ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,867)
มัลลปาโมกข์
หัวหน้านักมวยปล้ำ-ใช่หรือ?
อ่านว่า มัน-ละ-ปา-โมก
ประกอบด้วยคำว่า มัลล + ปาโมกข์
(๑) “มัลล”
เขียนแบบบาลีเป็น “มลฺล” อ่านว่า มัน-ละ รากศัพท์มาจาก มถฺ (ธาตุ = กวน, ทำให้หมุน) + ล ปัจจัย, แปลง ถ เป็น ล
: มถ + ล = มถล > มลฺล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หมุนกันและกัน” หมายถึง นักมวย, มวยปล้ำ (a boxer, a wrestler)
บาลี “มลฺล” ในที่นี้เขียนในภาษาไทยเป็น “มัลล-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “มัลละ”
คำว่า “มัลละ” นอกจากหมายถึง นักมวย แล้ว ยังเป็นชื่อของแคว้นสำคัญในสมัยพุทธกาลอีกด้วย
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -
“มัลละ : ชื่อแคว้นหนึ่งบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยมีมัลลกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง นครหลวงเดิมชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็น กุสินารา กับ ปาวา.”
(๒) “ปาโมกข์”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปาโมกฺข” อ่านว่า ปา-โมก-ขะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มุข
(1) มุข (มุ-ขะ) รากศัพท์มาจาก -
(ก) มุขฺ (ธาตุ = เปิด; เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: มุขฺ + อ = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข”
(ข) มุ (ธาตุ = ผูก) + ข ปัจจัย
: มุ + ข = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก”
“มุข” หมายถึง ปาก (the mouth), หน้า (the face)
(2) ป + มุข = ปมุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “มุขประธาน” (2) “ผู้มีความเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่” (3) “ผู้เป็นหัวหน้าโดยความเป็นประธาน”
“ปมุข” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลตามศัพท์ว่า “in front of the face” (ต่อหน้า) หมายถึง ส่วนหน้า, แรก, ขึ้นหน้า, หัวหน้า, เด่น (fore-part, first, foremost, chief, prominent)
(3) ปมุข + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ป-(มุข) เป็น อา (ปมุข > ปามุข), แผง อุ ที่ (ป)-มุ-(ข) เป็น โอ (ปมุข > ปโมข), ซ้อน กฺ ระหว่าง ปมุ + ข
: ปมุข > (ปมุ + กฺ + ข) > ปมุกฺข + ณ = ปมุกฺขณ > ปมุกฺข > ปามุกฺข > ปาโมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำรงอยู่ในความเป็นประมุข”
“ปาโมกฺข” มีความหมายว่า -
(1) สำคัญ, ที่หนึ่ง, ดีเลิศ, วิเศษ, เด่น; ผู้นำ (chief, first, excellent, eminent; a leader)
(2) หันหน้าไปทางตะวันออก (facing east)
“ปาโมกฺข” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปาโมกข์” (ปา-โมก) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ปาโมกข์ : (คำนาม) ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้เป็นประธาน. (ป.).”
มลฺล + ปาโมกฺข = มลฺลปาโมกฺข (มัน-ละ-ปา-โมก-ขะ) แปลว่า “ผู้เป็นประมุขแห่งมัลละ”
“มลฺลปาโมกฺข” ในภาษาไทยใช้เป็น “มัลลปาโมกข์” อ่านว่า มัน-ละ-ปา-โมก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -
“มัลลปาโมกข์ : มัลลกษัตริย์ชั้นหัวหน้า.”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “มัลลปาโมกข์” ปรากฏในพุทธประวัติตอนปรินิพพาน มัลลกษัตริย์ให้ “มัลลปาโมกข์” 8 คน อัญเชิญพระพุทธสรีระซึ่งประดิษฐานในรางเหล็กไปยังสถานที่ถวายพระเพลิง แต่ไม่อาจจะยกพระพุทธสรีระได้
มีผู้ให้ความหมายคำว่า “มัลลปาโมกข์” ว่า หมายถึง “หัวหน้านักมวยปล้ำ” นั่นคือ -
“มัลล” = นักมวยปล้ำ
“ปาโมกข์” = หัวหน้า
เมื่อคำนึงดูว่า การเคลื่อนย้ายพระพุทธสรีระซึ่งประดิษฐานในรางเหล็ก มีน้ำหนักมาก ควรจะต้องใช้คนที่แข็งแรง การแปล “มัลลปาโมกข์” ว่า “หัวหน้านักมวยปล้ำ” ก็ถือว่าสอดคล้องกันดีกับภารกิจ เพราะ “หัวหน้านักมวยปล้ำ” ย่อมหมายถึงคนที่แข็งแรง
ข้อความในพระไตรปิฎกเป็นดังนี้ -
..............
เตน โข ปน สมเยน อฏฺฐ มลฺลปาโมกฺขา สีสนฺหาตา อหตานิ วตฺถานิ นิวตฺถา มยํ ภควโต สรีรํ อุจฺจาเรสฺสามาติ น สกฺโกนฺติ อุจฺจาเรตุํ ฯ
สมัยนั้น มัลลปาโมกข์ ๘ องค์ สระสรงเกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ด้วยทรงดำริว่า เราจักยกพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมไม่อาจจะยกขึ้นได้
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 153
..............
อรรถกถามหาปรินิพพานสูตรไขความว่า “มลฺลปาโมกฺขา” คือ “มลฺลราชาโน” ดังข้อความว่า -
..............
อฏฺฐ มลฺลปาโมกฺขาติ มชฺฌิมวยา ถามสมฺปนฺนา อฏฺฐ มลฺลราชาโน ฯ
คำว่า มลฺลปาโมกฺขา หมายถึงพวกเจ้ามัสละ 8 องค์ รุ่นมัชฌิมวัย สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 332
..............
ถ้ายังต้องการให้ “มัลลปาโมกข์” หมายถึง “หัวหน้านักมวยปล้ำ” คำว่า “มลฺลราชาโน” ก็สามารถแปลยักเยื้องไปได้ว่า “ราชาแห่งมวยปล้ำ” หรือ “เจ้าแห่งมวยปล้ำ” ดังที่เราเรียกกันในบัดนี้ว่า “แชมเปี้ยนมวยปล้ำ” ก็กลมกลืนกันได้ดีอยู่
หนังสือ ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ธาตุวิภัชนปริวัตต์ ปริจเฉทที่ 27 พรรณนาความตอนนี้ตามนัยแห่งพระบาลีพระไตรปิฎก ความว่า -
..............
และกษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ ซึ่งเป็นประธานแก่กษัตริย์ทั้งหลายนั้นก็ชวนกันเข้ายกพระศพ ก็บมิอาจสามารถจะยกขึ้นไหว
..............
คำว่า “มัลลปาโมกข์” ปฐมสมโพธิกถาใช้คำว่า “กษัตริย์มัลลราช” ซึ่งจะหมายถึง “หัวหน้านักมวยปล้ำ” ไปมิได้เลย
นอกจากนี้ ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกตอนที่พรรณนาถึงการถวายพระเพลิง เจ้าหน้าที่ผู้จุดเพลิงซึ่งดูตามภารกิจไม่จำเป็นจะต้องใช้คนแข็งแรง พระไตรปิฎกก็ใช้คำว่า “มลฺลปาโมกฺขา” เช่นเดียวกัน แต่ผู้ทำหน้าที่ตอนนี้ใช้ 4 คน ดังข้อความว่า
..............
เตน โข ปน สมเยน จตฺตาโร มลฺลปาโมกฺขา สีสนฺหาตา อหตานิ วตฺถานิ นิวตฺถา มยํ ภควโต จิตกํ อาฬิมฺเปสฺสามาติ น สกฺโกนฺติ อาฬิมฺเปตุํ ฯ
สมัยนั้น มัลลปาโมกข์ ๔ องค์ สระสรงเกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ด้วยดำริว่า เราจักยังไฟให้ติดจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ย่อมไม่อาจให้ติดได้
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 156
..............
ที่แสดงมานี้คือวิธีค้นหาความหมายของศัพท์ ใครเห็นศัพท์แล้วจะเข้าใจว่าอย่างไร จะแปลความหมายว่าอย่างไร ย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่สิ่งที่ควรทำก่อนคือ ศึกษาให้รู้ว่าคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่เรียนรู้เรื่องนั้นมาก่อนเรา เขาเข้าใจอย่างไรและแปลไว้อย่างไร
เมื่อศึกษาเรียนรู้หมดแล้ว จะยังคงยืนยันความเข้าใจของเรา ก็เป็นสิทธิที่จะทำได้เช่นกัน แต่ความเข้าใจของเราจะผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
..............
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเชื่อว่าเราฉลาดคิด
: ก็ควรฉลาดที่จะพินิจว่าที่คิดนั้นผิดหรือถูก
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ