ถวายกำลังใจให้พระ
----------------------
คนไทยสมัยก่อน มีงาน “ทำบุญบ้าน” กันอยู่เสมอ ปรารภการขึ้นบ้านใหม่บ้าง โกนจุกบ้าง ครบปีครบเดือนที่บรรพบุรุษล่วงลับไปบ้าง และเหตุอื่นๆ อีกสารพัด รวมอยู่ในคำว่า-หาเรื่องทำบุญ
รูปงานที่เป็นมาตรฐานคือ นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหาร คำที่เรียกกันทั่วไปคือ “ทำบุญเลี้ยงพระ”
นิมนต์พระมาสวดมนต์ไม่ว่างานประเภทไหน ภาษาปากที่คนไทยพูดกันคือ “สวดมนต์” คำเดียว ไม่ได้จำแนกเป็น “เจริญพระพุทธมนต์” และ “สวดพระพุทธมนต์” ที่แบ่งเป็นงานมงคล-งานอวมงคลตามภาษาราชการทุกวันนี้
งานทำบุญเลี้ยงพระดังกล่าวนี้ ภาษาราชการสมัยก่อนใช้คำว่า “พิธีสงฆ์” แต่สมัยนี้คนไทยหัวใจกระดุกกระดิกเปลี่ยนไปใช้คำว่า “พิธีทางศาสนา”
“พิธีทางศาสนา” เห็นหน้าตาก็รู้เลยว่า ลอกเอามาจากคำฝรั่ง religious ceremony
.........................................
มีโอกาสคงได้อภิปรายว่า “พิธีสงฆ์” กับ “พิธีทางศาสนา” ต่างกันอย่างไร ตอนนี้ขอพักไว้แค่นี้
.........................................
สมัยก่อนนิยมสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเช้า คือทำงาน ๒ วัน ตามสภาพสังคมที่ไม่ต้องเร่งรีบ หาเรื่องอยู่ในบรรยากาศบุญกันนานๆ
ต่อมาก็เริ่มกระชับขึ้นมานิดหนึ่ง คือสวดมนต์แล้วฉันเพลหรือฉันเช้า งานจบในวันเดียวกัน
ปัจจุบันวันนี้ พิธีการย่อย่นลงไปอีก คือสวดมนต์แล้วถวายปิ่นโตหรือจัดชุดภัตตาหารถวายให้พระไปฉันที่วัด ใช้คำพูดว่า สวดมนต์ถวายสังฆทาน นิยมชมชื่นกันว่าเป็นรูปงานที่ดี ไม่ต้องเสียเวลามาก
เชื่อว่าอีกไม่นาน สวดมนต์ฉันเช้าหรือฉันเพลที่บ้านก็จะไม่มีใครทำ คนไทยรุ่นใหม่จะได้เห็นเพียงแค่สวดมนต์ (แบบสั้นที่สุด) + ถวายสังฆทาน
การเลี้ยงพระ มารยาทการปฏิบัติพระในระหว่างฉัน จะไม่มีใครรู้จักอีกต่อไป
..........................
ที่ตั้งใจจะพูดในเรื่องนี้ก็คือ การปวารณา ที่บัดนี้แทบจะไม่มีใครรู้จักแล้ว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ที่คำว่า“ปวารณา” บอกไว้ว่าว่า -
..........................................................
“ปวารณา : (คำกริยา) ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).”
..........................................................
“ใบปวารณา” หมายถึง หนังสือเป็นแผ่นกระดาษมีข้อความเป็นใจความว่า
..........................................................
เจ้าภาพขอถวายปัจจัยแด่พระสงฆ์เป็นมูลค่ารูปละเท่านี้ๆ ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรแล้ว พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรนั้น เทอญ
..........................................................
ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพราะมีพุทธบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุรับเงินทอง (วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย) ถ้าขืนรับ มีความผิดที่เรียกว่า “ต้องอาบัติ”
ชาวบ้านที่มีศรัทธาปรารถนาจะถวายเงินเพื่อใช้จัดซื้อหาของฉันของใช้จึงต้องใช้วิธีมอบเงินนั้นให้แก่ไวยาวัจกร (ผู้ทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ) แล้วบอกกล่าวแก่ภิกษุผู้รับถวายให้ทราบไว้
วิธีนี้เรียกว่า “ปวารณา”
จะใช้วิธีบอกกล่าวด้วยวาจาก็ได้ บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ กรณีที่บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกใบบอกกล่าวนั้นว่า “ปวารณาบัตร” หรือ “ใบปวารณา”
เมื่อถวายเงินด้วยวิธีเช่นนี้ พระก็ไม่ต้องอาบัติเพราะรับเงิน
สมัยก่อน เมื่อชาวบ้านนิมนต์พระไปในงานบำเพ็ญบุญ ขั้นตอนสุดท้ายคือถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา ก่อนอนุโมทนาพิธีกรจะกล่าวคำปวารณา หรือชาวบ้านที่มาร่วมงานนั่นเองจะเตือนกันให้ปวารณา มีบ่อยๆ ที่พระเป็นฝ่ายเตือนเจ้าภาพ “ปวารณาก่อน โยม”
นั่นแปลว่า สมัยก่อนทั้งชาววัดทั้งชาวบ้านรู้จักและเข้าใจเรื่องปวารณาเป็นอย่างดี
เชื่อหรือไม่ว่า สมัยนี้แม้แต่พระสงฆ์รุ่นใหม่ก็ไม่รู้ว่า “ปวารณา” คืออะไร
สมัยนี้ นอกจากไม่กล่าวคำปวารณา และไม่ใช้ปวารณาบัตรแล้ว ยังใช้วิธีเอาเงินใส่ซองประเคนพระไปกับเครื่องไทยธรรมนั่นเลย
เป็นการเหยียบย่ำพุทธบัญญัติอย่างเลือดเย็นจริงๆ
ผมขอเรียกร้องว่า เลิกเถอะครับ วิธีแบบนั้น อย่าทำอีกเลย
โปรดใช้วิธีกล่าวคำปวารณา หรือใช้ปวารณาบัตร
ถ้าใช้ปวารณาบัตร ก็ไม่ต้องกล่าวคำปวารณา แต่ถวายปวารณาบัตรพร้อมไปกับเครื่องไทยธรรม
ส่วนตัวเงินจริงๆ มอบให้คนขับรถพระหรือใครสักคนที่สะดวกที่จะนำไปมอบให้ไวยาวัจกรต่อไป
วิธีดังกล่าวนี้เป็นการถวายกำลังใจให้พระมีอุตสาหะตั้งใจรักษาพระธรรมวินัย
ระหว่างชาวบ้านเรากับพระ เราช่วยกันทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
ส่วนพระท่านจะไปหยิบไปจับกันเองอย่างไรภายวัด เป็นเรื่องของท่าน เราไม่ต้องไปก้าวก่าย
ผมเชื่อว่า เมื่อท่านเห็นชาวบ้านปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย ท่านจะได้คิดหรือคิดได้ว่า-โยมเขายังอุตส่าห์ทำถูก แล้วเราจะมามัวละเลยล่วงละเมิดอยู่ได้อย่างไร ไม่อายโยมเขามั่งหรือ?
ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่า เป็นการถวายกำลังใจให้พระ
ช่วยกันถวายกำลังใจให้พระกันมากๆ นะครับ พระท่านจะได้มีกำลังใจรักษาพระธรรมวินัย-ซึ่งก็คือการรักษาพระศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
---------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ มกราคม ๒๕๖๖
๑๙:๐๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ