สังเวชนียสถานของจริงอยู่ที่เมืองไทย??
----------------------------------------
เดือนหน้านี้ พระคุณเจ้ารูปหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ใน มจร ท่านจะต้องนำนิสิต มจร ไปทัศนศึกษาเชิงปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย ท่านมีเมตตาชวนผมไปด้วย-โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขออย่างเดียว-ขอให้ไป
ยังไม่ทันตกลงใจ ก็พอดีเกิดเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
เป็นวิกฤตของกองทัพเรือ
และเป็นวิกฤตของครอบครัวทหารเรือด้วย
แต่ที่หนักยิ่งกว่าวิกฤตก็คือ-เสียงผู้คนในสังคมตำหนิด่าว่ากองทัพเรือ-ทหารเรือ-ซึ่งวิกฤตมากอยู่แล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น-ให้วิกฤตซ้ำทรุดหนักเข้าไปอีก
ญาติมิตรยังไม่ลืมบรรยากาศแน่ๆ แม้วันนี้บรรยากาศก็ยังกรุ่นอยู่
ผมก็เลยตัดสินใจทันที ไม่ไปแสวงบุญที่อินเดีย ส่งใจไปแทนก็แล้วกัน
ตัว-ขออยู่กับครอบครัวทหารเรือ ตามคติ - ทหารเรือไม่ทิ้งกัน
ใครตำหนิ ใครซ้ำเติม เราก็จะอยู่รับหน้าด้วยกัน อยู่พร้อมหน้ากัน
เห็นหน้ากันเมื่อยามยาก
สิ่งที่ปรากฏขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า ต่อไปนี้ ใครจะมาเป็นทหาร-โดยเฉพาะทหารเรือ-จะต้องคิดไว้ก่อนว่า -
(๑) ต้องพร้อมที่จะยอมตายได้ทุกเวลา
(๒) ต้องพร้อมที่จะยอมรับคำประณามด่าว่าโดยไม่ปริปาก
ถ้าพร้อมใน ๒ ข้อนี้ จึงค่อยตกลงใจเข้ามาเป็นทหาร (เรือ)
คนไทยปีนี้ไม่เหมือนคนไทยเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว
แค่ยอมตายเพื่อชาติอย่างเดียว -
อย่านึกว่าคนไทยวันนี้จะไม่รุ่มด่า-ถ้าเราพลาด
..................
ที่ว่ามานั้นเป็นอารัมภบทครับ เรื่องจริงๆ ที่อยากพูดคือเรื่องไปแสวงบุญที่อินเดีย
ผมไปอยู่อินเดียมา ๑ ปีเต็มๆ เมื่อ พ.ศ.--สิบหก อายุ ๒๗
ไปไหว้พระตามสังเวชนียสถานอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.--หกสิบ อายุ ๗๒
เวลานี้ก็ยังอยากไปอีกอยู่นั่นเอง ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสก็ตั้งใจจะไปอีก
แต่ญาติมิตรทางเฟซบุ๊กของผมท่านหนึ่งท่านบอกว่า ท่านไม่ไปแสวงบุญสังเวชนียสถานที่อินเดียหรอก
ท่านบอกว่า สังเวชนียสถานจริงๆ อยู่ในเมืองไทยนี่ต่างหาก ไม่ใช่อยู่ที่อินเดีย
“พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ดินแดนไทย ไม่ใช่ที่อินเดีย” ท่านย้ำคำนี้
เหตุผลที่ท่านใช้ในการวินิจฉัยว่า สังเวชนียสถานจริงๆ อยู่ในเมืองไทย เท่าที่ผมมองเห็นได้ข้อหนึ่งก็คือ ท่านใช้ข้อมูลในพระไตรปิฎกนั่นเองเป็นหลัก
...................................................
ตกลงกันก่อนว่า คำว่า “พระไตรปิฎก” ให้หมายรวมทั้งอรรถกถาฎีกาบรรดาที่เป็นคัมภีร์บาลีทั้งปวง
...................................................
ท่านบอกว่า ข้อความหลายแห่งในพระไตรปิฎกที่บรรยายถึงสถานที่อันเกี่ยวกับสังเวชนียสถานไม่ตรงกับสังเวชนียสถานที่เชื่อกันว่าอยู่ในอินเดีย ท่านจึงลงมติว่า สังเวชนียสถานจริงไม่ใช่สถานที่ตรงนั้นๆ ในอินเดีย-ตามที่เชื่อกัน
อาจจะมีเหตุผลมากกว่าวิธีวินิจฉัยข้อความในพระไตรปิฎก แต่วิธีวินิจฉัยข้อความในพระไตรปิฎกตามที่ว่านี้น่าจะเป็นเหตุผลหลัก
เบื้องต้นนี้ ขอเรียนว่า ผมมองเห็นประโยชน์จากวิธีที่ท่านทำ เพราะวิธีที่ท่านทำเป็นการช่วยกันศึกษาพระไตรปิฎก
การศึกษาพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์อะไร ย่อมทำให้พระไตรปิฎกมีค่า ทั้งนี้เพราะพระไตรปิฎกนั้นท่านรักษาสืบต่อกันมาก็เพื่อให้คนศึกษา ดังนั้น ความไร้ค่าของพระไตรปิฎกก็คือการที่ไม่มีใครศึกษานั่นเอง
กรณีที่ท่านบอกว่า พระไตรปิฎกบรรยายถึงสถานที่อันเกี่ยวกับสังเวชนียสถานไม่ตรงกับสังเวชนียสถานที่เชื่อกันว่าอยู่ในอินเดีย ผมขอเสนอวิธีปฏิบัติ ๒ วิธี ดังนี้ -
............
วิธีที่หนึ่ง
............
๑ ขอให้ท่านรวบรวมข้อมูลในพระไตรปิฎกที่บรรยายถึงสถานที่ไม่ตรงกับสถานที่จริง-ว่ามีอยู่ตรงไหนบ้าง ทำเป็นหนังสือเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ ผมขอเสนอชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “เมืองและระยะทางในพระไตรปิฎกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” หรือจะเรียกให้หวือหวาว่า “จับผิดพระไตรปิฎก” ก็ได้
๒ เนื้อหาในหนังสือประกอบด้วยข้อมูลในพระไตรปิฎกที่บรรยายถึงสถานที่ไม่ตรงกับสถานที่จริง รูปแบบควรเป็นดังนี้ -
(๑) เมือง... พระไตรปิฎกบอกว่าอยู่ตรงนี้ ... ผิดจากข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงคือ เมือง ... อยู่ตรงโน้น
(๒) ระยะทาง... พระไตรปิฎกบอกว่าห่างจากเมืองนี้เท่านั้นๆ ... ผิดจากข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงคือ เมือง ... อยู่ห่างจากเมืองนี้เป็นระยะทางเท่านี้ๆ
(๓) เมือง-อะไรอีกที่ผิดจากข้อเท็จจริง ... ๒ ๓ ๔ ๕ ... รวบรวมมา
(๔) ระยะทางจากไหนถึงไหนอีก ที่ผิดจากข้อเท็จจริง ... ๒ ๓ ๔ ๕ ... รวบรวมมา
ทำด้วยวิธีนี้จนหมดข้อมูลในพระไตรปิฎก
เอาเฉพาะข้อมูลในพระไตรปิฎกเท่านั้น อย่าเพิ่งเอาที่อื่นมาปน เดี๋ยวเปรอะ
๓ แล้วนำข้อมูลตามข้อ ๒ เสนอสู่สังคม-โดยเฉพาะในหมู่นักเรียนบาลี และในหมู่ผู้ศรัทธาเลื่อมใสสังเวชนียสถานในอินเดีย เพื่อร่วมกันพิจารณาตรวจสอบว่าเป็นจริงตามที่ท่านเสนอหรือเปล่า
ขั้นตอนนี้ ท่านหรือใครมีข้อมูลหลักฐานอะไรที่ไหนจะยกมาอ้าง ก็ว่ากันได้เต็มที่
ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ -
๓.๑ ถ้าเป็นจริงตามที่ท่านเสนอ ทุกฝ่ายก็จะร้องออกมาว่า เออ ผิดจริงๆ ด้วย เราหลงเข้าใจผิดกันมาตั้งนาน
๓.๒ ถ้าทุกฝ่ายพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นจริง ก็จะได้รู้กันว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นของท่านคนเดียว
๔ ถ้าท่านได้รวบรวมข้อมูลตามที่กล่าวในข้อ ๓ ไว้แล้ว ก็ขอความกรุณาปักป้ายบอกทางให้คนทั้งหลายตามไปศึกษาได้โดยง่าย หรือสรุปเป็นประเด็นเป็นข้อๆ เอามาวางไว้ให้คนทั้งหลายเห็นได้โดยง่าย จะได้ช่วยกันพิจารณาตรวจสอบหลายๆ หู หลายๆ ตา ไม่ใช่ท่านพิจารณาอยู่คนเดียว
ผมเข้าใจว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีบุคคลหรือหน่วยงานองค์กรใดๆ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบใดๆ เลย
ขอประทานโทษ ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือ-เหมือนท่านยืนตะโกนโหวกเหวกอยู่คนเดียว ไม่มีใครสนใจฟังเพราะไม่มีใครได้ยิน
............
วิธีที่สอง
............
วิธีนี้สำคัญที่สุด สำคัญกว่าวิธีแรกด้วยซ้ำไป นั่นก็คือ ขอให้ท่านชี้พิกัดในประเทศไทย-ตามที่ท่านยืนยันว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในเมืองไทย สังเวชนียสถานอยู่ในเมืองไทย-
๑ สถานที่ประสูติ อยู่ที่หมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ อำเภอนี้ จังหวัดนี้
๒ สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่หมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ อำเภอนี้ จังหวัดนี้
๓ สถานที่แสดงปฐมเทศนา อยู่ที่หมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ อำเภอนี้ จังหวัดนี้
๔ สถานที่ปรินิพพาน อยู่ที่หมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ อำเภอนี้ จังหวัดนี้
เมื่อชี้พิกัดแล้วก็ขอให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ไปตรวจสอบพิสูจน์หลักฐาน
ถ้าตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานแล้วเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นจริง ก็เท่ากับเป็นการหักล้างหลักฐานในพระไตรปิฎกไปในตัวพร้อมเสร็จ ไม่ต้องไปเสียเวลาจับผิดพระไตรปิฎกอีกต่อไป
เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับประเทศหรือระดับโลก ต้องให้ทุกฝ่ายยอมจำนนหรือยอมรับด้วยหลักฐาน
...................................................
พิสูจน์ได้ว่าของจริงอยู่ตรงนี้
ก็ไม่ต้องเสียเวลาชี้ว่าตรงโน้นเป็นของปลอม
...................................................
ถ้าชี้พิกัดในเมืองไทยได้ชัดเจน และพิสูจน์ได้ว่าของจริงอยู่ตรงนี้ เราก็เปลี่ยนภูมิศาสตร์พุทธประวัติกันใหม่ได้เลย
เอาใจช่วยครับ ขอให้เรื่องสังเวชนียสถานอยู่ในเมืองไทยนี้สำเร็จได้ด้วยดี
เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินทองเดินทางไปไหว้พระถึงอินเดียกันอีกต่อไป
ถ้าท่านยังบอกไม่ได้ว่าสังเวชนียสถานของจริงในเมืองไทยอยู่ตรงไหน ท่านก็คงจะต้องโหวกเหวกคนเดียวไปอีกนาน
............
หมายเหตุ:
............
ผมไม่ได้ระบุตัวบุคคลว่าท่านเจ้าของแนวคิดนี้คือใคร ทั้งนี้เพื่อให้ปลอดจากอคติ
เวลานี้สังคมไทยตกอยู่ในอคติ ๒ เรื่อง คือ -
(๑) ค่านิยมสนใจเรื่องอะไรๆ ตามเทศกาล
เช่นนี่ใกล้จะถึงวันเด็ก คอยดูเถิด ถึงวันเด็กจะมีคนออกมาพูดเรื่องเด็กกันเซ็งแซ่ แต่พูดกันอยู่วันเดียว พ้นวันเด็กไปแล้วก็ไม่มีใครสนใจเรื่องเด็กอีก จนกว่าจะถึงวันเด็กปีต่อไป
เรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องครู เรื่องภาษาไทย เรื่องโอวาทปาติโมกข์ ฯลฯ ก็สนใจกันปีละวันเดียวทั้งสิ้น
(๒) ค่านิยมให้ความสำคัญตัวบุคคลมากกว่าแนวคิด
แนวคิดอะไรถูกเสนอขึ้นในสังคม เราจะไม่สนใจว่าแนวคิดนั้นดีหรือไม่ดี แต่เราจะถามกันก่อนว่าใครเป็นคนคิด ถ้าคนคิดเป็นคนสำคัญ เราจึงจะสนใจ ถ้าคนคิดเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ แม้แนวคิดนั้นจะดีเพียงไรเราก็จะไม่สนใจ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๙ มกราคม ๒๕๖๖
๑๔:๒๘
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ