: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”

      (2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”

      (3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย

: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”

“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น -

      (1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

      (2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)

      (3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)

      (4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

“อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อรรถ, อรรถ- : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “อัตถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อัตถ-, อัตถ์, อัตถะ : (คำนาม) เนื้อความ, ประโยชน์, ความต้องการ. (ป. อตฺถ; ส. อรฺถ).”

อตฺต + อตฺถ = อตฺตตฺถ (อัด-ตัด-ถะ) แปลว่า “ประโยชน์ของตน”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อตฺตตฺถ” ว่า one's own profit or interest (ผลประโยชน์หรือกำไรของตน) 

(๒) “สมบัติ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปตฺติ” อ่านว่า สำ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ

: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม”

ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ”

“สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า -

      (1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)

      (2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence) 

      (3) เกียรติ (honour)

      (4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)

“สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”

ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด

ในที่นี้ “สมบัติ” หมายถึง ความถึงพร้อม

อตฺตตฺถ + สมฺปตฺติ = อตฺตตฺถสมฺปตฺติ (อัด-ตัด-ถะ-สำ-ปัด-ติ) แปลว่า “ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ของตน” 

“อตฺตตฺถสมฺปตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัตตัตถสมบัติ” อ่านว่า อัด-ตัด-ถะ-สม-บัด

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อัตตัตถสมบัติ” ไว้ดังนี้ -

..............

อัตตัตถสมบัติ :  “ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตน” เป็นพุทธคุณอย่างหนึ่ง คือ การที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมกำจัดอาสวกิเลสทั้งปวงและทำศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยพระญาณทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติมากมาย เป็นที่พึ่งของพระองค์เองได้ และเป็นผู้พร้อมที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกต่อไป มักใช้คำที่แทนกันได้ว่า อัตตหิตสมบัติ ซึ่งแปลเหมือนกัน; เป็นคู่กันกับ ปรัตถปฏิบัติ หรือ ปรหิตปฏิบัติ

..............

สรุปความว่า “อัตตัตถสมบัติ” คือคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่ตั้งใจจะบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนร่วมโลก นั่นคือ การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะลงมือบำเพ็ญประโยชน์ หลักการก็คือ บำเพ็ญประโยชน์ส่วนตนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน จนกระทั่งไม่มีกิจอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกแล้ว จึงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้อย่างเต็มที่

..............

ดูเพิ่มเติม: “ปรัตถปฏิบัติ” บาลีวันละคำ (3,859) 5-1-66

..............

ดูก่อนภราดา!

: รู้จักพอเมื่อใด

: รู้จักให้เมื่อนั้น


[full-post]

อัตตัตถสมบัติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.